Eng |
รองศาสตราจารย์ ดร.ภญ. ชะอรสิน สุขศรีวงศ์ ภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ท่านเคยสงสัยกันหรือไม่ว่า ทำไมทุกๆ ครั้งที่เข้ารับบริการรักษาที่โรงพยาบาล หรือ 1669 บริการกู้ชีพ นอกจากที่ท่านจะได้ยินคำถามเกี่ยวกับอาการเจ็บป่วยแล้ว ยังมีคำถามเกี่ยวกับการใช้ยาด้วยเสมอๆ บทความนี้จะมาไขข้อข้องใจในที่มาและความสำคัญของประเด็นคำถามนี้
ภาพจาก : http://vertassets.blob.core.windows.net/image/b1e263de/b1e263de-f404-4e94-afc3-512474461298/drugs_reg__1_.png
เนื่องจากความคลาดเคลื่อนจากการใช้ยาเกิดขึ้นได้ทุกๆ จุดของการให้บริการในโรงพยาบาล จากการทบทวนเวชระเบียบพบว่ากว่าครึ่งของการเกิดเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นที่รอยต่อของการให้บริการทางการแพทย์ (1) โดยสาเหตุจากการสื่อสารส่งต่อข้อมูลที่ไม่ถูกต้องหรือไม่ครบถ้วนในรายการยาที่ผู้ป่วยใช้อยู่ เมื่อผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล (admission) และแพทย์ไม่ทราบข้อมูลการใช้ยาของผู้ป่วย ทำให้ผู้ป่วยอาจจะไม่ได้รับยาที่ผู้ป่วยเคยได้รับก่อนมาโรงพยาบาล หรือขนาดยา ความถี่ หรือวิถีทางในการใช้ยาไม่ตรงกับที่ผู้ป่วยเคยได้รับ หรือไม่สั่งใช้ยานั้นเมื่อจำหน่ายผู้ป่วยออกจากโรงพยาบาล รวมถึง ผู้ป่วยเองก็อาจได้รับยาซ้ำซ้อนกับที่ผู้ป่วยใช้ที่บ้าน(2)
เพื่อให้เกิดความปลอดภัยสูงสุดในการใช้ยา สถานบริการทางการแพทย์จึงนำ “medication reconciliation หรือการประสานรายการยา” มาเป็นกระบวนการในการจัดทำบัญชีรายการยาที่ผู้ป่วยได้รับอย่างครบถ้วน ถูกต้อง พร้อมทั้งระบุขนาดยา ความถี่ วิธีใช้ และวิถีทางในการใช้ยาและเป็นปัจจุบัน เพื่อนำมาใช้เป็นข้อมูลในการตัดสินใจสั่งยาแก่แพทย์สาหรับการรักษาในทุกระดับของการให้บริการ เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับยาที่เหมาะสม
แม้ว่าบุคลากรทางการแพทย์จะสามารถค้นประวัติการใช้ยาของผู้ป่วยได้จาก เวชระเบียนผู้ป่วย ใบสรุปรายการยาผู้ป่วยจากการเข้ารับบริการครั้งก่อน และสมุดประจำตัวผู้ป่วย (4) แต่เนื่องจากผู้ป่วยส่วนมากมักมีการใช้ยานอกเหนือจากที่แพทย์สั่ง ข้อมูลจากการสัมภาษณ์ผู้ป่วยหรือผู้ดูแลจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง ฉะนั้น เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับประโยชน์จากยาอย่างเต็มประสิทธิภาพการรักษาและเกิดความปลอดภัยสูงสุดในการใช้ยาสูงสุด การจดจำและให้ข้อมูลรายการยาที่ใช้จึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง
ดังนั้นเมื่อจะไปพบแพทย์หรือเข้าพักรักษาตัวในโรงพยาบาล ขอให้ผู้ป่วยหรือญาตินำยาที่ผู้ป่วยใช้เป็นประจำติดตัวไปด้วย เพื่อที่เภสัชกรจะได้นำไปแจ้งกับแพทย์เพื่อจัดการรักษาให้เหมาะสม และให้ข้อมูลว่ายาเหล่านั้นจะสามารถใช้ต่อไปได้หรือไม่ หรือยานั้นจะเกิดปฏิกริยากับยาที่จะได้รับใหม่อย่างไร จำเป็นจะต้องหยุดยาหรือไม่