เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


ผลเสียจากการใช้ยาระบายเพื่อควบคุมน้ำหนัก


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ภก.ธีรัตถ์ เหลืองมั่นคง

ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล


ภาพประกอบจาก: http://www.freepik.com/
อ่านแล้ว 1,259 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 25/09/2567
อ่านล่าสุด 1 วันที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 

ยาระบาย (laxatives) คือ ยาที่ช่วยให้อุจจาระนุ่มและมีน้ำมากขึ้น ส่งผลเพิ่มการทำงานของลำไส้ใหญ่จนทำให้ขับถ่ายได้ง่ายขึ้น ยาระบายจึงใช้เพื่อช่วยบรรเทาหรือรักษาภาวะท้องผูก (constipation) จากสาเหตุต่าง ๆ เช่น ท้องผูกในสตรีมีครรภ์ ท้องผูกหลังผ่าตัด เป็นต้น ทั้งนี้การใช้ยาระบายอย่างถูกต้องภายใต้คำแนะนำจากแพทย์หรือเภสัชกรจัดว่ามีความปลอดภัยค่อนข้างสูง อย่างไรก็ตามในปัจจุบันมีการใช้ยาระบายเพื่อวัตถุประสงค์ในการควบคุมน้ำหนักกันอย่างกว้างขวางทั้งที่เป็นการใช้ในทางที่ผิด (laxative abuse) บทความนี้จึงเรียบเรียงขึ้นเพื่อชี้ให้เห็นข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการใช้ยาระบายเพื่อควบคุมน้ำหนักในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้

1. ยาระบายไม่ช่วยลดการดูดซึมสารอาหาร เนื่องจากอาหารที่รับประทานไม่ว่าจะเป็นไขมัน คาร์โบไฮเดรต (แป้งและน้ำตาล) โปรตีน รวมถึงวิตามินและแร่ธาตุส่วนมาก ล้วนถูกย่อยและดูดซึมที่ลำไส้เล็กเป็นหลัก มีเพียงกากอาหาร น้ำ วิตามินและแร่ธาตุเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่เดินทางสู่ลำไส้ใหญ่ การใช้ยาระบายซึ่งออกฤทธิ์ลดการดูดซึมน้ำที่ลำไส้ใหญ่เพื่อทำให้น้ำอยู่ในกากอาหารและกลายเป็นอุจจาระเพิ่มมากขึ้น จึงแทบจะไม่ส่งผลลดการดูดซึมสารอาหารทั้งหมดซึ่งเกิดขึ้นไปแล้วที่ลำไส้เล็ก ดังนั้นการกินอาหารแล้วตามด้วยการใช้ยาระบายจึงไม่ช่วยลดปริมาณพลังงานที่ร่างกายได้รับ และไม่ช่วยควบคุมน้ำหนัก

2. น้ำหนักตัวที่ลดลงจากยาระบายเกิดจากการเสียน้ำ ไม่ใช่ไขมันหรือพลังงานส่วนเกิน แม้ว่าผู้ที่ใช้ยาระบายจะมีน้ำหนักตัวลดลงเล็กน้อยอย่างรวดเร็วในช่วงแรก แต่น้ำหนักที่ลดลงเกิดจากน้ำในร่างกายที่สูญเสียไปกับอุจจาระ โดยน้ำหนักที่ลดลงไปจะกลับสู่ค่าปกติหลังจากที่ร่างกายได้รับน้ำทดแทนอย่างเพียงพอ ดังนั้นน้ำหนักที่ลดลงจึงไม่เกี่ยวข้องกับการสลายไขมันหรือพลังงานส่วนเกินที่สะสมอยู่ในส่วนต่าง ๆ ของร่างกายเลย แต่กลับเป็นผลจากการสูญเสียน้ำซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งต่อการทำงานของทุกระบบในร่างกาย

3. น้ำและแร่ธาตุที่เสียไปจากการใช้ยาระบาย อาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนในระยะยาว เนื่องจากเมื่อมีการสูญเสียน้ำ ร่างกายจะมีกลไกในการหลั่งฮอร์โมนควบคุมให้ระบบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องทำงานมากขึ้นเพื่อชดเชยน้ำที่เสียไป เช่น กระตุ้นให้ไตทำงานเพื่อเพิ่มน้ำในเลือดมากขึ้น เมื่อหยุดใช้ยาระบาย ระบบชดเชยนี้จะยังคงทำงานอยู่ จนทำให้ร่างกายบวมน้ำ (edema) พร้อมกับน้ำหนักตัวที่อาจจะกลับมาหนักกว่าเดิม รวมถึงผู้ที่ใช้ยาระบายเป็นเวลานานอาจมีภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำ (hypokalemia) เนื่องจากสูญเสียโพแทสเซียมไปพร้อมกับน้ำในอุจจาระ ซึ่งภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำอาจทำให้การทำงานของกล้ามเนื้อ หัวใจ รวมถึงไตผิดปกติ นอกจากนั้นการสูญเสียน้ำและแร่ธาตุยังสัมพันธ์กับการเสียสมดุลของจุลินทรีย์ในทางเดินอาหาร (dysbiosis) ซึ่งอาจนำไปสู่การทำงานของร่างกายที่ผิดปกติตามมา ทั้งนี้ยังมีข้อมูลว่าการใช้ยาระบายเพื่อควบคุมน้ำหนักสัมพันธ์กับการเกิดพฤติกรรมการกินอาหารที่ผิดปกติ (eating disorder) จากความรู้สึกเกี่ยวกับอาหารและร่างกายของผู้ใช้ยา

 4. เลิกยาระบาย ไม่ใช่เรื่องง่าย การใช้ยาระบายสามารถเสพติดได้ (laxative addiction) เนื่องจากหลังหยุดใช้ยาระบาย น้ำหนักมักจะกลับมาเท่ากับหรือมากกว่าที่เคย ผู้ที่ใช้ยาระบายจึงต้องการใช้ยาอย่างต่อเนื่องเพื่อควบคุมน้ำหนักในระยะยาวจนไม่สามารถหยุดยาได้ รวมทั้งหลังใช้ยาระบายเป็นเวลานาน ลำไส้ใหญ่จะเคยชินกับผลของยา เมื่อหยุดใช้ยาจึงเกิดภาวะท้องผูก ถ่ายไม่ออก และจะกลับมาถ่ายได้อีกครั้งด้วยการใช้ยาระบาย เกิดเป็นวงจรของการเสพติดยาระบายในที่สุด 

5. Bisacodyl และ senna เป็นยาระบายที่มีโอกาสเสพติดและผลข้างเคียงสูง เนื่องจากยาทั้งสองชนิดให้ผลค่อนข้างเร็วและชัดเจน ผู้ใช้จึงมักรู้สึกพึงพอใจและเลือกใช้ยาเหล่านี้ซ้ำ ๆ แต่ยาทั้งสองชนิดนี้จัดเป็นยาระบายชนิดกระตุ้น (stimulant laxatives) ซึ่งมีข้อมูลว่าทำให้เกิดการติดยามากที่สุด รวมทั้งการเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น ปวดมวนท้อง คลื่นไส้ ท้องเสีย มักมากกว่ายาระบายชนิดอื่น ๆ ทั้งนี้เมื่อลำไส้ใหญ่ถูกกระตุ้นเมื่อใช้ยาเป็นเวลานาน อาจนำไปสู่การตายเซลล์ประสาทที่ควบคุมการบีบตัวของลำไส้ใหญ่ ดังนั้นขนาดยาเดิมที่เคยใช้จึงมักให้ผลน้อยลง ผู้ใช้ยาจึงต้องเพิ่มขนาดการใช้ยามากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งยิ่งทำให้เลิกยาได้ยากมากขึ้นไปอีก กลายเป็นภาวะท้องผูกเรื้อรังในที่สุด

6. ยาระบายมักเป็นหนึ่งในส่วนผสมของสูตรยาควบคุมน้ำหนักที่ผิดกฎหมาย โดยในสูตรยามักใช้ยาระบายร่วมกับยาอื่น ๆ ที่อาจมีผลช่วยควบคุมน้ำหนักตัวเพียงชั่วคราว เช่น ยาขับปัสสาวะ (เพิ่มการขับน้ำออกจากร่างกาย) ยาลดการย่อยและดูดซึมสารอาหาร (อาจทำให้ท้องเสียและเสี่ยงขาดสารอาหาร) ยาลดความอยากอาหาร (มักมีฤทธิ์กระตุ้นประสาทและทำให้นอนไม่หลับ) เมื่อใช้ยาเหล่านี้ร่วมกันจึงทำให้ผู้ใช้ยารู้สึกว่าสูตรยาที่ใช้มีประสิทธิภาพในการควบคุมน้ำหนักที่ดี แต่ผลที่ได้จากการใช้ยาจะไม่ยั่งยืน และอาจส่งเสริมให้ความเสี่ยงในการเกิดผลข้างเคียงสูงขึ้น เช่น ยาขับปัสสาวะส่งเสริมให้ขาดน้ำและแร่ธาตุผิดปกติมากยิ่งขึ้น ยาลดการย่อยและดูดซึมทำให้ท้องเสียและปวดท้องมากขึ้น ยาลดความอยากอาหารทำให้หงุดหงิด อารมณ์เสีย และส่งผลต่อระบบประสาทในระยะยาว 

7. การควบคุมน้ำหนักที่ถูกต้องและยั่งยืนเกิดจากการปรับพฤติกรรม ไม่ใช่ยาระบาย การรับประทานอาหารให้เหมาะสมตามปริมาณพลังงานที่ร่างกายต้องการ โดยเลือกชนิดของอาหารที่ดีต่อสุขภาพร่วมกับการออกกำลังกายอย่างถูกต้อง เป็นวิธีการที่ทำให้สามารถควบคุมน้ำหนักได้ดีและยั่งยืนที่สุด ส่วนการใช้ยาเพื่อควบคุมน้ำหนักควรอยู่ภายใต้การดูแลจากแพทย์เท่านั้น

จากข้อมูลทั้งหมดจะเห็นได้ว่านอกจากผลควบคุมน้ำหนักในระยะสั้นแล้ว การใช้ยาระบายไม่ได้ช่วยควบคุมน้ำหนัก รวมทั้งยังทำให้เกิดผลเสียได้อีกมากมายเมื่อใช้ในระยะยาว ดังนั้นควรเลือกใช้วิธีการควบคุมน้ำหนักที่เหมาะสม ไม่พึ่งพาการใช้ยาระบาย

Photo: freepik.com

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. Roerig JL, Steffen KJ, Mitchell JE, Zunker C. Laxative abuse: epidemiology, diagnosis and management. Drugs. 2010 Aug 20;70(12):1487-503.
  2. Gibson D, Benabe J, Watters A, Oakes J, Mehler PS. Personality characteristics and medical impact of stimulant laxative abuse in eating disorder patients-a pilot study. J Eat Disord. 2021 Nov 4;9(1):146.
เปิดอ่านด้วย Google Doc Viewer ดาวน์โหลดบทความ (pdf) ดูบทความอื่นๆ

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


1 วินาทีที่แล้ว
ฝุ่น PM 2.5 จิ๋ว แต่ไม่จบ 16 วินาทีที่แล้ว
ยาคุมกำเนิดชนิดฉีด 1 นาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้