เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


นอนน้อยทำให้อ้วน จริงหรือไม่


รองศาสตราจารย์ ดร.ภญ. จิรภรณ์ อังวิทยาธร ภาควิชาเภสัชเคมี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล


ภาพประกอบจาก: https://imgix.ranker.com/user_node_img/5...=50&fm=jpg
อ่านแล้ว 32,018 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 28/02/2561
อ่านล่าสุด 2 ช.ม.ที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 


หลายท่านคงจะสังเกตได้ว่า มีคนหนุ่มสาวและเด็กที่เข้าข่ายว่าเป็น “คนอ้วน” มากขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับในอดีต คำเปรียบเปรยที่ว่า “นอนจนอ้วนเป็นหมู” ไม่ตรงกับความจริงเสมอไป คนที่นอนน้อยมีโอกาสอ้วนมากกว่าคนนอนหลับปกติ 
 
ภาพจาก : https://tkoala.com/images/galerie/chiens-gueule-bois/(2).jpg 
ข้อมูลจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (Centers for Disease Control and Prevention) ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งสำรวจในระหว่างปี ค.ศ. 2013-2014 พบว่าราว 70% ของชาวอเมริกันมีน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วน (โดยวัดจากผู้ที่มีดัชนีมวลกายตั้งแต่ 30 ขึ้นไป) ผู้ชายที่เป็นโรคอ้วนมีจำนวนมากกว่าผู้หญิง ทั้งนี้ 7.7 เปอร์เซ็นต์เข้าขั้นเป็นโรคอ้วนมาก โดยผู้หญิงที่เป็นโรคอ้วนมากมีมากกว่าผู้ชาย ในเด็กและวัยรุ่นที่มีอายุระหว่าง 2-19 ปี ประมาณ 17% เป็นโรคอ้วน และ 6% เป็นโรคอ้วนมาก ในวัยรุ่นอายุระหว่าง 12-19 ปี 20.6% เป็นโรคอ้วน และ 9% เป็นโรคอ้วนมาก ประเทศในแถบเอเชียแม้ว่าจะมีจำนวนคนเป็นโรคอ้วนน้อยกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศทางตะวันตก แต่อัตราการเพิ่มของคนเป็นโรคอ้วนก็สูงขึ้นเช่นกัน 
จากรายงานการศึกษาวิจัยจากหลายสถาบัน พบว่าการนอนหลับที่ไม่เพียงพอ และคุณภาพการนอนหลับที่ไม่ดี เช่นหลับไม่สนิท หลับยาก ตื่นบ่อย ฯ เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคอ้วน ในทำนองเดียวกัน คนอ้วนมักมีปัญหาในการนอนหลับมากกว่าคนน้ำหนักปกติ ข้อมูลล่าสุดจาก National Sleep Foundation (NSF) ของสหรัฐอเมริกา รายงานว่าคนในช่วงวัยต่าง ๆ ควรมีระยะเวลาในการนอนต่อวัน ดังนี้ 
ทารกแรกเกิด อายุ 0-3 เดือน 14-17 ชั่วโมง 
ทารก อายุ 4-11 เดือน 12-15 ชั่วโมง 
เด็กวัยหัดเดิน อายุ 1-2 ปี 11-14 ชั่วโมง 
เด็กก่อนวัยเรียน อายุ 3-5 ปี 10-13 ชั่วโมง 
เด็กวัยเรียน อายุ 6-13 ปี 9-11 ชั่วโมง 
วัยรุ่น อายุ 14-17 ปี 8-10 ชั่วโมง 
ผู้ใหญ่อายุ 18-64 ปี 7-9 ชั่วโมง ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป 7-8 ชั่วโมง 
โลกในยุคปัจจุบันที่เต็มไปด้วยการใช้เทคโนโลยี และมีการแข่งขันสูง คนที่มีปัญหาเรื่องการนอนไม่หลับหรือนอนไม่พอ มีเพิ่มขึ้นกว่าในอดีต ซึ่งอาจเกิดจากปัญหาด้านสุขภาพ ภาวะทางจิตใจ เช่น มีอาการซึมเศร้า ความวิตกกังวล หรือจากสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ที่รบกวนการนอน การดื่มอัลกอฮอล์หรือเครื่องดื่มที่มีแคฟเฟอีน ปัจจัยอื่น ๆ นอกเหนือจากความผิดปกติของการนอน (sleeping disorder) แล้ว การนอนไม่หลับหรือนอนน้อย ยังอาจเกิดจากคนในสังคมยุคนี้เป็นโรคติดโซเชียล ต้องดูโทรศัพท์มือถือตลอดทั้งวัน ดูทีวี เล่นอินเทอร์เน็ต เล่นเกมส์หรือใช้คอมพิวเดอร์จนดึกดื่น ต้องเอางานกลับมาทำที่บ้าน ต้องทำงานล่วงเวลา หรือต้องทำงานกะกลางคืน ตลอดจนการจราจรที่ติดขัด ทำให้ต้องใช้เวลาเดินทางยาวนาน จนรบกวนเวลาที่ใช้พักผ่อนนอนหลับ 
การนอนน้อยจะทำให้กินมากขึ้นเพื่อให้มีแรงทำงานและทำกิจกรรมต่าง ๆ และยังทำให้เกิดการต้านทานต่ออินซูลิน การเผาผลาญกลูโคสลดลง จึงเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวาน และโรคอื่น ๆ ที่จะตามมาในอนาคต เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุต่าง ๆ นอกจากนี้การนอนน้อยทำให้เกิดภาวะหยุดหายใจในขณะนอนหลับ 
ฮอร์โมน ghrelin และ leptin มีบทบาทสำคัญต่อความรู้สึกหิวและความสมดุลย์ของการใช้พลังงานในร่างกาย ghrelin กระตุ้นให้เกิดความหิวและอยากอาหาร โดยเฉพาะอาหารจำพวกแป้ง ในขณะที่ leptin ลดความอยากอาหารและเพิ่มการใช้พลังงานของร่างกาย ระดับของฮอร์โมนทั้งสองมีความเกี่ยวข้องกับการนอนหลับ เมื่อร่างกายนอนหลับไม่เพียงพอ ระดับ ghrelin จะเพิ่มขึ้น และระดับ leptin จะลดลง ทำให้เกิดความหิวและอยากอาหาร จึงเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคอ้วน 
จากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่าการนอนที่เพียงพอมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อสุขภาพ เราจึงควรให้ความสำคัญกับการนอน โดยพยายามเปลี่ยนแปลงการใช้ชีวิตในแต่ละวันให้มีเวลาพักผ่อนอย่างเพียงพอ จัดห้องนอนให้มีบรรยากาศชวนให้นอนหลับสบาย เช่น ไม่ควรมีทีวี โทรศัพท์ หรือคอมพิวเตอร์ในห้องนอน ปราศจากแสงและเสียงที่จะรบกวนการนอน รับประทานอาหารเย็นที่มีแป้งและน้ำตาลน้อย ไม่ควรออกกำลังกายอย่างหนักก่อนนอนอย่างน้อย 4-6 ชั่วโมง ทำจิตใจให้สงบและผ่อนคลาย หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมที่ทำให้ร่างกายและสมองตื่นตัว จนไม่อยากนอนหรือนอนหลับยาก ทำใจให้ปล่อยวาง การสวดมนต์ หรือนั่งสมาธิอาจทำให้นอนหลับง่ายขึ้น แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่า ถ้าอยากลดน้ำหนักก็ต้องนอนให้มาก ๆ การนอนมากจนเกินไปก็อาจทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นได้ เนื่องจากขาดการออกกำลัง การเผาผลาญพลังงานลดลง 
การนอนหลับได้สนิทในระยะเลาที่เพียงพอ เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ช่วยให้น้ำหนักลดลง เมื่อน้ำหนักลด โรคภัยต่าง ๆ ก็จะลดลงด้วย 
 

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. Bayon V, Leger D, Gomez-Merino D, et al. Sleep debt and obesity. Ann Med, 2014;46(5):264-72.
  2. Pacheco SR, Miranda AM, Coelho R, et al. Overweight in youth and sleep quality: is there a link? Arch Endocrinol Metab. 2017;61(4):367-73.
  3. Jarrin D, McGrath J, Poirer P. Autonomic dysfunction: a possible pathophysiological pathway underlying the association between sleep and obesity in children at risk for obesity. J Youth Adoles 2015;44(2):285-97.
  4. https://sleepfoundation.org/sleep-topics/obesity-and-sleep.
  5. https://sleepfoundation.org/press-release/national-sleep-foundation-recommends-new-sleep-times


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


สมุนไพรใช้ในอายุรเวท 9 วินาทีที่แล้ว
สิว...สาเหตุจากยา 12 วินาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้