Loading…

ยาพ่นจมูก…สำหรับโรคจมูกอักเสบ

ยาพ่นจมูก…สำหรับโรคจมูกอักเสบ

อาจารย์ ดร.ภก. สุรศักดิ์ วิชัยโย ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

72,870 ครั้ง เมื่อ 1 ช.ม.ที่แล้ว
2020-07-02


ผู้อ่านเคยมีอาการแบบนี้บ้างหรือไม่? “รู้สึกหายใจไม่สะดวกโดยเฉพาะเวลาหายใจเข้า จนต้องอ้าปากหายใจ” แถมบางคนได้รับยาขยายหลอดลมมาใช้ ไม่ว่าจะเป็นชนิดพ่นเข้าทางปากหรือยารับประทาน แต่อาการก็ไม่ดีขึ้น มิหนำซ้ำยังทำให้เกิดอาการข้างเคียง เช่น ใจสั่น มือสั่น และนอนไม่หลับ เป็นต้น ซึ่งจริง ๆ แล้วการใช้ยาไม่ได้ผลอาจเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น ใช้ยาไม่ถูกต้องโดยเฉพาะยาพ่น แต่บางครั้งก็เป็นไปได้เช่นกันว่าอาการที่ว่ามานั้นไม่ได้เกิดจากหลอดลมตีบ แต่อาจมีการตีบของโพรงจมูกจากโรคจมูกอักเสบ (rhinitis) ในบทความนี้ เราลองมาทำความรู้จักกับโรคนี้ว่าเป็นอย่างไร และมียาพ่นจมูกชนิดใดบ้างที่ใช้ในการรักษา 
โรคจมูกอักเสบ เกิดจากอะไร 
โรคจมูกอักเสบ เป็นการอักเสบเรื้อรังในโพรงจมูก เนื่องจากเซลล์ภูมิคุ้มกันภายในร่างกายถูกกระตุ้นมากเกินปกติ แล้วเหนี่ยวนำการอักเสบและบวมของเยื่อบุภายในโพรงจมูก ทำให้ช่องทางเดินอากาศตีบแคบจนหายใจไม่สะดวก โดยโรคนี้สามารถแบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่ (1) โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ (allergic rhinitis) ซึ่งมักมีสาเหตุมาจากสารก่อภูมิแพ้บางชนิด เช่น ไรฝุ่น เชื้อรา เศษชิ้นส่วนของแมลงสาป ขนสัตว์ และละอองเกสร เป็นต้น และ (2) โรคจมูกอักเสบชนิดไม่แพ้ (non-allergic rhinitis) ซึ่งไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด แต่สามารถถูกกระตุ้นด้วยสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง เช่น อุณภูมิ ความชื้น หรือความกดอากาศที่เปลี่ยนแปลง หรือการได้กลิ่นน้ำหอมแรง ๆ หรือกลิ่นบุหรี่ เป็นต้น 
โรคจมูกอักเสบ มีอาการอย่างไร 
ผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบทั้ง 2 ชนิด มีอาการทางจมูกที่คล้ายกัน คือ คัดจมูก หายใจไม่สะดวกเป็นอาการเด่น และมีน้ำมูกใส แต่โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้มักมีอาการคันจมูกหรือจามร่วมด้วย ซึ่งเป็นอาการของการแพ้ ทั้งนี้ โรคจมูกอักเสบอาจเป็น ๆ หาย ๆ หรือเป็นนานเรื้อรัง โดยหากอาการรุนแรงอาจรบกวนทั้งการนอน การเรียน หรือการทำงาน 
อาการที่ผู้ป่วยมักแสดงให้เห็น (รูปที่ 1) เช่น หายใจทางปากตลอดเวลาจนบางครั้งริมฝีปากแห้งแตก มักเอามือถูบริเวณจมูก สูดจมูกบ่อย ๆ หรือกระแอมเพื่อขับเสมหะบ่อย ๆ และอาจมีอาการไอแห้ง อีกทั้ง เมื่อสังเกตที่สันจมูกอาจพบรอยเป็นทางขวาง ซึ่งเป็นผลมาจากการขยี้จมูกบ่อย ๆ เป็นเวลานาน และอาจมีรอยแดงหรือคล้ำใต้ตาร่วมด้วย (รูปที่ 1) โดยเมื่อแพทย์ตรวจดูโพรงจมูกจะพบเยื่อบุบวมร่วมกับมีมูกเหนียวใสอยู่ภายใน จนทำให้ช่องทางเดินอากาศตีบแคบ 
 
วิธีการง่าย ๆ ในการตรวจสอบเบื้องต้นด้วยตนเองว่าอาจมีโพรงจมูกตีบแคบ 
หากมีอาการหายใจไม่สะดวก (และไม่ได้คัดจมูกจากการเป็นหวัด) ประกอบกับมีอาการอื่น ๆ ตามที่กล่าวมา ให้ลองปิดรูจมูกทีละข้างแล้วหายใจเข้า (ห้ามอ้าปาก) โดยหากรูจมูกข้างนั้นมีการตีบแคบจะทำให้หายใจเข้าลำบาก ซึ่งอาจบอกได้เบื้องต้นว่าอาการหายใจไม่สะดวกนั้นเกิดจากความผิดปกติในจมูก (ไม่ใช่หลอดลม) และอาจเกิดจากหลายสาเหตุ จึงควรไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางสาขาโรคจมูกและโรคภูมิแพ้ เพื่อให้ได้รับการตรวจวินิจฉัยโรคอย่างเหมาะสมว่าเป็นโรคจมูกอักเสบ หรือโรคในโพรงจมูกชนิดอื่น 
ยาพ่นจมูกที่ใช้รักษาโรคจมูกอักเสบ คือยาอะไร 
เนื่องจากโรคดังกล่าวเกิดในโพรงจมูก ดังนั้น ยาที่มักใช้รักษาจึงเป็นยาพ่น (spray) ซึ่งนำส่งยาเข้าสู่โพรงจมูกโดยตรง ทำให้มีอาการข้างเคียงต่ออวัยวะอื่นน้อยกว่ายารับประทาน โดยยาอันดับแรกที่มักใช้ในการรักษาโรคจมูกอักเสบทั้ง 2 ชนิด (ตารางที่ 1) ได้แก่

  1. ยากลุ่มสเตียรอยด์ 
    เนื่องจากยาสเตียรอยด์มีฤทธิ์ลดการอักเสบได้ดี จึงส่งผลลดอาการต่าง ๆ ได้ดีที่สุด ทั้งอาการบวมของเยื่อบุโพรงจมูกซึ่งอุดตันทางเดินอากาศ ทำให้หายใจได้สะดวกขึ้น และยังช่วยลดอาการน้ำมูกไหล คัน และจาม โดยยาเริ่มออกฤทธิ์ภายใน 3-12 ชั่วโมงหลังพ่น (บางรายงานระบุว่ายาเริ่มออกฤทธิ์ภายใน 30 นาทีหลังพ่น) แต่อาการอาจดีขึ้นอย่างชัดเจนใน 1-3 วัน ทั้งนี้ ประการสำคัญ คือ ผู้ป่วยต้องใช้ยาสเตียรอยด์ชนิดพ่นอย่างต่อเนื่องตามแพทย์สั่งเพื่อคุมควบอาการของโรค ซึ่งยามีอาการข้างเคียงต่ำมาก เช่น อาจพบอาการระคายเคือง หรือแสบจมูกได้บ้าง จึงมีความปลอดภัยสูงกว่ายารับประทานและยาฉีดโดยเฉพาะเมื่อใช้เป็นเวลานาน
  2. ยาต้านฮิสตามีน หรือที่ชอบเรียกกันว่า “ยาแก้แพ้” 
    ยากลุ่มนี้ช่วยลดอาการแพ้ได้ดี เช่น อาการคัน จาม และน้ำมูกไหล ซึ่งออกฤทธิ์เร็วกว่าสเตียรอยด์ (เริ่มออกฤทธิ์ภายใน 15 นาที) แต่มีฤทธิ์ลดอาการคัดจมูกได้น้อยกว่า อย่างไรก็ตาม ในประเทศไทยไม่มียาต้านฮิสตามีนชนิดพ่นจมูกเดี่ยว ๆ แต่มีผสมกับยาสเตียรอยด์หรือยาหดหลอดเลือด ซึ่งอาการข้างเคียงที่อาจพบจากยาต้านฮิสตามีนชนิดพ่นจมูก ได้แก่ รูจมูกแห้ง คอแห้งและรู้สึกขมในคอ เลือดกำเดาไหล และอาจง่วงนอน 

สำหรับยาที่มักใช้เป็นยาเสริม เพื่อช่วยบรรเทาอาการ (ตารางที่ 1) ได้แก่

  1. ยาหดหลอดเลือด หรือเรียกว่า “ยาแก้คัดจมูก” 
    เนื่องจากการอักเสบทำให้หลอดเลือดในโพรงจมูกขยายตัว ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องให้เกิดการบวมของเยื่อบุในโพรงจมูก ดังนั้น ยาหดหลอดเลือดจึงช่วยลดอาการบวมของเยื่อบุ แล้วบรรเทาอาการคัดจมูกทำให้หายใจสะดวกขึ้น โดยยาออกฤทธิ์เร็ว (ภายใน 5-10 นาที) อย่างไรก็ตาม การใช้ยาแก้คัดจมูกชนิดพ่นเป็นเวลานานเสี่ยงต่อการเกิดอาการคัดจมูกได้ใหม่หรืออาจแย่กว่าเดิม จึงไม่ควรใช้ยานี้ติดต่อกันนานเกิน 3–5 วัน
  2. น้ำเกลือ 
    กลไกการออกฤทธิ์ของน้ำเกลือทั้งชนิดพ่นและสวนล้างจมูกในการช่วยบรรเทาอาการของโรคจมูกอักเสบยังไม่ทราบแน่ชัด แต่เชื่อว่าอาจเป็นเพราะน้ำเกลือช่วยขจัดล้างสารต่าง ๆ ที่คั่งค้างอยู่ภายในโพรงจมูก เช่น มูกเหนียว สารก่อภูมิแพ้ สารก่อการอักเสบ เป็นต้น ซึ่งควรใช้น้ำเกลือก่อนที่จะพ่นยาชนิดอื่นตาม ส่วนอาการข้างเคียงที่อาจเกิดจากน้ำเกลือ เช่น รู้สึกระคายเคืองจมูกเล็กน้อย และบางครั้งอาจรู้สึกคลื่นไส้

ยาพ่นจมูก มีหน้าตาเป็นอย่างไร 
ส่วนใหญ่ภาชนะบรรจุยาพ่นจมูกมักมีลักษณะดังรูปที่ 2 แต่อาจมีรูปทรงอื่นที่กลไกการปลดปล่อยยาคล้ายกัน ทั้งนี้ ขั้นตอนการใช้ยาพ่นจมูกไม่ยุ่งยากซึ่งผู้ป่วยจะได้รับคำแนะนำอย่างเหมาะสมขณะรับยาจากเภสัชกรทุกครั้ง นอกจากนี้ เอกสารกำกับยาที่แนบมาภายในกล่องยายังแสดงวิธีการใช้อย่างละเอียด ซึ่งผู้ป่วยสามารถอ่านเพิ่มเติมด้วยตนเอง 
 
นอกจากยาที่กล่าวมาแล้ว ยังมียาพ่นจมูกอื่น ๆ ที่ใช้เป็นยาอันดับรองในการรักษาโรคจมูกอักเสบ รวมทั้งยารับประทาน เช่น ยาต้านฮิสตามีน ยาแก้คัดจมูกและยาสเตียรอยด์ ที่แพทย์อาจจ่ายให้กับผู้ป่วยบางคน ซึ่งไม่ได้กล่าวถึงในบทความนี้ อีกทั้ง รายละเอียดอื่น ๆ เช่น วิธีการตรวจหาสารที่เป็นสาเหตุของอาการแพ้ เป็นต้น ซึ่งหากผู้ป่วยมีข้อสงสัยเกี่ยวกับโรคจมูกอักเสบและยาที่ตนเองได้รับ ควรสอบถามแพทย์ผู้ทำการรักษาหรือเภสัชกรทุกครั้ง 
 

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. Small P, Keith PK, Kim H. Allergic rhinitis. Allergy Asthma Clin Immunol 2018;14:51.
  2. Schuler Iv CF, Montejo JM. Allergic Rhinitis in Children and Adolescents. Pediatr Clin North Am 2019;66:981-93.
  3. Tran NP, Vickery J, Blaiss MS. Management of rhinitis: allergic and non-allergic. Allergy Asthma Immunol Res 2011;3:148-56.
  4. Sur DK, Plesa ML. Treatment of Allergic Rhinitis. Am Fam Physician 2015;92:985-92.
  5. Sur DKC, Plesa ML. Chronic Nonallergic Rhinitis. Am Fam Physician 2018;98:171-6.
  6. Practical aspects of OTC intranasal corticosteroid use: Important educational points to share with patients [Internet]. Pharmacytimes.com. 2015 [cited 18 Jun 2020]. Available from: https://www.pharmacytimes.com/publications/issue/2015/July2015/RD362_July2015

บทความที่ถูกอ่านล่าสุด

ยากับวัคซีนโควิด-19 : มีผลกระทบต่อกันอย่างไร? 1 วินาทีที่แล้ว
ยาห้าราก : ตำรับยาสมุนไพรแก้ไข้ 4 วินาทีที่แล้ว
อโรมาเธอราพี (Aromatherapy) 5 วินาทีที่แล้ว
โรคจีซิกพีดี...ยาและอาหารที่ควรหลีกเลี่ยง 13 วินาทีที่แล้ว
เมื่อร่างกายได้รับโปรตีนไม่เพียงพอจะมีอาการอย่างไร 22 วินาทีที่แล้ว
ยาเขียว ยาไทยใช้ได้ทั้งผู้ใหญ่และเด็ก… 23 วินาทีที่แล้ว
ผลิตภัณฑ์พลาสติกกับอาหาร 25 วินาทีที่แล้ว
รู้เท่าทันการใช้ฮอร์โมนทดแทนในหญิงวัยหมดประจำเดือน 31 วินาทีที่แล้ว
ไมเกรน กับ แมกนีเซียม 41 วินาทีที่แล้ว
ยาลดไขมันในเลือด 44 วินาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด

เกี่ยวกับคณะเภสัชศาสตร์
คลังความรู้สู่ประชาชน บทความความรู้สู่ประชาชน บทความความรู้สู่ประชาชน

ความสำเร็จของวิชาชีพเภสัชกรรม เกิดจากความรู้ที่สามารถทำให้ผู้บริโภคยา มีการเสี่ยงต่ออันตรายจากยาที่ใช้ให้น้อยที่สุด แต่ได้รับผลในการป้องกัน หรือบำบัดโรคมากที่สุด

ความสำเร็จของวิชาชีพเภสัชกรรม เกิดจากความรู้ที่สามารถทำให้ผู้บริโภคยา มีการเสี่่ยงต่ออันตรายจากยาที่ใช้ให้น้อยที่สุด แต่ได้รับผลในการป้องกัน หรือบำบัดโรคมากที่สุด
ประดิษฐ์ หุตางกูร
คณบดีท่านแรกของคณะเภสัชศาสตร์

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
Copyright © 2021 - 2025
งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
การใช้และการจัดการคุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา