เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


บิ๊กอาย อันตรายถึงตาบอด


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภญ. มัลลิกา ชมนาวัง ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

อ่านแล้ว 36,195 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 21/02/2554
อ่านล่าสุด 1 วันที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 


คงปฏิเสธไม่ได้ถึงแฟชั่นยอดฮิต....บิ๊กอายที่แพร่หลายอยู่ในหมู่วัยรุ่นและวัยทำงาน ด้วยความที่หาซื้อได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็นทางร้านค้าออนไลน์หรือแม้แต่ตามตลาดนัดทั่วไป อันที่จริงแล้วบิ๊กอายเป็นคอนแทกเลนส์แฟชั่น ใส่แล้วทำให้ตาดำดูใหญ่ขึ้น แถมยังมีลูกเล่นสีและลวดลายต่างๆ ตามเทรนด์เกาหลี และที่สำคัญราคายังไม่แพงอีกด้วย ซึ่งจริงๆแล้วผลิตภัณฑ์นี้จัดอยู่ในกลุ่มเครื่องมือแพทย์ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ดังนั้น การผลิต นำเข้าหรือจำหน่าย จึงจำเป็นจะต้องได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ก่อนเท่านั้น

 

ในระยะที่ผ่านมามีข่าวผู้ป่วยติดเชื้อที่ตาเนื่องจากการใช้บิ๊กอายหลายราย เชื้อที่เป็นสาเหตุ คือ ซูโดโมแนส ออรูจิโนซ่า (Pseudomonas aeruginosa) ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่พบได้ทั่วไป เชื้อนี้เป็นสาเหตุสำคัญอันดับแรกของการติดเชื้อที่กระจกตาในผู้ใช้คอนแทกเลนส์ นั่นหมายความว่า ไม่ใช่แค่คนที่ใช้บิ๊กอายเท่านั้นแต่หมายรวมถึงคนใช้คอนแทกเลนส์ทั่วไปด้วย หากยังจำกันได้ เชื้อชนิดเดียวกันนี้เคยเป็นข่าวมาแล้วหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นกรณีของนางงามชาวบราซิลวัย 20 ปี ที่ติดเชื้อแบคทีเรียตัวเดียวกันนี้ที่กระเพาะปัสสาวะในขณะอยู่โรงพยาบาล ภายหลังเข้ารับการรักษาผ่าตัดนิ่วที่ไต ซึ่งในที่สุดคณะแพทย์ต้องตัดมือและเท้าทั้ง 2 ข้างออกเนื่องจากเชื้อแบคทีเรียดังกล่าวเข้าสู่กระแสเลือด และได้เสียชีวิตลงอย่างรวดเร็วในเวลาต่อมา เหตุการณ์ทั้งหมดเกิดขึ้นในเวลาอันรวดเร็วภายในระยะเวลาเพียงเดือนเศษเท่านั้น หรือในประเทศไทยเองก็เกิดเป็นข่าวดังจากการติดเชื้อดังกล่าวที่กระจกตาเมื่อมารับการผ่าตัดในโรงพยาบาล ทำให้ผู้ป่วยบางรายถึงขั้นตาบอด

ทำไมเชื้อชนิดเดียวกันนี้จึงก่อให้เกิดโรคในลักษณะที่แตกต่างกันได้หลายโรค ?????????คำตอบนั้นอยู่ที่ตัวเชื้อนี้เป็นแบคทีเรียแกรมลบที่จัดเป็นเชื้อประเภทฉวยโอกาส นั่นหมายความว่า เชื้อนี้มักไม่ก่อโรคในคนที่มีสุขภาพดี แต่มักพบในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ ซึ่งรวมไปถึงผู้ป่วยที่อยู่ในอาการโคม่าหรือผู้ป่วยที่พักรักษาตัวในโรงพยาบาล แบคทีเรียชนิดนี้สามารถแพร่กระจายและก่อโรคได้หลายระบบ อาทิเช่น การติดเชื้อที่กระจกตา ระบบประสาทส่วนกลาง เยื้อหุ้มหัวใจ ปอด ผิวหนังและเนื้อเยื่ออ่อน ทางเดินปัสสาวะ ปัญหาสำคัญของเชื้อนี้ คือ มักก่อให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด ซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ เชื้อตัวยังมีความสามารถในการดื้อยาสูงและเชื้อบางสายพันธุ์ของกลุ่มนี้สามารถดื้อยาหลายขนาน หรือที่รู้จักกันว่า Multi-Drug Resistance (MDR)

สำหรับการติดเชื้อที่กระจกตาจากการใช้คอนแทกเลนส์นั้น ดังที่กล่าวแล้วไม่ใช่แต่เพียงผู้ใช้บิ๊กอายเท่านั้น แต่หมายรวมถึงคอนแทกเลนส์ทั่วไปด้วย สิ่งที่ต้องระวังก็คือ บิ๊กอายที่นำเข้ามาโดยไม่ถูกกฎหมาย ไม่ได้รับการรับรองมาตรฐาน ยิ่งตัวเลนส์มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางใหญ่กว่าตาดำของชาวเอเชียแล้ว ยิ่งอาจก่อความระคายเคืองเกิดรอยถลอก ทำให้โอกาสที่เชื้อผ่านชั้น เยื่อบุผิวตาดำ ไปสู่กระจกตามีมากยิ่งขึ้น เชื้อนี้ยังสามารถสร้างเอนไซม์หลายชนิด เช่น เอ็นไซม์ที่ใช้ย่อยโปรตีนซึ่งสามารถทำลายเยื่อบุผิวตาดำได้ นอกจากนี้ยังมีอาวุธประจำกายอื่นๆ ที่หลากหลายในการทำลายเนื้อเยื่อ ซึ่งอาจจัดแบ่งออกได้เป็นดังนี้

  1. การเข้าเกาะติดเนื้อเยื่อและทวีจำนวนเชื้อ
  2. การเข้าบุกรุกทำลายเซลล์
  3. สร้างเอนไซม์และท็อกซินที่เป็นพิษต่อเนื้อเยื่อ

เชื้อนี้ยังมีความสามารถในการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายให้ผลิตสารที่ทำลายกระจกตาได้ นอกจากนี้ยังกระตุ้นตัวรับ (receptor) เยื่อบุผิวตาดำให้จับตัวเชื้อแล้วกระตุ้นให้เซลล์สร้างสารที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบ ที่จะดึงดูดเซลล์เม็ดเลือดขาวเข้ามาที่กระจกตา เกิดการทำลาย เยื่อบุผิวตาดำ ก่อให้เกิดอันตรายจนอาจทำให้ตาบอดถาวรได้ ดังนั้น ก่อนเลือกใช้คอนแทกเลนส์ จึงควรตรวจสอบว่าผ่านการรับรองจากอย. หรือไม่ และควรดูแลทำความสะอาดเพื่อป้องกันการปนเปื้อนจุลินทรีย์อย่างสม่ำเสมอ

 

 

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. Veesenmeyer JL, Hauser AR, Lisboa T, Rello J. Pseudomonas aeruginosa virulence and therapy: evolving translational strategies. Crit Care Med.2009;           37(5):1777-1786.
  2. Willcox MDP. Pseudomonas aeruginosainfection and inflammation during contact lens wear: a review.Optom Vis Sci. 2007;


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


1 นาทีที่แล้ว
3 นาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้