เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


ผลของชาต่อแม่และเด็ก


อาจารย์ ดร.นิศารัตน์ ศิริวัฒนเมธานนท์ ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล


ภาพประกอบจาก: http://americanpregnancy.org/app/uploads...al-tea.jpg
อ่านแล้ว 53,392 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 09/09/2559
อ่านล่าสุด 2 ช.ม.ที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 


การดื่มชานั้นเป็นที่นิยมของผู้หญิงในหลายๆ ประเทศ เช่น ญี่ปุ่น อังกฤษ และในกลุ่มคนที่รักสุขภาพ เนื่องจากชามีสารต่างๆ ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ทั้งมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ช่วยชะลอวัย ป้องกันอาการเจ็บป่วย ป้องกันโรคหัวใจหลอดเลือด และยังมีรายงานว่าสารในชาสามารถฆ่าเชื้อ หรือต้านจุลชีพบางชนิดที่ก่อโรคได้ ชาที่กล่าวถึงในที่นี้มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Camellia sinensis (L.) Kuntze ซึ่งใบชาที่เก็บเกี่ยวมานั้น สามารถนำมาผลิตเป็น ชาขาว ชาเขียว ชาดำ และชาอื่นๆ อีกมากมายที่มีขายตามท้องตลาด สารออกฤทธิ์ที่เด่นๆ ที่พบมากในชามีมากมาย แต่ในบทความนี้จะพูดถึงเฉพาะสารฝาด หรือ แทนนิน เป็นหลัก 
 
สารแทนนินเป็นสารในกลุ่มโพลีฟีนอล พบได้มากในพืชผักผลไม้ที่มีรสฝาด ซึ่งในใบชาแห้งจะพบสารแทนนิน ถึงร้อยละ 20-30 ของน้ำหนัก คุณค่าทางอาหารของสารแทนนินนั้นต่ำมาก สารประกอบแทนนินบางชนิดอาจก่อให้เกิดมะเร็งที่บางอวัยวะ เช่น มะเร็งปาก (จากการเคี้ยวหมากซึ่งมีสารแทนนินสูงถึง 11-26 % มีรายงานว่า tannin-containing fraction ของหมากนั้น มีความเกี่ยวข้องกับการเกิดมะเร็ง) และมะเร็งที่อวัยวะอื่น เช่น มะเร็งทางเดินอาหารและตับ 
แต่มีงานวิจัยหลายชิ้นรายงานว่า สารประกอบแทนนินบางชนิด มีฤทธิ์ยับยั้งการก่อกลายพันธุ์ มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ และช่วยป้องกันมะเร็งได้ ซึ่งจะเห็นได้ว่าสารแทนนินนั้นมีทั้งประโยชน์ และอาจมีโทษ (ถ้าดื่มมากจนเกินไป) ในทางยาสารแทนนินมีฤทธิ์ฝาดสมาน ช่วยบรรเทาอาการท้องเสียได้ แต่ข้อเสียคือสารนี้จะสามารถยับยั้งการดูดซึมวิตามินและแร่ธาตุบางชนิด เช่น วิตามินบี 12 และธาตุเหล็ก และลดการดูดซึมสารอาหารบางชนิด เช่น โปรตีนและกรดอะมิโนจำเป็น จากอาหารที่เรารับประทานเข้าไปได้ 
สำหรับหญิงมีครรภ์ การดื่มชาในปริมาณมาก (เช่น ในกรณีที่รับประทานในปริมาณมากกว่า 6-8 แก้วต่อวัน) ก็จะได้รับทั้งคาเฟอีนและแทนนินในปริมาณสูง ซึ่งสารทั้งสองนี้จะทำให้มีอาการท้องผูก อึดอัด แน่นท้อง อาหารไม่ย่อยได้ และสำหรับหญิงให้นมบุตร หากดื่มชาในปริมาณมากระดับนี้ สารคาเฟอีนและแทนนินจะสามารถผ่านน้ำนมไปสู่ลูกได้ ซึ่งจะทำให้เด็กที่ดื่มนมแม่ (ไม่ว่าจะดื่มจากเต้า หรือ ปั๊มออกมาให้ดื่ม) มีอาการท้องผูก อึดอัด แน่นท้อง ท้องอืด เด็กอาจร้องงอแง กระสับกระส่าย นอนหลับไม่สนิทได้ 
ผลเสียที่สำคัญของสารแทนนินอีกอย่างคือ สารแทนนินจะยับยั้งการดูดซึมธาตุเหล็กจากอาหารที่เรารับประทานเข้าไป ซึ่งโดยปกติเด็กที่ดื่มนมแม่อย่างเดียวหลังอายุ 6 เดือนหรือเด็กที่ดื่มนมวัวปริมาณมาก (มากกว่า 2 ลิตรต่อวัน) โดยไม่ได้รับอาหารเสริมอย่างอื่นเพิ่ม อาจเสี่ยงต่อการขาดธาตุเหล็กได้ง่ายอยู่แล้ว และเมื่อแม่ที่อยู่ในช่วงให้นมบุตรดื่มชาในปริมาณมาก ก็อาจทำให้เด็กที่ดื่มนมแม่นั้น ขาดธาตุเหล็กมากขึ้นไปอีก ซึ่งการขาดธาตุเหล็กในเด็กนั้น ถ้าในวัย แรกเกิด ทารก และเด็กเล็ก หรือในช่วงขวบปีแรก จะส่งผลต่อพัฒนาการและความสามารถในการเรียนรู้อย่างมาก ถ้ามีการขาดธาตุเหล็กไปแล้ว การเสริมธาตุเหล็กสามารถแก้ไขเพียงอาการเลือดจาง แต่พัฒนาการ และการเรียนรู้ก็จะยังช้ากว่าเด็กที่ไม่เคยมีปัญหามาก่อน 
หากแม่ให้นมบุตรต้องการดื่มชาจริงๆ ก็สามารถหลีกเลี่ยงสารแทนนินได้ โดยเวลาชงชากับน้ำร้อน ไม่ควรแช่ใบชาค้างไว้ในแก้วนานเกินไป เพราะสารแทนนินจะละลายออกมามาก โดยจะสังเกตได้จากชาที่ชงนั้น จะมีรสฝาดขม มีสีข้นดำหรือสีน้ำตาลเข้มจัด และไม่ควรนำถุงชาที่ชงแล้ว หรือกากชามาชงซ้ำอีก แต่ถ้าหากแม่ให้นมบุตรนั้นต้องการดื่มชาเพื่อวัตถุประสงค์ในการบรรเทาอาการท้องเสีย ก็ควรชงชานานๆ เพื่อให้มีปริมาณแทนนินออกมามาก แต่ก็ควรหยุดให้นมบุตรในมื้อที่ดื่มชานั้น และหลังจากดื่มชาไปแล้วอย่างน้อย 2 ชั่วโมงด้วย 
 

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. Anon. Recommendations to Prevent and Control Iron Deficiency in the United States. Available at: https://www.cdc.gov/mmwr/preview/mmwrhtml/00051880.htm Accessed August 15, 2016.
  2. Chung K-T, Wong TY, Wei C-I, Huang Y-W, Lin Y. Tannins and Human Health: A Review. Critical Reviews in Food Science and Nutrition. 1998; 38(6):421–464.
  3. Ranadive KJ, Ranadive SN, Shivapurkar NM, Gothoskar SV, Betel quid chewing and oral cancer: experimental studies on hamster. Int. J. Cancer, 1979; 24: 835.


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


ผลของชาต่อแม่และเด็ก 1 วินาทีที่แล้ว
ยาคุมกำเนิดชนิดฉีด 22 วินาทีที่แล้ว
1 นาทีที่แล้ว
1 นาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2025
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้