เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


“ยา” กับอันตรายต่อไต


รองศาสตราจารย์ ดร. ภญ. นงลักษณ์ สุขวาณิชย์ศิลป์
ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพประกอบจาก : https://medicine.wustl.edu/wp-content/uploads/kidneys-1200x800-v26-700x467.jpg
อ่านแล้ว 53,438 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 03/10/2562
อ่านล่าสุด 1 ช.ม.ที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 


ไตทำหน้าที่ผลิตปัสสาวะ เป็นอวัยวะสำคัญในการรักษาสมดุลน้ำและเกลือแร่ในร่างกาย อีกทั้งยังช่วยกำจัดของเสียออกจากร่างกายโดยการขับถ่ายมากับปัสสาวะ

ผลเสียต่อไตจากยา...ส่งผลต่อร่างกายอย่างไร?

ผลเสียต่อไตที่เกิดจากยา (หมายรวมถึงเมแทบอไลต์ของยาด้วย ซึ่งเมแทบอไลต์เป็นสารที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงยาในร่างกาย) อาจเกิดขึ้นแบบเฉียบพลันหรือค่อยเป็นค่อยไป อาจเกิดกับไตตั้งแต่โกลเมอรูลัส (glomerulus) ซึ่งทำหน้าที่กรองเลือดขั้นแรกเพื่อสร้างเป็นปัสสาวะ เรื่อยมาตลอดท่อไต รวมถึงเนื้อเยื่อใกล้เคียง (กลไกการเกิดอันตรายต่อไตมีกล่าวต่อไป) ทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานของไตลดลง สมดุลน้ำและเกลือแร่เสียไป ร่างกายสะสมของเสีย ส่งผลรบกวนระบบการทำงานของร่างกาย ทำให้เกิดความผิดปกติหลายอย่าง เช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย ขาและเท้าบวม สับสน

ยาใดบ้างที่เป็นอันตรายต่อไต?

ยาทั้งหลายที่เข้าสู่ร่างกายล้วนมีความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายต่อไตได้ อาจมากหรือน้อยต่างกัน ตัวอย่างยาที่อาจทำอันตรายต่อไต เช่น ยาต้านจุลชีพในกลุ่มอะมิโนไกลโคไซด์ แอมโฟเทอริซินบี ยาต้านรีโทรไวรัส ยาในกลุ่มซัลโฟนาไมด์ เมโทเทรกเซต ซีสพลาทิน ไซโคลสปอรีน ยาลดความดันโลหิตบางกลุ่ม ยาลดไขมันในเลือดกลุ่มสแตติน สารสีทึบรังสี (contrast dye) ที่ใช้ในการวินิจฉัยความผิดปกติในร่างกาย (ดูเพิ่มเติมในตาราง)



ยาทำอันตรายต่อไตได้อย่างไร?

กลไกการเกิดอันตรายต่อไตจากยามีหลายอย่างดังนี้
  1. การเกิดผลึกหรือตะกอนยาที่ไต ซึ่งเป็นอันตรายต่อไตโดยตรง ตัวอย่างยาเช่น เมโทเทรกเสต ยาต้านรีโทรไวรัส ยาในกลุ่มซัลโฟนาไมด์
  2. การมีเลือดมาเลี้ยงไตไม่เพียงพอ อาจเกิดจากยาไปทำให้หลอดเลือดที่เลี้ยงไตเกิดการหดตัว เช่น ยาในกลุ่มบรรเทาอาการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ หรืออาจเกิดจากยาไปขยายหลอดเลือดที่ออกจากไต เช่น ยาลดความดันโลหิตบางกลุ่ม สิ่งเหล่านี้ทำให้อัตราการกรองสารรวมถึงของเสียผ่านไตเกิดได้ไม่ดี
  3. เซลล์ไตอักเสบเหตุจากการอุ้มน้ำมาก (osmotic nephrosis) เมื่อได้รับยาหรือสารเหล่านี้ปริมาณมาก เช่น แมนนีทอล เด็กซ์แทรน สารสีทึบรังสี
  4. การเกิดปฏิกิริยาภูมิคุ้มกัน กรณีนี้ทำให้ไตเกิดการอักเสบอย่างเฉียบพลัน เกิดได้ทั้งโกลเมอรูลัสและเนื้อเยื่อไต ตัวอย่างยาเช่น ไฮดราลาซีน ลิเทียม โพรพิลไทโอยูราซิล
ปัจจัยส่งเสริมความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายต่อไตจากยา

ปัจจัยส่งเสริมความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายต่อไตจากยามีหลายอย่างดังนี้
  1. ชนิดยา ยาบางชนิดโดยธรรมชาติเป็นอันตรายต่อไต เช่น ยาในกลุ่มอะมิโนไกลโคไซด์ (เจนตามิซิน สเตรปโตมัยซิน เป็นต้น) แอมโฟเทอริซินบี ซิสพลาทิน ไซโคลสปอรีน สารสีทึบรังสี หากได้รับยาหรือสารเหล่าร่วมกันจะส่งเสริมให้เกิดอันตรายต่อไตเพิ่มขึ้น
  2. ระยะเวลาที่ใช้ยา หากใช้ยาเป็นเวลานานจะเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายต่อไต
  3. การทำงานของไตลดลง โดยมีอัตราการกรองผ่านโกลเมอรูลัสน้อยกว่า 60 มิลลิลิตร/นาที/1.73 ตารางเมตรพื้นที่ผิวกาย
  4. สภาพร่างกายและความเจ็บป่วย เช่น ภาวะเสียเลือดมากหรือเสียน้ำมาก เป็นโรคเบาหวาน โรคหัวใจล้มเหลว ความดันโลหิตในหลอดเลือดแดงต่ำ ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด
  5. ผู้สูงอายุ โดยทั่วไปผู้ที่มีอายุมากจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายจากการใช้ยาได้มากกว่าคนหนุ่มสาว เนื่องจากสภาพร่างกายอ่อนแอลง การทำงานของไตลดลง และมีโรคเรื้อรังทำให้มีโอกาสใช้ยาหลายอย่าง
การลดความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายต่อไตจากยา

อันตรายต่อไตเหตุจากการใช้ยานั้น มีแนวทางในการป้องกันหรือลดความเสี่ยงได้ดังนี้
  1. สำหรับบุคลากรทางการแพทย์
    • หลีกเลี่ยงการสั่งใช้ยาที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายต่อไต ไม่ว่าจะใช้ชนิดเดียวหรือใช้ร่วมกัน (การใช้ยาที่เป็นอันตรายต่อไตร่วมกันจะยิ่งส่งเสริมให้เกิดอันตรายต่อไตมากขึ้น)
    • ในกรณีที่จำเป็นต้องสั่งใช้ยาที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายต่อไต ควรให้ใช้ในขนาดต่ำสุดที่ให้ผลในการรักษา และติดตามประเมินการทำงานของไตเป็นระยะ ๆ
    • ให้คำแนะนำที่เหมาะสมแก่ผู้ป่วยทั้งการใช้ยาและการปฏิบัติตัว
  2. สำหรับผู้ป่วย
    • ไม่ซื้อยามาใช้เอง
    • การดื่มน้ำมากพอ จะช่วยลดอันตรายต่อไตที่เกิดจากยาได้ โดยเฉพาะยาที่ตกผลึกหรือเกิดตะกอนที่ไต
เอกสารอ้างอิง
  1. Perazella MA. Pharmacology behind common drug nephrotoxicities. Clin J Am Soc Nephrol 2018; 13:1897-908.
  2. Petejova N, Martinek A, Zadrazil J, Teplan V. Acute toxic kidney injury. Ren Fail 2019; 41:576-94.
  3. Mas-Font S, Ros-Martinez J, P?rez-Calvo C, Villa-D?az P, Aldunate-Calvo S, Moreno-Clari E, et al. Prevention of acute kidney injury in intensive care units. Med Intensiva 2017; 41:116-26.
  4. Barnett LMA, Cummings BS. Nephrotoxicity and renal pathophysiology: a contemporary perspective. Toxicol Sci 2018; 164:379-90.
  5. Sari A. Nephrotoxic effects of drugs. http://dx.doi.org/10.5772/intechopen.83644. Accessed: September 2019.


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


“ยา” กับอันตรายต่อไต 1 วินาทีที่แล้ว
36 วินาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2025
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้