เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


ครีมกำจัดขน: ใช้เป็นประจำ มีอันตรายหรือไม่?


รองศาสตราจารย์ ดร.ภญ. พิมลพรรณ พิทยานุกุล ภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพประกอบจาก: http://130.211.119.163//wp-content/uploa...-cream.jpg
อ่านแล้ว 122,831 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 23/04/2560
อ่านล่าสุด 20 นาทีที่แล้ว
https://tinyurl.com/ycudlfqb
Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ https://tinyurl.com/ycudlfqb
 
ความสวยงามบนเรือนร่างของหญิงและชาย เป็นจุดสนใจของเจ้าของ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้หญิงมักให้ความสนใจกับความเกลี้ยงเกลาของเรือนร่าง จึงไม่ต้องการให้มีเส้นขนโผล่ตามผิวหนังไม่ว่าจะเป็น แขน ขา ใต้วงแขน หรือแม้แต่ในร่มผ้า ดังนั้นจึงต้องมีวิธีกำจัดเส้นขนตามร่างกายที่ไม่ต้องการออกไป ซึ่งวิธีทั่วไปที่ใช้กันในปัจจุบัน มี 3 วิธีคือ

ภาพจาก : http://healthybeautiful.com/wp-content/uploads/2016/08/
The-Best-At-Home-Laser-Hair-Removal-1080x605.jpg
  1. ใช้ครีมกำจัดเส้นขน (Dipilatories)
  2. ใช้วิธีถอนเส้นขนออกทั้งราก (Epilation) โดยใช้อุปกรณ์ช่วย หรือใช้แวกซ์ถอนขน
  3. ใช้อุปกรณ์การแพทย์ เช่น แสงเลเซอร์
สองวิธีแรกมีใช้กันมาตั้งแต่อดีตเพราะง่ายและประหยัด ส่วนวิธีที่ 3 เป็นการใช้อุปกรณ์การแพทย์ ซึ่งต้องให้แพทย์เป็นผู้ลงมือทำให้ ค่าใช้จ่ายก็ต้องแพงเป็นธรรมดา ดังนั้นผลิตภัณฑ์ประเภทครีมกำจัดเส้นขนจึงเป็นที่นิยมมากที่สุด รูปแบบที่มีจำหน่ายทั่วไปในท้องตลาดมีทั้ง เจล ครีม โลชั่น แอโรโซลชนิดสเปรย์ โรยออน และรูปแบบแป้งฝุ่นโรยผิว นับเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีใช้มานานตั้งแต่สมัยโบราณจวบจนปัจจุบัน เพียงแต่สูตรครีมชนิดนี้ในอดีต อาจมีกลิ่นฉุนรุนแรงของทั้งกรดและด่าง แต่ในปัจจุบันได้พัฒนาให้มีกลิ่นฉุนลดลง
กลไกการทำงานของ ผลิตภัณฑ์กำจัดเส้นขน
ครีมกำจัดเส้นขน มีส่วนประกอบของสารเคมีที่มีความเป็นด่างสูง คือ แคลเซี่ยม ไฮดรอกไซด์ ซึ่งมีอยู่ในเนื้อครีมปริมาณมาก และตัวยา แคลเซี่ยม ไทโอไกลโคเลท (Calcium thioglycolate) หรือ (sodium thioglycolate) เส้นขนของคนเรามีโครงสร้างหลักคือโปรตีน เรียกว่า 'คีราติน โปรตีน' (keratin protein) ในปริมาณ 65%-95% ทำให้เส้นขนหรือเส้นผมแข็งแรง ตัวยาไทโอไกลโคเลท จะมีกลิ่นฉุนและมีฤทธิ์เป็นด่างสูง จะทำหน้าที่ละลายโครงสร้างคีราตินโปรตีนของเส้นขนที่อยู่เหนือผิวหนัง ทำให้เส้นขนนุ่มลงและถูกตัดขาดจากรากขนหรือส่วนที่อยู่ใต้ผิวหนังได้ง่าย ทำให้เช็ดออกได้ง่าย แต่รากเส้นขนยังคงอยู่ในชั้นผิวหนัง ผิวหนังชั้นบนสุดก็ประกอบด้วยโครงสร้างคีราตินโปรตีนเช่นเดียวกับเส้นขน ดังนั้นครีมกำจัดขน จึงไม่ควรทาค้างไว้บนผิวหนังนานๆ เพราะตัวยาจะไปทำลายเซลผิวหนังด้วย ทำให้ระคายเคืองได้
ข้อดี
  • เป็นวิธีที่ประหยัด
  • ทำได้ง่ายและรวดเร็ว เพียงทาครีมบนผิวหนังทิ้งไว้ประมาณ 10-15 นาที แล้วเช็ดออก เป็นวิธีที่ไม่เจ็บปวดเลย
  • ทำเองได้ ไม่จำเป็นต้องมีประสพการณ์หรือไม่จำเป็นต้องมีผู้เชี่ยวชาญอยู่ด้วยในขณะที่ทำ
  • ผลิตภัณฑ์ในท้องตลาด มีหลายความเข้มข้นให้เลือกซื้อสำหรับเส้นขนที่หนาและแข็ง อาจต้องใช้ชนิดความเข้มข้นสูงสำหรับผู้ที่มีเส้นขนไม่หนาและอ่อน ควรเริ่มต้นเลือกทดลองใช้ความเข้มข้นที่น้อยที่สุดก่อน
  • หาซื้อได้ง่ายทั่วไป
ข้อเสีย
  • ได้ผลในระยะสั้นๆเท่านั้น เส้นขนจะกลับเจริญเติบโตขึ้นใหม่อย่างรวดเร็วภายใน 2-5 วันเท่านั้น
  • ผู้ที่มีเส้นขนสีดำ อาจจะมองเห็นเป็นรอยดำๆบนผิวหนัง ซึ่งเป็นสีดำของเส้นขนที่ตกค้างอยู่ใต้ผิวหนังที่ยังคงอยู่นั่นเอง
  • ผลิตภัณฑ์มักมีกลิ่นฉุนและเลอะเทอะเวลาใช้ แม้ว่าหลายยี่ห้อได้พัฒนาสูตร แต่ยังมีกลิ่นเคมีหลงเหลืออยู่ไม่มากก็น้อย
  • ระคายเคืองผิวหนัง เนื่องจากมีความเป็นด่างสูง
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
  1. เนื่องจากชั้นของผิวหนังมีองค์ประกอบของโปรตีนคีราตินเช่นเดียวกับโปรตีนของเส้นขนหรือเส้นผม ดังนั้นเคมีในเนื้อครีมจะทำลายโปรตีนชั้นผิวหนังที่สัมผัสตัวยาเช่นกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเนื้อครีมกำจัดเส้นขนถูกพอกทิ้งไว้นานเกินไป ผิวหนังจะระคายเคือง และอักเสบได้
  2. ก่อนการใช้งาน ควรทดสอบอาการแพ้หรือไม่แพ้ด้วยตนเองบนผิวหนังบริเวณเล็กๆ โดยทาเนื้อครีมในบริเวณที่ต้องการกำจัดขน ทิ้งไว้สัก 10-15 นาที หรือตามที่ระบุไว้บนฉลาก จากนั้นเช็ดเนื้อครีมออกด้วยกระดาษหรือผ้าชื้น และสังเกตุอาการระคายเคืองที่อาจเกิดขึ้นภายใน 24 ชั่วโมง หากไม่มีอาการไหม้ แต่อาจมีเพียงแดงเล็กน้อย แสดงว่าสามารถใช้ครีมดังกล่าวสำหรับกำจัดเส้นขนได้โดยไม่เกิดอันตราย แต่หากมีอาการไหม้ และปวดแสบปวดร้อน ไม่ควรใช้ต่อ
  3. สถาบันประเมินความเสี่ยงจากการใช้สินค้าของผู้บริโภค ประเทศเยอรมนี (BfR) ได้ออกมาเตือนการใช้ครีมกำจัดขนชนิดนี้ว่า ถ้าใช้ไม่ถูกวิธี อาจก่อให้เกิดอาการระคายเคืองไม่มากก็น้อยต่อผิวหนังบริเวณที่ใช้ได้ และหากมีการใช้เป็นประจำ และใช้ซ้ำบ่อยๆในบริเวณเดียวกัน อาจระคายเคืองมากได้ และไม่แนะนำให้ใช้ซ้ำบ่อยๆในบริเวณเดียวกัน เช่น มีการพอกบนผิวหนังทุก 2-5 วันซ้ำ เพราะอาจทำให้เกิดอาการข้างเคียงรุนแรงขึ้น อาการระคายเคืองที่เกิดขึ้นอาจเกิดจากความเป็นด่างสูงหรืออาจเกิดจากสารเคมีไทโอไกลโคเลทเองซึ่งยังไม่มีข้อสรุป
  4. ผลิตภัณฑ์ชนิดนี้มีข้อบ่งใช้เฉพาะกำจัดเส้นขนตามแขนและขาเท่านั้น ไม่ควรใช้กับใบหน้าเพื่อกำจัดหนวด เครา หรือขนคิ้วเด็ดขาด รวมถึงบริเวณที่ลับใต้ร่มผ้า หรือผิวหนังบริเวณใกล้อัวยวะเพศ หรือเส้นขนในรูจมูก ซึ่งเป็นผิวหนังอ่อนไหวและชั้นหนังกำพร้าบาง จะเป็นอันตรายได้ง่าย ผู้บริโภคควรอ่านฉลากกำกับ และใช้ตามข้อแนะนำในฉลากเท่านั้น

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. Pros and Cons of Hair Removal Creams (Depilatories). http://hairfreelife.com/hair-removal-cream-pros-and-cons/
  2. Removing Hair Safely. https://www.fda.gov/ForConsumers/ConsumerUpdates/ucm048995.htm
  3. Hair removal. https://en.wikipedia.org/wiki/Hair_removal

งานประชุมวิชาการที่กำลังเปิดรับสมัคร


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


ต้อหิน 1 นาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้