เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


คุณและโทษของผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผสมสารต้านเชื้อแบคทีเรีย


รองศาสตราจารย์ ดร.ภญ. พิมลพรรณ พิทยานุกุล ภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล


ภาพประกอบจาก: http://jusfabia.en.ecplaza.net/main.jpg
อ่านแล้ว 33,688 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 07/09/2559
อ่านล่าสุด 2 ช.ม.ที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 


จะเกิดอะไรขึ้นถ้าใช้สารต้านเชื้อแบคทีเรียบ่อยเกินความจำเป็น ? 
สังคมปัจจุบัน ผู้คนจะตื่นตัวรักสุขภาพ และอาจจะมากเกินไปในบางราย ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด เช่น สบู่อาบน้ำล้างหน้า รวมถึงผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่ใช้ในครัวเรือนทั่วไป ผู้ผลิตได้ผสมสารต้านเชื้อแบคทีเรียลงในผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้า ผู้บริโภคมากมายที่ต้องการความมั่นใจเกี่ยวกับความสะอาดหมดจรด จะนิยมซื้อหามาใช้ประจำตัวและประจำบ้าน เพื่อต้องการกำจัดการปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรียที่อาจมีอยู่รอบกายให้สิ้นซาก เพราะเชื่อว่าจะทำให้ตนเองและครอบครัวมีสุขภาพแข็งแรงปราศจากโรคติดเชื้อทั้งหลาย นักวิชาการทางการแพทย์ได้มีการถกเถียงถึงความเสี่ยงและอันตรายสำหรับผู้ที่ใช้ผลิตภัณฑ์ผสมสารต้านเชื้อแบคทีเรียที่บ่อยและมากเกินความจำเป็น เพราะจะทำให้ร่างกายนอกจากจะไม่มีภูมิต้านทานต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว อาจมีผลทำให้เชื้อแบคทีเรียมีพัฒนาการที่แข็งแรง กลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ใหม่ที่เรียกกันว่า ‘Superbugs’ เฉกเช่น ‘ซุปเปอร์แมน’ อันอาจทำให้ยาปฏิชีวนะที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันรักษาไม่ได้ผล 
 
เชื้อแบคทีเรีย มีทั้งชนิดให้คุณและโทษ รู้หรือไม่ ? 
เชื้อจุลินทรีย์โดยเฉพาะอย่างยิ่งแบคทีเรีย มีทั้งชนิดที่มีคุณและมีโทษต่อร่างกาย อย่างเช่นภายในลำไส้ จะมีแบคทีเรียอาศัยอยู่ประจำ และจะคอยช่วยร่างกายกินเชื้อแบคทีเรียชนิดที่แปลกปลอมเข้าร่างกายไม่ให้ลุกลามจนกลายเป็นโรค สำหรับผู้ที่กินยาปฏิชีวนะบ่อยๆ ยาจะไปทำลายเชื้อแบคทีเรียทุกชนิดให้หมดไป ร่างกายจะเกิดการดื้อยา และต้องใช้ยาชนิดที่แรงขึ้นทุกครั้งมิฉะนั้นจะไม่สามารถรักษาโรคได้ อีกกรณีที่เห็นการพัฒนาการของเชื้อแบคทีเรียเป็น ‘Superbacteria’ คือในโรงพยาบาล จะพบว่าเชื้อที่พบในโรงพยาบาลจะดุร้ายและแข็งแรงมาก เพราะโรงพยาบาลจำเป็นต้องใช้ผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรียเป็นประจำ นักวิชาการทั่วโลกกำลังเป็นห่วงว่าเหตุการณ์เช่นนี้จะขยายวงกว้างมาถึงสังคมในบ้านหากผู้คนในสังคมยังใช้สินค้าทำความสะอาดผสมสารต้านเชื้อแบคทีเรียในชีวิตประจำวันอย่างสม่ำเสมอ สารต้านเชื้อแบคทีเรียจะถูกผสมผสานลงในผลิตภัณฑ์เกือบทุกชนิด แม้กระทั่งน้ำยาซักผ้า ล้างจาน ขัดพื้น ล้างรถ รวมถึงของเล่นเด็ก ผู้บริโภคหลายคนอาจเกิดความมั่นใจถึงสิ่งแวดล้อมรอบตัวที่ปลอดภัยจากเชื้อแบคทีเรีย นักวิชาการกำลังเป็นห่วงว่าวันหนึ่งข้างหน้าจะทำให้ผู้บริโภคตกอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีแบคทีเรียดื้อและทนต่อสารต้านเชื้อแบคทีเรียตัวเดิมๆที่ใช้กันเป็นประจำ และอาจดื้อต่อยาปฏิชีวนะด้วยซ้ำไป 
เชื้อแบคทีเรีย เป็นเซลขนาดเล็กมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า สามารถพบได้บนพื้นผิวทั่วไปในทุกส่วนของร่ายกาย ทั้งผิวสัมผัสภายในและผิวภายนอกร่างกาย เช่น เยื่อบุลำไส้ และผิวหนัง แบคทีเรียบางชนิดก่อให้เกิดโรคร้ายแรง แต่บางชนิดจะให้คุณต่อร่างกาย ในความเป็นจริงเชื้อแบคทีเรียชนิดที่อาศัยอยู่ในร่างกายคนเราจะช่วยทำหน้าที่ปกป้องร่างกายจากโรคร้ายโดยการช่วยกินเชื้อโรคที่แปลกปลอมเข้าร่ายกาย ด้วยวิธีการธรรมชาตินี้ทำให้เชื้อที่แปลกปลอมเข้าร่ายกายไม่สามารถขยายจำนวนได้ ช่วยป้องกันการเกิดโรคได้ แต่ถ้าคนเราต้องใช้สารต้านเชื้อแบคทีเรียหรือยาปฏิชีวนะเป็นประจำ ยาเหล่านี้ไม่อาจจำแนกเชื้อแบคทีเรียชนิดเป็นคุณหรือชนิดเป็นโรคได้ จะทำลายไปหมด ในที่สุดเชื้อแบคทีเรียที่แข็งแรงจากการพัฒนาสายพันธุ์ จะอยู่รอดในร่างกายเราไม่ว่าจะเป็นภายในหรือภายนอกร่างกาย 
หากใช้สารต้านเชื้อแบคทีเรียเป็นประจำ เราจะได้ "ซุปเปอร์แบคทีเรีย" ? 
สารต้านเชื้อแบคทีเรียที่นิยมใช้ผสมอยู่ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางและสินค้าอุปโภคทั้งหลายในครัวเรือนคือ ไตรโครแซน (Triclosan) จะพบทั้งในผลิตภัณฑ์ล้างหน้า สบู่เหลวอาบน้ำ โลชั่นทาผิว และอื่นๆ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยแพทย์ศาสตร์ ในกรุงบอสตัน สหรัฐอเมริกา กล่าวว่า ผู้บริโภคมักจะคิดว่าการใช้ผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อเหล่านี้เป็นประจำ จะช่วยสร้างสิ่งแวดล้อมรอบตัวให้อยู่ในสภาวะปราศจากเชื้อ และจะปลอดภัยจากโรคร้ายมากที่สุด ความจริงแล้วหารู้ไม่ว่าผู้บริโภคเหล่านี้กำลังทำการเปลี่ยนแปลงให้เชื้อแบคทีเรียในสิ่งแวดล้อมมีพัฒนาการเป็น ‘superbacteria’ หากยังมีการใช้สารต้านเชื้อแบคทีเรียมากเกินไปในชีวิตประจำวัน 
วิธีการที่ดีที่สุดในการป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรีย 
ข้อเท็จจริงในการป้องกันตนเองจากโรคติดเชื้อคือ การล้างมือด้วยสบู่ก้อนหรือสบู่เหลวชนิดธรรมดา และเมื่อต้องการจับต้องอาหารทุกชนิด ให้ล้างผลไม้และผักสดด้วยน้ำสะอาด ควรหลีกเลี่ยงไข่ดิบ และเนื้อสัตว์ที่ไม่สุก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเนื้อสัตว์บด เช่น หมูสับ เพราะมักจะปนเปื้อนได้ง่ายและล้างทำความสะอาดไม่ได้ เชื้อแบคทีเรียเจริญเติบโตในสภาวะอุณหภูมิห้องที่อุ่นๆ จึงควรเก็บอาหารในตู้เย็น การใช้สบู่ทั่วไปและน้ำยาล้างจานที่ปราศจากสารต้านเชื้อ "Triclosan" ก็สามารถลดจำนวนเชื้อแบคทีเรียออกไปได้ เช่นเดียวกับการล้างมือล้างหน้าด้วยสบู่หรือผลิตภณฑ์ล้างหน้าทั่วไปที่ไม่จำเป็นต้องผสมสารต้านเชื้อแบคทีเรีย ในทางตรงกันข้ามหากเราใช้ผลิตภัณฑ์ผสมสารต้านเชื้อแบคทีเรีย อาจจะทิ้งสารตกค้างของสารต้านเชื้อดังกล่าวบนผิวหนังหรือภาชนะ ทำให้มีพัฒนาการของสายพันธ์แบคทีเรียที่แข็งแรง และก่อให้เกิดโรคประหลาดกันในสังคมที่รักษายาก 
ผลิตภัณฑ์ต้านเชื้อแบคทีเรียเหมาะกับผู้บริโภคกลุ่มไหน ? 
คนป่วยที่มีร่างกายอ่อนแอ มีภูมิคุ้มกันต่ำ คนชรา ผู้ที่เป็นโรคติดเชื้อ และอยู่ระหว่างการรักษา สมควรที่จะอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัยจากเชื้อจุลินทรีย์ จึงเหมาะสมที่จะดูแลด้วยผลิตภัณฑ์ผสมสารต้านเชื้อแบคทีเรีย ส่วนคนทั่วไปที่ไม่มีปัญหาสุขภาพ ควรดูแลรักษาความสะอาดทั่วไป การชำระล้างด้วยน้ำสะอาดและผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดธรรมดาอย่างสม่ำเสมอไม่ว่าจะเป็นร่างกายหรือครัวเรือนก็เพียงพอแล้ว เราจะไม่เป็นคนหนึ่งที่ช่วยพัฒนาเชื้อแบคทีเรียสายพันธุใหม่ที่แข็งแรงดุร้ายให้สังคมรุ่นลูกหลานต้องปวดหัว 
 

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. http://www.anapsid.org/superbugs.html
  2. http://www.fda.gov/ForConsumers/ConsumerUpdates/ucm378393.htm
  3. http://www.webmd.com/a-to-z-guides/features/antibacterial-soap-do-you-need-it
  4. https://www.sharecare.com/health/superbugs/article/antibiotic-resistant-superbug-in-your-home


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


สัตว์เลี้ยงกับยา 30 วินาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้