เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


กวาวเครือขาว


ธิดารัตน์ จันทร์ดอน สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพประกอบจาก: http://www.samunpri.com/กวาว
อ่านแล้ว 98,831 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 15/05/2559
อ่านล่าสุด 1 วันที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 

กวาวเครือขาว เป็นสมุนไพรที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน มี 2 พันธุ์ ได้แก่ Pueraria candollei Graham ex Benth. var. mirifica (Airy Shew Savat.) พบมากในจังหวัดสระบุรี โดยฝักจะมีขนยาวกว่าอีกพันธุ์คือ Pueraria candollei Graham ex Benth. var. candollei พบมากในจังหวัดกาญจนบุรีและลำปาง (1) ลักษณะทางพฤกษศาสตร์โดยทั่วไปคล้ายคลึงกันคือ เป็นไม้เถา เนื้อแข็ง เลื้อยพันตามไม้ใหญ่ ใบประกอบมี 3 ใบ ดอกคล้ายดอกแคขนาดเล็กออกเป็นช่อตามปลายกิ่ง สีน้ำเงินอมม่วง ฝักเล็กแบนบาง มีหัวใต้ดินคล้ายมันแกวขนาดใหญ่ เนื้อในสีขาว หัวใต้ดินถูกนำมาใช้ประโยชน์ โดยมีสรรพคุณแผนโบราณ ใช้เป็นตัวยาหนึ่งในตำรับยาบำรุงร่างกาย บำรุงเนื้อหนังให้เต่งตึง บำรุงอวัยวะสืบพันธุ์และมดลูก (2) วิธีการใช้ตามตำรายาของหลวงอนุสารสุนทร ใช้กวาวเครือขาวผสมกับน้ำผึ้ง ตรีผลา หรือนมสด ปั้นเป็นยาเม็ดขนาดเท่าเม็ดพริกไทย แต่มีข้อห้ามไม่ให้คนหนุ่มสาวรับประทานและหากรับประทานในปริมาณสูงหรือใช้ติดต่อกันเป็นเวลานานอาจเป็นอันตรายได้

กวาวเครือขาวจัดเป็นสมุนไพรควบคุม (รวมทั้งกวาวเครือแดงและกวาวเครือดำ) มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ ได้รับความสนใจเนื่องจากมีสารที่มีโครงสร้างทางเคมีและออกฤทธิ์คล้ายฮอร์โมนเพศหญิง (estrogenic Activity) เรียกว่า phytoestrogen ได้แก่ deoxymiroestrol และ miroestrol (3-4) มีการวิจัยถึงฤทธิ์ของกวาวเครือขาวต่อสุขภาพของสตรี ซึ่งเน้นประโยชน์เพื่อช่วยลดอาการของสตรีวัยหมดประจำเดือน โดยมีการศึกษาฤทธิ์ของกวาวเครือขาวต่อการลดอาการร้อนวูบวาบ (5) ลดภาวะกระดูกพรุน (6-7) มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและช่วยในเรื่องของความจำและการเรียนรู้ (8) และมีผลช่วยลดอาการช่องคลอดแห้งในสตรีวัยหมดประจำเดือนได้ (9) แต่งานวิจัยส่วนใหญ่เป็นการศึกษาในหลอดทดลองและในสัตว์ทดลองเท่านั้น ซึ่งงานวิจัยทางคลินิกยังมีน้อยมาก อีกทั้งยังต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมถึงขนาดที่ใช้ อาการข้างเคียง และความเป็นพิษ เพื่อความปลอดภัยต่อผู้ใช้เอง และจากโครงสร้างของสารสำคัญในกวาวเครือขาวที่คล้ายกับฮอร์โมนเอสโตรเจน ดังนั้นอาจไปรบกวนระบบฮอร์โมนในร่างกาย ส่งผลเสียต่อสุขภาพได้ สำหรับการใช้กวาวเครือขาวในรูปแบบครีมทาภายนอกเพื่อขยายหน้าอก ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนว่าช่วยเพิ่มขนาดได้ นอกจากนี้ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของกวาวเครือขาวยังขึ้นอยู่กับองค์ประกอบหลายๆ อย่างในกระบวนการผลิต เช่น ส่วนผสม สารสำคัญในการนำพาสารเข้าสู่เซลล์ และความคงตัวของสาร เป็นต้น จึงจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป ถึงแม้ว่าในปัจจุบันจะมีผลิตภัณฑ์ออกมาจำหน่ายในรูปแบบต่างๆ แต่ตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุขระบุว่า ให้ใช้กวาวเครือขาวเป็นตัวยาหนึ่งในตำรับยาสมุนไพรเพื่อใช้บำรุงร่างกายและไม่ควรรับประทานเกินวันละ 100 มก./วัน ผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งมดลูกและมะเร็งเต้านมหรือเนื้องอกที่ไวต่อฮอร์โมนเอสโตรเจนไม่ควรใช้กวาวเครือขาว สำหรับสรรพคุณในการบรรเทาอาการวัยหมดประจำเดือนและเพื่อความงามในการขยายหน้าอกในผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ ยังต้องทำการวิจัยเพิ่มเติมเพื่อประสิทธิผลและความปลอดภัยต่อร่างกาย
แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. สมภพ ประธานธุรารักษ์, พร้อมจิต ศรลัมพ์ (บรรณาธิการ). สมุนไพร: การพัฒนาเพื่อการใช้ประโยชน์ที่ยั่งยืน. กรุงเทพฯ: สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ, 2547: 164 หน้า.
  2. นันทวรรณ บุณยะประภัศร. สมุนไพรไม้พื้นบ้าน เล่ม 1. กรุงเทพฯ: บริษัทประชาชน จำกัด, 2539:895 หน้า.
  3. Cherdshewasart W, Kitsamai Y, Malaivijitnond S. Evaluation of the estrogenic activity of the wild Pueraria mirifica by vaginal cornification assay. J Reprod Dev 2007;53(2):385-93.
  4. Sookvanichsilp N, Soonthornchareonnon N, Boonleang C. Estrogenic activity of the dichloromethane extract from Pueraria mirifica. Fitoterapia 2008;79(7-8):509-14.
  5. Virojchaiwong P, Suvithayasiri V, Itharat A. Comparison of Pueraria mirifica 25 and 50 mg for menopausal symptoms. Arch Gynecol Obstet 2011;284(2):411-9.
  6. Manonai J, Chittacharoen A, Udomsubpayakul U, Theppisai H, Theppisai U. Effects and safety of Pueraria mirifica on lipid profiles and biochemical markers of bone turnover rates in healthy postmenopausal women. Menopause 2008;15(3):530-5.
  7. Tiyasatkulkovit W, Malaivijitnond S, Charoenphandhu N, Havill LM, Ford AL, VandeBerg JL. Pueraria mirifica extract and puerarin enhance proliferation and expression of alkaline phosphatase and type I collagen in primary baboon osteoblasts. Phytomedicine 2014;21(12):1498-503.


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


กวาวเครือขาว 1 วินาทีที่แล้ว
สัตว์เลี้ยงกับยา 2 นาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2025
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้