เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


ดูแลไตอย่างไร...ให้อยู่กับเราไปนานๆ


ภก. วสุ ศุภรัตนสิทธิ ภาควิชาสรีรวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

อ่านแล้ว 246,844 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 30/11/2557
อ่านล่าสุด 2 ช.ม.ที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 


ไตเป็นอวัยวะหนึ่งที่สำคัญกับร่างกาย ทำหน้าที่ขับของเสียออกจากร่างกายและหน้าที่อื่นอีกหลายอย่าง ดังนั้นการดูแลไตจึงเป็นสิ่งจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับทุกรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตประจำวัน เพื่อที่ไตจะได้คงสภาพการทำงานต่อไปได้ 
ตำแหน่งและลักษณะของไต 
คนปกติมีไตอยู่ 2 ข้างด้วยกัน ลักษณะของไตจะคล้ายเมล็ดถั่วแดง แต่ละข้างวางตัวในลักษณะแนวตั้ง ขนานกับกระดูกไขสันหลังช่วงเอว ฝังตัวติดกับผนังลำตัวของแผ่นหลัง หรือถ้าจะให้ทำความเข้าใจง่ายๆ ตำแหน่งของไตจะอยู่บริเวณสีข้างของร่างกาย โดยไตข้างซ้ายจะวางตัวสูงกว่าไตข้างขวาเล็กน้อย เนื่องจากด้านบนไตข้างขวาเป็นตำแหน่งของตับ ซึ่งไตทั้ง 2 ข้างนั้นจะหันส่วนเว้าหรือที่เรียกว่า ขั้วไต เข้าหากระดูกไขสันหลัง 
ส่วนของเนื้อไต จะประกอบไปด้วยหน่วยไต (nephron) ในไตแต่ละข้างจะมีหน่วยไตอยู่ประมาณ 1 ล้านหน่วย ทำหน้าที่สำคัญในการกรองพลาสมา (plasma) ซึ่งก็คือน้ำเลือด ปรับส่วนประกอบและความเข้มข้นของปัสสาวะ โดยหน่วยไตแต่ละหน่วยจะทำงานเป็นอิสระต่อกัน จนถึงจุดเชื่อมที่หลอดไตฝอยรวม (collecting duct) ปัสสาวะที่ผลิตได้จากแต่ละหน่วยไตจึงไหลรวมกันเข้าสู่หลอดไตฝอยรวม กรวยไต และท่อไตตามลำดับ ไปสะสมรวมกันอยู่ที่กระเพาะปัสสาวะเพื่อรอการขับทิ้งออกจากร่างกายต่อไป 
หน้าที่ของไต 
หน้าที่ซึ่งเด่นชัดมากที่สุดของไต คือ การขับของเสียออกจากร่างกายด้วยการผลิตปัสสาวะให้มีปริมาณของส่วนประกอบและปริมาตรที่เหมาะสม เป็นการรักษาสมดุลของน้ำกับแร่ธาตุในร่างกาย โดยหน้าที่ในส่วนนี้ทั้งหมดจะทำงานโดยหน่วยไต นอกจากนั้นไตยังมีบทบาทเกี่ยวข้องกับการทำงานของฮอร์โมนต่างๆ ด้วย เช่น การกระตุ้นวิตามินดี (vitamin D) เพื่อช่วยควบคุมระดับแคลเซียมในร่างกาย การสร้างฮอร์โมนอีริโทรพอยอิทิน (erythropoietin) เพื่อกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดง และการหลั่งเอนไซม์เรนิน (renin) ซึ่งเกี่ยวข้องกับการควบคุมความดันโลหิต 
วิธีการดูแลไต

  • ดื่มน้ำให้เพียงพอต่อร่างกาย
    การดื่มน้ำที่เพียงพอนั้นเปรียบเสมือนการช่วยให้ไต ไม่ต้องทำงานหนักเนื่องจากไม่ต้องกรองน้ำเลือดที่ข้นหนืด คำแนะนำทั่วไปคือ ควรดื่มน้ำ 8-10 แก้ว (ประมาณ 2 ลิตร) ต่อวัน หรือตามที่ Institute of Medicine (IOM) ประเทศสหรัฐอเมริกาแนะนำ คือ ควรดื่มน้ำเฉลี่ย 3.7 ลิตรต่อวันในผู้ชาย และเฉลี่ย 2.7 ลิตรต่อวันในผู้หญิง
  • รับประทานอาหารและใช้อาหารเสริมอย่างเหมาะสม
    การรับประทานอาหารที่เหมาะสม เสมือนเป็นหลักสำคัญอย่างหนึ่งในการดูแลสุขภาพ ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสจัด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รสหวานและเค็มนั้น มักนำมาด้วยโรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูงตามลำดับ นอกจากนั้นการรับประทานอาหารเสริมบางชนิดที่มากเกินความจำเป็นก็มีโอกาสที่จะทำให้เกิดความผิดปกติที่ไตได้
  • ป้องกันการกระทบกระแทกบริเวณสีข้าง
    การถูกตีหรือได้รับบาดเจ็บบริเวณสีข้าง อาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคไตวายได้เนื่องจากเป็นตำแหน่งของไต ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงอันตรายหรืออุบัติเหตุที่อาจจะเกิดขึ้น เช่น การเหยียบหรือการต่อตัวโดยใช้บริเวณหลังของร่างกายเป็นฐาน เป็นต้น
  • ตรวจสุขภาพเป็นประจำ
    การตรวจร่างกายเป็นประจำเป็นสิ่งที่ควรกระทำอยู่แล้วในการดูแลสุขภาพ สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน หรือโรคความดันโลหิตสูง ควรปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของโรคนั้นๆ ใช้ยาควบคุมโรคอย่างสม่ำเสมอเนื่องจากยาส่วนใหญ่ ไม่ได้รักษาที่ต้นเหตุของโรค และการไม่ดูแลรักษาโรคประจำตัวที่ยกตัวอย่างไปนั้น จะส่งผลให้ไตทำงานได้แย่ลง
  • งดบุหรี่ เครื่องดื่มที่มีส่วนประกอบของแอลกอฮอล์ (เหล้า เบียร์ ไวน์) และเครื่องดื่มที่มีส่วนประกอบของคาเฟอีน (ชา กาแฟ)
    สารนิโคติน (Nicotine) ในบุหรี่ และคาเฟอีนในขนาดสูง มีผลทำให้ความดันโลหิตเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นหนึ่งในอีกหลายๆ กลไกที่ทำให้เกิดพิษต่อไต และเช่นเดียวกับคาเฟอีน การดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนประกอบของแอลกอฮอล์ในปริมาณมากๆ ทำให้เกิดการสลายตัวของกล้ามเนื้อและเกิดไตวายเฉียบพลันตามมา
  • ใช้ยาอย่างระมัดระวัง
    ยาทั่วไปที่ประชาชนเข้าถึงได้ง่าย แต่อาจส่งผลต่อการทำงานของไต ทำให้ไตทำงานได้ลดลง ได้แก่ยาในกลุ่มยาแก้อักเสบที่ไม่ได้มีโครงสร้างเป็นสเตียรอยด์ ที่เรียกย่อๆว่ายากลุ่ม “ NSAID” (Non-Steroidal Anti-Inflammatory Drugs; NSAIDs) เช่น Aspirin, Diclofenac, Ibuprofen, Indomethacin, Naproxen และ Piroxicam เป็นต้น รวมไปถึงยากลุ่มอื่นๆ เช่น ยาต้านมะเร็ง ยากดภูมิคุ้มกัน ยาต้านไวรัส เป็นต้น นอกจากนี้การใช้ยาในกลุ่มนี้ร่วมกับยาอื่นอาจส่งเสริมให้เกิดอาการข้างเคียงของยา (ในที่นี้คือ เป็นพิษต่อไต) ที่รุนแรงเพิ่มขึ้น จากการเกิดอันตรกิริยาระหว่างยา (drug-drug interactions) หรือที่เข้าใจกันง่ายๆ ว่า “ยาตีกัน” เช่น ในกรณีผู้ป่วยที่ต้องรับประทานยา Cyclosporine เพื่อกดภูมิคุ้มกันของร่างกาย โดยยาดังกล่าวมีอาการข้างเคียงของยาที่ทำให้เกิดพิษต่อไตได้อยู่แล้ว ต่อมาเนื่องจากภูมิคุ้มกันของร่างกายของผู้ป่วยต่ำอาจติดเชื้อราขึ้นได้ จึงรับประทานยา Ketoconazole หรือ Itraconazole เพื่อจะรักษาอาการติดเชื้อรา ซึ่งยาที่กล่าวไป 2 ตัวหลังจะทำให้ระดับยา Cyclosporine ในกระแสเลือดเพิ่มสูงขึ้นและทำให้โอกาสเกิดพิษต่อไตสูงขึ้นตามไปด้วยดังนั้นนอกจากผู้ป่วยจะต้องใช้ยาอย่างระมัดระวังแล้ว ต้องแจ้งชื่อยาหรือนำตัวอย่างยาที่ตนเองใช้ให้กับแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้งที่เข้ารับการรักษา

สุดท้ายนี้ผู้เขียนอยากฝากไว้โดยเฉพาะการใช้ยาทุกครั้งว่า ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ เช่น แพทย์ หรือเภสัชกร เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการใช้ยากับท่านเอง และอย่าลืมว่า 
“มีปัญหาเรื่องยา ปรึกษาเภสัชกรนะครับ”


 

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. Eaton DC, Pooler JP. Renal Functions, Basic Processes, and Anatomy. In: Eaton DC, Pooler JP, editors. Vander’s Renal Physiology. 8th ed. New York: McGraw-Hill [serial online]. 2013 [cited 2014 November 5]. Available from: http://accessmedicine.mhmedical.com/content.aspx?bookid=505&Sectionid=42511980.
  2. Barrett KE, Barman SM, Boitano S, Brooks HL. Renal Function & Micturition. In: Barrett KE, Barman SM, Boitano S, Brooks HL, editors. Ganong's Review of Medical Physiology. 24th ed. New York: McGraw-Hill [serial online]. 2012 [cited 2014 November 5]. Available from: http://accessmedicine.mhmedical.com/content.aspx?bookid=393&Sectionid=39736787.
  3. Thomas LK, Elinder C, Tiselius H, Wolk A, Àkesson A. Ascorbic Acid Supplements and Kidney Stone Incidence Among Men: A Prospective Study. JAMA Intern Med.2013;173(5):386-388. doi:10.1001/jamainternmed.2013.2296.
  4. Jain G, Jaimes EA. Nicotine signaling and progression of chronic kidney disease in smokers. Biochem Pharmacol. 2013 Oct 15;86(8):1215-23. doi: 10.1016/j.bcp.2013.07.014. Epub 2013 Jul 26.
  5. Campana C, Griffin PL, Simon EL. Caffeine overdose resulting in severe rhabdomyolysis and acute renal failure. Am J Emerg Med. 2014 Jan;32(1):111.e3-4. doi: 10.1016/j.ajem.2013.08.042. Epub 2013 Sep 27.
  6. Su MS, Jiang Y, Yan XY, Zhao QH, Liu ZW, Zhang WZ, He L. Alcohol abuse-related severe acute pancreatitis with rhabdomyolysis complications. Exp Ther Med. 2013 Jan;5(1):189-192. Epub 2012 Oct 4.
เปิดอ่านด้วย Google Doc Viewer ดาวน์โหลดบทความ (pdf) ดูบทความอื่นๆ

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


ดนตรีบำบัด 1 นาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้