เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


ยาเม็ดโปแทสเซียมไอโอไดด์ ( ไอโอดีนเม็ด ) (KI) ป้องกันสารกัมมันตรังสี ไอโอดีน 131


คณาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

อ่านแล้ว 163,813 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 10/04/2554
อ่านล่าสุด 2 นาทีที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 

นับตั้งแต่เกิดแผ่นดินไหวที่ประเทศญี่ปุ่น ตามมาด้วยการระเบิดของโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ ก็มีแต่คนพูดถึงสารกัมมันตรังสีที่รั่วไหลออกมาจากเหตุระเบิดนั้น และหวาดวิตกถึงอันตราย จนเกิดคำถามว่าจะมีวิธีป้องกันไหม และจะมียาอะไรใช้ป้องกันได้บ้าง ผมจะค่อยๆ เล่าให้ฟังนะครับ

สารกัมมันตรังสีคืออะไร? มีอันตรายอย่างไร?

สารกัมมันตรังสีคือแร่ธาตุที่ไม่คงตัว เมื่อสลายตัวจะปลดปล่อยพลังงานออกมาในรูปรังสี ซึ่งสามารถทำลายเนื้อเยื่อของร่างกายมนุษย์ได้ หากได้รับรังสีในปริมาณมาก ก็อาจมีความผิดปกติเกิดขึ้นในทันทีและอาจเสียชีวิตได้แต่ถ้าได้รับรังสีในปริมาณน้อย ก็อาจไม่พบความผิดปกติในทันที โดยอาจพบความผิดปกติในภายหลัง ซึ่งอาจใช้เวลานานเป็นเดือนหรือเป็นปี

สารกัมมันตรังสีแต่ละชนิดอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายแตกต่างกัน เช่น ไอโอดีน 131 เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะสะสมที่ต่อมไทรอยด์ เนื่องจากไอโอดีนเป็นส่วนประกอบของฮอร์โมนที่สร้างจากต่อมไทรอยด์ ถ้าร่างกายได้รับไอโอดีน 131 ในปริมาณมาก เนื้อเยื่อของต่อมไทรอยด์อาจถูกทำลาย ทำให้ร่างกายขาดฮอร์โมนดังกล่าว นอกจากนี้ไอโอดีน 131 ในปริมาณมาก อาจทำให้เป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์ได้ด้วย

อ่านรายละเอียดเกี่ยวกับสารกัมมันตรังสีได้ที่ เว็ปไซต์คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล


(รอบรู้เรื่องสารกัมมันตรังสี)

สารกัมมันตรังสีมีโอกาสแพร่กระจายมาถึงเมืองไทยอย่างไร? และมาตรการป้องกันของประเทศไทย

(1) ไอโอดีน 131 มีคุณสมบัติเป็นก๊าซ ลอยไปได้ไกลตามกระแสลม และเข้าสู่ร่างกายทางลมหายใจแต่เนื่องจากประเทศไทยอยู่ทางทิศใต้ของญี่ปุ่น ประกอบกับขณะนี้ลมพัดจากญี่ปุ่นไปทางทิศตะวันออก ไปทางสหรัฐอเมริกา แคนาดา จึง มีโอกาสน้อยที่สารกัมมันตรังสีชนิดนี้จะมาถึงประเทศไทย แต่ถ้าลมเปลี่ยนทิศและพัดมาทางประเทศไทย กระแสลมจะต้องพัดผ่านภูเขา ทะเล และอีกหลายประเทศ ทำให้ลมที่พัดมาเหลือสารกัมมันตรังสีในระดับที่น้อยลง

มาตรการของประเทศไทยมีการติดตั้งสถานีตรวจวัดปริมาณรังสีในอากาศทั่วประเทศเพื่อป้องกันอันตรายต่อประชาชนในหลายจังหวัดเช่น เชียงใหม่ ขอนแก่น สงขลา และกรุงเทพฯ เป็นต้น หากตรวจพบปริมาณรังสีสูงกว่า 1 ไมโคร
ซีเวิร์ตต่อชั่วโมง (µSv/h)กระทรวงสาธารณสุขจะเป็นผู้ประกาศเตือนภัยและชี้แจงและให้คำแนะนำต่อไปปัจจุบัน “ไม่พบ” ปริมาณรังสีที่ผิดปกติ

(2) อาหารนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่นที่ปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี โดยเฉพาะ ซีเซียม137 เนื่องจากสารดังกล่าวมีคุณสมบัติเป็นอนุภาคขนาดเล็ก มักปนเปื้อนในอาหาร และเข้าสู่ร่างกายโดยการรับประทาน

มาตรการของประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้ดำเนินมาตรการในการเฝ้าระวังตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคม 2554 โดยสุ่มตัวอย่างส่งตรวจวัดสารกัมมันตรังสี ณ ด่านอาหารและยาทุกแห่ง รายงานผลการตรวจครั้งที่ 9 (ข่าวแจกวันที่ 30 มีนาคม 2554) ทุกตัวอย่างอยู่ในเกณฑ์ปกติ ท่านสามารถติดตามผลตรวจวัดสารกัมมันตรังสีในอาหารที่นำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น โดยอ่านข้อมูลเพิ่มเติมจาก <a href=http://www.fda.moph.go.th/japan/Index.html>LINK นี้</a>

วิธีป้องกันสารกัมมันตรังสีมีวิธีอะไรบ้าง

วิธีที่มีการแนะนำคือการรับประทานยาโปแทสเซียมไอโอไดด์ (potassium iodide; KI)ยานี้ได้รับการรับรองโดยองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกาและได้รับการแนะนำจากองค์การอนามัยโลกให้ใช้ในการป้องกันต่อมไทรอยด์จากสารกัมมันตรังสีไอโอดีน 131 ที่รั่วและแพร่กระจายออกมาจากเหตุระเบิดของโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ แต่ไม่มีผลป้องกันผลจากการได้รับสารกัมมันตรังสีชนิดอื่นๆ ข้อสำคัญที่ควรทราบด้วยคือ โปแทสเซียมไอโอไดด์ จะป้องกันเฉพาะต่อมไทรอยด์เท่านั้น ไม่ป้องกันร่างกายส่วนอื่นๆ

แต่ที่ไม่แนะนำคือ

  • ไม่แนะนำให้ใช้ยาทาแผลที่มีส่วนประกอบของไอโอดีนเช่น โพวิโดนไอโอดีน หรือ ทิงเจอร์ไอโอดีนเนื่องจากไม่ใช่วิธีมาตรฐานในการป้องกันอันตรายจากสารกัมมันตรังสีไอโอดีน 131 ถึงแม้ว่าการทายาดังกล่าวอาจมีไอโอดีนดูดซึมผ่านผิวหนังเข้าสู่กระแสเลือดได้ แต่ไม่สามารถรับประกันได้ว่าปริมาณยาที่ดูดซึมจะเพียงพอต่อการป้องกัน เพราะการดูดซึมยาขึ้นกับหลายปัจจัย และปัจจุบันยังขาดข้อมูลสนับสนุนที่เพียงพอ
  • ไม่แนะนำให้รับประทานเกลือบริโภค หรือเกลือเสริมไอโอดีนเนื่องจากต้องรับประทานเกลือบริโภคในปริมาณมาก ถึงจะสามารถป้องกันอันตรายจากสารกัมมันตรังสีได้ (ประกาศกระทรวงสาธารณสุขกำหนดให้เกลือบริโภคจะต้องมีปริมาณไอโอดีนไม่น้อยกว่า 30 มิลลิกรัมต่อเกลือบริโภค 1 กิโลกรัม) นอกจากนี้ ในเกลือบริโภคมีส่วนประกอบเป็นเกลือโซเดียม ซึ่งหากร่างกายได้รับโซเดียมในปริมาณมากจะเกิดอันตรายต่ออวัยวะสำคัญในร่างกายเช่น หัวใจและไต เป็นต้น

ถ้าจะเดินทางเข้าพื้นที่เสี่ยงในญี่ปุ่น จำเป็นต้องใช้โปแทสเซียมไอโอไดด์หรือไม่

ผู้ที่จำเป็นต้องเดินทางไปประเทศญี่ปุ่น ควรหาข้อมูลจากรัฐบาลญี่ปุ่นว่าพื้นที่ใดที่เสี่ยงและจำเป็นต้องรับประทานโปแทสเซียมไอโอไดด์ หรืออาจสอบถามข้อมูลจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุขของประเทศไทยประจำจุดคัดกรองผู้โดยสารขาออก
ณ สนามบินขนาดใหญ่เช่น สุวรรณภูมิ และสนามบินเชียงใหม่ เป็นต้น ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้มอบนโยบายให้องค์การเภสัชกรรมผลิตโปแทสเซียมไอโอไดด์ชนิดเม็ด หรือไอโอดีนเม็ด เพื่อแจกจ่ายให้ประชาชนที่เดินทางเข้าพื้นที่เสี่ยงในประเทศญี่ปุ่นโดยต้องผ่านการคัดกรองความจำเป็นก่อน

โปแทสเซียมไอโอไดด์ทำงานอย่างไร?

โปแทสเซียมไอโอไดด์ที่รับประทานเข้าไป จะถูกร่างกายเปลี่ยนให้อยู่ในรูปไอโอดีน ซึ่งจะถูกดูดซึมเข้าไปเก็บสะสมที่ต่อมไทรอยด์ ไอโอดีนที่ได้จากโปแทสเซียมไอโอไดด์นี้ไม่ก่อให้เกิดมะเร็งต่อมไทรอยด์ซึ่งต่างจากสารกัมมันตรังสีไอโอดีน 131 เมื่อต่อมไทรอยด์อิ่มตัวด้วยไอโอดีนที่ได้จากโปแทสเซียมไอโอไดด์ จึงทำให้สารกัมมันตรังสีไอโอดีน 131 ไม่สามารถเข้าไปสะสมที่ต่อมไทรอยด์ได้อีก และจะถูกขับออกจากร่างกาย

โปแทสเซียมไอโอไดด์ ใช้อย่างไร?

องค์การอนามัยโลกแนะนำให้ใช้โปแทสเซียมไอโอไดด์ในขนาด 130 มิลลิกรัมต่อวัน สำหรับเด็กตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไปและผู้ใหญ่ โดยควรรับประทานก่อนเข้าพื้นที่เสี่ยงหรือได้รับสารกัมมันตรังสีไอโอดีน 131 อย่างน้อย 12 ชั่วโมง ซึ่งจะให้ประสิทธิภาพในการป้องกันได้มากกว่าร้อยละ 90 และแนะนำให้รับประทานต่อเนื่องวันละ 1 ครั้ง จนกว่าจะออกจากบริเวณพื้นที่เสี่ยง การรับประทานยาวันละครั้งมีความจำเป็นเนื่องจากยามีผลป้องกันเป็นเวลาประมาณ 24 ชั่วโมง

อย่างไรก็ตามหากรับประทานโปแทสเซียมไอโอไดด์หลังจากได้รับสารกัมมันตรังสีแล้ว จะมีประสิทธิภาพลดลง
ยิ่งได้รับช้าเท่าใดจะมีผลป้องกันน้อยลงเท่านั้น มีข้อมูลว่าการรับประทานโปแทสเซียมไอโอไดด์หลังจากที่ได้รับไอโอดีน131 ไปแล้ว 3-4 ชั่วโมง มีประสิทธิภาพในการป้องกันเพียงร้อยละ 50 แต่หากเกิน 6 ชั่วโมงแล้ว ยังไม่มีการศึกษายืนยัน

ใครที่ห้ามใช้ โปแทสเซียมไอโอไดด์ ?

ผู้ที่มีประวัติแพ้ไอโอดีน เป็นโรคผิวหนังอักเสบบางชนิด หรือเป็นโรคไทรอยด์ที่มีความผิดปกติของหัวใจร่วมด้วย

โปแทสเซียมไอโอไดด์ก่ออันตรายอะไรบ้างไหม ?

โปแทสเซียมไอโอไดด์ก่ออันตรายได้ ดังนี้

  • อาการข้างเคียง ได้แก่ ไม่สบายท้อง คลื่นไส้อาเจียน ต่อมน้ำลายอักเสบ และยังอาจเกิดอาการข้างเคียงต่อหัวใจ โดยมีหัวใจเต้นผิดปกติ ซึ่งเกิดขึ้นเนื่องจากยามีส่วนประกอบของโปแทสเซียม โดยเฉพาะหากมีการใช้ยาบางชนิดที่ทำให้ระดับโปแทสเซียมสูงร่วมด้วยให้ระมัดระวังอาการข้างเคียงนี้เป็นพิเศษ
  • ผู้ใช้ยาบางรายอาจเกิดอาการแพ้ โปแทสเซียมไอโอไดด์ซึ่งอาจรุนแรงถึงแก่ชีวิต สังเกตได้จากการมีเสียงหวีดหวิวในหลอดลม มีไข้ แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก ไออย่างรุนแรง และอาการบวมที่ปาก ใบหน้า และลำคอ เป็นต้น
  • การใช้โปแทสเซียมไอโอไดด์ร่วมกับยาหลายชนิดจะเกิดปฏิกิริยาระหว่างยา หรือยาตีกัน ซึ่งทำให้ผู้ป่วยได้รับอันตรายจากการใช้ยา จึงควรระมัดระวังและแจ้งให้แพทย์และเภสัชกรทราบว่าใช้ยาใดอยู่ เช่น หากใช้ยาลดความดันโลหิตที่มีผลเพิ่มระดับโปแทสเซียม อยู่ แล้วจะใช้โปแทสเซียมไอโอไดด์ ก็จะทำให้ระดับโปแทสเซียมในเลือดสูงขึ้น และส่งผลให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ

หญิงตั้งครรภ์และมารดาที่ให้นมบุตรใช้ยานี้ได้หรือไม่

หญิงตั้งครรภ์และมารดาที่ให้นมบุตรหากมีความจำเป็นที่จะต้องเดินทางเข้าไปในพื้นที่เสี่ยงภัย การรับประทานโปแทสเซียมไอโอไดด์นับว่าเป็นประโยชน์เพราะจะช่วยป้องกันทั้งแม่และทารก เนื่องจากยาสามารถผ่านรกและถูกขับออกมาในน้ำนมได้ อย่างไรก็ตาม โปแทสเซียมไอโอไดด์เป็นยาที่มีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดความผิดปกติต่อทารกได้ด้วย การใช้ยานี้ในหญิงตั้งครรภ์หรือมารดาที่ให้นมบุตรที่จำเป็นต้องเดินทางเข้าพื้นที่เสี่ยงต่อการได้รับสารกัมมันตรังสี จึงควรพิจารณาระหว่างประโยชน์และโทษก่อนที่จะใช้ยานี้ และหากจำเป็นต้องใช้ยา ควรใช้ในระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น

โปแทสเซียมไอโอไดด์จะเก็บรักษาอย่างไร

โปแทสเซียมไอโอไดด์ควรเก็บในภาชนะบรรจุที่แห้ง ปิดมิดชิด เก็บให้พ้นแสง และต้องระวังความชื้นเนื่องจากโปแทสเซียมมีคุณสมบัติในการดึงน้ำเข้าหาตัว ทำให้เม็ดยาชื้นและสีเปลี่ยนแปลงได้ เพราะฉะนั้นหากสังเกตว่าเม็ดยาชึ้นและและสีเปลี่ยนแปลงไปไม่ควรรับประทานยานี้

สรุป

การใช้โปแทสเซียมไอโอไดด์ แม้จะเป็นยาที่แนะนำให้ใช้เพื่อป้องกันอันตรายจากสารกัมมันตรังสีไอโอดีน 131 แต่ต้องใช้ด้วยความระมัดระวังดังที่กล่าวมาข้างต้นนะครับ

บทความโดย เภสัชกร มรุพงษ์ พชรโชค

ร้านยาเภสัชมหิดล (สถานปฏิบัติการเภสัชกรรมชุมชน) คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

บรรณานุกรม

  1. สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา.ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง เกลือบริโภค.2010; [2 screens]. Available at URL:http://newsser.fda.moph.go.th/food/file/Laws/Notification%20of%20Ministry%20of%20PublicHealth/Law03P321.pdf. Accessed March 25,2010
  2. Potassium Iodide. In: DRUGDEX® Evaluations. [Online]. 2010 Mar 30. Available from: MICROMEDEX® 2.0 Healthcare Series; 2011. [cited 2011 Mar 25].
  3. กลุ่มงานด้านวิชาการ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ. ความจำเป็นของคนไทยต่อการรับประทานโพแทสเซียมไอโอไดด์จากการเกิดอุบัติเหตุทางนิวเคลียร์ที่ญี่ปุ่น. 2011; [3 screens]. Available at URL: http://www.oaep.go.th/dt_news1.php?id=818Accessed March 25,2010
  4. กลุ่มงานด้านวิชาการ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ.ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับสารกัมมันตรังสีไอโอดีน อันตราย และการป้องกัน. Available at URL: http://www.oaep.go.th/dt_news1.php?id=809Accessed March 25,2010
แหล่งอ้างอิง/ที่มา


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


EM Ball (อีเอ็มบอล) 1 นาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้