เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


ท้องเสียจากโนโรไวรัส (Norovirus)


อาจารย์ ดร.ภก.สุเมธ จงรุจิโรจน์ ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล


ภาพประกอบจาก: https://taylory.files.wordpress.com/2010...a_2col.jpg
อ่านแล้ว 117,833 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 11/12/2559
อ่านล่าสุด 1 ช.ม.ที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 

โนโรไวรัส (Norovirus) เป็นไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคท้องเสียในคนซึ่งพบการระบาดได้ทั่วไป คาดว่าทั่วโลกมีผู้ป่วยประมาณ 250 ล้านคน และเสียชีวิตประมาณ 2 แสนคนต่อปี โดยการเสียชีวิตมักจะพบในเด็กเล็ก คนสูงอายุ หรือคนที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ โดยในสหราชอาณาจักรมักเรียกว่า "winter vomiting bug" เพราะมักพบการระบาดในช่วงฤดูหนาว 
 
ภาพจาก : https://expertbeacon.com/sites/default/files/supporting_your_adopted_children_as_they_try_to_fit_in_at_school.jpg 
โนโรไวรัส จัดอยู่ใน family Caliciviridae เป็นไวรัสที่มีสายพันธุกรรมแบบ RNA สายเดี่ยว เดิมรู้จักกันในชื่อ Norwalk like viruses (ตั้งชื่อตามเมือง Norwalk รัฐ Ohio สหรัฐอเมริกา ที่พบการระบาดครั้งแรก) ปัจจุบันเรียกกลุ่มไวรัสนี้ว่า Noroviruses แบ่งเป็น 5 genogroups คือ GI ถึง GV โดย GI, GII และ GIV ก่อให้เกิดโรคในคน 
โนโรไวรัสสามารถแพร่ระบาดได้ง่ายและรวดเร็ว ซึ่งโนโรไวรัสปริมาณเพียงเล็กน้อย (น้อยกว่า 100 ตัว) ก็สามารถก่อให้เกิดโรคได้ โนโรไวรัสมีความทนทานต่อสภาวะแวดล้อม โดยทนความร้อนได้ถึง 60 องศาเซลเซียส มีชีวิตอยู่รอดบนพื้นผิว หรือบนสิ่งของได้นานหลายวัน มีความทนทานต่อน้ำยาฆ่าเชื้อต่างๆ รวมทั้งแอลกอฮอล์ด้วย สารเคมีที่ใช้ในการฆ่าเชื้อโนโรไวรัสได้เป็นจำพวก ฟอร์มาลีน กลูตารอลดีไฮด์ หรือสารประกอบจำพวกคลอรีน เช่น โซเดียมไฮโปรคลอไรด์ (2%) ผู้ป่วยสามารถแพร่กระจายเชื้อไวรัสได้เป็นพันล้านตัวผ่านทางอุจจาระและการอาเจียน อีกทั้งผู้ป่วยที่ติดเชื้อแต่ไม่แสดงอาการก็สามารถแพร่เชื้อได้เช่นกัน นอกจากนี้ยังตรวจพบโนโรไวรัสในอุจจาระของผู้ป่วยหลังจากหายป่วยไปแล้ว 2 สัปดาห์ ดังนั้นจึงแนะนำว่าผู้ป่วยที่อาการหายแล้วควรป้องกันการแพร่เชื้อไวรัสให้ผู้อื่น เช่น งดเว้นการปรุงอาหารให้ผู้อื่นรับประทานเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 2 วัน 
โนโรไวรัสสามารถติดต่อได้หลายทาง เช่น การรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่มีเชื้อไวรัสปนเปื้อน โดยเฉพาะอาหารที่ปรุงไม่สุก เช่น หอย ผักผลไม้สดที่ล้างไม่สะอาด รวมถึงการสัมผัสกับผู้ป่วยโดยตรง การจับหรือสัมผัสกับสิ่งของที่มีเชื้ออยู่แล้วนำนิ้วเข้าปากโดยเฉพาะในเด็ก ดังนั้นจึงมักพบการระบาดอย่างรวดเร็วในโรงเรียนอนุบาล และโรงเรียนประถม เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกายเชื้อจะอาศัยอยู่บริเวณลำไส้เล็กส่วนต้นและทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน และเกิดความผิดปกติของการดูดซึมไขมันและน้ำตาลของลำไส้เล็ก 
โนโรไวรัสไม่ใช่ไวรัสใหม่ แต่ไม่ค่อยกล่าวถึงในประเทศไทยเพราะการตรวจยุ่งยากและยังมีสาเหตุอื่นๆ อีกมากที่ก่อให้เกิดการท้องเสียในประเทศไทย จนกระทั่งเริ่มมีการระบาดในโรงเรียนดังๆ โรงเรียนนานาชาติ เมื่อป่วยผู้ปกครองพาไปตรวจที่โรงพยาบาล และเก็บตัวอย่างอุจจาระส่งตรวจพิเศษทางห้องปฏิบัติการเท่านั้น จึงรู้ว่าเป็นโนโรไวรัส 
อาการและการรักษา 
โนโรไวรัสก่อให้เกิดการอักเสบที่กระเพาะอาหาร หรือลำไส้ทำให้ผู้ป่วยมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ปวดท้อง อาจมีไข้ต่ำๆ ปวดหัว ปวดเมื่อยตามร่างกายร่วมด้วย สามารถพบผู้ป่วยได้ทุกเพศทุกวัย มักจะมีอาการภายใน 12-48 ชั่วโมงหลังจากได้รับเชื้อไวรัส ลักษณะอาการเด่น คือ ท้องเสียและอาเจียน โดยปกติผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้นและหายได้เองภายใน 2-3 วัน แต่ในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงโดยเฉพาะในเด็กเล็ก หรือผู้สูงอายุอาจก่อให้เกิดการขาดน้ำได้ ดังนั้นควรดื่มน้ำเกลือแร่โออาร์เอสเพื่อทดแทนการเสียน้ำและเกลือแร่ หรืออาจให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง ปัจจุบันยังไม่มียาเฉพาะเจาะจงในการกำจัดเชื้อไวรัสนี้ อีกทั้งยังไม่มีวัคซีนในการป้องกันการติดเชื้อโนโรไวรัส 
วิธีการป้องกัน 
ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่ โดยล้างให้นานพอ (ไม่น้อยกว่า 20 วินาที) ก่อนกินอาหาร หลีกเลี่ยงน้ำและอาหารที่ไม่สะอาด รับประทานอาหารที่ปรุงสุก ล้างผักและผลไม้ให้สะอาด ทำความสะอาดส่วนที่คนสัมผัสบ่อยๆ ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการทำอาหารให้ผู้อื่นรับประทาน หรือใช้หลักการ “กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ” 
 

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. Centers for disease control and prevention. [Internet]. [cited 2016 Dec 8]. Available from: https://www.cdc.gov/norovirus/
  2. Norovirus Illness: Key Facts [Internet]. [cited 2016 Dec 8]. Available from: https://www.cdc.gov/norovirus/downloads/keyfacts.pdf
  3. Norovirus in Healthcare Facilities Fact Sheet. [Internet]. [cited 2016 Dec 8]. Available from: https://www.cdc.gov/hai/pdfs/norovirus/229110-ANoroCaseFactSheet508.pdf
  4. กนกพรรณ ศรีมโนภาษ. Norovirus กับความปลอดภัยอาหาร [ออนไลน์]. กลุ่มพัฒนาระบบตรวจสอบคุณภาพทางจุลินทรีย์กองตรวจสอบรับรองมาตรฐานคุณภาพสัตว์น้ำผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ กรมประมง. เข้าถึงได้จาก http://www.fisheries.go.th/quality/Norovirus.pdf วันที่สืบค้นข้อมูล 8 ธันวาคม 2559.


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


21 วินาทีที่แล้ว
ขยะอาหาร (Food Waste) 37 วินาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้