Eng |
รองศาสตราจารย์ ดร. ภญ. บุษบา จินดาวิจักษณ์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ภก. ศุภทัต ชุมนุมวัฒน์ ภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ไมเกรนเป็นหนึ่งในภาวะปวดศีรษะที่พบบ่อยในชีวิตประจำวัน อาการปวดศีรษะไมเกรนมักเกิดจากปัจจัยกระตุ้น (trigger factors) ซึ่งแตกต่างกันออกไปในแต่ละคน เช่น อากาศร้อน กลิ่นที่รุนแรง ควันบุหรี่ อาหารบางประเภท เช่น ช็อกโกแลต ยาบางชนิด เช่น ฮอร์โมนคุมกำเนิด แสงสว่างที่มากเกินไป การนอนหลับไม่เพียงพอ ซึ่งการรักษาไมเกรนในเบื้องต้นคือการหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้น แต่ในหลายครั้งเราก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นเหล่านี้ได้ เนื่องจากหน้าที่การงานที่บังคับให้ต้องสัมผัสกับสิ่งกระตุ้นอยู่ตลอดเวลา1
ภาพจาก : https://cdn.amarbank.co.id/AmarBlog/uploads/2018/06/28141933/Migrain-menyerang.jpg
ดังนั้นจึงทำให้ต้องมีการใช้ยาเพื่อรักษาอาการปวดศีรษะไมเกรนแบบเฉียบพลัน เช่น กลุ่มยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (non-steroidal anti-inflammatory drugs; NSAIDs หรือ เอ็นเสด) ยากลุ่ม triptan (ทริปแทน) หรือยา ergotamine โดยในบางคนอาจมีอาการปวดศีรษะไมเกรนเป็นประจำทำให้ต้องใช้ยาดังกล่าวบ่อยครั้ง ซึ่งอาจส่งผลทำให้เกิดอาการข้างเคียงได้ตั้งแต่ ระคายเคืองกระเพาะอาหาร ไตวาย ปลายมือ-เท้าเย็นจากการขาดเลือด ไปจนถึงกล้ามเนื้อหัวใจตาย โดยเฉพาะในกรณีที่ใช้ยาเกินขนาด มีโรคประจำตัวที่เป็นกลุ่มเสี่ยง หรือใช้ยาที่ตีกับยาบรรเทาอาการปวดศีรษะไมเกรน (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน ทาง website นี้ เรื่อง “ยาแก้ปวดศีรษะไมเกรน ergotamine ใช้อย่างไรจึงจะปลอดภัย” และ “ปวดไมเกรน ... ระวังปัญหายาตีกันของ ergotamine”)
จากปัญหาอาการข้างเคียง การมีโอกาสใช้ยาเกินขนาด และ การมีโอกาสยาตีกัน ในผู้ที่ใช้ยาบรรเทาอาการปวดศีรษะไมเกรน ดังกล่าว ทำให้ปัจจุบันมีการใช้ยาหรือผลิตภัณฑ์สุขภาพต่างๆ เพื่อป้องกันไมเกรนเพื่อลดความถี่ของการปวดศีรษะซึ่งจะช่วยลดปริมาณการใช้ยารักษาอาการปวดแบบเฉียบพลันได้ และหนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่มีการพูดถึงบ่อยๆ คือ ผลิตภัณฑ์เสริมแมกนีเซียม
แมกนีเซียมเป็นแร่ธาตุชนิดหนึ่งที่พบมากภายในเซลล์ของร่างกาย มีบทบาทสำคัญในกระบวนการสังเคราะห์สารชีวเคมีชนิด adenosine triphosphate (ATP) ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานของร่างกาย การทำงานของกล้ามเนื้อ ความคงสภาพของเยื่อหุ้มเซลล์ รวมถึงส่งผลต่อกระบวนการส่งสัญญาณประสาทหรือการหลั่งสารสื่อประสาทต่างๆ ด้วย ทั้งนี้มีงานวิจัยหลายฉบับที่แสดงให้เห็นผลในหลอดทดลองหรือสัตว์ทดลองว่าแมกนีเซียมอาจส่งผลยับยั้งกระบวนการในการเกิดอาการปวดศีรษะไมเกรนได้2-5 ทำให้มีความพยายามในการนำแมกนีเซียมมาทดลองใช้ในคนเพื่อป้องกันการเกิดอาการปวดศีรษะไมเกรน6 ซึ่งข้อมูลจากงานวิจัยในมนุษย์บางฉบับพบว่าการใช้แมกนีเซียมช่วยลดจำนวนวันหรือจำนวนครั้งของการปวดศีรษะไมเกรนต่อเดือนลงได้ร้อยละ 22-43 ซึ่งมากกว่ายาหลอกอย่างมีนัยสำคัญ แต่งานวิจัยบางฉบับกลับไม่พบความแตกต่างระหว่างการได้รับแมกนีเซียมและยาหลอก โดยขนาดยาของแมกนีเซียมที่ใช้ในการศึกษาเหล่านี้อยู่ในช่วง 300 – 600 มิลลิกรัมต่อวัน และบางงานวิจัยเป็นการทดลองใช้แมกนีเซียมร่วมกับ co-enzyme Q10 และแร่ธาตุอื่นๆ ด้วย อย่างไรก็ตาม อาการข้างเคียงสำคัญที่พบจากการศึกษาเหล่านี้ คือ ท้องเสีย ซึ่งพบได้ร้อยละ 5-45.7 ของผู้ที่เข้าร่วมการศึกษา
จากข้อมูลข้างต้น สรุปได้ว่าการใช้แมกนีเซียมเพื่อป้องกันการเกิดอาการปวดศีรษะไมเกรนนั้นอาจได้ประโยชน์สำหรับบางคน และในขณะเดียวกันอาจก่อให้เกิดอาการท้องเสียหรือถ่ายเหลวได้มากขึ้น รวมถึงการรับประทานแมกนีเซียมอาจตีกับยาปฏิชีวนะบางชนิดและเสี่ยงต่อการเกิดความล้มเหลวในการรักษาภาวะติดเชื้อได้7
แมกนีเซียมมีจำหน่ายในประเทศไทยในรูปแบบยา (ยาเม็ดแข็ง และ ยาเม็ดฟู่) และรูปแบบผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร โดยส่วนใหญ่ประกอบด้วยแมกนีเซียม ร่วมกับ แร่ธาตุอื่นๆ เช่น แคลเซียม สังกะสี เหล็ก และ วิตามิน เช่น วิตามินบี วิตามินซี วิตามินดี วิตามินเอ ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ไม่ได้ให้การรับรองข้อบ่งใช้ในการป้องกันไมเกรน8
ดังนั้นการตัดสินใจรับประทานแมกนีเซียมเพื่อป้องกันไมเกรนควรพิจารณาทั้งประโยชน์และผลข้างเคียงที่จะเกิดขึ้นเป็นหลัก และขอคำปรึกษาจากแพทย์หรือเภสัชกรเพื่อรับทราบข้อมูลประกอบการตัดสินใจ