เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


ดาวเรือง .. ดอกไม้ถวายพ่อ


ภญ.กฤติยา ไชยนอก สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล


ภาพประกอบจาก: https://ak8.picdn.net/shutterstock/video...eight:160)
อ่านแล้ว 18,207 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 15/10/2560
อ่านล่าสุด 33 นาทีที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 


เมื่อช่วงเดือนสิงหาคมถึงกันยายนที่ผ่านมานี้ เชื่อว่าเหล่าพสกนิกรชาวไทยทั่วประเทศ คงได้มีโอกาสร่วมกันปลูกต้น “ดาวเรือง” ไว้ตามบ้าน อาคาร และสถานที่ต่างๆ เพื่อให้ดอกสีเหลืองอร่ามของดาวเรืองได้บานสะพรั่งพร้อมกันในช่วงเดือนตุลาคม ซึ่งเป็นช่วงเวลาสำคัญของคนไทยทุกคนที่จะได้ร่วมกันแสดงความจงรักภักดี และรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพฯ และในการนี้ก็มีหลายๆ หน่วยงาน ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่พร้อมใจกันออกมาร่วมรณรงค์ แจกจ่ายเมล็ดพันธุ์ และให้ความรู้เกี่ยวกับการปลูกต้นดาวเรืองแก่ประชาชนกันอย่างมากมาย และในปัจจุบันดาวเรืองไม่ได้เป็นเพียงไม้ประดับหรือไม้ตัดดอกขายสำหรับทำพวงมาลัยเท่านั้น แต่ยังมีการใช้ดาวเรืองในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์เสริมอาหารต่างๆ ด้วย เนื่องจากในดอกดาวเรืองมีสารสำคัญที่มีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่น่าสนใจมากมาย 
 
ภาพจาก : https://ak8.picdn.net/shutterstock/videos/8965198/thumb/1.jpg?i10c=img.resize(height:160) 
ดาวเรืองใหญ่ (Marigold) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Tagetes erecta L. เป็นพืชในวงศ์ COMPOSITAE (ASTERACEAE) ดาวเรืองเป็นไม้ล้มลุก สูง 15 - 60 ซม. ใบประกอบแบบขนนก เรียงตรงข้าม ใบย่อยรูปวงรี ขอบใบหยักฟันเลื่อย ดอกช่อออกที่ปลายกิ่ง ดอกย่อยมี 2 ลักษณะ คือ ดอกไม่สมบูรณ์เพศอยู่รอบนอกจำนวนมากสีเหลืองหรือเหลืองส้ม ลักษณะคล้ายลิ้นบานแผ่ออก ซ้อนกันหลายชั้น ปลายม้วนลง ดอกสมบูรณ์เพศมีลักษณะเป็นหลอดเล็กๆ จำนวนมาก รวมกลุ่มอยู่บริเวณกลางช่อดอก ผลเป็นผลแห้ง ไม่แตก(1) สรรพคุณแผนโบราณระบุว่า ต้น ขับลมในลำไส้ แก้ปวดท้อง แก้จุกเสียด ใบ แก้ฝีหนอง ดอก แก้ปวดฟัน แก้ตาเจ็บ บำรุงตับ ขับร้อน ขับลม ละลายเสมหะ แก้เวียนหัว แก้ตาแดงตาเจ็บเนื่องจากลมและไฟ แก้แผลมีหนอง ขับของเสีย(1) สารสำคัญที่พบในดอกดาวเรืองเป็นสารให้สีในกลุ่มแคโรทีนอยด์ คือ ลูทีน (lutein) พบประมาณ 88% และซีแซนทีน (zeaxanthin) พบประมาณ 5% ซึ่งทั้ง 2 ชนิดเป็นแคโรทีนอยด์ที่ไม่สามารถเปลี่ยนเป็นวิตามินเอในร่างกายได้ (non-provitamin A carotenoids) เรียกกลุ่มย่อยนี้ว่า แซนโทฟิลล์ (xanthophylls)(2) นอกจากนี้ยังพบสารสำคัญในกลุ่ม flavonoids, terpenoids และ steriods(3 - 8) ซึ่งมีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยามากมาย 
การใช้ในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ 
การใช้ดอกดาวเรืองหรือสารสกัดจากดอกดาวเรืองเป็นส่วนผสมในอาหารสัตว์ จะช่วยสัตว์มีสุขภาพดีและมีสีสันสวยงาม หากผสมในอาหารสัตว์ปีกจะทำให้ไข่แดงมีสีเข้มขึ้นและช่วยให้มีคุณค่าทางอาหารมากขึ้น(3 - 7, 9) 
การใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง 
นอกจากการใช้สีที่ได้จากสารแคโรทีนอยด์เพื่อการแต่งสีในผลิตภัณฑ์ต่างๆ แล้ว น้ำมันหอมระเหยที่สกัดได้จากดอกดาวเรืองยังถูกใช้เป็นส่วนประกอบสำคัญในน้ำหอมคุณภาพสูงต่างๆ ด้วย ซึ่งน้ำมันดังกล่าวนี้ยังมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ฆ่าเชื้อ ฝาดสมาน ขับน้ำนม และฆ่าแมลงด้วย(3 - 7) และการศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาพบว่าสารสกัดเมทานอล ส่วนสกัดของเอทิลอะซิเตด เอ็น-บิวทานอล และน้ำของดอกดาวเรืองมีฤทธิ์ปกป้องและช่วยบำรุงผิว โดยพบว่าสารสกัดต่างๆ เหล่านี้มีฤทธิ์ต้านเอนไซม์ไฮยาลูโรนิเดส (hyaluronidase) อีลาสเตส (elastase) และเมทริก เมตาโลโปรติเนส (MMP-1) ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่ย่อยโปรตีนในชั้นผิวหนัง ทำให้ผิวแห้งเหี่ยว ขาดความยืดหยุ่น และสารออกฤทธิ์ที่พบคือ กรดไซรินจิก (syringic acid) และเบต้า-อะไมริน (β-amyrin)(10) 
การใช้ในอาหารและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร 
ดอกดาวเรืองเป็นดอกไม้ที่สามารถนำมารับประทานได้ ซึ่งอาจนำมาโรยในสลัด ทำเป็นเมี่ยงดอกไม้ ยำดอกไม้ หรือนำมาชุบแป้งทอด นอกจากนี้ยังนิยมนำน้ำคั้นจากส่วนดอกที่มีสีเหลืองส้มมาแต่งสีให้กับอาหาร เครื่องดื่ม และขนมของหวานต่างๆ เนื่องจากมีความปลอดภัยสูง แต่สิ่งที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษสำหรับการนำดอกดาวเรืองมาใช้กับอาหารก็คือ ควรเป็นดอกดาวเรืองที่ไม่ใช้ยาฆ่าแมลงหรือเป็นดอกดาวเรืองที่ปลูกเอง เพื่อหลีกเลี่ยงสารพิษจากยาฆ่าแมลงที่อาจปนเปื้อนมาได้ นอกจากนี้ยังมีผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ใช้เพื่อการบำรุงสายตาซึ่งมีส่วนประกอบของสารลูทีนและซีแซนทีนด้วย เนื่องจากลูทีนและซีแซนทีนมีบทบาทสำคัญในการปกป้องดวงตา โดยเชื่อว่าสารประกอบทั้งสองนี้ทำหน้าที่เป็นสารต้านออกซิเดชันเพื่อป้องกันเซลล์รับแสง (photoreceptor cells) จากอนุมูลอิสระที่เซลล์สร้างขึ้นเนื่องมาจากมีปริมาณออกซิเจนสูง (oxygen tension) และจากการถูกแสง 
นอกจากนี้ยังเชื่อว่าสารประกอบทั้งสองนี้มีหน้าที่ในการกรองคลื่นแสงสีฟ้าที่เป็นคลื่นแสงที่มีพลังงานสูง โดยมีการประมาณว่าจะสามารถกรองคลื่นแสงสีฟ้าลงได้ถึง 40% ก่อนที่แสงจะตกถึงแมคูลา (macula) ซึ่งเป็นจุดโฟกัสของดวงตา ทั้งนี้เนื่องจากลูทีนและซีแซนทีนจะมีแถบดูดกลืนแสง (absorption bands) อยู่ที่ใกล้ๆ ส่วนปลายของแถบสีที่คนมองเห็น (visible spectrum) คือส่วนปลายที่เป็นสีฟ้าถึงสีม่วง ทำให้มีคุณสมบัติในการกรองคลื่นแสงสีฟ้าได้ดี ดังนั้นจะสามารถลดสภาวะความเครียดออกซิเดชันต่อจอประสาทตาได้อย่างมีนัยสำคัญ แม้จะไม่มีการกำหนดปริมาณลูทีนที่ควรได้รับต่อวัน (Dietary Recommended Intake (DRI)) แต่มีการศึกษาว่าขนาดที่สามารถลดความเสี่ยงในการเกิดโรคต้อกระจก (cataract) และโรคจอประสาทตาเสื่อม (age-related macular degeneration (AMD)) ได้คือ ⩾6 มก./วัน (2) 
ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่น่าสนใจ 
การศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของดอกดาวเรืองมีเป็นจำนวนมาก โดยพบว่าดาวเรืองมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ(3 - 8, 11 - 13) ยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็งหลายชนิด(11) มีฤทธิ์ขับพยาธิตัวกลม Caenorhabditis elegans และยับยั้งการวางไข่ของพยาธิดังกล่าว(14) ต้านอาการซึมเศร้า(15 - 16) ช่วยให้หลับ คลายความกังวล(16) ยับยั้งเชื้อแบคทีเรียหลายชนิด(3 - 7, 12 - 13) ต้านเบาหวาน (ยับยั้งเอนไซม์ α-glucosidase และ α-amylase) ลดไขมัน (ยับยั้งเอนไซม์ pancreatic lipase)(8) ฆ่าแมลง กำจัดยุง ต้านอักเสบ และบรรเทาปวด(3 - 7) แม้ว่าการศึกษาทั้งหมดจะยังอยู่ในระดับเซลล์และหลอดทดลอง แต่ก็นับว่าดอกดาวเรืองและสารสำคัญต่างๆ มีแนวโน้มที่ดีในการนำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารหรือผลิตภัณฑ์ที่จะช่วยบรรเทาอาการของโรคต่างๆ ได้ในอนาคต 
แม้พ่อจะไม่ได้อยู่กับเราแล้ว แต่คำสอนของท่านจะยังคงอยู่ตลอดไป เพื่อให้เราทุกคนได้น้อมนำมาปฏิบัติเพื่อให้เกิดประโยชน์กับทั้งตนเอง ผู้อื่น และประเทศชาติของเราค่ะ 
 

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. นันทวัน บุณยะประภัศร และอรนุช โชคชัยเจริญพร, บรรณาธิการ. สมุนไพร:ไม้พื้นบ้าน (2). กรุงเทพฯ: บริษัทประชาชนจำกัด; 2541. (1)
  2. วิมล ศรีศุข. ลูทีนและซีแซนทีน: ความสัมพันธ์กับโรคตา. จุลสารข้อมูลสมุนไพร 2558;32(2):11-9.
  3. Hadden WL, Watkins RH, Levy LW, Regalado E, Rivadeneira DM, Breemen RB, et al. Carotenoid composition of marigold (Tagetes erecta) flower extract used as nutritional supplement. J Agric Food Chem 1999;47(4189-94).
  4. Gopi G, Elumalai A, Jayasri P. A concise review on Tagetes erecta. IJPR 2012;3(1):16-9.
  5. Gupta P, Vasudeva N. Marigold a potential ornamental plant drug. Hamdard Med 2012;55(1):45-59.
  6. Priyanka D, Shalini T, Navneet VK. A brief study on marigold (Tagetes species): A review. IRJP 2013;4(1):43-8.
  7. Karwani G, Sisodia SS. Tagetes erecta plant: Review with significant pharmacological activities. World J Pharm Sci 2015;3(6):1180-3.
  8. Wang W, Xu H, Chen H, Tai K, Liu F, Gao Y. In vitro antioxidant, anti-diabetic and antilipemic potentials of quercetagetin extracted from marigold (Tagetes erecta L.) inflorescence residues. J Food Sci Technol 2016;53(6):2614-24.
  9. Altunta A, Aydin R. Fatty acid composition of egg yolk from chickens fed a diet including marigold (Tagetes erecta L.). J Lipids 2014;2014:564851.
  10. Maity N, Nema NK, Abedy MK, Sarkar BK, Mukherjee PK. Exploring Tagetes erecta Linn flower for the elastase, hyaluronidase and MMP-1 inhibitory activity. J Ethnopharmacol. 2011;137:1300–5.
  11. Kaisoon O, Konczak I, Siriamornpun S. Potential health enhancing properties of edible flowers from Thailand. Food Res Int. 2012;46:563–71.
  12. Saani M, Lawrence R, Lawrence K. Evaluation of pigments from methanolic extract of Tagetes erecta and Beta vulgaris as antioxidant and antibacterial agent. Nat Prod Res 2017;11:1-4.
  13. Ayub MA, Hussain AI, Hanif MA, Chatha SAS, Kamal GM, Shahid M, et al. Variation in Phenolic Profile, beta-Carotene and Flavonoid Contents, Biological Activities of Two Tagetes Species from Pakistani Flora. Chem Biodivers 2017;14(6).
  14. Piña-Vázquez DM, Mayoral-Peña Z, Gómez-Sánchez M, Salazar-Olivo LA, Arellano-Carbajal F. Anthelmintic effect of Psidium guajava and Tagetes erecta on wild-type and Levamisole-resistant Caenorhabditis elegans strains. J Ethnopharmacol 2017;202:92-6.
  15. Khulbe A, Pandey S, Sah SP. Antidepressant-like action of the hydromethanolic flower extract of Tagetes erecta L. in mice and its possible mechanism of action. Indian J Pharmacol 2013;45(4):386-390.
  16. Pérez-Ortega G, Angeles-López GE, Argueta-Villamar A, González-Trujano ME. Preclinical evidence of the anxiolytic and sedative-like activities of Tagetes erecta L. reinforces its ethnobotanical approach. Biomed Pharmacother 2017;93(Supplement C):383-90.


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


ยาแก้ไอ ... มีกี่แบบ ?? 4 วินาทีที่แล้ว
กระท้อน 30 วินาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้