Eng |
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ภญ.กชพรรณ ชูลักษณ์
ภาควิชาเภสัชอุตสาหกรรม
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
แมลงสาบถือเป็นแมลงรบกวนชนิดหนึ่งที่พบได้บ่อยที่สุดตามบ้านเรือน คอนโด และร้านอาหาร โดยตัวแมลงสาบเองยังเป็นพาหะของเชื้อก่อโรคต่าง ๆ เช่น แบคทีเรีย เชื้อรา และโปรโตซัว โดยมีรายงานว่าแมลงสาบเยอรมัน (German cockroach, Blattella germanica) จะมีสายพันธุ์แบคทีเรียหลากหลายชนิดอยู่ในตัวมากที่สุด หากเชื้อเหล่านี้ปนเปื้อนในภาชนะใส่อาหารหรืออาหาร ก็จะแพร่เชื้อโรคมาสู่มนุษย์ได้ นอกจากนี้ตัวแมลงสาบยังเป็นสารก่อภูมิแพ้ที่สำคัญของการเกิดอาการโรคภูมิแพ้ เช่น โรคหืด และโรคภูมิแพ้แมลงสาบ (cockroach allergy) อีกด้วย โดยสารก่อภูมิแพ้จากแมลงสาบจะพบได้ในอุจจาระ น้ำลาย สารคัดหลั่ง รวมถึงซากและส่วนที่ลอกคราบ ดังนั้นแม้ว่าจะมีการใช้ยาฆ่าแมลงเพื่อกำจัดแมลงสาบ แต่หากไม่สามารถกำจัดซากแมลงสาบออกไปได้หมด ผู้ที่อยู่อาศัยก็จะยังคงได้รับสารก่อภูมิแพ้อย่างต่อเนื่อง
จากงานวิจัยที่ทำการทดสอบภูมิแพ้โดยการสะกิดผิวหนัง (skin prick test) ในเด็กไทย ช่วงอายุ 2-18 ปี ที่มีประวัติเป็นโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ และ/หรือโรคหืด จำนวน 688 คน พบว่าสารก่อภูมิแพ้ชนิดภายในบ้าน (indoor allergens) ที่มักก่อให้เกิดการแพ้ในเด็กไทยสูงเป็นอันดับ 1 คือ ไรฝุ่น รองลงมาคือ แมลงสาบเยอรมัน แมลงสาบอเมริกัน (American cockroach, Periplaneta americana) และแมว ตามลำดับ (5) ซึ่งสารก่อภูมิแพ้จากแมลงสาบสามารถพบได้ทั่วบ้าน และพบมากที่สุดในห้องครัว แต่การแพ้จะสัมพันธ์กันกับความเข้มข้นของสารก่อภูมิแพ้จากแมลงสาบที่พบในห้องนอนมากที่สุด
Credit: Monsetra (https://www.pexels.com/photo/sink-with-skincare-products-in-bathroom-6781117/)
ผลิตภัณฑ์ยาฆ่าแมลงที่ใช้ในการควบคุมสัตว์รบกวนมักเป็นสารเคมีสังเคราะห์ เช่น สารกลุ่ม organophosphates, carbamates และ pyrethroids เมื่อใช้ซ้ำบ่อย ๆ มักทำให้แมลงดื้อยา ทำให้ต้องใช้ในรูปสารผสม หรือใช้ในปริมาณที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งต้องมีวิธีกำจัดภาชนะบรรจุผลิตภัณฑ์ไล่แมลงสาบอย่างเหมาะสม มิฉะนั้นอาจทำให้เกิดปัญหาสารพิษตกค้างในแหล่งน้ำหรือสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะส่งผลต่อสุขภาพและความปลอดภัยของมนุษย์ในระยะยาว ด้วยเหตุนี้จึงมีแนวคิดในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ไล่ และ/หรือ กำจัดแมลงสาบ โดยใช้สารจากธรรมชาติที่ไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งรายงานวิจัยหลายฉบับพบว่าน้ำมันหอมระเหยจากพืชหลากหลายชนิด มีฤทธิ์ไล่และเป็นพิษต่อแมลงหลาย ๆ ชนิด รวมทั้งแมลงสาบ เช่น
ซึ่งน้ำมันหอมระเหยเหล่านี้ได้มีการนำมาใช้ในอุตสาหกรรมยา อาหาร เครื่องสำอาง รวมทั้งสุคนธบำบัด (aromatherapy) มาอย่างยาวนาน มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว และเสื่อมสลายได้ง่ายเมื่อสัมผัสกับความร้อน แสง และอากาศ จึงช่วยลดความกังวลในแง่ของสารเคมีตกค้างในสิ่งแวดล้อม ด้วยเหตุนี้จึงมีศักยภาพในการนำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ไล่แมลงสาบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสำหรับใช้ในครัวเรือน
อย่างไรก็ตาม ระยะเวลาในการออกฤทธิ์ของน้ำมันหอมระเหยขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ความเข้มข้นของน้ำมันหอมระเหยในสูตรตำรับ ปริมาณที่ใช้ ขนาดและอุณหภูมิของห้อง เป็นต้น ทั้งนี้การที่น้ำมันหอมระเหยเสื่อมสลายได้ง่ายจึงทำให้มีฤทธิ์สั้น ซึ่งจำเป็นต้องมีการพัฒนานวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหาตรงจุดนี้ต่อไป รวมทั้งหาวิธีควบคุมคุณภาพของน้ำมันหอมระเหย เพื่อให้ผลิตภัณฑ์มีความสม่ำเสมอในทุกรุ่นที่ผลิต
แม้ว่าน้ำมันหอมระเหยหรือสารออกฤทธิ์อื่น ๆ จากธรรมชาติมักถูกมองว่าปลอดภัย แต่แท้จริงแล้วอาจก่อให้เกิดการระคายเคืองที่ผิวหนัง หรือทางเดินหายใจได้เช่นกัน โดยความระดับรุนแรงจะขึ้นอยู่กับการตอบสนองของร่างกายที่ไวต่อสารของแต่ละบุคคล ปริมาณที่สัมผัส หรือสูดดม ในกรณีที่ต้องการนำมาเตรียมเป็นสเปรย์สำหรับไล่แมลงสาบ และ/หรือแมลงอื่น ๆ ควรนำน้ำมันหอมระเหยมาเจือจางด้วยตัวทำละลายก่อนใช้ เช่น 10-30% ในแอลกอฮอล์ และทดลองใช้ในปริมาณน้อย ๆ ก่อน โดยทดลองพ่นที่พื้นหรือซอกหลืบที่พบแมลงสาบ และหลีกเลี่ยงการพ่นในอากาศเพื่อป้องกันไม่ให้ผลิตภัณฑ์ฟุ้งกระจายจนอาจระคายเคืองดวงตาและทางเดินหายใจ หรืออาจพ่นสเปรย์ในห้องให้ทั่วทุกจุดก่อนออกไปทำงานหรือออกไปนอกบ้าน เพื่อป้องกันไม่ให้สูดดมมากเกินไปจนระคายเคืองทางเดินหายใจ ทั้งนี้การดูแลรักษาความสะอาดและสุขอนามัยภายในครัวเรือนยังคงเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องทำควบคู่ไปด้วยในการควบคุมแมลงรบกวนในครัวเรือน