เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


เมอร์ส (MERS-CoV) : ไวรัสมรณะ


อาจารย์ ดร. ภญ. ปิยทิพย์ ขันตยาภรณ์ ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

อ่านแล้ว 93,538 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 16/06/2558
อ่านล่าสุด 2 ช.ม.ที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 


MERS-CoV หรือ Middle East Respiratory Syndrome-Corona Virus เป็นเชื้อไวรัสของระบบทางเดินหายใจในกลุ่มเชื้อโคโรนาไวรัส ซึ่งเชื้อ MERS-CoV เป็นเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่เนื่องจากมีความแตกต่างจากเชื้อโคโรนาไวรัสที่เคยติดเชื้อในคน ผู้ป่วยรายแรกที่พบการติดเชื้อ MERS-CoV พบในปี พ.ศ. 2555 (ค.ศ. 2012) ดังนั้นในบางครั้งอาจพบการเรียกชื่อเชื้อชนิดนี้ว่า “เชื้อโคโรน่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่ปี 2012” ภายหลังจากการระบาดในช่วงปี พ.ศ. 2557 ซึ่งส่วนใหญ่จะพบผู้ป่วยในประเทศแถบคาบสมุทรอาหรับหรือเดินทางจากประเทศในแถบนั้น และตั้งแต่เดือนพฤษภาคมในปี พ.ศ. 2558 ได้พบมีการระบาดในประเทศเกาหลีใต้ โดยข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) พบผู้ป่วยในพื้นที่ระบาด ณ วันที่ 19 มิถุนายน 2558 ได้แก่ ประเทศเกาหลีใต้ที่ยืนยันแล้ว 166 ราย ประเทศจีน 1 รายและเสียชีวิตแล้ว 24 ราย การระบาดยังอยู่ในวงจำกัดเฉพาะผู้ที่ใกล้ชิด และยังไม่พบว่ามีการระบาดในชุมชน อย่างไรก็ตามวงการสาธารณสุขทั่วโลกยังคงเฝ้าระวังการติดต่อของเชื้อ MERS-CoV อย่างต่อเนื่อง 
ปัจจุบันในประเทศไทย (วันที่ 18 มิถุนายน 2558) พบผู้ป่วยที่ตรวจพบเชื้อ MERS-CoV แล้ว 1 ราย เป็นผู้ป่วยชาวต่างชาติที่เดินทางมาในไทยเพื่อเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2558 และมีการส่งต่อผู้ป่วยไปยังสถาบันบำราศนราดูร โดยปัจจุบันอยู่ในระหว่างการรักษาตัวในห้องแยกความดันลบเพื่อไม่ให้เชื้อไวรัสแพร่กระจาย ถึงแม้จะมีการพบเชื้อไวรัส MERS-CoV ในประเทศไทย แต่กระทรวงสาธารณสุขได้ใช้มาตรการเข้มงวดเพื่อติดตามและเฝ้าระวังการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส MERS-CoV เช่น การติดตามและเฝ้าระวังอาการของญาติและผู้ที่สัมผัสกับผู้ป่วย เป็นต้น 
แหล่งที่มาของเชื้อ 
ผู้ป่วยรายแรกที่พบการติดเชื้อ MERS-CoV พบในเดือนเมษายน พ.ศ. 2555 โดยยังไม่ทราบแหล่งที่มาของเชื้อไวรัสชนิดนี้แต่คาดการณ์ว่าติดต่อมาจากสัตว์เนื่องจากพบเชื้อ MERS-CoV ในอูฐในประเทศกาตาร์ โอมาน อียิปต์ และซาอุดิอาระเบีย นอกจากนี้แล้วยังตรวจพบว่าอูฐในประเทศอื่นอีกหลายประเทศมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อ MERS-CoV ซึ่งหมายความว่าอูฐเหล่านั้นอาจเคยติดเชื้อไวรัสชนิดนี้หรือสายพันธุ์ที่ใกล้เคียงมาก่อน นอกจากนี้แล้วในประเทศซาอุดิอาระเบียยังตรวจพบเชื้อ MERS-CoV ในค้างคาวอีกด้วย 
 
อาการแสดง 
เชื้อ MERS-CoV ก่อให้เกิดอาการของโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจที่รุนแรงเรียกว่า MERS ซึ่งประกอบด้วยอาการไอ มีไข้และหายใจลำบาก ในผู้ป่วยบางรายการติดเชื้ออาจไม่มีอาการแสดงใดๆ หรือบางรายอาจมีอาการเพียงเล็กน้อยเหมือนป่วยเป็นโรคหวัดและจะหายได้เป็นปกติ แต่ในผู้ป่วยบางรายอาการป่วยอาจมีอาการในระบบทางเดินอาหารร่วมด้วยเช่น ท้องเสีย มวนท้อง คลื่นไส้อาเจียน เป็นต้น ในผู้ป่วยที่มีอาการแสดงของโรครุนแรงอาจเกิดภาวะปอดบวมหรือไตวายได้ ผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอจะมีอัตราเสี่ยงในการติดเชื้อ MERS-CoV ได้สูงกว่าคนทั่วไป และจะมีแนวโน้มที่จะมีอาการของโรครุนแรง สิ่งที่น่าเป็นกังวลเกี่ยวกับการติดเชื้อ MERS-CoV คือผู้ป่วยประมาณร้อยละ 30 จะเสียชีวิต โดยผู้ป่วยเหล่านี้มักจะมีสภาวะอื่นร่วมอยู่ด้วย เช่น เป็นโรคเบาหวาน โรคมะเร็ง หรือมีโรคเรื้อรังที่เกี่ยวข้องกับหัวใจ ปอด หรือไต เป็นต้น 
การติดต่อและระบาดวิทยา 
เนื่องจากเชื้อ MERS-CoV เป็นเชื้อกลุ่มโคโรน่าไวรัสจึงเชื่อว่าการติดต่อเกิดจากการสัมผัสสารคัดหลั่งจากระบบทางเดินหายใจของผู้ป่วยจากการไอ จาม เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตามการแพร่กระจายของเชื้อยังไม่เป็นที่แน่ชัด4 การติดต่อของเชื้อ MERS-CoV นั้นพบในบุคคลที่ใกล้ชิดกับผู้ป่วย เช่น บุคลากรทางการแพทย์ บุคคลในครอบครัว เป็นต้น แต่การติดต่อระหว่างบุคคลทั่วๆ ไปไม่เกิดขึ้นได้ง่ายนัก ในปี พ.ศ. 2557 ผู้ป่วยทุกรายที่มีการติดเชื้อ MERS-CoV นั้นจะมีความเกี่ยวข้องกับประเทศในคาบสมุทรอาหรับ ได้แก่ ผู้ป่วยจะมีประวัติอาศัยอยู่ในประเทศเหล่านี้หรือเดินทางกลับมาจากประเทศเหล่านี้ ในผู้ป่วยบางรายพบว่าไม่มีประวัติเกี่ยวข้องกับประเทศเหล่านี้โดยตรง แต่มีบุคคลใกล้ชิดเดินทางกลับมาจากประเทศในคาบสมุทรอาหรับ โดยประเทศในคาบสมุทรอาหรับที่มีรายงานผู้ป่วยติดเชื้อ MERS-CoV ประกอบด้วยประเทศซาอุดิอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กาตาร์ โอมาน จอร์แดน คูเวต เยเมน อิหร่าน และเลบานอน ส่วนประเทศที่มีรายงานการพบผู้ป่วยนอกคาบสมุทรอาหรับ (มิถุนายน 2557) ได้แก่ประเทศฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา ตูนีเซีย อิตาลี มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ กรีซ อียิปต์ อัลจีเรีย และเนเธอแลนด์ ส่วนการระบาดที่เกิดขึ้นในประเทศเกาหลีใต้ในช่วงปี พ.ศ. 2558 นั้น จากการตรวจสอบลักษณะเบื้องต้นของสายพันธุ์จะมีความใกล้เคียงกับกลุ่มสายพันธุ์ที่ระบาดในประเทศซาอุดิอาระเบียมากที่สุด แต่ข้อมูลดังกล่าวยังต้องมีการตรวจสอบทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติมอีก5 ซึ่งการระบาดในประเทศเกาหลีใต้นั้น ประเทศเกาหลีใต้ได้นำเอาวิธีการควบคุมและเฝ้าระวังโรคอย่างเข้มงวดมาใช้เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของไวรัส และยังไม่พบหลักฐานว่ามีการแพร่กระจายการระบาดในชุมชน ถึงแม้ในประเทศไทยจะมีการพบผู้ป่วย แต่ได้แยกตัวผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในห้องที่ความดันเป็นลบ และได้ใช้มาตรการควบคุมอย่างเข้มงวดเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรค การเฝ้าระวัง 
จากข้อมูลที่มีอยู่ในปัจจุบันพบว่าเชื้อ MERS-CoV มีระยะฟักตัวตั้งแต่ 2 – 14 วัน ดังนั้นหากผู้ป่วยเริ่มมีอาการไข้สูงมากกว่า 38 องศาเซลเซียส ไอ หอบ หายใจเร็ว และภายใน 14 วันก่อนหน้ามีประวัติเดินทางไปในประเทศที่มีการระบาดของโรค มีการสัมผัสใกล้ชิดกับบุคคลที่เดินทางมาจากประเทศที่มีการระบาดของโรค รวมทั้งผู้ป่วยที่มีอาการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจที่รุนแรงแต่ไม่สามารถหาเชื้อที่เป็นสาเหตุการเกิดโรคได้ควรเข้ารับการตรวจหาเชื้อ MERS-CoV ทันที 
การป้องกันและการรักษา 
เนื่องจากเชื้อ MERS-CoV เป็นเชื้ออุบัติใหม่ ในปัจจุบันจึงยังไม่มียาต้านไวรัสที่ออกฤทธิ์เฉพาะกับเชื้อไวรัสชนิดนี้ การรักษาจะเป็นการรักษาแบบประคับประคองตามอาการแสดงของผู้ป่วย แต่ในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงและอยู่ในระหว่างรอผลตรวจหาเชื้อ อาจแนะนำให้ใช้ยาต้านไวรัส Oseltamivir ในขนาดที่ใช้ในการรักษาไข้หวัดใหญ่เนื่องจากยังไม่ทราบผลการตรวจเชื้อ การใช้ยาต้านไวรัส Ribavirin นั้นยังมีผลการศึกษาค่อนข้างน้อยและอาจมีผลข้างเคียงค่อนข้างรุนแรง นอกจากนี้แล้วเชื้อ MERS-CoV ยังไม่มีวัคซีนที่ใช้ในการป้องกัน ดังนั้นการป้องกันที่ดีที่สุดคือการปฏิบัติตนตามแนวทางการดูแลสุขอนามัยที่ดี เช่น การทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ การล้างมือบ่อยๆ การใช้ช้อนกลาง การใช้หน้ากากอนามัยเมื่อมีอาการป่วย เป็นต้น หากมีความจำเป็นที่จะต้องเดินทางไปยังประเทศที่มีการระบาดของโรค ควรดูแลสุขอนามัยอย่างเคร่งครัด และหลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่มีอาการของระบบทางเดินหายใจเช่น ไอ จาม เป็นต้น หลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังสถานที่เลี้ยงสัตว์ต่างๆ เช่น ฟาร์ม ตลาด เป็นต้น และหลังกลับจากเดินทางภายใน 14 วัน ถ้ามีอาการไข้ ไอ หรือเจ็บคอ ควรเข้าพบแพทย์ทันที แต่อย่างไรก็ตามในผู้ป่วยที่มีโรคเรื้อรังได้แก่ โรคเบาหวาน ภาวะไตวาย ภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ หรือมีโรคในทางเดินหายใจเรื้อรังอื่นๆ รวมถึงผู้สูงอายุ จัดเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงที่จะมีอาการป่วยรุนแรงไม่แนะนำให้เดินทางไปยังประเทศที่มีการระบาดของโรค 
 

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. World Health Organization. Middle East respiratory syndrome coronavirus (MERS-CoV). http://www.who.int/csr/disease/coronavirus_infections/en/ [accessed on 14 June 2015]
  2. Centers for Disease Control and Prevention. Middle East Respiratory Syndrome (MERS). http://www.cdc.gov/CORONAVIRUS/MERS/INDEX.HTML [accessed on 15 June 2015]
  3. คณะทำงานด้านการรักษาพยาบาล กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์จากมหาวิทยาลัยต่างๆ. แนวทางการวินิจฉัย ดูแลรักษาและการป้องกันควบคุมการติดเชื้อผู้ป่วยMERS-CoV ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 วันที่ 19 พฤษภาคม 2557. http://www.dms.moph.go.th/dmsweb/cpgcorner/cpg_01_2662557_update.pdf
  4. Centers for Disease Control and Prevention (CDC). Transmission in Middle East Respiratory Syndrome. http://www.cdc.gov/coronavirus/mers/about/transmission.html [accessed on 18 June 2014]
  5. World Health Organization. Background on Middle East Respiratory Syndrome Coronavirus (MERS?CoV) sequence. http://www.who.int/csr/disease/coronavirus_infections/background/en/ [accessed on 14 June 2014]
เปิดอ่านด้วย Google Doc Viewer ดาวน์โหลดบทความ (pdf) ดูบทความอื่นๆ

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


เมอร์ส (MERS-CoV) : ไวรัสมรณะ 1 วินาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้