เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


ร้านยาคุณภาพ: จะรู้ได้อย่างไร


อาจารย์ ดร.ภก.ลือรัตน์ อนุรัตน์พานิช ภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

อ่านแล้ว 44,811 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 10/08/2557
อ่านล่าสุด 1 ช.ม.ที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 

ปัจจุบันการรับรองคุณภาพเป็นแนวโน้มที่นิยมเพราะเป็นการประกันคุณภาพและบริการที่จะได้รับ การรับรองคุณภาพร้านขายยาต่างจากการรับรองคุณภาพร้านอาหารตรงที่ถ้าร้านยาไม่มีคุณภาพจะส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงแก่คนไข้ ในขณะที่การรับรองคุณภาพร้านอาหารถ้าเกิดความผิดพลาดผลกระทบก็เป็นเพียงแค่ไม่อร่อยแต่ไม่มีอันตรายเพราะผู้บริโภคมีสุขภาพแข็งแรงดี ต่างจากการรับบริการที่ร้านขายยาที่ผู้บริโภคอาจมีอาการเจ็บป่วย ความผิดพลาดจากการไม่มีคุณภาพจะส่งผลรุนแรงกว่า 
ในวงการเภสัชกรรมมีผู้รับผิดชอบหลักด้านการกำกับดูแลคุณภาพร้านยา 2 หน่วยงาน ได้แก่กระทรวงสาธารณสุขและสภาเภสัชกรรม ซึ่งทั้งสองหน่วยงานมีการประสานความร่วมมือ และทำงานร่วมกันอย่างดีจนเกิดมาตรการต่างๆ เพื่อให้ผู้บริโภคปลอดภัยและอุ่นใจ 
ปลายปี พ.ศ. 2556 กระทรวงสาธารณสุขโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้บังคับใช้ ประกาศกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยการขอใบอนุญาตและออกใบอนุญาตขายยายแผนปัจจุบัน พ.ศ. 2556 เพื่อควบคุมคุณภาพร้านยาในหลายประเด็นเช่น การมีเภสัชกรประจำการตลอดเวลาที่เปิดทำการ การควบคุมคุณภาพสถานที่และยา รวมทั้งการบริการทางเภสัชกรรม 
นอกจากมาตรการในการควบคุมบังคับแล้วยังมีการส่งเสริมให้ร้านขายยาเข้ารับการรับรองคุณภาพโดยมีการประกาศเกณฑ์มาตรฐานร้านยาคุณภาพเพื่อให้เกิดการปรับปรุงและพัฒนาคุณภาพการให้บริการเพื่อประโยชน์ของสาธารณชน 
ในฐานะผู้บริโภคพึงต้องมีความรู้เพื่อสร้างความปลอดภัยแก่ตนเองในการเลือกรับบริการร้านขายยาโดยใช้เกณฑ์ในการสังเกตง่ายๆ ซึ่งคัดเลือกส่วนสำคัญที่ท่านจะสังเกตเห็นเมื่อท่านรับบริการแล้วท่านจะสามารถแยกแยะได้ว่าร้านนั้นมีคุณภาพหรือไม่ ดังนี้ 
1. ด้านสถานที่ อุปกรณ์ และสิ่งสนับสนุนบริการ

  • สถานที่ 
    สถานที่ต้องกว้างไม่น้อยกว่า 8 ตารางเมตร สังเกตจากถ้าเป็นอาคารพาณิชย์กว้าง 4 เมตร ร้านยานั้นต้องมีความลึกหรือยาวไม่น้อยกว่า 2 ตารางเมตร
    • มีความะอาด มีแสงสว่าง อากาศถ่ายเท และมีระบบป้องกันอัคคีภัย
    • มีบริเวณให้คำแนะนำอย่างเป็นสัดส่วน
    • มีบริเวณจัดแสดงสื่อความรู้เพื่อสุขภาพ
    • มีป้ายแสดงว่าเป็นร้านยา และป้ายแสดงรูปถ่าย เลขที่ใบประกอบวิชาชีพ รวมถึงเวลาปฏิบัติการของเภสัชกรที่กำลังปฏิบัติหน้าที่ 
       
       
    • มีป้ายสัญลักษณ์ประเภทใบอนุญาต อย่างกรณีร้านขายยาแผนปัจจุบันประเภท 1 จะขายยาอันตรายตามใบสั่งแพทย์และยาบรรจุเสร็จ ยาสามัญประจำบ้าน 
       
       
  • ด้านอุปกรณ์
    • ต้องแยกอุปกรณ์นับเม็ดยาปฏิชีวนะประเภทเพนนิซิลิน และซัลโฟนาไมด์ เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย รวมถึงการควบคุมอุณหภูมิตู้เก็บยาแช่เย็นอย่างสม่ำเสมอ ท่านสามารถสอบถามถึงการปฏิบัติตามเกณฑ์นี้ได้กับเภสัชกรประจำร้านทุกคน
    • สิ่งสนับสนุนในร้านควรมี ตำรา แหล่งข้อมูล รวมทั้งฉลากช่วย เอกสารความรู้ให้บริการอย่างเหมาะสม 

2. การบริหารจัดการคุณภาพ แบ่งเป็นด้านต่างๆ ดังนี้

  • ด้านบุคลากร
    • ต้องมีเภสัชกรอยู่ปฏิบัติงานตลอดเวลาที่เปิดทำการ และต้องแต่งกายตามข้อกำหนดของสภาเภสัชกรรม 
    • ถ้ามีผู้ช่วยเภสัชกรควรแสดงตนและต่างกายให้ทราบว่าเป็นผู้ช่วยเภสัชกรอย่างชัดเจน ไม่สร้างความสับสน
  • ด้านกระบวนการคุณภาพ
    • มีการสอบถามเพื่อระบุผู้ใช้ยาที่แท้จริง (ใครเป็นคนต้องการใช้ยาที่มาซื้อ) และมีการสอบถามอาการอย่างถี่ถ้วนก่อนสั่งใช้ยา หรือขายยานั้นๆ รวมถึงมีแฟ้มประวัติการใช้ยาเพื่อการให้บริการที่ถูกต้อง และปลอดภัย

3. การบริการทางเภสัชกรรมที่ดี สิ่งที่ท่านควรสังเกตคือ

  • มีเภสัชกรเป็นผู้ส่งมอบยาให้ท่านเอง และต้องอธิบายการใช้ยาและการปฏิบัติตัวอื่นๆที่จำเป็น
  • มีฉลากกำกับยาบนบรรจุภัณฑ์อย่างครบถ้วน ประกอบด้วย ชื่อสถานบริการ หมายเลขโทรศัพท์ ชื่อผู้ป่วย วันที่จ่ายยา ชื่อการค้า ชื่อสามัญทางยา ข้อบ่งใช้ วิธีใช้ ข้อควรระวัง และวันหมดอายุ
  • ไม่ควรส่งมอบยาให้เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปีโดยไม่ทราบวัตถุประสงค์ ในกรณีที่จำเป็นควรต้องมีวิธีการทีเหมาะสมและรัดกุม

เมื่อท่านทราบข้อสังเกตเหล่านี้ ควรนำใปตรวจสอบร้านยาที่ท่านรับบริการอยู่เป็นประจำว่าสอดคล้องตามเกณฑ์เหล่านี้หรือไม่ เพื่อประโยชน์และความปลอดภัยแก่ตัวท่านเอง

 

 

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. กฎกระทรวงสาธาณสุข การขอใบอนุญาตและการออกใบอนุญาตร้านขายยาแผนปัจจุบัน พ.ศ. 2556
  2. http://newsser.fda.moph.go.th/advancepharmacy/apache-tomcat-5.5.23/webapps/ROOT/theway.html สืบค้นเมื่อ 17 กรกฎาคม 2557


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


ยาหอม กับคนวัยทำงาน 24 วินาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้