เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


ไข้ซิกา …ภัยใหม่จากยุงลายตัวเก่า


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภญ. มัลลิกา ชมนาวัง ภาควิขาจุลชีววิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล


ภาพประกอบจาก: https://getpoz.files.wordpress.com/2013/...squito.jpg
อ่านแล้ว 67,803 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 28/01/2559
อ่านล่าสุด 4 นาทีที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 


หากจะพูดถึงโรคที่มียุงเป็นพาหะ หลายคนคงนึกถึงโรคไข้เลือดออกขึ้นมาเป็นอันดับต้นๆ แต่ปัจจุบันมีโรคอื่นๆ อีกมากที่เมื่อก่อนแทบไม่เคยได้ยินชื่อ แต่กลับก่อให้เกิดการระบาดในหลายประเทศ ไวรัสซิกา (Zika) ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัด ไวรัสที่ใครๆ ต้องถามชื่อซ้ำอีกครั้งชนิดนี้แทบจะไม่เคยมีบทบาทในประเทศไทย แต่กลับเป็นเชื้อที่ทั่วโลกกำลังเฝ้าระวัง ไวรัสชนิดนี้กำลังระบาดอย่างหนักในแถบประเทศอเมริกาใต้ รวมถึงหมู่เกาะแปซิฟิกและ Cape Verde ในแอฟริกา จากรายงานขององค์การอนามัยโรคภูมิภาคอเมริกา (Pan Americans Health Organization; PAHO) พบผู้ป่วยยืนยันการติดเชื้อไข้ซิกาแล้วใน 20 ประเทศ ดังนี้ บาร์เบโดส โบลิเวีย บราซิล โคลอมเบีย เอกวาดอร์ เอลซัลวาดอร์ เฟรนซ์เกียนา กัวเดอลุป กัวเตมาลา กายอานา เฮติ ฮอนดูรัส เกาะมาร์ตีนิก เม็กซิโก ปานามา ปารากวัย เปอร์โตริโก ซูรินาเม เกาะเซนต์มาร์ติน และเวเนซูเอลา 
 
ไวรัสซิกาจัดเป็นไวรัสที่มีรหัสพันธุกรรมเป็นอาร์เอ็นเอ (RNA) สายเดี่ยว อยู่ในตระกูล Flavivirus เช่นเดียวกับไวรัสเดงกี่ (Dengue virus) ที่ก่อให้เกิดไข้เลือดออก และไวรัส Japanese encephalitis ที่ก่อโรคไข้สมองอักเสบ ส่วนชื่อซิกา (Zika) เป็นชื่อป่าในประเทศยูกันดาซึ่งเป็นสถานที่แรกที่แยกเชื้อได้จากลิง Rhesus ที่ทำมาศึกษาในปีพ.ศ. 2490 การระบาดของไวรัสชนิดนี้มียุง Aedes aegypti เป็นพาหะ ซึ่งเป็นยุงลายบ้านในประเทศเขตร้อนและเป็นยุงที่เป็นพาหะของไวรัสไข้เลือดออกด้วย สำหรับประเทศไทยมีรายงานว่าตรวจพบแอนติบอดีต่อไวรัสซิกาในผู้ที่อาศัยในกรุงเทพฯเมื่อปี พ.ศ.2506 หลังจากนั้นมีรายงานผู้ป่วยหญิงนักท่องเที่ยวจากแคนาดา ซึ่งเดินทางมาประเทศไทยในช่วงเวลา 21 มกราคมถึง 2 กุมภาพันธ์ 2556 โดยพักในกรุงเทพฯ และภูเก็ต และมีอาการบนเครื่องบินขณะเดินทางกลับแคนาดา ภายหลังได้รับการตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการว่า เป็นการติดเชื้อไวรัสซิกา นอกจากนี้ เมื่อเร็วๆนี้ยังมีรายงานผู้ป่วยชาวไทยที่เดินทางไปไทเป ถูกตรวจพบเชื้อที่สถานีตรวจคัดกรองไข้ สนามบินนานาชาติเถาหยวน ไต้หวัน และขณะนี้ได้รับการรักษาแล้ว อย่างไรก็ตาม ต้องยืนยันว่าโรคไข้ซิกานี้ไม่ใช่โรคใหม่ ในประเทศไทยมีรายงานการตรวจพบผู้ป่วยเฉลี่ยปีละ ๕ ราย และพบกระจายอยู่ทุกภูมิภาค 
ผู้ติดเชื้อนี้ส่วนใหญ่ไม่แสดงอาการและหายเองได้ มีเพียง 1 ใน 5 เท่านั้นที่อาจแสดงอาการได้ และมักแสดงอาการภายหลังได้รับเชื้อนี้ 4-7 วัน อาการแสดงทั่วไป ได้แก่ ไข้ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ผื่นแดง เยื่อบุตาอักเสบ ตาแดง ปวดข้อ ซึ่งมักมีอาการเหล่านี้อยู่ประมาณ 2-7 วัน ส่วนใหญ่อาการเหล่านี้จะหายเองได้ภายในหนึ่งสัปดาห์ ไม่มีความจำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล แต่ในหญิงตั้งครรภ์จำเป็นต้องดูแลเป็นพิเศษ เนื่องจากการติดเชื้อนี้อาจส่งผลต่อทารกในครรภ์ทำให้มีความเสี่ยงต่อการพิการแต่กำเนิด มีขนาดศีรษะที่เล็กผิดปกติ (microcephaly) หรือเสียชีวิตได้ 
การที่อาการแสดงเบื้องต้นของไข้ซิกาถึงแม้จะความรุนแรงน้อยกว่า แต่ก็มีความคล้ายคลึงกับไข้เลือดออก อีกทั้งยังมีสาเหตุจากเชื้อไวรัสในกลุ่มเดียวกัน ทำให้เกิดความสับสนขึ้นได้ จึงต้องมีการให้นิยามเพื่อความชัดเจน โดยผู้ป่วยสงสัย หมายถึงผู้ป่วยที่มีไข้และมีอาการอย่างน้อย 2 ใน 3 อาการ ดังนี้ 1) ออกผื่น 2) ปวดข้อ และ 3) ตาแดง และผลการตรวจไวรัสเดงกี ไวรัสชิคุนกุนยาโดยวิธี PCR และไวรัสหัด ไวรัสหัดเยอรมัน โดยวิธี ELISA IgM ให้ผลลบ และผู้ป่วยยืนยัน หมายถึงผู้ป่วยสงสัย และผลตรวจทางห้องปฏิบัติการยืนยันพบเชื้อไวรัสซิกาในเลือด หรือตรวจพบภูมิคุ้มกันที่จำเพาะต่อไวรัสซิกา 
อย่างไรก็ตามปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนเฉพาะสำหรับป้องกันโรคดังกล่าว จึงมีคำแนะนำให้เลี่ยงการเดินทางไปยังประเทศกลุ่มเสี่ยง และดูแลจัดการไม่ให้มีแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายภายในที่พักอาศัย ยุงชนิดนี้เป็นยุงหากินกลางวันจึงต้องระวังการถูกกัด การรักษามักเป็นการรักษาตามอาการ ให้ผู้ป่วยพักผ่อนให้เพียงพอ ลดการสูญเสียน้ำ หากมีไข้ให้ยาพาราเซตามอล และหลีกเลี่ยงยาแอสไพริน รวมถึงใช้ยาบรรเทาอาการปวดหรืออักเสบในกลุ่ม NSAIDs เนื่องจากอาจส่งผลให้เลือดออกในอวัยวะได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ ควรพึงระวังการแพร่กระจายเชื้อไปยังผู้อื่นจากการถูกยุงกัดในช่วงที่ติดเชื้อด้วย 
 

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. Centers for Disease Control and Prevention. Zika virus. [Internet]. [cited 2016 Jan 25]. Available from: http://www.cdc.gov/zika/
  2. The Virology Association (Thailand). [Internet]. [cited 2016 Jan 25]. Available from: http://www.thaiviro.org/association/index.php/virology-education.html
  3. World Health Organization. Zika virus. [Internet]. [cited 2016 Jan 25]. Available from: http://www.paho.org/hq/index.php?option=com_topics&view=article&id=427&Itemid=41484
เปิดอ่านด้วย Google Doc Viewer ดาวน์โหลดบทความ (pdf) ดูบทความอื่นๆ

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


โรคพยาธิหอยคัน 1 นาทีที่แล้ว
ไอ ..... ใช้ยาอะไรดี 1 นาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้