Loading…

ผลเสียจากการใช้ยาระบายเพื่อควบคุมน้ำหนัก

ผลเสียจากการใช้ยาระบายเพื่อควบคุมน้ำหนัก

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ภก.ธีรัตถ์ เหลืองมั่นคง

ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

3,260 ครั้ง เมื่อ 1 ช.ม.ที่แล้ว
2024-09-25

ยาระบาย (laxatives) คือ ยาที่ช่วยให้อุจจาระนุ่มและมีน้ำมากขึ้น ส่งผลเพิ่มการทำงานของลำไส้ใหญ่จนทำให้ขับถ่ายได้ง่ายขึ้น ยาระบายจึงใช้เพื่อช่วยบรรเทาหรือรักษาภาวะท้องผูก (constipation) จากสาเหตุต่าง ๆ เช่น ท้องผูกในสตรีมีครรภ์ ท้องผูกหลังผ่าตัด เป็นต้น ทั้งนี้การใช้ยาระบายอย่างถูกต้องภายใต้คำแนะนำจากแพทย์หรือเภสัชกรจัดว่ามีความปลอดภัยค่อนข้างสูง อย่างไรก็ตามในปัจจุบันมีการใช้ยาระบายเพื่อวัตถุประสงค์ในการควบคุมน้ำหนักกันอย่างกว้างขวางทั้งที่เป็นการใช้ในทางที่ผิด (laxative abuse) บทความนี้จึงเรียบเรียงขึ้นเพื่อชี้ให้เห็นข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการใช้ยาระบายเพื่อควบคุมน้ำหนักในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้

1. ยาระบายไม่ช่วยลดการดูดซึมสารอาหาร เนื่องจากอาหารที่รับประทานไม่ว่าจะเป็นไขมัน คาร์โบไฮเดรต (แป้งและน้ำตาล) โปรตีน รวมถึงวิตามินและแร่ธาตุส่วนมาก ล้วนถูกย่อยและดูดซึมที่ลำไส้เล็กเป็นหลัก มีเพียงกากอาหาร น้ำ วิตามินและแร่ธาตุเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่เดินทางสู่ลำไส้ใหญ่ การใช้ยาระบายซึ่งออกฤทธิ์ลดการดูดซึมน้ำที่ลำไส้ใหญ่เพื่อทำให้น้ำอยู่ในกากอาหารและกลายเป็นอุจจาระเพิ่มมากขึ้น จึงแทบจะไม่ส่งผลลดการดูดซึมสารอาหารทั้งหมดซึ่งเกิดขึ้นไปแล้วที่ลำไส้เล็ก ดังนั้นการกินอาหารแล้วตามด้วยการใช้ยาระบายจึงไม่ช่วยลดปริมาณพลังงานที่ร่างกายได้รับ และไม่ช่วยควบคุมน้ำหนัก

2. น้ำหนักตัวที่ลดลงจากยาระบายเกิดจากการเสียน้ำ ไม่ใช่ไขมันหรือพลังงานส่วนเกิน แม้ว่าผู้ที่ใช้ยาระบายจะมีน้ำหนักตัวลดลงเล็กน้อยอย่างรวดเร็วในช่วงแรก แต่น้ำหนักที่ลดลงเกิดจากน้ำในร่างกายที่สูญเสียไปกับอุจจาระ โดยน้ำหนักที่ลดลงไปจะกลับสู่ค่าปกติหลังจากที่ร่างกายได้รับน้ำทดแทนอย่างเพียงพอ ดังนั้นน้ำหนักที่ลดลงจึงไม่เกี่ยวข้องกับการสลายไขมันหรือพลังงานส่วนเกินที่สะสมอยู่ในส่วนต่าง ๆ ของร่างกายเลย แต่กลับเป็นผลจากการสูญเสียน้ำซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งต่อการทำงานของทุกระบบในร่างกาย

3. น้ำและแร่ธาตุที่เสียไปจากการใช้ยาระบาย อาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนในระยะยาว เนื่องจากเมื่อมีการสูญเสียน้ำ ร่างกายจะมีกลไกในการหลั่งฮอร์โมนควบคุมให้ระบบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องทำงานมากขึ้นเพื่อชดเชยน้ำที่เสียไป เช่น กระตุ้นให้ไตทำงานเพื่อเพิ่มน้ำในเลือดมากขึ้น เมื่อหยุดใช้ยาระบาย ระบบชดเชยนี้จะยังคงทำงานอยู่ จนทำให้ร่างกายบวมน้ำ (edema) พร้อมกับน้ำหนักตัวที่อาจจะกลับมาหนักกว่าเดิม รวมถึงผู้ที่ใช้ยาระบายเป็นเวลานานอาจมีภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำ (hypokalemia) เนื่องจากสูญเสียโพแทสเซียมไปพร้อมกับน้ำในอุจจาระ ซึ่งภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำอาจทำให้การทำงานของกล้ามเนื้อ หัวใจ รวมถึงไตผิดปกติ นอกจากนั้นการสูญเสียน้ำและแร่ธาตุยังสัมพันธ์กับการเสียสมดุลของจุลินทรีย์ในทางเดินอาหาร (dysbiosis) ซึ่งอาจนำไปสู่การทำงานของร่างกายที่ผิดปกติตามมา ทั้งนี้ยังมีข้อมูลว่าการใช้ยาระบายเพื่อควบคุมน้ำหนักสัมพันธ์กับการเกิดพฤติกรรมการกินอาหารที่ผิดปกติ (eating disorder) จากความรู้สึกเกี่ยวกับอาหารและร่างกายของผู้ใช้ยา

 4. เลิกยาระบาย ไม่ใช่เรื่องง่าย การใช้ยาระบายสามารถเสพติดได้ (laxative addiction) เนื่องจากหลังหยุดใช้ยาระบาย น้ำหนักมักจะกลับมาเท่ากับหรือมากกว่าที่เคย ผู้ที่ใช้ยาระบายจึงต้องการใช้ยาอย่างต่อเนื่องเพื่อควบคุมน้ำหนักในระยะยาวจนไม่สามารถหยุดยาได้ รวมทั้งหลังใช้ยาระบายเป็นเวลานาน ลำไส้ใหญ่จะเคยชินกับผลของยา เมื่อหยุดใช้ยาจึงเกิดภาวะท้องผูก ถ่ายไม่ออก และจะกลับมาถ่ายได้อีกครั้งด้วยการใช้ยาระบาย เกิดเป็นวงจรของการเสพติดยาระบายในที่สุด 

5. Bisacodyl และ senna เป็นยาระบายที่มีโอกาสเสพติดและผลข้างเคียงสูง เนื่องจากยาทั้งสองชนิดให้ผลค่อนข้างเร็วและชัดเจน ผู้ใช้จึงมักรู้สึกพึงพอใจและเลือกใช้ยาเหล่านี้ซ้ำ ๆ แต่ยาทั้งสองชนิดนี้จัดเป็นยาระบายชนิดกระตุ้น (stimulant laxatives) ซึ่งมีข้อมูลว่าทำให้เกิดการติดยามากที่สุด รวมทั้งการเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น ปวดมวนท้อง คลื่นไส้ ท้องเสีย มักมากกว่ายาระบายชนิดอื่น ๆ ทั้งนี้เมื่อลำไส้ใหญ่ถูกกระตุ้นเมื่อใช้ยาเป็นเวลานาน อาจนำไปสู่การตายเซลล์ประสาทที่ควบคุมการบีบตัวของลำไส้ใหญ่ ดังนั้นขนาดยาเดิมที่เคยใช้จึงมักให้ผลน้อยลง ผู้ใช้ยาจึงต้องเพิ่มขนาดการใช้ยามากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งยิ่งทำให้เลิกยาได้ยากมากขึ้นไปอีก กลายเป็นภาวะท้องผูกเรื้อรังในที่สุด

6. ยาระบายมักเป็นหนึ่งในส่วนผสมของสูตรยาควบคุมน้ำหนักที่ผิดกฎหมาย โดยในสูตรยามักใช้ยาระบายร่วมกับยาอื่น ๆ ที่อาจมีผลช่วยควบคุมน้ำหนักตัวเพียงชั่วคราว เช่น ยาขับปัสสาวะ (เพิ่มการขับน้ำออกจากร่างกาย) ยาลดการย่อยและดูดซึมสารอาหาร (อาจทำให้ท้องเสียและเสี่ยงขาดสารอาหาร) ยาลดความอยากอาหาร (มักมีฤทธิ์กระตุ้นประสาทและทำให้นอนไม่หลับ) เมื่อใช้ยาเหล่านี้ร่วมกันจึงทำให้ผู้ใช้ยารู้สึกว่าสูตรยาที่ใช้มีประสิทธิภาพในการควบคุมน้ำหนักที่ดี แต่ผลที่ได้จากการใช้ยาจะไม่ยั่งยืน และอาจส่งเสริมให้ความเสี่ยงในการเกิดผลข้างเคียงสูงขึ้น เช่น ยาขับปัสสาวะส่งเสริมให้ขาดน้ำและแร่ธาตุผิดปกติมากยิ่งขึ้น ยาลดการย่อยและดูดซึมทำให้ท้องเสียและปวดท้องมากขึ้น ยาลดความอยากอาหารทำให้หงุดหงิด อารมณ์เสีย และส่งผลต่อระบบประสาทในระยะยาว 

7. การควบคุมน้ำหนักที่ถูกต้องและยั่งยืนเกิดจากการปรับพฤติกรรม ไม่ใช่ยาระบาย การรับประทานอาหารให้เหมาะสมตามปริมาณพลังงานที่ร่างกายต้องการ โดยเลือกชนิดของอาหารที่ดีต่อสุขภาพร่วมกับการออกกำลังกายอย่างถูกต้อง เป็นวิธีการที่ทำให้สามารถควบคุมน้ำหนักได้ดีและยั่งยืนที่สุด ส่วนการใช้ยาเพื่อควบคุมน้ำหนักควรอยู่ภายใต้การดูแลจากแพทย์เท่านั้น

จากข้อมูลทั้งหมดจะเห็นได้ว่านอกจากผลควบคุมน้ำหนักในระยะสั้นแล้ว การใช้ยาระบายไม่ได้ช่วยควบคุมน้ำหนัก รวมทั้งยังทำให้เกิดผลเสียได้อีกมากมายเมื่อใช้ในระยะยาว ดังนั้นควรเลือกใช้วิธีการควบคุมน้ำหนักที่เหมาะสม ไม่พึ่งพาการใช้ยาระบาย

Photo: freepik.com

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. Roerig JL, Steffen KJ, Mitchell JE, Zunker C. Laxative abuse: epidemiology, diagnosis and management. Drugs. 2010 Aug 20;70(12):1487-503.
  2. Gibson D, Benabe J, Watters A, Oakes J, Mehler PS. Personality characteristics and medical impact of stimulant laxative abuse in eating disorder patients-a pilot study. J Eat Disord. 2021 Nov 4;9(1):146.

บทความที่ถูกอ่านล่าสุด

ยาก่อนอาหาร ยาหลังอาหาร ลืมกินยาตามเวลา อันตรายหรือไม่ 1 วินาทีที่แล้ว
เลือดจาง โลหิตจาง กับยาฉีดอีพีโอ (EPO) 1 วินาทีที่แล้ว
ควันธูป อันตรายใกล้ตัวที่มาพร้อมการทำบุญ 2 วินาทีที่แล้ว
ข้อมูลเปรียบเทียบวัคซีนโควิด-19 ชนิดที่องค์การอนามัยโลกรับรอง 3 วินาทีที่แล้ว
ยาแก้ไอ ... มีกี่แบบ ?? 3 วินาทีที่แล้ว
หยุดคิดสักนิด…ก่อนคิดฝ่าไฟแดง 13 วินาทีที่แล้ว
ยาทาสเตียรอยด์สำหรับโรคผิวหนัง 15 วินาทีที่แล้ว
น้ำหนักขึ้นง่าย สิวไม่หาย! … สัญญาณ \"ภาวะลำไส้รั่ว\" 17 วินาทีที่แล้ว
ยาเขียว ยาไทยใช้ได้ทั้งผู้ใหญ่และเด็ก… 17 วินาทีที่แล้ว
แพ้ยา มีผื่นขึ้นรุนแรง คืออะไร 19 วินาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด

เกี่ยวกับคณะเภสัชศาสตร์
คลังความรู้สู่ประชาชน บทความความรู้สู่ประชาชน บทความความรู้สู่ประชาชน

ความสำเร็จของวิชาชีพเภสัชกรรม เกิดจากความรู้ที่สามารถทำให้ผู้บริโภคยา มีการเสี่ยงต่ออันตรายจากยาที่ใช้ให้น้อยที่สุด แต่ได้รับผลในการป้องกัน หรือบำบัดโรคมากที่สุด

ความสำเร็จของวิชาชีพเภสัชกรรม เกิดจากความรู้ที่สามารถทำให้ผู้บริโภคยา มีการเสี่่ยงต่ออันตรายจากยาที่ใช้ให้น้อยที่สุด แต่ได้รับผลในการป้องกัน หรือบำบัดโรคมากที่สุด
ประดิษฐ์ หุตางกูร
คณบดีท่านแรกของคณะเภสัชศาสตร์

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
Copyright © 2021 - 2025
งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
การใช้และการจัดการคุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา