Eng |
อาจารย์ ดร.ภก.บรมพจน์ พฤฒิวนาสัณฑ์ ภาควิชาเภสัชเคมี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
การลักลอบใส่สารที่มีฤทธิ์ทางยาในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เพื่อหวังประสิทธิภาพให้ตรงตามคำกล่าวอ้างสรรพคุณของผลิตภัณฑ์นั้นเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมทั่วโลก ณ ปัจจุบัน การกระทำดังกล่าวก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิตต่อผู้บริโภคเนื่องจากการได้รับยาในปริมาณสูงและยาวนานทำให้การทำงานของร่างกายเสียสมดุลและล้มเหลวจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ ซึ่งท่านผู้อ่านจะสามารถเห็นตัวอย่างกรณีศึกษาได้ตามหน้าข่าวหนังสือพิมพ์หรือสื่อออนไลน์จากหลากหลายสารทิศ คำถามที่เกิดขึ้น คือ เราจะมีวิธีป้องกันตัวเองหรือบุคคลใกล้ตัวจากเหตุการณ์เหล่านี้ได้อย่างไร? การหลีกเลี่ยงความเสี่ยงของการได้รับยาปนเปื้อนที่ดีที่สุด คือ การไม่บริโภคผลิตภัณฑ์เสริมอาหารใดๆ เลย แต่หากทำเช่นนี้ เท่ากับว่าผู้บริโภคอาจจะเสียโอกาสที่จะได้รับผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีคุณภาพ ประสิทธิภาพ และความปลอดภัยที่ดี ดังนั้น บทความนี้จึงจะขอแบ่งปันความรู้ของเกี่ยวกับการลักลอบใส่ยาปนเปื้อน การตรวจสอบ และการระมัดระวังตนเองจากผลิตภัณฑ์ที่อันตราย
ภาพจาก : http://cdn1.theinertia.com/wp-content/uploads/2016/06/vitamins.jpg
สำหรับผู้ที่ต้องการตรวจสอบการปนเปื้อนของยาในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารสามารถทำได้ โดยในปัจจุบัน ตำรายาสหรัฐอเมริกา (The United States Pharmacopeia – USP) ได้กำหนดวิธีที่เป็นมาตรฐานสำหรับการทดสอบยาปนเปื้อนเหล่านี้ขึ้นมา ใน USP General Chapter Adulteration of dietary supplements with drugs and drug analogs โดยจัดแบ่งหมวดหมู่ของประเภทยาปนเปื้อนไว้เป็น 3 ประเภท ได้แก่
แนวทางการตรวจสอบยาปนเปื้อนกลุ่มดังกล่าว จะทำโดยใช้เครื่องมือที่เรียกว่าไฮเพอร์ฟอร์มานซ์ลิควิดโครมาโทรกราฟี (high-performance liquid chromatography – HPLC) ร่วมกับตัวตรวจวัดแมสสเปกโทรมิเตอร์ (mass spectrometer – MS) ซึ่งเครื่องมือดังกล่าวนั้นมีความจำเพาะ (specificity) ความไว (selectivity) ความแม่นยำ (precision) และความถูกต้อง (accuracy) สูงมาก หากจะเปรียบเทียบประสิทธิภาพให้ผู้อ่านสามารถเห็นภาพได้ชัดเจน คือ สมมติว่าท่านนำเม็ดเกลือ 1 เม็ดละลายลงในน้ำปริมาตร 1 ลิตร และนำไปวิเคราะห์ด้วยเครื่องมือดังกล่าว เครื่องมือสามารถตรวจพบปริมาณเกลือได้อย่างแม่นยำและถูกต้องแม้จะมีปริมาณเพียงน้อยนิด ดังนั้นหากมีการลักลอบใส่สารในปริมาณที่น้อยๆ เพื่อให้ตรวจสอบไม่พบจึงเป็นความคิดที่ผิดอย่างรุนแรง อย่างไรก็ตาม การตรวจสอบดังกล่าวนั้นไม่สามารถทำได้อย่างรวดเร็วสักเท่าไรนักเนื่องจากการต้องใช้ระยะเวลาสำหรับการวิเคราะห์และจะต้องทำซ้ำจนให้เป็นที่แน่ใจ (ในกรณีตัวอย่างคดีความ) ทำให้เป็นข้อจำกัดของจำนวนการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ได้ ดังนั้น ผู้บริโภคจึงควรศึกษาความรู้เพื่อหาแนวทางการป้องกันตนเองจากผลิตภัณฑ์ที่ปนเปื้อนยาเพิ่มเติมอีกทางหนึ่ง
แนวทางการหลีกเลี่ยงและป้องกันตนเองจากการตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ
ถึงแม้ว่าปัจจุบันเจ้าหน้าที่ภาครัฐจะดำเนินการปราบปรามผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ผิดกฏหมายอย่างเข้มงวดก็ตาม แต่ก็ไม่สามารถจัดการได้หมดสิ้น เนื่องจากจำนวนผู้กระทำผิดมีมากมายทั้งคนในและคนนอกประเทศ จึงขอฝากผู้อ่านทุกท่านโปรดใช้วิจารณญานในการบริโภคผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ในบทความนี้มีแนวทางในการพิจารณา ดังนี้