เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


กินเห็ด เสริมภูมิ ต้านโรค


รศ.ดร.ภญ.นพมาศ สุนทรเจริญนนท์ ประธานวิทยาลัยเภสัชกรรมสมุนไพรแห่งประเทศไทย ที่ปรึกษาสำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล อดีตอาจารย์ภาควิชาเภสัชวินิจฉัย คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล


ภาพประกอบจาก: https://nearfarms.com/wp-content/uploads...n-Mush.png
อ่านแล้ว 32,835 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 22/03/2563
อ่านล่าสุด 1 วันที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 


"สถานการณ์ในขณะนี้ที่โควิด-19 (COVID-19) ระบาด เรามาเสริมภูมิต้านทานของร่างกายด้วยการรับประทานเห็ด ซึ่งจะได้ประโยชน์ทั้งทางด้านโภชนาการและเพื่อสุขภาพที่ดี เห็ดหลายชนิดมีข้อมูลการศึกษาในคนที่พบว่ามีฤทธิ์เพิ่มภูมิต้านทานให้กับร่างกาย สามารถใช้ในการป้องกันและรักษาโรคระบบทางเดินหายใจส่วนบน การรับประทานเห็ดมีความปลอดภัย ยกเว้น ผู้ที่แพ้เห็ดหรือสปอร์เห็ด และห้ามรับประทานเห็ดพิษ หรือเห็ดที่ไม่เคยใช้เป็นอาหารหรือเป็นยามาก่อน" 
ในสถานการณ์ช่วงนี้ ทั่วโลกมีการระบาดของโคโรน่าไวรัส 2019 หรือโควิด -19 นอกจากที่เราจะต้องป้องกันตนเองโดย กินร้อน ช้อนกลางส่วนตัว ล้างมือบ่อยๆ และออกกำลังกาย เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง ป้องกันการติดเชื้อโรคต่างๆ แล้ว อาหารที่รับประทานทุกวันก็มีความสำคัญยิ่ง ถ้าเรารับประทานอาหารที่มีประโยชน์ช่วยเสริมให้ร่างกายแข็งแรงมีภูมิต้านทานโรคก็จะยิ่งดีมาก 
"เห็ด" ถือได้ว่าเป็นอาหารที่มีประโยชน์กับร่างกาย เราสามารถนำมาประกอบอาหารได้หลายเมนู ไม่ว่าจะเป็น ต้มจืด ต้มข่าไก่ ยำเห็ด เห็ดย่าง แกงคั่วเห็ด ผัดเห็ด หรือน้ำต้มเห็ด เป็นต้น ตัวอย่างเห็ดที่เราหาซื้อได้ในตลาด หรือจะเพาะเองก็ไม่ยาก เช่น เห็ดหอม เห็ดนางรม เห็ดนางรมหลวงหรือเห็ดออริจิ เห็ดนางฟ้า เห็ดฟาง เห็ดหูหนู เห็ดเข็มทอง เห็ดเปาหื้อ เห็ดแชมปิญอง แต่ก็ต้องระวังเห็ดบางชนิดที่เป็นเห็ดพิษ ซึ่งรับประทานแล้วอาจจะทำให้เสียชีวิตได้ 
"เห็ด" เป็นแหล่งอาหารที่มีคุณค่ามากทางโภชนาการ เห็ดแต่ละชนิดจะมีคุณค่าทางโภชนาการแตกต่างกันไปขึ้นกับชนิดของเห็ด โดยส่วนใหญ่เห็ดจะมีคุณค่าทางโภชนาการใกล้เคียงกับผัก นั่นคือ มีวิตามิน เกลือแร่ และโปรตีน แต่เห็ดจะมีโปรตีนที่มีคุณภาพดีกว่าในผัก แต่ก็จัดเป็นโปรตีนพวกที่ไม่สมบูรณ์บางส่วน เมื่อเทียบกับเนื้อสัตว์ ดังนั้น การปรุงอาหารจากเห็ดให้เกิดประโยชน์ต่อสุขภาพจึงควรมีส่วนผสมของเนื้อสัตว์และผักชนิดอื่นร่วมด้วย 
"เห็ด" หลายชนิดมีคุณค่าทางยา โดยมีสารประกอบที่มีสรรพคุณช่วยเสริมให้ร่างกายมีภูมิต้านทานมากขึ้น ซึ่งระบบภูมิคุ้มกันถือเป็นปราการด่านสำคัญของสุขภาพ ดังนั้นเพื่อสุขภาพที่ดีจึงควรใส่ใจในเรื่องระบบภูมิคุ้มกันให้มากขึ้น 
สารสำคัญในเห็ดคือ สารกลุ่มเบต้ากลูแคนส์ (beta-glucans : เป็นสารเชิงซ้อนกลุ่มโพลีแซคคาไรด์) สารกลุ่มนี้พบได้มากใน เห็ด รา ยีสต์ และพืช สารกลุ่มนี้มีฤทธิ์ปรับเสริมภูมิต้านทานให้กับร่างกาย ฤทธิ์ต้านการอักเสบ และฤทธิ์ต้านการติดเชื้อ 
บทความนี้ จะกล่าวถึงงานวิจัยที่สนับสนุนสรรพคุณของเห็ดบางชนิดที่ใช้ในการป้องกันและรักษาโรคระบบทางเดินหายใจส่วนบน 
 
ภาพจาก : http://www.yukon-news.com/media/images/2010/august/06/LIFEmushrooms.jpg 
 

  1. เห็ดสกุลนางรม (Pleurotus Mushrooms) เช่น เห็ดนางรมภูฏาน เห็ดนางรมฮังการี เห็ดเป๋าฮื้อ เห็ดนางรมหลวง และเห็ดนางรม โดยเห็ดสกุลนี้โดยเฉพาะ เห็ดนางรม (Oyster Mushroom) มีงานวิจัยในคนที่พบว่า เด็กก่อนวัยเรียนที่ได้รับประทานสารสกัดเบต้ากลูแคนส์ที่สกัดได้จากเห็ดนางรม ติดต่อกันเป็นเวลา 3 เดือน มีส่วนช่วยให้ความถี่ของการเป็นโรคระบบทางเดินหายใจส่วนบน ลดลงได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (1-2)
  2. เห็ดแชมปิญอง (Champigon Mushroom) มีงานวิจัยในคนที่พบว่า อาสาสมัครที่รับประทานเห็ดแชมปิญองสดที่ลวกน้ำร้อน ขนาด 100 กรัม ก่อนอาหารมื้อเย็น 5 นาที ทุกวัน เป็นเวลา 1 สัปดาห์ ร่างกายจะมีการหลั่งสารภูมิต้านทานออกมาในน้ำลายหรือที่ผิวของอวัยวะที่เป็นโพรง เช่น ช่องปาก ทางเดินหายใจ ทางเดินอาหาร และทางเดินปัสสาวะ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าร่างกายมีการสร้างภูมิต้านทานเพิ่มขึ้น การรับประทานเห็ดแชมปิญองจึงมีประโยชน์ต่อร่างกาย ช่วยเพิ่มภูมิต้านทานให้กับร่างกายได้ (3)
  3. เห็ดหอม มีงานวิจัยในคนที่พบว่า การรับประทานเห็ดหอม ขนาด 5 กรัม หรือ 10 กรัม ทุกวัน เป็นเวลา 4 สัปดาห์ ร่างกายจะมีภูมิต้านทานสูงขึ้น โดยเพิ่มระดับของสารที่จะคอยทำลายสิ่งแปลกปลอมต่างๆ ของร่างกายและลดระดับสารที่จะสร้างการอักเสบ

นอกจากเห็ดชนิดต่าง ๆ ที่ได้กล่าวมาแล้ว สารกลุ่มเบต้ากลูแคนส์ที่ได้จากยีสต์ (baker’s yeast; Saccharomyces cerevisiae) หรือข้าวโอ๊ต ก็มีรายงานวิจัยในคนที่พบว่า การรับประทานสารกลุ่มเบต้ากลูแคนส์จากยีสต์ ในขนาด 250 มิลลิกรัม หรือ 500 มิลลิกรัม เป็นเวลา 3-7 เดือน มีส่วนช่วยรักษาผู้ป่วยที่เป็นหวัดให้มีอาการหวัดลดลง (1) เช่นเดียวกับงานวิจัยที่พบว่าผู้สูงอายุ (อายุ 50-70 ปี) รับประทาน สารเบต้ากลูแคนส์จากยีสต์ ขนาด 250 มิลลิกรัม ทุกวัน เป็นเวลา 3 เดือน มีส่วนช่วยเพิ่มภูมิต้านทาน ป้องกันการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนบน และช่วยลดความรุนแรงของอาการเมื่อมีการติดเชื้อได้ (5) 
สรุป 
บทความนี้ต้องการที่จะสื่อให้เรารับประทานเห็ดเป็นอาหาร เพื่อให้มีคุณประโยชน์ช่วยเสริมภูมิต้านทาน ทำให้ร่างกายของเราแข็งแรง ต่อสู้กับโรคร้ายต่าง ๆ ได้ โดยไม่จำเป็นต้องซื้อสารสกัดเบต้ากลูแคนส์ มารับประทาน ข้อมูลข้างต้นเป็นการแสดงให้เห็นว่าเห็ดเกือบทุกชนิดมีสารกลุ่มเบต้ากลูแคนส์ที่มีประโยชน์ช่วยเสริมภูมิต้านทานให้กับร่างกาย ฉะนั้นการรับประทานเห็ดก็จะได้รับสารเบต้ากลูแคนส์ 
 

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. Jesenak M, Urbancikova I, Banovcin P. Respiratory tract infections and the role of biologically active polysaccharides in their management and prevention. Nutrients. 2017;9:779; doi:10.3390/nu9070779
  2. Jesenak M, Majtan J, Rennerova Z, Kyselovic J, Banovcin P, Hrubisko M. Immunomodulatory effect of pleuran (beta-glucan from Pleurotus ostreatus) in children with recurrent respiratory tract infections. Int Immunopharmacol. 2013;15:395–399.
  3. Jeong SC, Koyyalamudi SR, Pang G. Dietary intake of Agaricus bisporus white button mushroom accelerates salivary immunoglobulin A secretion in healthy volunteers. Nutrition. 2012;28:527–531.
  4. Dai X, Stanilka JM, Rowe CA, Esteves EA, Nieves C Jr, Spaiser SJ, Christman MC, Langkamp-Henken B, Percival SS. Consuming Lentinula edodes (Shiitake) mushrooms daily improves human immunity: a randomized dietary intervention in healthy young adults. J Am Coll Nutr. 2015;34(6):478-487.
  5. Fuller R, Moore MV, George Lewith G, Stuart BL, Ormiston RV, Fisk HL, Noakes PS, Calder PC. Yeast-derived b-1,3/1,6 glucan, upper respiratory tract infection and innate immunity in older adults. Nutrition. 2017;39–40:30–35.
เปิดอ่านด้วย Google Doc Viewer ดาวน์โหลดบทความ (pdf) ดูบทความอื่นๆ

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


ยาแก้ไอ ... มีกี่แบบ ?? 1 นาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คำเตือน บทความ/ข้อมูล/สื่อ ในรูปแบบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่ผลิตโดยมหาวิทยาลัยมหิดล มีจุดประสงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนและสังคม โดยไม่อนุญาตให้นำไปใช้ในเชิงพาณิชย์หรือประกอบการทำใดๆ อันผิดกฎหมาย หากหน่วยงานใดมีความประสงค์ใช้สื่อทุกรูปแบบของมหาวิทยาลัยมหิดลเพื่อเผยแพร่ในนามของหน่วยงาน ขอให้ติดต่อขออนุญาตมาที่ สถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ploypann.chi@mahidol.edu , kulwadee.kit@mahidol.edu) หากมีข้อสงสัยประการใดโปรดสอบถามที่โทร. 02 849 6056 - 7

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้