เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


กระท่อม .. พืชที่ทุกคนอยากรู้


อาจารย์ ดร. ภก. สมนึก บุญสุภา ภาควิชาเภสัชวินิจฉัย คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล


ภาพประกอบจาก: https://farm7.staticflickr.com/6133/5982...ee05_o.jpg
อ่านแล้ว 126,261 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 02/10/2559
อ่านล่าสุด 9 ช.ม.ที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 


กระท่อมมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Mitragyna speciosa (Korth.) Havil. เป็นพืชที่อยู่ในวงศ์เข็มและกาแฟ (Rubiaceae) เป็นไม้ยืนต้น สูงประมาณ 4-16 เมตร เติบโตได้ดีในที่ชุ่มชื้น ความชื้นสูง ดินอุดมสมบูรณ์ และมีแสงแดดปานกลาง กระท่อมจัดเป็นพืชที่มีสารออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท เป็นพืชพื้นเมืองของประเทศไทยและมาเลเซีย สามารถพบได้ในเขตร้อนและกึ่งร้อนของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และทวีปแอฟริกา สมัยโบราณมีการใช้ใบกระท่อมเพื่อรักษาการติดเชื้อในลำไส้ บรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อ ลดไข้ บรรเทาอาการไอและท้องร่วง โดยใช้ใบสดหรือใบแห้งนำมาเคี้ยว สูบ หรือชงเป็นน้ำชา นอกจากนี้ยังมีการใช้กระท่อมในกลุ่มของผู้ใช้แรงงานเพื่อกดความรู้สึกเมื่อยล้า ทนต่อการทำงานกลางแจ้ง ทนร้อน ทนแดด และสามารถทำงานได้ยาวนานมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีการใช้เพื่อลดอาการขาดยาจากสิ่งเสพติดอื่น เช่น ฝิ่นและมอร์ฟีน เป็นต้น เนื่องจากมีผลข้างเคียงน้อยกว่ามอร์ฟีนเมื่อใช้ในระยะเวลาที่จำกัด การใช้แทนแอมเฟตามีน (ยาบ้า) เพื่อเพิ่มพละกำลัง ซึ่งในปัจจุบันพบว่ามีการใช้กระท่อมในหลายประเทศทั่วโลกเกินกว่าขอบเขตทางภูมิศาสตร์ที่พบพืชชนิดนี้ 
 
ภาพจาก : http://media.vocativ.com/photos/2014/12/Kratom-0033883159552.jpg 
ในประเทศไทย ใบกระท่อมมีการแพร่ระบาดในหมู่วัยรุ่นและนักเรียน โดยนำน้ำใบกระท่อมไปผสมกับยาแก้ไอ น้ำอัดลม ยาคลายกล้ามเนื้อ กาแฟ และเครื่องดื่มอื่นๆ เพื่อแต่งรส ซึ่งเป็นที่รู้จักในชื่อ 4 คูณ 100 เพื่อให้รู้สึกสนุกสนาน มึนเมา ขาดสติ และหากได้รับในปริมาณที่สูงมาก จะทำให้เกิดภาวะกดประสาทและกดการหายใจจากฤทธิ์ไม่พึงประสงค์ของยาและภาวะเสริมฤทธิ์ของยาหลายชนิดร่วมกัน ซึ่งจะเป็นสาเหตุทำให้เสียชีวิตได้ การใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานจะทำให้เกิดอาการติดได้ อาการถอนยาที่พบได้ เช่น จิตหวาดระแวง อารมณ์รุนแรง ปวดกล้ามเนื้อและกระดูก มีอาการกระตุกของแขน ขา ไม่อยากอาหาร ไม่มีสมาธิ และนอนไม่หลับ การใช้ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานจะทำให้มีสีผิวคล้ำขึ้น (hyperpigmentation) กระเพาะกาง (distended stomach) ผิวแห้ง และริมฝีปากคล้ำ เป็นต้น อย่างไรก็ตามยังต้องมีการศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม ว่าสารอะไรที่ทำให้เกิดพิษและขนาดของความเข้มข้นที่ทำให้เกิดพิษ 
การใช้กระท่อมในขนาดต่ำจะออกฤทธิ์กระตุ้น ลดอาการเมื่อยล้า สามารถทำงานได้นานขึ้น แต่ถ้าใช้ในขนาดที่สูงจะมีฤทธิ์กล่อมประสาทและเสพติด สารที่พบในกระท่อมมากที่สุดเป็นสารกลุ่ม alkaloids และสารกลุ่มอื่นๆ ที่พบรองลงมา เช่น flavonoids terpenoid และ saponins เป็นต้น ใบกระท่อมมีปริมาณ total alkaloids ประมาณ 0.5 – 1.5% โดยพบ mitragynine ซึ่งเป็นสารกลุ่ม indole alkaloids และเป็นสารหลักในการออกฤทธิ์บรรเทาอาการปวด โดยกระตุ้นผ่าน opioid receptors พบสาร mitragynine มากถึง 66% ของสารสกัดใบกระท่อมจากประเทศไทย แต่พบเพียง 12% จากสารสกัดใบกระท่อมจากประเทศมาเลเซีย นอกจากนี้ยังพบอนุพันธ์อื่นๆ เช่น speciogynine, paynantheine และ speciociliatine เป็นต้น แต่พบในปริมาณน้อยกว่า 1% ของสารแต่ละชนิด mitrgynine ยังออกฤทธิ์ต้านอักเสบโดยกดการหลั่งสาร prostaglandin E2 (PGE-2) ในวิถี cyclooxygenase 2 (COX-2) อีกด้วย นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า 7-hydroxymitragynine ซึ่งพบแค่ 2% จากใบกระท่อม มีฤทธิ์ยับยั้งการตอบสนองต่อความเจ็บปวด (antinoceptive) ในหนู mice ได้ดีกว่า morphine 13 เท่า และดีกว่า mitragynine 46 เท่า โดยออกฤทธิ์จำเพาะต่อ µ- และ κ-receptors นอกจากนี้กระท่อมยังมีผลต่อระบบประสาทและความจำ ผลต่อพฤติกรรม และสามารถทำให้เกิดอาการติดยาได้ อย่างไรก็ตามกลไกการออกฤทธิ์อื่นๆ ของสารจากกระท่อมยังต้องมีการศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม 
การปลูกและซื้อขายกระท่อมเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายในหลายประเทศ สำหรับประเทศไทย ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 7 จัดกระท่อมเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 เช่น กัญชา พืชกระท่อม โดยห้ามซื้อ ขาย นำเข้า ส่งออก หรือครอบครอง ซึ่งครอบคลุมถึงการห้ามปลูก ถ้าตรวจพบต้องตัดทิ้งและทำลาย โดยมีบทกำหนดโทษต้องระวางโทษจำคุกสูงสุด 15 ปี หรือปรับสูงสุดหนึ่งล้านห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ในประเทศมาเลเซียกระท่อมเป็นพืชที่ถูกกฎหมาย จนกระทั่งปี 2546 ได้จัดกระท่อมให้อยู่ในพระราชบัญญัติยาพิษ และแม้ว่าจะผิดกฎหมายแต่ยังมีการใช้อย่างแพร่หลายเพราะหาซื้อได้ง่าย ส่วนในประเทศออสเตรเลียและเมียนมาร์ กระท่อมถูกควบคุมภายใต้กฎหมายยาเสพติด กลุ่มประเทศสหภาพยุโรป เช่น เดนมาร์ก โปแลนด์ และสวีเดน ได้จัดให้กระท่อม และ/หรือ mitragynine และ 7-hydroxymitragynine เป็นยาควบคุม อย่างไรก็ตาม ในหลายประเทศมีการซื้อขายกระท่อมได้อย่างถูกกฎหมาย เช่น ในประเทศอินโดนีเซียมีการปลูกกระท่อมอย่างถูกกฎหมายและมีการส่งออกไปประเทศต่างๆ ในทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ ส่วนในประเทศสหรัฐอเมริกา อังกฤษ และเยอรมัน ไม่ได้มีกฎหมายควบคุมการใช้กระท่อม มีเพียงแค่การเฝ้าระวัง ในประเทศอังกฤษมีการขายกระท่อมในหลายรูปแบบ เช่น ใบสด ใบแห้ง ผง และสารสกัดเรซิน เป็นต้น โดยผู้บริโภคสามารถซื้อได้ตามร้านกาแฟต่างๆ หรือทางอินเทอร์เน็ตโดยไม่ต้องมีใบสั่งแพทย์ 
กระท่อมมีการใช้มายาวนานตั้งแต่อดีตในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อบรรเทาหรือรักษาโรคต่างๆ และงานวิจัยก็ได้สนับสนุนฤทธิ์ด้านต่างๆ ของกระท่อม เช่น บรรเทาอาการปวด บวม ซึ่งแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของกระท่อมในการนำมาพัฒนาเป็นยาได้ อย่างไรก็ตามกระท่อมยังมีฤทธิ์ที่ทำให้เกิดการเสพติดและมีอาการไม่พึงประสงค์จากอาการขาดยาได้ ซึ่งมีรายงานปัญหาและอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้กระท่อมจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก ดังนั้นควรมีการวิจัยเกี่ยวกับกลไกการออกฤทธิ์ต่างๆ ผลข้างเคียงจากการใช้และความเป็นพิษ เพื่อนำมาพัฒนาใช้ในทางการแพทย์ ตลอดจนการออกกฎหมายควบคุมเพื่อให้มีการใช้ประโยชน์จากกระท่อมได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม ปลอดภัย และเกิดประโยชน์สูงสุด 
 

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. Dargan PWood D. Novel psychoactive substances. Amsterdam: Elsevier/Academic Press; 2013.
  2. Vicknasingam B, Narayanan S, Beng G, Mansor S. The informal use of ketum (Mitragyna speciosa) for opioid withdrawal in the northern states of peninsular Malaysia and implications for drug substitution therapy. International Journal of Drug Policy. 2010;21(4):283-288.
  3. Hassan Z, Muzaimi M, Navaratnam V, Yusoff N, Suhaimi F, Vadivelu R et al. From Kratom to mitragynine and its derivatives: Physiological and behavioural effects related to use, abuse, and addiction. Neuroscience & Biobehavioral Reviews. 2013;37(2):138-151.
  4. Digital Signature [Internet]. App-thca.krisdika.go.th. 2016 [cited 20 September 2016]. Available from: http://app-thca.krisdika.go.th/Naturesig/CheckSig?whichLaw=law2&folderName=%C207&lawPath=%C207-20-2543-A0002
  5. EMCDDA | Kratom profile (chemistry, effects, other names, origin, mode of use, other names, medical use, control status) [Internet]. Emcdda.europa.eu. 2016 [cited 20 September 2016]. Available from: http://www.emcdda.europa.eu/publications/drug-profiles/kratom
  6. Mitragyna speciosa (Korth.) Havil. — The Plant List [Internet]. Theplantlist.org. 2016 [cited 20 September 2016]. Available from: http://www.theplantlist.org/tpl/record/kew-128805


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


สมุนไพรแก้ไอ 1 นาทีที่แล้ว
1 นาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้