เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


ไมโครพลาสติก (microplastic) คืออะไร?


อาจารย์ ดร.ภญ.ชญานิน  กีรติไพบูลย์

ภาควิชาสรีรวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล


ภาพประกอบจาก: https://www.freepik.com/free-photo/close...541033.htm
อ่านแล้ว 5,401 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 20/07/2566
อ่านล่าสุด 1 ช.ม.ที่แล้ว
https://tinyurl.com/2efyddoq
Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ https://tinyurl.com/2efyddoq
 

พลาสติกถูกใช้เป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์เพื่อการอุปโภคในชีวิตประวันของเราอย่างแพร่หลาย เช่น เสื้อผ้าที่ผลิตจากเส้นใยสังเคราะห์ ยางรถยนต์ บรรจุภัณฑ์ เครื่องสำอาง เครื่องใช้ไฟฟ้า และปุ๋ย เป็นต้น แม้ว่าพลาสติกจะมีความทนทาน แต่การได้รับแสงแดด ความร้อน หรือระยะเวลาที่ผ่านไปจะทำให้พลาสติกสลายตัว ได้เป็นไมโครพลาสติกซึ่งเป็นอนุภาคพลาสติกขนาดเล็กที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางน้อยกว่า 5 มิลลิเมตร1 

ข้อมูลจากงานวิจัยพบไมโครพลาสติกในสิ่งแวดล้อมแทบทุกที่ เช่น อากาศ ดิน แหล่งน้ำในธรรมชาติและจากชุมชน เนื้อสัตว์จากธรรมชาติและจากฟาร์ม ผัก และผลไม้ เป็นต้น2,3 สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือปริมาณการปนเปื้อนของไมโครพลาสติกในสิ่งแวดล้อมมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีสาเหตุจากปริมาณการใช้พลาสติกที่เพิ่มขึ้น4 และการสลายตัวของไมโครพลาสติกได้เป็นอนุภาคขนาดเล็ก หรือที่รู้จักกันในชื่อนาโนพลาสติก จึงทำให้ปัญหาการปนเปื้อนของไมโครพลาสติกในสิ่งแวดล้อมทวีความรุนแรงขึ้นตามไปด้วย3 ไมโครพลาสติกจะเข้าสู่ร่างกายของเราผ่านการกินและการหายใจ1,2,3 งานวิจัยเมื่อไม่นานมานี้ได้ตรวจพบไมโครพลาสติกในเลือด ปอด รก และน้ำนมของอาสาสมัคร รวมถึงในเลือดของทารกแรกเกิด5-9 ดังนั้นความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของไมโครพลาสติกต่อสุขภาพที่จะตามมาในอนาคตจึงเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงอยู่ในขณะนี้

ผลกระทบต่อสุขภาพของไมโครพลาสติก

ข้อมูลในปัจจุบันได้จากการศึกษาในสัตว์ทดลอง และเซลล์เพาะเลี้ยงที่จำลองสภาวะใกล้เคียงกับอวัยวะภายในร่างกายมนุษย์ พบว่าไมโครพลาสติกส่งผลเสียต่อการทำงานหลายระบบ ได้แก่ ระบบทางเดินหายใจ ระบบภูมิคุ้มกัน ระบบต่อมไร้ท่อ และระบบสืบพันธุ์ รวมถึงขัดขวางพัฒนาการของตัวอ่อนภายในครรภ์มารดาอีกด้วย ผลการวิจัยพบว่าไนลอน ไมโครไฟเบอร์ ซึ่งเป็นไม-โครพลาสติกชนิดหนึ่ง ทำให้เนื้อเยื่อปอดที่เพาะเลี้ยงมีจำนวน และขนาดของเซลล์ในทางเดินหายใจลดลงมากกว่า 50% โดยมีสาเหตุมาจากสารเคมีที่ปลดปล่อยจากไมโครไฟเบอร์10 สำหรับผลต่อระบบภูมิคุ้มกัน พบว่าไมโครพลาสติกมักจะปนเปื้อนกับอนุภาคโปรตีนแปลกปลอม หรือจุลชีพที่พบในสิ่งแวดล้อม ทำให้เซลล์ในระบบภูมิคุ้มกันจับกินอนุภาคไมโครพลาสติก และตายลงอย่างรวดเร็ว  ทำให้เกิดการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันที่นำไปสู่ปฏิกิริยาการอักเสบที่รุนแรง และทำให้โรคที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบของทางเดินหายใจ หรือทางเดินอาหารกำเริบได้11 นอกจากนี้สารเคมีที่เป็นส่วนประกอบของไมโครพลาสติกก็สามารถส่งผลเสียได้เช่นกัน Bisphenol A ที่ช่วยให้พลาสติกมีความแข็ง รบกวนการทำงานระบบต่อมไร้ท่อ ขัดขวางพัฒนาการเรียนรู้ในวัยเด็ก และยับยั้งการทำงานของระบบสืบพันธุ์12,13 Phthalates ที่ช่วยให้พลาสติกอ่อนและยืดหยุ่น ขัดขวางพัฒนาการของทารกในครรภ์ ลดการทำงานของระบบสืบพันธุ์ ทำให้เกิดภาวะดื้ออินซูลิน และโรคอ้วน14 อย่างไรก็ตามผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการเก็บข้อมูล และต้องใช้เวลาอีกหลายปีจึงจะให้คำตอบที่ชัดเจนได้15 

ทิศทางของไมโครพลาสติกต่อสุขภาพของมนุษย์15

ปัจจุบันนักวิจัยกำลังศึกษาปริมาณของไมโครพลาสติกจากแหล่งต่าง ๆ ได้แก่ ชุมชน โรงงานอุตสาหกรรม และภายในที่อยู่อาศัย เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์หาปริมาณของไมโครพลาสติกที่เข้าสู่ร่างกายโดยการหายใจ ซึ่งจะนำไปสู่ข้อมูลเกี่ยวข้องกับปริมาณไมโครพลาสติกที่สร้างผลเสียต่อร่างกายมนุษย์ต่อไป อย่างไรก็ตามการวิจัยในขั้นนี้มีความท้าทายเป็นอย่างมาก เนื่องจากข้อจำกัดของวิธีวิเคราะห์อนุภาคที่มีขนาดเล็ก และคุณสมบัติทางกายภาพเคมีที่หลากหลายของอนุภาคไมโครพลาสติก ได้แก่ รูปร่าง ขนาด และสารเคมีที่เป็นส่วนประกอบ ซึ่งทำให้ความรุนแรงของอันตรายต่อร่างกายมนุษย์แตกต่างกันไปตามคุณสมบัติดังกล่าวอีกด้วย ปัจจุบันหลายประเทศห้ามใช้ไมโครพลาสติก ได้แก่ ไมโครบีด (microbeads) ในการผลิตเครื่องสำอาง และยาสีฟัน อย่างไรก็ตามยังไม่มีข้อกำหนดสำหรับปริมาณไมโครพลาสติกชนิดอื่น ๆ ในผลิตภัณฑ์อุปโภคที่จะปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม และมาตรการสำหรับการเฝ้าระวังอันตรายยังมีจำกัด

วิธีหลีกเลี่ยงไมโครพลาสติก15

คำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญที่ช่วยให้เราลดปริมาณไมโครพลาสติกที่จะเข้าสู่ร่างกาย และลดการปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อม ได้แก่ การทำให้อากาศถ่ายเทโดยการเปิดหน้าต่าง ดูดฝุ่นเป็นประจำเพื่อกำจัดฝุ่นบนพื้นผิว ซึ่งมักจะมีไมโครพลาสติกปะปนอยู่ ดูแลเครื่องฟอกอากาศให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ หลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีไมโครบีดเป็นส่วนประกอบ เลือกใช้เสื้อผ้าจากเส้นใยธรรมชาติ เช่น ฝ้าย ลินิน กัญชง และหลีกเลี่ยงเสื้อผ้าที่ผลิตจากวัสดุสังเคราะห์ เช่น อะคริลิค และโพลีเอสเตอร์ เพื่อลดการปลดปล่อยไมโครพลาสติกระหว่างการใส่และการซัก ซึ่งจะทำให้ไมโครพลาสติกปนเปื้อนสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ และภาคการเกษตรได้ นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงการนำภาชนะพลาสติกมาอุ่นอาหารด้วยไมโครเวฟ แม้ภาชนะนั้นจะสามารถใช้กับไมโครเวฟได้ และหลีกเลี่ยงการวางขวดน้ำพลาสติกบริเวณที่โดนแสงแดดโดยตรง เป็นต้น

Image by Freepik

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. J. Gasperi et al. First overview of microplastics in indoor and outdoor air. 15th EuCheMS International Conference on Chemistry and the Environment, Leipzig (Germany), September 2015.
  2. World Health Organization [Internet]. Call for experts on human health risks from exposure to microplastic; 2019 Dec 12 [cited 2023 July 4]. Available from: https://www.who.int/news-room/articles-detail/call-for-experts-on-human-health-risks-from-exposure-to-micropalstic
  3. J. Prata et al. Environmental exposure to microplastics: An overview on possible human health effects. Sci Total Environ. 2020; 702, 134455.
  4. imarcgroup [Internet]. Plastic market; [cited 2023 July 4]. Available from: https://www.imarcgroup.com/plastics-market
  5. Smithsonian magazine [Internet]. Microplastics Detected in Human Blood in New Study; [cited 2023 July 4]. Available from: https://www.smithsonianmag.com/smart-news/microplastics-detected-in-human-blood-180979826/
  6. The Guardian [Internet]. Microplastics revealed in the placentas of unborn babies. 2020 December 22 [cited 2023 July 4]. Available from: https://www.theguardian.com/environment/2020/dec/22/microplastics-revealed-in-placentas-unborn-babies
  7. A. Ragusa et al. Plasticenta: First evidence of microplastics in human placenta. Environ Int. 146, January 2021. doi: 10.1016/j.envint.2020.106274.
  8. A. Ragusa et al. Raman Microspectroscopy Detection and Characterisation of Microplastics in Human Breastmilk. Polymers (Basel). Published online Jun 30, 2022. doi: 10.3390/polym14132700.
  9. D. Li, et al. Microplastic release from the degradation of polypropylene feeding bottles during infant formula preparation. Nature Food. October 19, 2020, p. 746–754. doi: 10.1038/s43016-020-00171-y.
  10. F. van Dijk, et al. Inhalable textile microplastic fibers impair airway epithelial growth. bioRxiv 2021.01.25.428144; doi: https://doi.org/10.1101/2021.01.25.428144
  11. Y. Wenjie et al. Impacts of microplastics on immunity. Front Toxicol. 27 September 2022 Sec. Nanotoxicol. 2022; https://doi.org/10.3389/ftox.2022.956885.
  12. R. Beverly. Bisphenol A: An endocrine disruptor with widespread exposure and multiple effects. J Steroid Biochem Molecular Bio. October 2011, Pages 27-34
  13. R. Johanna. Bisphenol A and human health: A review of the literature. Reproduct Toxicol. December 2013, Pages 132-55.
  14. J. Zhang et al. Occurrence of Polyethylene Terephthalate and Polycarbonate Microplastics in Infant and Adult Feces. Environ Sci Technol Letters. 22, 2021, p. 989-994. doi: 10.1021/acs.estlett.1c00559.
  15. ScienceNews [Internet]. Microplastics are in our bodies. Here’s why we don’t know the health risks; 2023 March 24 [cited 2023 July 4]. Available from: https://www.sciencenews.org/article/microplastics-human-bodies-health-risks
เปิดอ่านด้วย Google Doc Viewer ดาวน์โหลดบทความ (pdf) ดูบทความอื่นๆ

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้

งานประชุมวิชาการที่กำลังเปิดรับสมัคร


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


1 วินาทีที่แล้ว
ว่านชักมดลูก 1 นาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้