Loading…

เผลอลืมให้ยาสัตว์เลี้ยงไป...ควรทำอย่างไรดี

เผลอลืมให้ยาสัตว์เลี้ยงไป...ควรทำอย่างไรดี

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สพ.ญ.นรรฆวี แสงกลับ

ภาควิชาสรีรวิทยา

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

21,757 ครั้ง เมื่อ 3 นาทีที่แล้ว
2023-08-22

ถ้าเผลอลืมให้ยาสัตว์เลี้ยงของเราไปควรทำยังไงดี???

เชื่อว่าคำถามนี้คงเป็นหนึ่งในคำถามยอดนิยมที่เจ้าของหลายท่านกำลังสงสัย โดยเฉพาะในสุนัขและแมวป่วยที่ต้องทานยาเป็นประจำหรือหลายครั้งต่อวัน หากลืมไปแต่ละครั้งจะมีผลอะไรไหม แล้วเราควรทำอย่างไรเมื่อลืมให้ยาสัตว์เลี้ยงของเรา ในบทความนี้เรามีคำตอบมาฝากกัน

ก่อนอื่นเราต้องทำความเข้าใจถึงกลไกการออกฤทธิ์และการขับยาออกจากร่างกายกันก่อน ยารักษาโรคในสัตว์เลี้ยงนั้นมีหลายชนิดและแต่ละชนิดมีวิธีการออกฤทธิ์ที่แตกต่างกันออกไป รวมไปถึงวิธีการขับยาออกจากร่างกายด้วย โดยตามปกติเมื่อสัตว์ได้รับยาเข้าไปในร่างกายแล้ว ยาจะถูกดูดซึมและออกฤทธิ์จากนั้นร่างกายสัตว์จะทำการขับยาออกไปพร้อมกับของเสีย เช่น อุจจาระ ปัสสาวะ หรือเหงื่อ ตามแต่ชนิดของยานั้น ๆ เมื่อยาถูกขับทิ้งไปแล้ว ปริมาณยาในร่างกายก็จะค่อย ๆ ลดลง ด้วยเหตุนี้เองทำให้สัตวแพทย์จึงจำเป็นต้องให้ยาแก่สัตว์เลี้ยงของเราอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ยาทำงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดนั่นเอง โดยหากเราพบว่าลืมให้ยาสัตว์เลี้ยง มีข้อแนะนำที่ควรทำดังต่อไปนี้

1. หากลืมให้ยาก่อนอาหาร

หากพบว่าลืมให้ยาก่อนอาหาร อาจจะพิจารณาให้สัตว์เลี้ยงทานอาหารให้เสร็จเป็นเวลาอย่างน้อย 2 ชั่วโมง จากนั้นจึงค่อยให้ยาที่ลืมให้ไป เพราะยาก่อนอาหารส่วนใหญ่นั้นมักจะลดประสิทธิภาพเมื่อเจอกับกรดในกระเพาะอาหารหรือมีความเกี่ยวข้องกับระบบทางเดินอาหาร ดังนั้นจึงต้องรอให้กรดในกระเพาะอาหารสัตว์เลี้ยงลดน้อยลงก่อนหลังย่อยอาหารเสร็จหรือไม่มีอาหารในกระเพาะอาหารแล้ว จึงค่อยให้อีกครั้ง แต่หากพบว่าเวลาที่จะให้ยาก่อนอาหารมื้อที่ลืมไปใกล้กับช่วงเวลาที่ต้องให้ครั้งต่อไปแล้ว ให้ข้ามมื้อที่ลืมไปแล้วเริ่มให้มื้อใหม่แทน

2. หากลืมให้ยาหลังอาหาร

หากพบว่าลืมให้ยาหลังอาหารในระยะเวลาไม่เกิน 15-30 นาที สามารถให้ยาสัตว์เลี้ยงทานได้ทันที แต่หากลืมเกิน 30 นาทีไปแล้ว อาจจะเลือกให้ขนมหรืออาหารแก่สัตว์เลี้ยงจำนวนหนึ่งแล้วจึงค่อยให้ทานยามื้อที่ลืมไป เนื่องจากยาหลังอาหารมักจะออกฤทธิ์ได้ดีหากมีกรดในกระเพาะอาหารหรืออาจระคายเคืองกระเพาะอาหารได้ จึงจำเป็นต้องให้อาหารก่อน อย่างไรก็ดี หากพบว่าเวลาที่จะให้ยาหลังอาหารมื้อที่ลืมไปใกล้กับช่วงเวลาที่ต้องให้ยาครั้งต่อไปแล้ว ให้ข้ามมื้อที่ลืมและเริ่มให้ยาหลังอาหารที่มื้อใหม่แทนไปเลยเช่นเดียวกับยาก่อนอาหาร

3. หากลืมให้ยาที่ต้องให้ต่อเนื่องตามช่วงเวลา

หากลืมยาที่ต้องให้เป็นช่วงเวลา เช่น ยาที่ต้องให้ทุก ๆ 3 ชั่วโมง หรือทุก ๆ 6 ชั่วโมง จำเป็นต้องปรึกษาสัตวแพทย์ก่อนทุกครั้ง ห้ามปรับขนาดยาเองเด็ดขาด เพราะอาจจะทำให้สัตว์เลี้ยงของเราได้รับยามากเกินขนาดหรือน้อยเกินกว่าขนาดยาที่เหมาะสมได้

แน่นอนว่าเราไม่ควรเผลอลืมให้ยาแก่สัตว์เลี้ยง แต่อย่างไรก็ดีถ้าเผลอลืมไม่บ่อยครั้ง เช่น เพียงแค่ 1-2 ครั้ง ผลของการรักษาหรือฤทธิ์ยาอาจจะไม่เปลี่ยนแปลงเท่าใดนัก แต่หากลืมให้เป็นระยะเวลานาน เช่น ลืมให้เกิน 3 ครั้งขึ้นไป หรือทิ้งช่วงห่างเกินคำแนะนำ อาจจะทำให้ฤทธิ์ยาไม่เพียงพอที่จะทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และอาจทำให้รักษาอาการป่วยไม่หายได้

นอกจากนี้ยาบางกลุ่ม เช่น ยาปฏิชีวนะ เป็นยาที่จำเป็นต้องให้อย่างต่อเนื่องและทานยาในปริมาณที่กำหนดอย่างเคร่งครัด การทิ้งช่วงไม่ได้รับยาหรือหยุดยาก่อนกำหนด อาจจะทำให้แบคทีเรียเกิดการดื้อยา ทำให้ใช้ยากลุ่มเดิมใช้ไม่ได้ผลอีกต่อไป จำเป็นต้องเปลี่ยนเป็นยากลุ่มใหม่ที่แรงขึ้นได้

สุดท้ายนี้ อย่าลืมสิ่งสำคัญคือควรปรึกษาสัตวแพทย์ทุกครั้งก่อนที่จะทำการปรับเปลี่ยนยา หรือลืมให้ยา และที่สำคัญที่สุดคือห้ามเพิ่มปริมาณยาด้วยตัวเองเด็ดขาด เนื่องจากปริมาณยาที่มากขึ้น นอกจากจะไม่ช่วยชดเชยปริมาณยาที่ขาดไปก่อนหน้าแล้ว ยังอาจก่อให้เกิดความเป็นพิษ หรือทำให้น้องหมาได้รับปริมาณยาที่มากเกินความเหมาะสม ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายถึงขั้นทำให้สัตวเลี้ยงเสียชีวิตได้เลย

Image by Freepik

บทความที่ถูกอ่านล่าสุด

วิธีปฏิบัติตัวเบื้องต้นเพื่อป้องกันผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 1 วินาทีที่แล้ว
“เห็ด” แหล่งอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ 4 วินาทีที่แล้ว
ยา...หมดอายุ? 6 วินาทีที่แล้ว
พลังปกป้องตนเอง... มหัศจรรย์...แห่งชีวิต 9 วินาทีที่แล้ว
ยาเขียว ยาไทยใช้ได้ทั้งผู้ใหญ่และเด็ก… 13 วินาทีที่แล้ว
กลิ่นตัว วิธีการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่น 14 วินาทีที่แล้ว
บรรจุภัณฑ์บ่งชี้ร่องรอยการแกะ (Tamper-Evident Packaging): ตอนที่ 9 15 วินาทีที่แล้ว
ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวหนังและเส้นผม 32 วินาทีที่แล้ว
Midazolam (Dormicum) ภัยสังคมที่หญิงและชายควรรู้ 36 วินาทีที่แล้ว
ยาแก้ไอ ... มีกี่แบบ ?? 36 วินาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด

เกี่ยวกับคณะเภสัชศาสตร์
คลังความรู้สู่ประชาชน บทความความรู้สู่ประชาชน บทความความรู้สู่ประชาชน

ความสำเร็จของวิชาชีพเภสัชกรรม เกิดจากความรู้ที่สามารถทำให้ผู้บริโภคยา มีการเสี่ยงต่ออันตรายจากยาที่ใช้ให้น้อยที่สุด แต่ได้รับผลในการป้องกัน หรือบำบัดโรคมากที่สุด

ความสำเร็จของวิชาชีพเภสัชกรรม เกิดจากความรู้ที่สามารถทำให้ผู้บริโภคยา มีการเสี่่ยงต่ออันตรายจากยาที่ใช้ให้น้อยที่สุด แต่ได้รับผลในการป้องกัน หรือบำบัดโรคมากที่สุด
ประดิษฐ์ หุตางกูร
คณบดีท่านแรกของคณะเภสัชศาสตร์

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
Copyright © 2021 - 2025
งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
การใช้และการจัดการคุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา