เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


แคลเซียมกับโรคกระดูกพรุน ตอนที่ 2 ?


รองศาสตราจารย์ ดร.ภญ.บุษบา จินดาวิจักษณ์ ภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

อ่านแล้ว 139,770 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 02/09/2557
อ่านล่าสุด 2 ช.ม.ที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 

ดูบทความตอนที่ 1 ได้ที่ แคลเซียมกับโรคกระดูกพรุน ตอนที่ 1 ? 
จะรักษาโรคกระดูกพรุนได้อย่างไร 
มียาหลายชนิดที่แนะนำให้ใช้ในการรักษา หนึ่งในนั้นคือ แคลเซียม โดยมีจุดประสงค์เพื่อเพิ่มแร่ธาตุที่เป็นองค์ประกอบของกระดูก ทำให้กระดูกแข็งแกร่ง นอกจากนี้ยังช่วยในการคงระดับแคลเซียมตามที่ร่างกายต้องการ ทำให้ไม่เกิดการสลายกระดูกอันเนื่องมาจากภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำ ทั้งนี้ขนาดยาที่แนะนำ คือ รับประทานแคลเซียมวันละ 1,200 มิลลิกรัม และแนะนำให้รับประทานวิตามินดี 400 – 800 ยูนิต ร่วมด้วย1 
มีวิธีป้องกันโรคกระดูกพรุนหรือไม่ 
การป้องกันโรคกระดูกพรุนที่ดีที่สุดคือการทำให้กระดูกมีความแข็งแรง ซึ่งต้องเริ่มมาตั้งแต่วัยเยาว์ นั่นคือจะต้องมีการเสริมสร้างมวลกระดูกตั้งแต่เด็ก เพื่อการเจริญเติบโต และทำให้มวลกระดูกมีค่าสูงสุดในช่วงอายุที่ควรมีความหนาแน่นของมวลกระดูกสูงที่สุด ซึ่งจะเป็นการสะสมต้นทุนให้กระดูกแข็งแรงและมีคุณภาพที่ดีในวัยผู้ใหญ่ หลังจากนั้นเมื่อเริ่มมีความหนาแน่นของมวลกระดูกลดลงอย่างช้าๆ ก็ควรทำการเสริมสร้างกระดูกเพื่อทดแทนการสูญเสีย และในที่สุดเมื่อเข้าสู่วัยทองหรือวัยสูงอายุ การเสริมมวลกระดูกยิ่งมีความจำเป็น เพราะมวลกระดูกมีความหนาแน่นลดลงอย่างรวดเร็ว และจะลดลงอย่างต่อเนื่องในวัยสูงอายุ ยิ่งไปกว่านั้นผู้สูงอายุมีความเสื่อมถอยของร่างกาย มีโรคประจำตัว และใช้ยาหลายชนิด จึงมีโอกาสหกล้มง่าย และเกิดกระดูกหักได้บ่อย ดังนั้น ข้อที่ควรปฏิบัติเพื่อป้องกันโรคกระดูกพรุนสำหรับประชาชนทุกวัย1 คือ

  1. ออกกำลังกายโดยการลงน้ำหนัก และ มีการใช้แรงต้าน เช่น วิ่งเหยาะ เดินสลับวิ่ง เต้นแอโรบิก เดินขึ้นบันได ยกน้ำหนัก วอลเลย์บอล ฟุตบอล บาสเกตบอล กระโดดเชือก เป็นต้น ในกรณีผู้สูงอายุ ไม่ควรวิ่ง หรือเล่นกีฬาหนักๆ แต่ควรออกกำลังกายที่เบาลง ได้แก่ เดินเร็วๆ เดินขึ้นบันได รำมวยจีน รำจี้กง รำไท้ฉี และควรออกกำลังกายครั้งละอย่างน้อย 30 นาที สัปดาห์ละ 3 ครั้งเป็นอย่างน้อย
  2. รับประทานอาหารที่มีแคลเซียมตามคำแนะนำของกรมอนามัย โดยให้ได้แคลเซียม 800 มิลลิกรัมต่อวันสำหรับผู้ที่อายุน้อยกว่าหรือเท่ากับ 50 ปี และ 1,000 มิลลิกรัมต่อวันสำหรับผู้ที่มีอายุ 51 ปีขึ้นไป
  3. หากไม่สามารถรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมได้มากพอ ก็ให้รับประทานยาเม็ดแคลเซียมแทนหรือรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมแคลเซียม
  4. รับแสงแดดอย่างพอเพียง เพื่อให้ผิวหนังสร้างวิตามินดี ซึ่งจะช่วยให้ลำไส้ดูดซึมแคลเซียมได้ มีรายงานว่า การรับแสงแดดเพียง 30 นาที ผิวหนังจะสามารถสร้างวิตามินดีให้กับร่างกายได้ถึง 200 ยูนิต โดยเวลาที่เหมาะสม คือ 8.00 – 10.00 น. และ 15.00 – 17.00 น.3
  5. ลดพฤติกรรมที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุน
  6. ปรับวิถีชีวิตให้มีกิจกรรมการเคลื่อนไหวทางกาย เช่น การเดินขึ้นบันไดแทนการใช้ลิฟต์
  7. ควบคุมโรคเรื้อรังที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุน
  8. หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุน
  9. ปรับสิ่งแวดล้อมเพื่อลดโอกาสการหกล้ม เช่น เก็บสายไฟไม่ให้เกะกะตามพื้นเพื่อมิให้สะดุดสายไฟ เช็ดพื้นที่เปียกน้ำทันที ติดแผ่นยางกันลื่นในพื้นห้องน้ำ ติดแสงไฟ เปลี่ยนแว่นสายตาหากมองภาพไม่ชัด


มีอาหารอะไรบ้างที่มีแคลเซียมสูง 
อาหารที่มีแคลเซียมสูง คือ นม ปลาตัวเล็กตัวน้อย กะปิ กุ้งแห้ง ผักคะน้า ดังแสดงในตารางที่ 2 รู้อย่างนี้แล้ว การดื่มนม หรือการรับประทานผัดผักคะน้าน้ำมันหอย หรือน้ำพริกกะปิ ก็จะได้แคลเซียมในปริมาณมาก อย่างไรก็ตามต้องรับประทานแต่พอดี 
การรับประทานใบชะพลู ใบยอ ปริมาณมากโดยหวังจะได้แคลเซียมมากนั้นไม่เป็นประโยชน์ เพราะลำไส้สามารถดูดซึมแคลเซียมได้เพียงครั้งละ 500 มิลลิกรัม แต่กลับมีรายงานที่น่าตกใจว่า การรับประทานใบชะพลู ใบยอ ปริมาณมากอาจเกิดนิ่วในไตหรือกระเพาะปัสสาวะได้ เนื่องจากใบชะพลู 100 กรัม มีสารออกซาเลต 1,088 มิลลิกรัม และใบยอ 100 กรัม มีสารออกซาเลต 387.6 มิลลิกรัม ซึ่งค่อนข้างสูง ออกซาเลตที่มากเกินไปจะตกผลึกเป็นนิ่วในไตหรือกระเพาะปัสสาว 
 
รับประทานแคลเซียมเท่าไหร่จึงจะพอดี 
ปริมาณแคลเซียมที่แนะนำสำหรับผู้สุงอายุ คือ วันละ 1,000 มิลลิกรัม หากรับประทานได้ตามนี้ก็จะช่วยป้องกันโรคกระดูกพรุนได้ โดยควรแบ่งรับประทานมื้อละ 500 มิลลิกรัม แคลเซียมจึงจะถูกดูดซึมได้ดี 
หากจะรับประทานแคลเซียมเม็ด ควรพิจารณาว่ายาเม็ดแคลเซียมนั้นอยู่ในรูปเกลือใด เพราะเกลือแคลเซียมแต่ละชนิดให้ธาตุแคลเซียมได้ไม่เท่ากัน กล่าวคือ แคลเซียมคาร์บอเนตจะให้แคลเซียมได้ร้อยละ 40 แคลเซียมซิเตรตให้แคลเซียมได้ร้อยละ 21 และแคลเซียมกลูโคเนตให้แคลเซียมได้ร้อยละ 9 
เกลือแคลเซียมเหล่านี้ยังมีอัตราการละลายไม่เท่ากัน กล่าวคือ แคลเซียมซิเตรตละลายดีกว่าแคลเซียมคาร์บอเนต เกลือที่ละลายดีกว่าก็จะถูกดูดซึมได้เร็วกว่า ดังนั้นผู้สูงอายุจึงควรรับประทานแคลเซียมซิเตรตจะดีกว่าแคลเซียมคาร์บอเนต และควรรับประทานก่อนอาหารเนื่องจากสภาวะความเป็นกรดในกระเพาะอาหารจะช่วยละลายเกลือแคลเซียมเหล่านี้ หากรับประทานหลังอาหารก็จะมีการละลายของเกลือแคลเซียมลดลง 
ปัญหาของการใช้แคลเซียม 
ปัญหาสำคัญของการรับประทายยาเม็ดแคลเซียม คือ ท้องผูก4 จึงควรแนะนำให้ดื่มน้ำตามมากๆ และรับประทานผลไม้ให้มากขึ้น 
แคลเซียมมีปฏิกิริยากับยาได้หลายชนิด4 เช่น ยาต้านจุลชีพฟลูออโรควิโนโลน ยาต้านจุลชีพเตตร้าไซคลิน ทำให้ยาเหล่านี้ถูกดูดซึมน้อยลง จึงควรรับประทานยาเม็ดแคลเซียมให้ห่างจากยาอื่นอย่างน้อย 2 ชั่วโมง 
เร็วๆ นี้มีรายงานการศึกษาที่พบว่า การรับประทานยาเม็ดแคลเซียมในรูปผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจะเพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเหตุขาดเลือด อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และเพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมองด้วย แต่การเกิดโรคหลอดเลือดสมองมีอัตราช้ากว่าและไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ5 ซึ่งเกิดโอกาสเสี่ยงได้ทั้งในผู้ชายและผู้หญิง ผู้สูงอายุมีโอกาสเป็นโรคหัวใจอยู่แล้ว การเสริมแคลเซียมมากก็จะยิ่งเพิ่มโอกาสเสี่ยงให้แก่ผู้สูงอายุ 
สรุปแล้วแคลเซียมมีประโยชน์กับโรคกระดูกพรุนหรือไม่ 
โดยสรุป แคลเซียมยังคงมีประโยชน์กับโรคกระดูกพรุน สามารถนำมาใช้ในการป้องกันและรักษาโรคกระดูกพรุนในผู้สูงอายุได้ โดยควรได้รับแคลเซียมในขนาดที่เหมาะสมคือไม่เกินวันละ 1,000 มิลลิกรัม และรับประทานแต่ละครั้งไม่เกิน 500 มิลลิกรัม อย่างไรก็ตามไม่ควรรับประทานในขนาดสูงกว่านี้ เนื่องจากการศึกษาที่มีอยู่ในปัจจุบันยังไม่สามารถยืนยันว่าการรับประทานแคลเซียมขนาดสูงจะเพิ่มความหนาแน่นของมวลกระดูกจนถึงขนาดที่จะลดโอกาสเกิดกระดูกหัก

 

 

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. แนวทางเวชปฏิบัติสำหรับโรคกระดูกพรุน พ.ศ. 2553. กรุงเทพ: มูลนิธิโรคกระดูกพรุนแห่งประเทศไทย
  2. กอบจิตต์ ลิมปพยอม. มูลนิธิโรคกระดูกพรุนแห่งประเทศไทย. โรคกระดูกพรุนคืออะไร Available at: http://www.topf.or.th/read_hotnews_detail.php?dID=20. Accessed date: 9 Aug 2014.
  3. ศุภศิลป์ สุนทราภา. ตากแดดวันละนิดพิชิต “กระดูกพรุน” Available at: http://www.thaihealth.or.th/healthcontent/news/9978. Accessed date: 9 Aug 2014.
  4. Calcium. Available at: http://www.webmd.com/vitamins-supplements/ingredientmono-781-calcium.aspx?activeingredientid=781&activeingredientname=calcium. Accessed date: 9 Aug 2014.
  5. Bolland MJ, Avenell A, Baron JA, et al. Effect of calcium supplements on risk of myocardial infarction and cardiovascular events: meta-analysis. BMJ 2010;341:c3691.
เปิดอ่านด้วย Google Doc Viewer ดาวน์โหลดบทความ (pdf) ดูบทความอื่นๆ

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


วิตามินซีกับโรคเกาต์ 5 วินาทีที่แล้ว
ว่านชักมดลูก 1 นาทีที่แล้ว
สมุนไพรป้องกันยุง 1 นาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้