เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


สัตว์เลี้ยงกับยา


อาจารย์ ดร.สพ.ญ. นรรฆวี แสงกลับ ภาควิชาสรีรวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพประกอบจาก: https://blog.dashburst.com/pic/cats-and-...e-in-love/
อ่านแล้ว 334,063 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 01/06/2559
อ่านล่าสุด 1 วันที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 

คำถาม: ยาคนกับยาสัตว์ต่างกันอย่างไร ?
คำตอบ: ยาคนกับยาสัตว์นั้นมีความแตกต่างกันอยู่บ้าง รศ.สพ.ญ.ดร.วรา พานิชเกรียงไกร ได้ให้คำนิยามง่ายๆ ไว้ว่า ยาคน หมายถึง ยาที่ได้รับอนุญาตให้ขึ้นทะเบียนเพื่อใช้ในคน และ ยาสัตว์ หมายถึง ยาที่ได้รับอนุญาตให้ขึ้นทะเบียนเพื่อใช้ในสัตว์ ภาพจาก : https://blog.dashburst.com/pic/cats-and-dogs-that-are-in-love/
  1. ในแง่ของการผลิตและการขอขึ้นทะเบียนนั้นเป็นเช่นเดียวกับยาที่ใช้ในคนและมีมาตรฐานการผลิตที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน
  2. แต่ความแตกต่างที่สำคัญ คือ จำนวนตัวอย่างที่ใช้ศึกษาผลทางคลินิคนั้นมีจำนวนตัวอย่างน้อยกว่ายาที่ใช้ในคน
  3. การศึกษาผลของยาและพิษวิทยาของยาที่ใช้ในคนนั้น แม้ว่ายาจะได้มีการทดลองในห้องทดลองโดยใช้สัตว์ทดลองมาก่อนก่อนที่จะนำมาทดลองทางคลินิกกับคนไข้เพื่อประกอบการขอขึ้นทะเบียนยา แต่บริษัทผู้ผลิตยาไม่มีสิทธิที่จะโฆษณาหรือประกาศว่า ยาชนิดนั้นใช้ในสัตว์ได้ จนกว่าจะมีการขอขึ้นทะเบียนเพื่อใช้เฉพาะในสัตว์ โดยต้องระบุชนิดของสัตว์ รวมทั้งขนาด และสรรพคุณอื่นๆ
  4. อย่างไรก็ตามสัตวแพทย์อาจสั่งใช้ยาของคนเพื่อมารักษาสัตว์ที่ตนดูแลได้ตามความจำเป็นและเห็นสมควร โดยทั่วไปสัตวแพทย์จะเลือกใช้ยาที่ขึ้นทะเบียนยาสัตว์ก่อน หากไม่ได้ผลหรือไม่อาจหายาสัตว์รักษาได้จึงจะคิดถึงการนำยาที่ใช้ในคนมาใช้ทดแทน ขนาดของยาที่จะนำมาใช้ทดแทนนั้นต้องเป็นไปตามที่นักวิจัยทางสัตวศาสตร์ได้ทดลองและตีพิมพ์ผลการศึกษานั้นในวารสารวิชาการทางสัตวศาสตร์ที่สามารถอ้างอิงได้ โดยจะมีการรวบรวมขนาดยาและสรรพคุณของยาสัตว์และยาคนที่ใช้ในสัตว์ไว้ในหนังสือคู่มือยาสัตว์เพื่อเป็นแนวทางสำหรับผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์ใช้ในทางคลินิกต่อไป
  5. จำนวนชนิดของยาที่ได้รับอนุญาตให้ขึ้นทะเบียนเพื่อใช้ในสัตว์นั้นมีจำนวนน้อยกว่ายาที่ใช้ในคน เนื่องจากตลาดเล็กกว่ามาก ดังนั้นจำนวนการผลิตจึงน้อยทำให้ต้นทุนมีราคาแพงกว่ายาที่ใช้ในคน การนำยาคนมาใช้ในสัตว์จึงเป็นการแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของเจ้าของสัตว์เลี้ยงได้ในระดับหนึ่ง
  6. แต่อย่างไรก็ตาม เราก็ไม่สามารถที่จะนำยาคนทุกตัวมาใช้กับสัตว์ได้ เพราะถึงแม้ว่ายาทุกตัวจะมีฤทธิ์ต่อคนและสัตว์คล้ายกัน แต่การตอบสนองของร่างกายคนและสัตว์อาจแตกต่างกัน ยาบางชนิดมีพิษต่อคนต่ำแต่มีพิษต่อสัตว์สูง เจ้าของจึงไม่ควรนำยาคนมาใช้ในสัตว์ โดยไม่ได้รับความเห็นจากสัตวแพทย์ก่อน
ถาม: เมื่อสุนัขและแมวป่วยจะให้ยาแก้ปวดลดไข้ ยาแก้แพ้ และยาลดน้ำมูกของคนได้หรือไม่ ?
ตอบ: ยาสามัญประจำบ้านหรือยาที่ใช้กันเป็นประจำเพื่อลดไข้บรรเทาปวดในคน เช่น ยาแอสไพริน หรือยาพาราเซตามอล รวมไปถึง ยาแก้แพ้และยาแก้คัดจมูกนั้น ไม่ได้ปลอดภัยหรือมีความเป็นพิษตํ่าในสุนัขและแมวเช่นเดียวกับคน แต่อาจทำให้เกิดความเป็นพิษหรือเป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ ดังนั้นไม่ควรป้อนยาให้สุนัขและแมวของท่านเองโดยไม่ได้ปรึกษาสัตวแพทย์ก่อน
  1. แอสไพริน
    แมว จะไวต่อพิษมากกว่าสุนัข เนื่องจากร่างกายของแมวจะเปลี่ยนแปลง และขับยาแอสไพรินออกไปได้อย่างช้าๆ สำหรับขนาดที่อันตรายสำหรับแมวอยู่ที่ 26 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัวแมว 1 กิโลกรัม (ยาแอสไพริน 1 เม็ด ขนาดเท่ากับ 500 มิลลิกรัม) อาการแสดงความเป็นพิษ ได้แก่ ซึม อาเจียนจนถึงอาเจียนเป็นเลือด หายใจถี่ อุณหภูมิร่างกายสูง กล้ามเนื้ออ่อนแรง ปอดบวม สมองบวม โคม่า และเสียชีวิตได้
    สุนัข จะมีปัญหาเกี่ยวกับเอนไซม์ในการเปลี่ยนแปลงยาน้อยกว่าแมว แต่ปัญหาที่มักพบจากการได้รับยาแอสไพรินในสุนัข คือ การระคายเคืองทางเดินอาหาร มีเลือดออก และเกิดแผลหลุมในกระเพาะอาหาร ขนาดที่อันตรายคือ 55 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัวสุนัข 1 กิโลกรัมเป็นต้นไป การดูแลขั้นต้นอาจทำให้อาเจียน ป้อนผงถ่าน (activated carbon) แล้วรีบส่งโรงพยาบาลสัตวทันที
  2. พาราเซตามอล
    แมว จะไวต่อความเป็นพิษของยาพาราเซตามอลได้มากกว่าสุนัข โดยขนาดยาเพียง 45-55 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ก็สามารถทำให้เกิดความเป็นพิษได้ จึงไม่แนะนำให้ใช้ยาตัวนี้ในแมว (พาราเซตามอล 1 เม็ด ขนาดเท่ากับ 500 มิลลิกรัม) เนื่องจากในแมวนั้นขาดเอนไซม์ที่ใช้เปลี่ยนแปลงยาทำให้ยาเกิดความเป็นพิษขึ้น โดยจะมีความเป็นพิษร้ายแรงต่อไต ตับ ระบบทางเดินอาหาร และระบบเลือด โดยเม็ดเลือดแดงของแมวนั้นไวต่อการถูกทำลาย ทำให้ไม่สามารถขนส่งออกซิเจน ส่งผลให้แมวเสียชีวิตได้ อาการที่แสดงความเป็นพิษจะเกิดขึ้นภายใน 4-12 ชั่วโมงหลังจากได้รับยา โดยอาการที่อาจพบได้ในระยะเริ่มแรก คือ น้ำลายฟูมปาก อาเจียน ซึม หายใจลำบาก เหงือกมีสีคล้ำ อุ้งมือบวม อุ้งเท้าบวม หน้าบวม และเบื่ออาหาร อาการทั้งหลายเหล่านี้จะแสดงหลังได้รับยาเพียง 1-2 ชั่วโมง หลังจากนั้นตับอาจเสียหาย เริ่มสังเกตเห็นอาการดีซ่าน ชัก โคม่า และเสียชีวิตได้ภายใน 18-36 ชั่วโมง
    สุนัข ขนาดของยาที่ทำให้เกิดความเป็นพิษจะสูงกว่าในแมว คือ 165-250 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมเป็นต้นไป ความเป็นพิษมักเกิดขึ้นกับตับ และไต ทำให้เกิดภาวะตับ และไตวายได้ อาการที่แสดงความพิษที่พบได้ คือ ซึม อาเจียน น้ำปัสสาวะสีน้ำตาลแดงคล้ำ และเสียชีวิตภายใน 2-5 วัน ดังนั้นเจ้าของสัตว์เลี้ยงจึงไม่ควรให้ยาพาราเซตามอลกับสุนัขและแมวด้วยตนเอง หากจำเป็นควรอยู่ในความดูแลของสัตวแพทย์ การรักษาแมวที่ได้รับพิษมักไม่ได้ผล สำหรับสุนัขได้ผลดีกว่า ทั้งนี้ขึ้นกับขนาดยาที่ได้รับ อาจทำให้อาเจียน ป้อนผงถ่าน (activated carbon) แล้วรีบพาไปโรงพยาบาลสัตว์ทันที
  3. ยาแก้แพ้ เช่น ตัวที่เรารู้จักกันดีที่มีชื่อว่า CPM หรือคลอเฟนิรามีน ถึงแม้ยาตัวนี้จะมีการนำมาใช้รักษาในทางสัตวแพทย์ แต่หากได้รับเข้าไปเกินขนาดก็จะทำให้เกิดความเป็นพิษร้ายแรงต่อระบบประสาทส่วนกลาง อาจพบอาการตื่นเต้นไปจนถึงมีอาการชัก หรือ ซึมไปจนถึงโคม่า กดการหายใจ หายใจลำบาก และเสียชีวิตได้ การดูแลขั้นต้นอาจทำให้อาเจียน ป้อนผงถ่าน (activated carbon) แล้วรีบพาไปโรงพยาบาลสัตว์ทันที

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. Donald C. Plumb. Plumb's Veterinary Drug Handbook, 7th edition, Ames, 2011, Blackwell
  2. รศ.สพ.ญ.ดร.วรา พานิชเกรียงไกร รศ.สพ.ญ.ดร.ศิรินทร หยิบโชคอนันต์และ รศ.สพ.ญ.ดร.ปิยะรัตน์ จันทร์ศิริพรชัย การใช้ยา A to Z สำหรับสัตวแพทย์ พิมพ์ครั้งที่ 5 2554 ทวีโชติการพิมพ์ 503 หน้า
  3. Lenny Southam และ Kate A.W. Roby. ยาหมา ยาแมว : The Pill Book Guide to Medication for your Dog and Cat เภสัชกร พิสิฐ วงศ์วัฒนะ (แปล) 2548 สำนักพิมพ์ หมอชาวบ้าน 800 หน้า
เปิดอ่านด้วย Google Doc Viewer ดาวน์โหลดบทความ (pdf) ดูบทความอื่นๆ

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


สัตว์เลี้ยงกับยา 1 วินาทีที่แล้ว
ตกขาว .. รักษาอย่างไร 6 วินาทีที่แล้ว
อโรมาเธอราพี (Aromatherapy) 19 วินาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้