เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


เมื่อร่างกายได้รับโปรตีนไม่เพียงพอจะมีอาการอย่างไร


อาจารย์ ดร.ภญ. ชญานิน กีรติไพบูลย์

ภาควิชาสรีรวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล


ภาพประกอบจาก: https://www.bestfoodfacts.org/wp-content...24x325.jpg
อ่านแล้ว 1,486 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 27/09/2567
อ่านล่าสุด 2 ช.ม.ที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 

เนื่องจากโปรตีนเป็นหนึ่งในส่วนประกอบหลักของร่างกาย และเป็นองค์ประกอบหลักที่มีบทบาทสำคัญในโครงสร้างและการทำงานของกล้ามเนื้อ ผิวหนัง เอนไซม์ และฮอร์โมน ดังนั้นการบริโภคโปรตีนไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายจึงทำให้เกิดผลกระทบต่อการทำงานของร่างกายแทบทุกด้านและนำไปสู่ปัญหาสุขภาพต่างๆ ปริมาณของโปรตีนที่แนะนำในคนทั่วไปอยู่ที่ 0.8 กรัมต่อกิโลกรัมของน้ำหนักตัว บทความนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนออาการของการบริโภคโปรตีนต่ำหรือการขาดโปรตีนอย่างคร่าวๆ 7 อาการ มาฝากผู้ที่สนใจ

  1. บวมน้ำ (Edema) เป็นภาวะที่ผิวหนังบวมและพองโต เกิดจากการมีปริมาณอัลบูมินในเซรั่มต่ำ ซึ่งเป็นโปรตีนที่พบมากที่สุดในส่วนของเหลวของเลือด หน้าที่หลักของอัลบูมินคือการรักษาแรงดันออนโคติก (oncotic pressure) ซึ่งเป็นแรงที่ดึงของเหลวให้อยู่ภายในหลอดเลือด จึงป้องกันไม่ให้ของเหลวจำนวนมากเกินไปสะสมในเนื้อเยื่อหรือช่องว่างอื่นๆ ของร่างกาย ดังนั้นหากระดับอัลบูมินในเซรั่มลดลงจึงทำให้แรงดันออนโคติกที่ต่ำลง จึงส่งผลให้ของเหลวสะสมในเนื้อเยื่อหรือเกิดอาการบวมน้ำได้
  2. ภาวะไขมันพอกตับ (fatty liver) คือภาวะที่มีการสะสมของไขมันในเซลล์ตับ ภาวะนี้อาจทำให้เกิดการอักเสบ แผลเป็นในตับ และอาจรุนแรงถึงขั้นตับล้มเหลวได้ มีสาเหตุจากการเปลี่ยนแปลงของไมโครไบโอมในลำไส้ และเพอรอกซิโซมของเซลล์ตับ ซึ่งอาจนำไปสู่การสังเคราะห์โปรตีนที่ใช้ในการขนส่งไขมันที่มีประสิทธิภาพลดลง 
  3. เส้นผม และผิวหนังที่ผิดปกติ เนื่องจากโปรตีนเป็นองค์ประกอบหลักของเส้นผม และผิวหนัง ดังนั้นการขาดโปรตีนอาจส่งผลต่อการเจริญเติบโตและโครงสร้างของเส้นผม ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะผมร่วง ผิวลอกหรือแตกเป็นขุย แดง และมีแผลที่ผิวหนังโดยไม่มีสาเหตุได้
  4. การสูญเสียมวลกล้ามเนื้อ เนื่องจากกล้ามเนื้อเป็นแหล่งของโปรตีนที่ใหญ่ที่สุดในร่างกาย ในภาวะขาดโปรตีนร่างกายจะสลายโปรตีนจากกล้ามเนื้อเพื่อซ่อมแซมเนื้อเยื่อส่วนอื่น จึงส่งผลให้สูญเสียมวลกล้ามเนื้อเมื่อเวลาผ่านไป
  5. เพิ่มความเสี่ยงต่อการหักของกระดูก เนื่องจากมีรายงานที่ระบุว่าผู้ที่บริโภคโปรตีนมากจะมีความหนาแน่นของกระดูกสะโพกและกระดูกสันหลังสูงกว่าผู้ที่บริโภคโปรตีนน้อยถึง 6% นอกจากนี้ยังพบอุบัติการณ์ของกระดูกหักมากกว่าในผู้ที่บริโภคโปรตีนปริมาณน้อยหลังจาก 5 ปีที่เก็บข้อมูลอีกด้วย 
  6. เพิ่มความรุนแรงของการติดเชื้อ เนื่องจากโปรตีนเป็นองค์ประกอบสำคัญในการสร้าง antibodies ของเซลล์เม็ดเลือดขาวในระบบภูมิคุ้มกัน 

เพิ่มความอยากอาหาร เนื่องจากโปรตีนมีบทบาทสำคัญในการรักษาสมดุลของความอยากอาหาร หากร่างกายได้รับโปรตีนไม่เพียงพอจึงทำให้ความอยากอาหารเพิ่มมากกว่าปกติ ซึ่งอาจนำไปสู่การได้รับพลังงานที่มากเกินความต้องการของร่างกายจากการบริโภคคาร์โบไฮเดรต และไขมัน

Photo: bestfoodfacts.org

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. Medlineplus. What are proteins and what do they do?.
  2. Ampong, I., Watkins, A., Gutierrez-Merino, J., Ikwuobe, J., & Griffiths, H. R. (2020). Dietary protein insufficiency: an important consideration in fatty liver disease? British Journal of Nutrition, 123(6), 601-609.
  3. Guo, E. L., & Katta, R. (2017). Diet and hair loss: effects of nutrient deficiency and supplement use. Dermatology practical & conceptual, 7(1), 1.
  4. Healthline media. What causes muscle wasting?
  5. Weaver, A. A., Tooze, J. A., Cauley, J. A., Bauer, D. C., Tylavsky, F. A., Kritchevsky, S. B., & Houston, D. K. (2021). Effect of dietary protein intake on bone mineral density and fracture incidence in older adults in the health, aging, and body composition study. The Journals of Gerontology: Series A, 76(12), 2213-2222.
  6. Iddir, M., Brito, A., Dingeo, G., Fernandez Del Campo, S. S., Samouda, H., La Frano, M. R., & Bohn, T. (2020). Strengthening the immune system and reducing inflammation and oxidative stress through diet and nutrition: considerations during the COVID-19 crisis. Nutrients, 12(6), 1562.
  7. Saner, C., Senior, A. M., Zhang, H., Eloranta, A.-M., Magnussen, C. G., Sabin, M. A., Juonala, M., Janner, M., Burgner, D. P., & Schwab, U. (2023). Evidence for protein leverage in a general population sample of children and adolescents. European journal of clinical nutrition, 77(6), 652-659
เปิดอ่านด้วย Google Doc Viewer ดาวน์โหลดบทความ (pdf) ดูบทความอื่นๆ

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


1 วินาทีที่แล้ว
ยาแก้ไอ ... มีกี่แบบ ?? 35 วินาทีที่แล้ว
ยาไอซ์ (Ice) 36 วินาทีที่แล้ว
สัตว์เลี้ยงกับยา 1 นาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้