เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


ไวรัสอีโบลา


อาจารย์ ดร.กฤษณ์ ถิรพันธุ์เมธี ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

อ่านแล้ว 30,902 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 04/08/2557
อ่านล่าสุด 4 นาทีที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 

ขณะนี้มีรายงานข่าวการระบาดของเชื้อไวรัสอีโบลา (Ebola Virus) อย่างรุนแรงในภูมิภาคตะวันตกของทวีปแอฟริกา ได้แก่ประเทศ กินี, ไลบีเรีย และเซียร์ราลีโอน รวมถึงไนจีเรีย หลายท่านอาจเคยได้ยินชื่อไวรัสอีโบลามาก่อน แต่ยังไม่รู้จักเชื้อไวรัสอีโบลานี้ดีนัก บทความนี้จะขอกล่าวถึงความรู้พื้นฐานของเชื้อชนิดนี้ ได้แก่ ลักษณะทั่วไป การก่อโรค อาการแสดง การติดต่อ และสุดท้ายจะกล่าวถึงสถาณการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสอีโบลาในปัจจุบัน 
เชื้อไวรัสอีโบลาจัดอยู่ในตระกูล Filoviridae เชื้อไวรัสในตระกูลนี้มีรูปร่างหลายแบบ อาจมองเห็นเป็นแท่งยาว (รูปที่1) เป็นกิ่งก้านสาขา หรือบางครั้งเป็นแท่งสั้นๆ มีรูปร่างคล้ายเลข 6 หรือตัวอักษณ U หรือเป็นวงกลม สารพันธุกรรมเป็น RNA ชั้นนอกสุดมีชั้นไขมันห่อหุ้มอยู่ เชื้อไวรัสในตระกูลนี้สามารถแบ่งได้เป็น 2 สายพันธุ์ คือ Marburg virus และ Ebola virus มีรายงานการระบาดของเชื้อตระกูล Filo virus (Marburg virus) ครั้งแรกเมื่อปี 1967 โดยเจ้าหน้าทีห้องปฏิบัติการในประเทศเยอรมันนีและยูโกสลาเวียที่ทำงานเกี่ยวกับเนื้อเยื่อของลิงที่นำมาจากทวีปแอฟริกามีอาการแสดงของไข้เลือดออก มีผู้ติดเชื้อ 31 รายและเสียชีวิต 7 ราย 
 
ไวรัสอีโบลาถูกค้นพบเมื่อปีค.ศ. 1976 เมื่อมีการพบผู้ป่วยไข้เลือดออกที่ประเทศ Zaire (ปัจจุบันคือประเทศ Democratic Republic of Congo) และซูดานใต้ และได้ตั้งชื่อสายพันธุ์ก่อโรคตามประเทศที่พบคือสายพันธุ์ Zairian และ Sudanese ซึ่งมีอัตราการตายสูงทั้ง 2 สายพันธุ์ หลังจากนั้นเชื้อไวรัสอีโบลาได้เกิดการระบาดเป็นระยะในทวีปแอฟริกา เช่น ในปีค.ศ. 1995 ที่ประเทศ Democratic Republic of Congo ปีค.ศ. 2000 และ 2008 ที่ประเทศยูกานดา ล่าสุดในปีค.ศ. 2012 ที่ประเทศ Democratic Republic of Congo 
ผู้ติดเชื้อไวรัสอีโบลาจะมีอาการแสดงคล้ายไข้หวัดใหญ่ คือ มีไข้สูง ปวดหัว ปวดตามกล้ามเนื้อและข้อต่อ อ่อนเพลีย ท้องเสีย อาเจียน ปวดบริเวณท้อง เบื่ออาหาร ในบางรายอาจพบผื่น ตาแดง ไอ ปวดหน้าอก หายใจลำบาก กลืนลำบาก มีเลือดออกและเสียชีวิตในที่สุด อาการจะปรากฏในช่วง 2 – 21 วันหลังจากได้รับเชื้อโดยปกติจะพบอาการในช่วง 8 – 10 วัน ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนที่ใช้ป้องกันหรือยาที่ใช้รักษาโรคนี้ 
การรักษาทำได้โดยรักษาตามอาการ ได้แก่ การรักษาสมดุลย์ของของเหลวและอิเล็กโตรลัยต์ในร่างกาย รักษาระดับออกซิเจนและความดันเลือด รวมถึงรักษาการติดเชื้อเทรกซ้อนต่างๆ 
เชื้อนี้สามารถติดต่อได้โดยการสัมผัสกับเลือดหรือสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อ ในช่วงที่เกิดเชื้อไวรัสนี้สามารถแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็วในสถาณพยาบาล การติดเชื้อสามารถเกิดได้กับเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ที่ไม่มีการป้องกันอย่างเหมาะสม เช่นไม่ใส่หน้ากากหรือถุงมือ เนื่องจากยังไม่มีวัคซีนที่ใช้ป้องกันการติดเชื้อนี้ การป้องกันที่ทำได้คือแยกผู้ติดเชื้อออกจากผู้ไม่ติดเชื้อ และหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับเลือดหรือสารคัดหลั่งของผู้ที่สงสัยว่าติดเชื้อ 
สำหรับไวรัสอีโบลาที่ระบาดอยู่ในปัจจุบันได้เริ่มต้นขึ้นในเดือนมีนาคม ค.ศ.2014 เมื่อองค์การอนามัยโลก (World Health Organization; WHO) และกระทรวงสาธารณสุขของประเทศ Guinea พบการระบาดของเชื้อไวรัสนี้ที่บริเวณตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศ โดยสาเหตุคาดว่าเกิดจากการรับประทานค้างคาวที่มีเชื้อไวรัสอีโบลาอยู่ จากนั้นเกิดการระบาดไปยัง ประเทศเพื่อนบ้านอีก 2 ประเทศ คือ Liberia และ Sierra Leone โดยที่ประเทศกินีมีรายงานผู้ติดเชื้อ 86 ราย เสียชีวิต 59 ราย (ร้อยละ 68.5) ณ วันที่ 24 มีนาคม 2014 ข้อมูลเบื้องต้นจาก Pasteur Institute in Lyon ประเทศฝรั่งเศส พบว่าเชื้อไวรัสอีโบลาสายพันธุ์ Zaire เป็นสาเหตุของการระบาดครั้งนี้ ปัจจุบันเชื้อไวรัสอีโบลายังคงแพร่ระบาดอยู่ในสามประเทศ (รูปที่ 2) และมีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตเพิ่มมากขึ้น จากรายงานของ Center for Disease Control (CDC) เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2557 พบว่าที่ประเทศกินีมีผู้ที่คาดว่าติดเชื้อ 460 ราย เสียชีวิต 339 ราย ยืนยันการติดเชื้อ 336 ราย ประเทศไลบีเรียสงสัยว่าติดเชื้อ 329 ราย เสียชีวิต 156 ราย ยืนยันการติดเชื้อ 100 รายและเซียร์ราลีโอนสงสัยว่าติดเชื้อ 533 ราย เสียชีวิต 233 ราย ยืนยันการติดเชื้อ 473 ราย ล่าสุดได้มีรายงานผู้ต้องสงสัยว่าติดเชื้อไวรัสอีโบลาที่ประเทศไนจีเรีย 1 รายและเสียชีวิต แต่ยังไม่มีการยืนยันจากห้องปฏิบัติการว่าติดเชื้อไวรัสนี้จริง รวมทั้งสิ้นมีผู้ติดเชื้อ 1323 ราย เลียชีวิต 729 ราย 

 

 

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. Knipe DM, Howley PM. Fields Virology, 5th Edition. Philadelphia : Wolters Kluwer Health/Lippincott Williams & Wilkins, c2007.
  2. http://www.cdc.gov/vhf/ebola/outbreaks/guinea/index.html Access August1, 2014
  3. http://www.who.int/csr/don/2014_07_31_ebola/en/ Accessed August 1, 2014


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


ไวรัสอีโบลา 1 วินาทีที่แล้ว
มะระขี้นก 1 นาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2025
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้