เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


ตาแดง…สัญญาณเตือนภัยใกล้ตัว


นศภ. ประพัทธิ์ เก่งอนันตานนท์ นักศึกษาฝึกปฏิบัติงานคลังข้อมูลยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล


ภาพประกอบจาก: http://netdoctor.cdnds.net/15/45/980x490...423329.jpg
อ่านแล้ว 255,785 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 08/03/2560
อ่านล่าสุด 1 ช.ม.ที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 

หากถามถึงอาการเจ็บป่วยที่พบได้บ่อย และแทบทุกๆ คนเคยมีอาการมาก่อน “อาการตาแดง” น่าจะเป็นหนึ่งชื่อที่อยู่ในคำตอบ เนื่องจากเป็นอาการเจ็บป่วยที่พบได้บ่อยมาก และมีหลายระดับความรุนแรง สามารถพบได้ในทุกช่วงอายุ และสาเหตุของโรคก็มีหลายสาเหตุเช่นกัน แต่ถ้าหากเราลองมองลึกลงไปในรายละเอียด จะพบว่าผู้ป่วยส่วนมากเมื่อมีอาการตาแดง มักจะปล่อยไว้ให้หายเองโดยไม่ทำการรักษา หรือบางคนก็นำยาหยอดตาที่มีอยู่มาหยอดซึ่งอาจจะถูกหรือผิดก็ได้ 
 
ภาพจาก : http://netdoctor.cdnds.net/15/45/980x490/landscape-1445715811-conjunctivitis-175423329.jpg 
อาการตาแดงเป็นสัญญาณของโรคได้หลากหลาย1 มีทั้งระดับไม่อันตรายเช่น เยื่อบุตาอักเสบ (conjunctivitis) จากเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย และระดับอันตราย เช่น หลอดเลือดในตาแตก (Burst blood vessel) ซึ่งควรต้องไปโรงพยาบาล เนื่องจากโรคเยื่อบุตาอักเสบพบได้บ่อยและคนทั่วไปยังไม่เข้าใจเกี่ยวกับโรคนี้ บทความนี้จึงขอแนะนำเกี่ยวกับการใช้ยารักษาโรคและวิธีปฏิบัติตัวให้ถูกต้องในการดูแลจัดการโรค 
อาการของโรค2 
Conjunctivitis เป็นโรคที่มีการอักเสบของเยื่อบุตา มีการบวมหรือแดง บริเวณตาขาว และอาจมีอาการร่วมอื่นๆ ที่มีความสำคัญ เพราะใช้ในการวิเคราะห์สาเหตุของโรค เช่น อาการคัน มีน้ำตาไหลมาก มีขี้ตามากขึ้นสีขาวหรือสีเขียว อาการเป็นทั้งสองข้างหรือเป็นทีละข้างก็สามารถบ่งบอกสาเหตุที่แตกต่างได้เช่นกัน 
ส่วนอาการที่เป็นสัญญาณอันตรายที่จำเป็นต้องไปพบหมอเมื่อมีอาการตาแดง คืออาการร่วมกับ อาการปวดตา มองแสงจ้าไม่ได้ ตามัว อาการเหล่านี้อาจนำไปสู่โรคที่ร้ายแรง เช่น เปลือกตาอักเสบ กระจกตาถลอก มีสิ่งแปลกปลอมในดวงตา เลือดออกใต้เยื่อตา กระจกตาอักเสบ ม่านตาอักเสบ หรือต้อหิน จึงจำเป็นต้องรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษา 
สาเหตุของโรค2 
โรคเยื่อบุตาอักเสบ (Conjunctivitis) สามารถแยกได้หลายสาเหตุ มีทั้งจากการติดเชื้อและไม่ติดเชื้อ การติดเชื้อที่พบมากสุดคือจากเชื้อไวรัส (Viral conjunctivitis) และรองลงมาเป็นการติดเชื้อแบคทีเรีย (Bacterial conjunctivitis) ส่วนที่ไม่ใช่การติดเชื้อจะเป็นอาการเนื่องจากภูมิแพ้ (Allergic conjunctivitis) ซึ่งสาเหตุที่ต้องแยกประเภทของโรคเนื่องจากการรักษาแต่ละประเภทไม่เหมือนกัน 
อาการและการรักษา3 
เยื่อบุตาอักเสบจากเชื้อไวรัส (Viral conjunctivitis) เป็นประเภทที่พบบ่อยมากที่สุด อาการร่วมคือ การมีน้ำตาหรือขี้ตาสีขาวหรือใส อาจมีอาการคันบ้าง มักติดต่อได้ง่ายผ่านหลายทาง เช่น การสัมผัสทางร่างกายกับผู้ติดเชื้อ การใช้อุปกรณ์เครื่องใช้ส่วนตัวร่วมกัน หรือ ติดเชื้อผ่านทางสระว่ายน้ำ อาการสามารถหายได้เองภายใน 1-2 สัปดาห์ ดังนั้นการรักษาจะเน้นการรักษาตามอาการ เช่นการประคบเย็น เพื่อลดอาการบวมแดง ใช้ยาหยอดตาที่มีส่วนผสมของยาหดหลอดเลือด (decongestants) เช่น phenylephrine, naphazoline, oxymethazoline, tetrahydrozoline หรือน้ำตาเทียมก็เพียงพอแล้ว ไม่จำเป็นต้องใช้ยาหยอดตาที่มีส่วนผสมของยาปฏิชีวนะ (antibiotic) หรือสเตียรอยด์ (steroid) สิ่งที่สำคัญคือการปฏิบัติตัวเพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อ หมั่นล้างมือและรักษาความสะอาด และไม่ใช้สิ่งของร่วมกันผู้อื่น 
เยื่อบุตาอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย (Bacterial conjunctivitis) อาการที่เด่นชัดคือมีขี้ตาสีเหลืองเขียวจำนวนมากกว่าปกติ อาจจะมีอาการเคืองตา ตาบวม เป็นข้างเดียวหรือสองข้างก็ได้ พบการศึกษาที่ว่าผู้ป่วย 65% สามารถหายได้เองภายใน 2-5 วัน หรืออาจจะเป็นนานถึง 3-4 สัปดาห์แล้วสามารถหายได้เอง การใช้ยาหยอดตาที่มีส่วนผสมของยาปฏิชีวนะ (antibiotic) เช่น chloramphenicol, tetracycline, polymyxin, gramicidin, neomycin, aminoglycosides, fluoroquinolone เป็นต้น การใช้ยาเหล่านี้จะช่วยลดระยะเวลาของโรคได้ แต่ต้องเป็นยาปฏิชีวนะที่เหมาะสมกับอาการของโรค 
เยื่อบุตาอักเสบจากภูมิแพ้ (Allergic conjunctivitis) มักเป็นร่วมกับอาการภูมิแพ้ อาการโดยมากที่พบ เป็นอาการคันเป็นหลัก และมักจะเป็นพร้อมกันทั้งสองข้าง และมักจะมีอาการหลังจากได้รับสิ่งกระตุ้นเช่น เกสรดอกไม้ ฝุ่น รังแคสัตว์ ยา ควันบุหรี่ ผู้ป่วยอาจจะมีประวัติภูมิแพ้ร่วมด้วย วิธีการรักษาที่ดีที่สุดคือการหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้น และใช้น้ำตาเทียมหยอดตาเพื่อลดการระคายเคือง หรืออาจใช้ยาหยอดตาที่มีตัวยาแก้แพ้ (antihistamine) ด้วยก็ได้ หากมีอาการมาก เช่น pheniramine, pyrilamine หรือ antazoline ซึ่งสามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป 
การรักษาที่มีประสิทธิภาพนอกจากการใช้ยาให้ถูกกับสาเหตุของโรคแล้ว การใช้ยาหยอดตาที่ถูกต้องก็เป็นส่วนที่สำคัญในการช่วยให้อาการหายเร็วยิ่งขึ้น ควรใช้ยาตามคำสั่งอย่างเคร่งครัด ไม่ควรใช้ยาที่หมดอายุเนื่องจากยาหยอดตาทั่วไปจะมีอายุเพียง 30 วันหลังจากเปิดใช้ และไม่ควรแบ่งปันใช้ยาร่วมกับผู้อื่น เนื่องจากอาจเกิดการติดต่อกันได้ และสิ่งที่สำคัญอีกอย่างคือการรักษาความสะอาดของร่างกายทั้งดวงตาและมือ หมั่นล้างมือบ่อยๆ และไม่ใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่นในขณะที่มีอาการของโรค เพื่อลดการแพร่กระจายของโรค และถ้าหากอาการไม่หายดีภายใน 7-10 วัน ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม 
 

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. NHS choices information. Red eye. 2015 [cited 2017 Jan 13]. Available from: http://www. nhs.uk/conditions/red-eye/Pages/Introduction.aspx
  2. Cronau H, Kankanala RR, Mauger T. Diagnosis and management of red eye in primary care. Am Fam Physician. 2010;81(2):137-44.
  3. Azari AA, Barney NP. Conjunctivitis: a systematic review of diagnosis and treatment. Jama. 2013;310(16):1721-30.


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


แอสไพริน (aspirin) 47 วินาทีที่แล้ว
การเดินเพื่อสุขภาพ 1 นาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้