เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


หญ้าฝรั่น ... เครื่องเทศที่แพงที่สุดในโลก!!!


เภสัชกรหญิงกฤติยา ไชยนอก สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

อ่านแล้ว 108,334 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 16/07/2558
อ่านล่าสุด 3 นาทีที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 


ในบ่ายของวันที่อากาศแจ่มใส สามเพื่อนเกลอกำลังนั่งทายปัญหาที่แสนจะประเทืองปัญญากันอยู่... 
อัครเดช: นี่ๆ พวกเธอคิดว่าอะไรแพงที่สุดในโลก 
พรประภา: อืมมม...ก็น่าจะเป็นเพชรละมั้ง? 
สมเกียรติ: ปฏิสสาร… 
อัครเดชและพรประภา: …?... 
อัครเดช: แหะๆๆ สงสัยจะไกลตัวเกินไป...เอ่อ งั้นถ้าเป็นของที่กินได้ล่ะ อะไรแพงที่สุดในโลก? 
พรประภา: ก็ต้องนี้เลย...ไข่ปลาคาเวียร์ เห็ดทรัฟเฟิล ไม่ก็เนื้อมัตสึซากะ… 
สมเกียรติ: หญ้าฝรั่น... 
อัครเดชและพรประภาหันควับไปมองหน้าสมเกียรติทันที สมเกียรติหัวเราะฮึ พลางส่งสายตาที่ตีความหมายได้ว่า “อ่อนหัด มีความตั้งใจ แต่ก็ยังอ่อนหัด” แล้วเดินจากไปท่ามกลางความมึนงงของสหายที่เหลือทั้งสอง พลันเกิดภาวะสุญญากาศไปชั่วขณะหนึ่ง...ทำไมสมเกียรติจึงกล่าวเช่นนั้นกันนะ?? เรื่องปฏิสสารน่ะช่างมันก่อน (เพราะถ้าจะให้อธิบายละก็ยาวแน่ๆ) แต่เจ้าหญ้าฝรั่นนี่มันคืออะไร…และไหนๆ ก็เกิดความสงสัยขึ้นมาแล้ว งั้นตามเรามาดูข้อมูลของหญ้าฝรั่นกันเลยดีกว่า... 
“หญ้าฝรั่น” ชื่อนี้คนทั่วไปอาจไม่คุ้นหู แต่ถ้าเป็นผู้ที่อยู่ในวงการอาหารหรือสมุนไพรละก็เป็นต้องร้องอ๋อกันทุกคน เพราะเจ้าหญ้าที่ไม่ใช่หญ้าชนิดนี้ มักจะถูกใช้เป็นส่วนประกอบในตำรายา หรือไม่ก็ใช้เป็นส่วนประกอบในอาหารหรูๆ แพงๆ ทั้งนั้น และด้วยสนนราคา ซื้อ – ขาย ที่อยู่ระหว่าง 37,400 - 374,000 บาท/กก. (ขึ้นอยู่กับคุณภาพของวัตถุดิบ) จึงทำให้มันได้รับสมญานามว่า หญ้าฝรั่น...เครื่องเทศที่แพงที่สุดในโลก!!! 
หญ้าฝรั่น (Crocus, Saffron) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Crocus sativus L. เป็นพืชในวงศ์ IRIDACEAE ส่วนที่นำมาใช้คือเกสรตัวเมียหรือที่เรียกว่าหญ้าฝรั่น ซึ่งมีรสเผ็ด ขมอมหวาน และมีกลิ่นหอมคล้ายฟาง นิยมนำไปเป็นส่วนประกอบในอาหารและเครื่องดื่ม ใช้ในอุตสาหกรรมน้ำหอม และใช้เป็นสีย้อมผ้า นอกจากนี้ยังเป็นส่วนประกอบสำคัญในตำรับยาหลายชนิดด้วย สรรพคุณตามตำรายาไทยระบุว่าเกสรตัวเมียใช้ขับเหงื่อในคนออกหัด ขับระดู และใช้แต่งสีแต่งกลิ่นในอาหาร ปัจจุบันประเทศที่มีการผลิตและส่งออกหญ้าฝรั่นมากที่สุดคือ อิหร่าน ดอกหญ้าฝรั่นใช้พื้นที่ในการปลูกมาก และต้องเก็บผลผลิตด้วยมือเท่านั้นเพราะดอกและเกสรของหญ้าฝรั่นมีลักษณะที่เปราะบาง การเก็บจะต้องทำให้เสร็จภายในวันเดียวและหลังจากเก็บต้องรีบนำเกสรที่แยกได้มาคั่วให้แห้งทันที ซึ่งหญ้าฝรั่นมีคุณสมบัติทนต่อความร้อนได้ดี แต่จะเสื่อมสภาพได้ง่ายหากเจอกับแสงและออกซิเจน ดังนั้นจึงไม่นิยมบดหญ้าฝรั่นเป็นผง และต้องเก็บรักษาในภาชนะที่กันแสงและกันอากาศเพื่อคงคุณภาพของหญ้าฝรั่นก่อนนำไปใช้ 
 
ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา 
จากการศึกษาพบว่าสารสกัดและสารสำคัญที่แยกได้จากหญ้าฝรั่นมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียและเชื้อราหลายชนิด มีฤทธิ์ต้านการเกิดแผลในกระเพาะอาหารและกระตุ้นการย่อย มีฤทธิ์ยับยั้งการเพิ่มระดับของไขมันในเลือดและลดภาวะหลอดเลือดแข็งตัวจากการได้รับอาหารที่มีไขมันสูง มีฤทธิ์ปกป้องตับจากการได้รับสารพิษ มีฤทธิ์บรรเทาปวดและต้านการอักเสบ มีฤทธิ์บรรเทาอาการก่อนมีประจำเดือน มีฤทธิ์ต้านเซลล์มะเร็งและเนื้องอก มีฤทธิ์กระตุ้นกำหนัด มีฤทธิ์ต้านภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล และช่วยให้หลับ ซึ่งแม้ส่วนใหญ่จะยังเป็นเพียงการศึกษาในระดับเซลล์ หลอดทดลอง และสัตว์ทดลอง แต่ก็มีแนวโน้มที่ดีในการนำมาพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ในอนาคต การศึกษาความเป็นพิษพบว่าหญ้าฝรั่นมีความเป็นพิษต่ำ และแม้จะมีการรายงานความเป็นพิษของหญ้าฝรั่นน้อย แต่มีบางรายงานระบุว่าการใช้หญ้าฝรั่นขนาด >10 ก. อาจเหนี่ยวนำให้เกิดการแท้งได้ และการศึกษาในหนูเม้าส์เพศเมียที่กำลังตั้งครรภ์ในระยะสามเดือนสุดท้ายพบว่า หญ้าฝรั่นมีฤทธิ์กระตุ้นการบีบตัวของมดลูกและส่งผลให้เกิดการคลอดก่อนกำหนด ดังนั้นจึงควรระมัดระวังการใช้หญ้าฝรั่นในขนาดสูงและหลีกเลี่ยงการใช้ในสตรีมีครรภ์ ส่วนการใช้ในรูปแบบของอาหารยังไม่มีการรายงานความเป็นพิษ 
คำถามที่ว่า ทำไมเจ้าหญ้าฝรั่นนี่ถึงแพงนัก นั่นก็เพราะกว่าจะได้เกสรตัวเมียหรือหญ้าฝรั่นประมาณหนึ่งปอนด์ (ประมาณ 0.45 กก.) จะต้องใช้ดอกหญ้าฝรั่นถึง 75,000 ดอก หรือเกสรตัวเมียจำนวน 225,000 อัน ซึ่งเท่ากับการนำดอกหญ้าฝรั่นมาเรียงต่อกันจนเต็มสนามฟุตบอลนั่นเอง!!! และแล้วก็ได้ข้อสรุปเสียทีว่าสิ่งที่สมเกียรติได้กล่าวเอาไว้ว่าหญ้าฝรั่นเป็นอาหารที่แพงที่สุดในโลกนั้นก็ไม่ได้ห่างไกลจากความเป็นจริงเลย รู้แบบนี้แล้วลองมาหาวิธีปลูกหญ้าฝรั่นกันหน่อยดีไหมล่ะ... 
อ่านข้อมูลเกี่ยวกับหญ้าฝรั่นเพิ่มเติมได้ใน จุลสารข้อมูลสมุนไพรปีที่ 32 ฉบับที่ 2

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. Rubenstein RM and Malerich SA. Malassezia (pityrosporum) folliculitis. J Clin Aesthet Dermatol. 2014;7(3):37-41.
  2. Ayers K, et al. Pityrosporum folliculitis: diagnosis and management in 6 female adolescents with acne vulgaris. Arch Pediatr Adolesc Med. 2005;159(1):64-67.
  3. Hald M, et al. Evidence-based Danish guidelines for the treatment of Malassezia-related skin diseases. Acta Derm Venereol. 2015;95(1):12-19.
  4. Sharquie KE, et al. Malassezia Folliculitis versus Truncal Acne Vulgaris (Clinical and Histopathological Study). J Cosmet Dermatol Sci Appl. 2012;2:277-282.
  5. Levin NA and Delano S. Evaluation and Treatment of Malassezia-Related Skin Disorders. Cosmet Dermatol 2011;24(3):137-145.
  6. FDA Drug Safety Communication: FDA limits usage of Nizoral (ketoconazole) oral tablets due to potentially fatal liver injury and risk of drug interactions and adrenal gland problems. Available from http://www.fda.gov/Drugs/DrugSafety/ucm362415.htm
  7. Br?ggemann RJ, et al. Clinical relevance of the pharmacokinetic interactions of azole antifungal drugs with other coadministered agents. Clin Infect Dis. 2009;48(10):1441-1458.

-->



บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


4 วินาทีที่แล้ว
เชื้อโรคในห้องสุขา 11 วินาทีที่แล้ว
ว่านชักมดลูก 13 วินาทีที่แล้ว
ยาแก้ไอ ... มีกี่แบบ ?? 14 วินาทีที่แล้ว
1 นาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้