เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


วิตามินดี...ประโยชน์ดีๆ มีมากกว่าที่คิด


อาจารย์ ดร.ทนพญ. วันวิสาข์ อุดมสินประเสริฐ ภาควิชาชีวเคมี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล


ภาพประกอบจาก: http://vidachiropractic.ca/wp-content/up...summer.jpg
อ่านแล้ว 242,583 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 10/09/2560
อ่านล่าสุด 2 ช.ม.ที่แล้ว
https://tinyurl.com/ydxxgybn
Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ https://tinyurl.com/ydxxgybn
 


เราทุกคนต่างคุ้นเคยกับ วิตามินดี (vitamin D) เป็นอย่างดี แต่น่าแปลกใจที่วิตามินดีเป็นวิตามินที่หลายท่านละเลย เพราะเข้าใจว่าวิตามินชนิดนี้สามารถสร้างขึ้นได้ในร่างกายหลังจากถูกแสงแดด แต่ด้วยการใช้ชีวิตในปัจจุบันของคนเมืองส่วนใหญ่ มักนั่งทำงานในออฟฟิศ เมื่อต้องสัมผัสกับแสงแดดมักใส่เสื้อผ้าที่ปกปิดร่างกาย รวมทั้งใช้ครีมกันแดด เป็นผลให้คนเมืองส่วนใหญ่ขาดวิตามินดีโดยไม่รู้ตัว เราทราบว่าวิตามินดีมีหน้าที่หลักช่วยในการดูดซึมแคลเซียมและฟอสฟอรัส ซึ่งเป็นสารอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของกระดูกและฟัน ช่วยป้องกันโรคกระดูกบาง (osteopenia) และกระดูกพรุน (osteoporosis) แต่เราทราบหรือไม่ว่าวิตามินดี ยังมีความสำคัญต่อสุขภาพอื่นๆของเราอีกด้วย เช่น โรคความดันโลหิตสูง (hypertension)1 กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย (immune system)2 ต้านโรคมะเร็งต่างๆ3 และโดยเฉพาะอย่างยิ่งบทบาทสำคัญในการเพิ่มสมรรถภาพทางร่างกายในผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อม (osteoarthritis)4 
 
ภาพจาก : http://happyhormonesforlife.com/wp-content/uploads/2016/05/vitamin-d-e1462169471278.jpeg 
โรคข้อเข่าเสื่อมเป็นโรคที่พบจำนวนมากในผู้ป่วยสูงอายุ และเนื่องจากข้อเข่าเป็นอวัยวะที่ต้องรองรับน้ำหนักตัวอยู่ตลอดเวลา อีกทั้งมีบทบาทสำคัญในการช่วยให้ร่างกายสามารถเคลื่อนไหวได้อย่างมีประสิทธิภาพคล่องแคล่ว ปัญหาสำคัญของผู้ป่วยเมื่อข้อเข่าเสื่อมมากขึ้นจะปวดบริเวณเข่าเมื่อมีการเคลื่อนไหว ส่งผลทำให้ปฏิบัติกิจกรรมต่างๆไม่คล่องเหมือนเดิม ซึ่งบั่นทอนคุณภาพชีวิตและสภาพจิตใจของผู้ป่วยเป็นอย่างมาก หลายท่านคงทราบว่าการออกกำลังกายสม่ำเสมอและได้รับแคลเซียมในปริมาณที่พอเพียงสามารถช่วยชะลอการเสื่อมของข้อเข่าได้ แต่การรับประทานยาเม็ดแคลเซียมที่มากเกินไปก็ก่อให้เกิดผลเสียต่อร่างกาย โดยมีผลไปเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเนื่องจากขาดเลือด และโรคหลอดเลือดหัวใจ5 ดังนั้นการเสริมแคลเซียมอาจจะส่งผลเสียต่อผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อมที่มีภาวะของโรคหัวใจร่วมด้วย ด้วยเหตุนี้การได้รับวิตามินที่สามารถบรรเทาอาการความรุนแรงของโรค อาจจะช่วยให้ผู้ป่วยดำเนินชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น มีรายงานการศึกษาที่เกี่ยวกับผลของการเสริมวิตามินดีต่อสมรรถภาพการเคลื่อนไหวของผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อม จากการศึกษาของ Manoy และคณะ6 ที่ได้ศึกษาโดยการเสริมวิตามินดีให้แก่ผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมที่มีภาวะขาดวิตามินดี โดยผู้ป่วยได้รับปริมาณวิตามินดีปริมาณ 40,000 IU ต่อสัปดาห์ เป็นเวลาหกเดือน และทุกสามเดือนคณะผู้วิจัยได้ทดสอบสมรรถภาพของผู้ป่วย โดยวัดกำลังของการกำมือ (grip strength) และทดสอบสมรรถภาพทางกายภาพ (physical performance) ประกอบด้วย การทดสอบ timed up and go (TUGT) การทดสอบ sit to stand (STS) และการทดสอบ six-minute walk (6-MW) ผลการศึกษาพบว่าวิตามินดีช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของแรงบีบมือ และสมรรถภาพทางร่างกายของผู้ป่วยโรคข้อเข้าเสื่อมที่มีภาวะขาดวิตามินดีอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ นอกจากนี้วิตามินดีมีหน้าที่สำคัญในการช่วยลดสารอนุมูลอิสระได้แก่ protein carbonyl (สารที่ก่อให้เกิดการทำลายของโปรตีนในเซลล์) และระดับไขมันในเลือด ทำให้ผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น7 ข้อมูลจากการศึกษาที่กล่าวไว้ข้างต้นได้สนับสนุนผลของวิตามินดีต่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางร่างกาย และช่วยลดการเกิดสภาวะเครียดออกซิเดชั่น (oxidative stress) ซึ่งช่วยชะลอการแก่ของเซลล์ต่างๆในผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมได้อย่างชัดเจน 
ผู้ป่วยหลายท่านหรือบุคคลทั่วไปอาจมีข้อสงสัยว่าหากไม่ต้องการสัมผัสกับแสงแดดเป็นเวลานาน เนื่องจากแสงแดดมีผลเสียต่อผิวหนัง อาจก่อให้เกิดมะเร็งผิวหนัง เราจะรับวิตามินดีจากทางใดได้บ้าง วิตามินดีเป็นวิตามินที่ละลายในไขมันแบ่งออกเป็นสองชนิดคือ ergocalciferol ซึ่งพบในยีสต์ และ cholecalciferol พบได้ในน้ำมันตับปลา ไข่แดง และสามารถสังเคราะห์ได้ที่ผิวหนัง ส่วนในน้ำนมสามารถพบวิตามินดีได้ทั้งสองชนิด ปริมาณวิตามินดีที่เหมาะสมกับร่างกายของแต่ละบุคคล อาจได้รับในปริมาณที่แตกต่างกัน สำหรับคำแนะนำในการรับประทานวิตามินดีสำหรับบุคคลทั่วไป และสำหรับผู้ที่มีภาวะขาดวิตามินดี รายละเอียดดังแสดงในตารางที่ 1 และ 2 ตามลำดับ 
 
จากข้อมูลงานวิจัย ชี้ให้เห็นประโยชน์ของการได้รับวิตามินดีที่มีผลต่อร่างกายไม่เพียงเฉพาะแค่กระดูก แต่มีผลสำคัญในระบบอื่นๆด้วย และเพื่อป้องกันการขาดวิตามินดี เราควรปรับวิธีการดำเนินชีวิต เช่น สัมผัสแสงแดด โดยเฉพาะแสงแดดตอนเช้า หรือเลือกรับประทานอาหารจำพวกปลาที่มีไขมันสูง ดื่มนมที่มีการเติมวิตามินดี นอกจากนี้การรับประทานวิตามินดีในรูปของอาหารเสริม (ปริมาณวิตามินดี 400-1,000 IU) เป็นอีกหนึ่งทางเลือก แต่อย่างไรก็ตามการรักษาที่ถูกต้องที่จะก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีที่สุดควรปรึกษาแพทย์ เพื่อตรวจวัดระดับวิตามินดีในเลือดก่อนเสริมวิตามิน เนื่องจากการรับประทานวิตามินดีในปริมาณมาก เกินความต้องการต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน (20,000 IU ต่อวัน) อาจจะทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพได้เช่นกัน 
 

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. Kendrick J, Andrews E, You Z, et al. Cholecalciferol, Calcitriol, and Vascular Function in CKD: A Randomized, Double-Blind Trial. Clin J Am Soc Nephrol 2017:7
  2. Looman KIM, Jansen MAE, Voortman T, et al. The role of vitamin D on circulating memory T cells in children: The Generation R study. Pediatr Allergy Immunol 2017:7
  3. Shaw E, Massaro N, Brockton NT. The role of vitamin D in hepatic metastases from colorectal cancer. Clin Transl Oncol 2017:11
  4. Mabey T, Honsawek S. Role of Vitamin D in Osteoarthritis: Molecular, Cellular, and Clinical Perspectives. Int J Endocrinol 2015:383918
  5. Bolland MJ, Avenell A, Baron JA, et al. Effect of calcium supplements on risk of myocardial infarction and cardiovascular events: meta-analysis. BMJ 2010;341:c3691
  6. Manoy P, Anomasiri W, Yuktanandana P, et al. Elevated serum leptin levels are associated with low vitamin D, sarcopenic obesity, poor muscle strength, and physical performance in knee osteoarthritis. Biomarkers 2017;19:1-8
  7. Manoy P, Yuktanandana P, Tanavalee A, et al. Vitamin D supplement improves quality of life and physical performance in osteoarthritis patients. Nutrients 2017;9:799
  8. Institute of Medicine, Food and Nutrition Board. Dietary Reference Intakes for Calcium and Vitamin D. Washington, DC: National Academy Press, 2010
เปิดอ่านด้วย Google Doc Viewer ดาวน์โหลดบทความ (pdf) ดูบทความอื่นๆ

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


การเดินเพื่อสุขภาพ 25 วินาทีที่แล้ว
ยาแก้ไอ ... มีกี่แบบ ?? 1 นาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้