แจ้งงดให้บริการเว็บไซต์ เนื่องจากมีการปรับปรุงระบบการจ่ายกระแสไฟฟ้าของอาคาร ตั้งแต่วันศุกร์ที่ 17 ม.ค. 2568 เวลา 17.00 น. ถึงวันจันทร์ที่ 20 ม.ค. 2568 เวลา 08.00 น.
ขออภัยในความไม่สะดวกมา ณ ที่นี้

เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


อันตรายจากยาตกค้างในสิ่งแวดล้อม


อาจารย์ ดร.ภก.บรมพจน์ พฤฒิวนาสัณฑ์ และ ศาสตราจารย์ ดร.ภญ.ลีณา สุนทรสุข ภาควิชาเภสัชเคมี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล


ภาพประกอบจาก: https://img.clipartfest.com/cd3d3310efe3...3-950.jpeg
อ่านแล้ว 26,647 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 26/04/2560
อ่านล่าสุด 6 ช.ม.ที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 

ท่านผู้อ่านเชื่อไหมว่าทุกคนกำลังอาศัยอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ไม่ปลอดภัย หนึ่งในปัญหาเหล่านั้นก็คือปัญหายาตกค้างซึ่งพบมากกว่า 600 ชนิด ในธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นพื้นดิน แม่น้ำ ลำธาร ทะเลสาป หรือแม้แต่ท้องทะเล ปัญหายาตกค้างในธรรมชาติสำหรับประเทศไทยเป็นสิ่งที่ค่อนข้างใหม่ที่หลายท่านอาจไม่เคยได้ยินมาก่อน เนื่องจากที่ผ่านมาส่วนใหญ่จะคุ้นเคยกับปัญหายาตกค้างในอาหารเสียมากกว่า แต่สำหรับทั่วโลกแล้วยาตกค้างในธรรมชาติเป็นปัญหาที่ใหญ่ ดังจะเห็นจากรายงานวิจัยที่ตีพิมพ์ถึงปัญหาดังกล่าวมากกว่า 10,000 เรื่องในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา 
 
ภาพจาก : https://ensia.com/wp-content/uploads/2015/08/
feature_pharmaceutical_pills_main-760x378.jpg 
ยาตกค้างในธรรมชาติ คืออะไร? มาจากไหน? 
ยาตกค้างในธรรมชาติ คือ ยาที่ปนเปื้อนหรือปรากฏในแหล่งธรรมชาติบนโลกของเราตามที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น ซึ่งก็คือยารักษาโรคที่มีการใช้ทั่วไปในชีวิตประจำวัน สาเหตุหลักของยาตกค้างในธรรมชาติ คือ การใช้ยาในภาคครัวเรือน เมื่อประชาชนบริโภคยาเข้าสู่ร่างกาย ยาจะถูกกำจัดออกทางปัสสาวะหรืออุจจาระและผ่านเข้าสู่ระบบบำบัดน้ำเสียก่อนออกสู่แม่น้ำลำคลองต่อไป นอกจากนี้ยาจะตกค้างในพื้นดินจากการทิ้งหรือฝังกลบยา ซึ่งจะสามารถละลายออกและซึมออกสู่แม่น้ำลำคลองเช่นกัน สาเหตุต่อมา คือ การใช้ยาในการทำปศุสัตว์ ซึ่งยาจะถูกบริโภคโดยสัตว์ ถูกกำจัด และปลดปล่อยออกสู่ธรรมชาติเช่นเดียวกับการใช้ยาในภาคครัวเรือน 
 
ผลกระทบของยาตกค้าง 
ยาตกค้างที่ปนเปื้อนในธรรมชาติมีปริมาณน้อยมาก ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะไม่ส่งผลโดยตรงต่อร่างกายมนุษย์ แต่ปัญหาที่สำคัญ คือ ยาตกค้างมีผลกระทบต่อระบบนิเวศและสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในระบบนิเวศนั้น และสามารถส่งผลกระทบกลับมายังมนุษย์ได้เนื่องจากยาที่ถูกกำจัดยังคงมีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา ตัวอย่างผลกระทบที่เกิดจากยาตกค้างต่อสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศรอบตัวเราที่ถูกรายงาน ได้แก่ การตายลงของนกแร้งจากยาต้านการอักเสบที่มิใช่สเตียรอยด์ (non-steroidal antiinflammatory drugs, NSAIDs) การเปลี่ยนเพศและการกดการแสดงออกของลักษณะทางเพศในลูกปลาที่ได้รับยากลุ่มฮอร์โมนเพศ การเกิดความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันจากยาที่มีผลในการกดระบบภูมิคุ้มกัน เช่น สเตียรอยด์ หรือ ทาม๊อกซิเฟน 
กระบวนการสะสมของยาในร่างกายของสิ่งมีชิวิต (bioaccumulation) โดยเฉพาะสัตว์น้ำเพื่อการบริโภค เช่น กุ้ง หอย ปู ปลา ที่ได้รับหรือสัมผัสกับยาปฏิชีวนะเป็นปัญหาทางการแพทย์ที่มีสาเหตุมาจากยาตกค้างในแหล่งน้ำ การรับประทานอาหารที่ปรุงจากสัตว์น้ำเหล่านี้ทำให้มนุษย์ได้รับยาที่ไม่พึงประสงค์ได้ และสุดท้ายจะเกิดปัญหาการดื้อต่อยาปฏิชีวนะ เชื้อจุลชีพสามารถเกิดการดื้อยาได้เนื่องจากการได้รับหรือสัมผัสกับยาปฏิชีวนะที่ตกค้างในปริมาณต่ำๆ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากมนุษย์ป่วยและติดเชื้อที่ดื้อยาจะทำให้การรักษาไม่ได้ประสิทธิผล 
การแก้ไขหรือป้องกันปัญหายาตกค้าง 
การแก้ไขปัญหายาตกค้างที่ได้ผลที่สุดคือ การงดใช้ยาเพื่อป้องกันยาปนเปื้อนลงสู่ธรรมชาติ แต่ในความเป็นจริงแล้ว เราไม่สามารถทำได้เนื่องจากความจำเป็นที่ต้องใช้ยาในการรักษาความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อย่างไรก็ตามเราทุกคนสามารถลดโอกาสการเกิดยาปนเปื้อนลงสู่ธรรมชาติได้หลายวิธี ได้แก่

  1. การสนับสนุนให้ใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล (rational drug use) เช่น การไม่ใช้ยาปฏิชีวนะในอาการหวัดที่ติดเฉพาะเชื้อไวรัส เป็นต้น แนวทางดังกล่าวสามารถช่วยลดอัตราการใช้ยา ซึ่งทำให้ปริมาณยาที่ต้องถูกกำจัดออกจากร่างกายได้สู่ธรรมชาติลดลงได้
  2. การทำลายยาหมดอายุหรือยาที่ใช้หมดให้ถูกวิธี แนวทางดังกล่าวเป็นอีกหนึ่งหนทางที่สามารถลดโอกาสการปลดปล่อยยาออกสู่ธรรมชาติโดยตรง (อ่านบทความเพิ่มเติม “การทิ้งและทำลายยาที่ถูกต้อง”)
  3. การพัฒนาระบบการบำบัดน้ำเสียที่มีประสิทธิภาพและการเฝ้าระวัง ระบบบำบัดน้ำเสียเป็นเสมือนปราการด่านสุดท้ายของน้ำทิ้งก่อนการระบายออกสู่ธรรมชาติ ระบบบำบัดที่มีประสิทธิภาพย่อมสามารถขจัดยาตกค้างออกจากน้ำได้หมด อย่างไรก็ตามระบบการกำจัดน้ำเสียที่มีในปัจจุบันยังไม่สามารถขจัดยาตกค้างออกจากน้ำทิ้งได้อย่างสมบูรณ์ ดังนั้นการพัฒนาระบบบำบัดของเสียให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นจึงยังเป็นที่ต้องการอย่างยิ่ง การพัฒนาระบบที่ดีควรทำควบคู่ไปพร้อมๆ กับการตรวจเฝ้าระวังปริมาณยาตกค้างในน้ำทิ้ง ดังนั้นความจำเป็นในการพัฒนาวิธีวิเคราะห์สำหรับการตรวจปริมาณยาตกค้างจึงยังคงมีความสำคัญอยู่สำหรับการพัฒนาระบบน้ำทิ้งอย่างต่อเนื่อง

จะเห็นได้ว่าทุกวันนี้เราเผชิญหน้ากับปัญหายาตกค้างตามแหล่งธรรมชาติ แม้ว่าปริมาณยาตกค้างที่พบเจอจะไม่มีผลต่อมนุษย์เรา แต่ยาตกค้างก็ยังคงเป็นอันตรายต่อระบบนิเวศ ซึ่งท้ายที่สุดแล้วความไม่สมดุลของระบบนิเวศนี้เองจะส่งผลกระทบกลับมาเป็นลูกโซ่สู่มนุษย์ การปรับพฤติกรรมการใช้ยาและการทำลายทิ้งยา เป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถเริ่มต้นทำได้ง่ายๆ เพื่อพัฒนาสังคมให้น่าอยู่และปลอดภัยจากปัญหายาตกค้าง 
 

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. Kümmerer K. Pharmaceuticals in the Environment – A Brief Summary. In: K?mmerer K, editor. Pharmaceuticals in the Environment: Sources, Fate, Effects and Risks. 3rd ed. Berlin: Springer-Verlag; 2008. p. 3-21.
  2. ศูนย์พัฒนานโยบายแห่งชาติด้านสารเคมี กองแผนงานและวิชาการ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา. แนวปฏิบัติการจัดการของเสียทางการแพทย์ที่เป็นสารเคมี. มีนาคม 2559. [ออนไลน์]. [วันที่สืบค้นข้อมูล 7 มีนาคม 2560]. เข้าถึงได้จาก http://ipcs.fda.moph.go.th/csnetNEW/file/news/23082016-145421-news.pdf
  3. Buchberger W. Current approaches to trace analysis of pharmaceuticals and personal care products in the environment. J Chromatogr A. 2011; 1218: 603-18.
  4. Prutthiwanasan B, Phechkrajarng C, Suntornsuk L. Fluorescent labelling of ciprofloxacin and norfloxacin and its application for residues analysis in surface water. Talanta 2016; 159: 74-9.


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


โรคกระเพาะ...เหตุจากยา 11 วินาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2025
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้