เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


ตัวจี๊ด พยาธิตัวอันตรายที่มากับความอร่อย


รองศาสตราจารย์ แม้นสรวง วุฒิอุดมเลิศ ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
อ่านแล้ว 74,901 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 25/02/2554
อ่านล่าสุด 23 ช.ม.ที่แล้ว
https://tinyurl.com/yda8gutm
Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ https://tinyurl.com/yda8gutm
 

ข่าวสั่นสะเทือนวงการเมืองที่มาพร้อมกับวงการด้านสาธารณสุข เมื่อปลายกุมภาพันธ์ 2554 คงจะเป็นเรื่องอื่นไปไม่ได้ นอกจากข่าวที่ผู้ป่วยรายหนึ่งบุกเข้าประชิดตัวนายกรัฐมนตรีเพื่อร้องเรียนว่าตนเองได้รับความทนทุกข์ทรมานจากพยาธิชนิดหนึ่ง ที่บ้านเราเรียกว่าตัวจี๊ด หรือพยาธิตัวจี๊ดนั่นเอง เรามาทำความรู้จักกับสิ่งมีชีวิตน้อยๆ ตัวนี้กันดีกว่า

เมื่อธรรมชาติมอบความอุดมสมบูรณ์มาให้แก่บ้านเมืองเรา เราจึงมีปลาและอื่นๆ ในมื้ออาหารพร้อมข้าว สิ่งมีชีวิตทั้งหลายในระบบนิเวศต่างค้ำจุนและเอื้อต่อกันในการดำรงชีวิต เช่น คนกินสัตว์น้ำ สัตว์บก และพืชผักชนิดต่างๆเป็นอาหาร สัตว์น้ำ สัตว์บกเหล่านั้น ก็อาศัยยังชีพด้วยอาหารที่เหมาะสมของตนเองเป็นขั้นตอนต่อๆ กันไป และแน่นอนที่สิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศ นอกจากได้รับการเอื้ออำนวยแล้ว ย่อมมีศัตรูที่แฝงอยู่ เช่น คน มีโรคภัยไข้เจ็บจากเชื้อโรคชนิดต่างๆที่มองไม่เห็นได้ด้วยตาเปล่า เช่น แบคทีเรีย โปรโตซัว ที่การมองเห็นจะต้องอาศัยกล้องจุลทรรศน์ หรือเชื้อที่เมื่อขยายพันธุ์อยู่รวมกันมากขึ้น จะสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า เช่น รา (ที่มักตกเป็นจำเลยในอาการหรือโรคหลายๆชนิด) และยังมีอนุภาคไวรัสที่การดูลักษณะ ต้องใช้กล้องกำลังขยายสูงเป็นต้น สิ่งเหล่านี้มีปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์ทั้งแง่ดี-ให้คุณประโยชน์ และที่ก่อความเสียหาย โรคภัยไข้เจ็บด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ยังมีสิ่งมีชีวิตที่ส่วนใหญ่จะมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า คือ ปรสิต หรือหนอนพยาธิ ซึ่งทางการแพทย์ แบ่งหนอนพยาธิเป็น 3 กลุ่ม คือ พยาธิ โปรโตซัว และแมลงทางการแพทย์ ส่วนตัวจี๊ดที่เราจะพูดถึง จัดอยู่ในกลุ่มหนอนพยาธิกลุ่มแรกนั่นเอง โดยผองเพื่อนพยาธิ แบ่งตามรูปร่างมี 2 กลุ่มใหญ่ คือพยาธิตัวกลม (nematode) (ตัวจี๊ดอยู่ในกลุ่มนี้) และพยาธิตัวแบนซึ่งมีสองกลุ่มย่อยคือตัวแบนแบบเป็นพยาธิใบไม้ (trematode) กับตัวแบนแบบเส้นยาวที่เรียกว่าพยาธิตัวตืด (cestode)

ช้าก่อน ไม่ใช่ว่าตัวจี๊ดจะได้ได้ชื่อมาจากการที่ตัวเล็กกะจิ๊ดเดียวตามที่หลายคนกะการณ์ไว้ แต่ชื่อนี้ได้มาอย่างไร ลองอ่านต่อไปแล้วจะรู้ภายหลัง ตัวจี๊ดมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Gnathostomaspinigerum(แนธโธสโตมา สไปนิเจอรุม หรือ G. spinigerum) ชื่อเพราะ แต่อ่านยากหน่อยเป็นธรรมดา มีชื่ออย่างอื่นไหมหรือมีตัวอื่นไหม คำตอบคือ มี เช่นG. hispidum, G.doloresi, G. malaysiaeและG.binucleation

ลักษณะ

รูปร่างหน้าตาตัวจี๊ดที่ตัวแก่หรือตัวเต็มวัย (แบบผู้ใหญ่หรือ adult) และที่เป็นตัวอ่อน (แบบว่าเด็กๆ หรือ larva) ดูจะคล้ายๆ กัน เอ..ถ้าคล้ายกันแล้วทำไมต้องแบ่งแยกด้วยล่ะ ก็เพราะว่าตัวที่พบว่าก่อปัญหาในคนน่ะ เป็นตัวเด็กๆ นั่นเอง เอาละ รูปร่างที่เห็นจากการดูด้วยกำลังขยาย ราวกับว่าส่วนหัวและส่วนลำตัวไม่ต่อเนื่องกัน โดยลำตัวกลมยาวเหมือนเป็นท่อ.. ก็เขาเป็นพยาธิตัวกลมนี่นะ-ปกคลุมด้วยหนาม ตัวแก่มีทั้งตัวผู้และตัวเมีย-ที่ต้องเล่าอย่างนี้ เพราะเพื่อนอีกสองกลุ่มเกือบทั้งหมด เขามีสองเพศในตัวเดียวกันเชียวนะ.. ตัวจี๊ดตัวยาวประมาณเซ็นต์ครึ่งจนถึงสามเซ็นติเมตร ตัวอ่อนขนาดประมาณครึ่งเซ็นต์จนเกือบหนึ่งเซ็นติเมตร ส่วนหัวมีหนามปกคลุม...ตัวก็มีหนาม.. ดูหัวเขาก่อนซิ

ตัวแก่ของพยาธิตัวจี๊ดอาศัยสัตว์หลายชนิดเป็นรัง โดยเฉพาะสุนัขและแมว ที่ต้องพาดพิงถึงเพราะว่าเป็นสัตว์เลี้ยงของคน เอ๊ะ แล้วเราจะมีอันตรายไหม..กระโดดกัด หรือเกาะเราไหม..

จะว่าไปแล้ว พยาธิต่างๆ มาสู่คนได้หลายวิธี ทั้งนี้ต้องอาศัยระยะจำเพาะในวงจรชีวิตที่เหมาะสมแก่การไปสู่คน-สัตว์ (ที่ในที่นี้ เรียกว่า เจ้าบ้านหรือhost) คน-สัตว์ดังกล่าวก็ต้องมีความเหมาะสมต่อระยะจำเพาะของพยาธินั้นๆ ด้วย เราเรียกระยะนี้ว่า ระยะติดต่อ (infective stage) พยาธิตัวจี๊ดระยะต่างๆ พบได้ในปลาน้ำจืดหลายชนิด สัตว์ปีก สัตว์กัดแทะ สัตว์เลื้อยคลาน สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ หรือสิ่งมีชีวิตที่มากินน้ำแล้วได้ตัวอ่อนพยาธิตัวจี๊ด ดังนั้น จึงมีสัตว์หลายชนิดที่ไม่เต็มใจและที่ไม่รู้ว่าตัวเองมีระยะใดระยะหนึ่งในวงจรชีวิตของพยาธิตัวจี๊ดอยู่

วงจรชีวิต

บางคนอาจสงสัยว่า ทำไมชีวิตถึงเป็นวงจร คนเราเกิดมาเป็นทารกเพศชายเพศหญิง เป็นเด็ก เจริญสู่การเป็นผู้ใหญ่ จนแก่และลาโลกไป ฟังดูเป็นสายเดี่ยวและตรง ไม่เห็นเป็นวงแต่ตัวจี๊ดจะเป็นเช่นไรเริ่มเล่าประวัติจากผู้ใหญ่หรือตัวแก่ก่อน เป็นลำดับดังนี้

  1. ตัวแก่พยาธิตัวจี๊ด พบได้ในเจ้าบ้านหลายชนิด (เจ้าบ้านที่มีตัวแก่ เรียกว่า definitive host) เช่น สุนัข แมว เสือ หมู ทั้งสัตว์เลี้ยงและสัตว์ป่า โดยอยู่เป็นก้อนทูมที่กระเพาะ สัตว์เหล่านี้ที่มีตัวแก่พยาธิตัวจี๊ด มีการปล่อยสิ่งขับถ่ายที่มีไข่พยาธิตัวจี๊ดออกมา
  2. ไข่พยาธิเมื่อลงสู่แหล่งน้ำ จะฟักเป็นตัวอ่อนระยะที่หนึ่ง (L1 larva)ที่จะถูกกินโดยกุ้งไร (Cyclops) ในน้ำและเจริญเป็นระยะที่สอง (L2larva)
  3. สัตว์ต่างๆ ที่กินน้ำนี้ก็ได้กุ้งไร ตัวอ่อนจากกุ้งไรจึงเจริญเป็นตัวอ่อนระยะที่สาม (L3larva) ระยะนี้เองที่จัดเป็นระยะติดต่อในสัตว์หลายชนิด สำหรับในประเทศไทย พบว่ามีสัตว์ถึง 44 ชนิด ที่เป็นพาหะในการแพร่กระจาย เช่น ปลาต่างๆ ที่นำมาเป็นอาหาร รวมถึง พวกนก ไก่ กบ เป็ด งู กระรอกฯลฯ
  4. สิ่งมีชีวิตที่กินสัตว์ที่เป็นพาหะของตัวจี๊ดเข้าไป ตัวจี๊ดนั้นจะเจริญเป็นตัวแก่ในสัตว์เจ้าบ้านที่เหมาะสม เช่น เสือ สุนัข แมว หมู – ถึงตอนนี้ วงจรนี้ ย้อนกลับมาที่สิ่งมีชีวิตชนิดเดิม ได้เป็นวงแล้วนะ
  5. ส่วนเจ้าบ้านที่ไม่เหมาะสมสำหรับพยาธิตัวจี๊ด เช่น คน โดยไม่เลือกที่รัก-มักที่ชัง และเช่นเดียวกัน ทั้งไม่เต็มใจและโดยไม่รู้ เมื่อบริโภคเนื้อที่มีระยะติดต่อ โดยไม่ได้ทำให้สุกด้วยความร้อน หรืออาจมีการหมัก ดอง แต่ไม่ถึงขั้นที่สามารถทำลายตัวจี๊ดที่อยู่ในระยะติดต่อได้ การบริโภคลักษณะเช่นนี้ จึงเป็นอันตรายอย่างยิ่ง แต่ครั้งนี้ในคนนั้นตัวจี๊ดที่อยู่ในระยะติดต่อก็ไม่เต็มใจที่จะเจริญป็นตัวเต็มวัยเช่นกัน เพราะยังไม่พบรายงานในลักษณะดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม กลวิธีที่พยาธิตัวจี๊ดมาสู่คน พลิกแพลงได้ในรูปแบบอื่นเช่น จากความเชื่อที่เอาเนื้อสัตว์ (ที่ขบกัดคน) มาตำพอกแผล ตัวจี๊ดที่อยู่ในระยะติดต่อจะแข็งแรงพอที่จะไชผ่านผิวหนังเข้าสู่เนื้อเยื่อคนได้ หรือแม้แต่ผู้ที่นำเนื้อดิบลักษณะดังกล่าวมาปรุงอาหาร ผู้ปรุงจึงมีโอกาสได้รับพยาธิตัวจี๊ดเช่นกัน

อาการที่พบ

เมื่อได้รับตัวจี๊ดที่อยู่ในระยะติดต่อจากการกินตามข้างต้น พยาธิตัวอ่อนออกจากกระเพาะอาหาร เคลื่อนที่ไปในช่องท้อง ทำให้รู้สึกปวดในกระเพาะ มีไข้ อาเจียน ต่อมาจะปวดตามลำตัว แขน ขารู้สึกชา และมีอาการคล้ายอัมพาต จากที่พยาธิคลานไปตามที่ต่างๆของร่างกาย

กรณีที่ชัดเจนที่สามารถบ่งถึงการได้รับพยาธิตัวจี๊ด โดยในถิ่นที่พบว่าเป็นแหล่งของพยาธินี้ เมื่อคนได้รับตัวอ่อนหลังกินตัวจี๊ดที่อยู่ในระยะติดต่อประมาณ 3-4 อาทิตย์ จากความแข็งแรงของตัวอ่อนสามารถไชชอนจากกระเพาะอาหาร ไปตามที่ต่างๆของร่างกาย เกิดอาการที่เรียกว่า Larva migransการที่พยาธิไชที่ใต้ผิวหนัง ทำให้เห็นร่องรอยการไช มีการบวม ปวดจี๊ด คัน แดง ร้อนจากการเป็นสิ่งแปลกปลอมของร่างกาย ซึ่งเป็นที่มาของชื่อพยาธิตัวจี๊ดนั่นเอง อาการเช่นนี้ จะคงอยู่ระยะหนึ่ง เมื่อพยาธิไชลึกลงไปและเปลี่ยนตำแหน่งไป การบวม แดง ร้อน จะเกิดที่ที่ใหม่ เสมือนว่ามีการเปลี่ยนตำแหน่งการบวม จึงเรียกเป็นการบวมเคลื่อนที่ อาการแสดงออกมีหลากหลายขึ้นกับตำแหน่งร่างกายที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากการที่พยาธิไชชอน สามารถพบได้ที่อวัยวะภายในของคน หรือพบได้ที่ลูกนัยตา ดังนั้น ความรุนแรงที่พบ ขึ้นกับตำแหน่งที่พยาธิไป ที่สำคัญเช่น สมอง ตา ปอด ลองนึกถึงว่าอยู่ดีดีแท้แท้ มีตัวอะไรยาวเกือบเซ็นติเมตร เป็นสิ่งแปลกปลอมท่องเที่ยวไปไชตามเนื้อเยื่อของเรา คงทนทุกข์ทรมานไม่น้อย และยังไม่มีการศึกษาว่าพยาธิตัวจี๊ดอยู่ในร่างกายคนได้นานเท่ใด และถ้าตายอยู่ในเนื้อเยื่อหรืออวัยวะต่างๆ ล่ะ มีรายงานแสดงถึงตำแหน่งระบบประสาทส่วนกลางที่พยาธินี้ชอบ ได้แก่ ที่ไขสันหลัง สมองและช่องว่างใต้เยื่อหุ้มสมอง

ดังนั้น พยาธิอยู่ตำแหน่งใด ย่อมทำให้ประสาทที่ควบคุมอวัยวะนั้นๆ เสียหาย การทำงานของอวัยวะจากการควบคุมประสาทนั้นๆ เสียไปเช่นกัน

การตรวจวินิจฉัย

แม้ว่าโอกาสที่จะพบตัวอ่อนพยาธิ ขณะที่กำลังไชที่ชั้นใต้ผิวหนังจะค่อนข้างยาก แต่ร่องรอยที่ปรากฏ และการตรวจทางน้ำเลือดที่เรียกว่าอีไลซ่า(ELISA: enzyme-linked immunosorbent assay) หรือการตรวจซีทีสแกนรวมถึงการซักประวัติ เช่น มีความเกี่ยวข้องมีโอกาสสัมผัสตัวจี๊ดที่อยู่ในระยะติดต่อ หรือกินของสุกดิบ ฯลฯ

การรักษาและการปฏิบัติตน

แม้ว่าสิ่งข้างต้นจะช่วยในการวินิจฉัยได้ แต่สิ่งที่ควรมี คือ ความเข้าใจในการป้องกันตนในการไม่รับระยะติดต่อของพยาธิ และสอนผู้อื่นที่เกี่ยวข้องให้เข้าใจและปฏิบัติตนอย่างถูกต้อง เช่น

-หลีกเลี่ยงการกินอาหารดิบ หรือทำให้สุกด้วยความร้อนที่ไม่พอเพียง การบีบมะนาวทำให้เนื้อสัตว์เปลี่ยนสีและดูคล้ายว่าสุก แต่ไม่มีผลในการฆ่าตัวอ่อนพยาธิ

-ความเย็นจัดที่ –20 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 3-5 วัน หรือหมักในน้ำส้มสายชู 6 ชั่วโมงช่วยฆ่าตัวอ่อนพยาธิได้

-น้ำที่ใช้ดื่ม ต้องต้มเดือดอย่างน้อย 5 นาที

-การสัมผัสเนื้อสัตว์ดิบที่ต้องใช้ในการปรุงอาหาร ผู้ปรุงต้องใช้ถุงมือป้องกัน

ส่วนการรักษาโดยใช้ยาต่างๆ นั้น ควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ ร่วมกับการรักษาโดยการผ่าตัดเพื่อเอาพยาธิออก

แหล่งข้อมูล/เอกสารประกอบ

1.Diaz-Camacho SP. et al.Acute outbreak of gnathostomiasis in a fishing community in Sinaloa, Mexico.ParasitolInternat 2003; 52:133-140.

2.Diaz-Camacho SP. et al. Intrahepatic growth and maturation of Gnathostomaturgidum in the natural definitive opossum host, Didelphisvirginiana. ParasitolInternat 2010; 59:338-343.

3.KatchanovK, NawaY. Helminthic invasion of the central nervous system:Many roads lead to Rome. Parasitology International 2010;59:491–496.

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
เปิดอ่านด้วย Google Doc Viewer ดาวน์โหลดบทความ (pdf) ดูบทความอื่นๆ

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้

งานประชุมวิชาการที่กำลังเปิดรับสมัคร


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


1 นาทีที่แล้ว
โรคพยาธิหอยคัน 1 นาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้