เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


Trick-Or-Treat!! ...ส่งฟักทองมาซะดีๆ นะ


กฤติยา ไชยนอก สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

อ่านแล้ว 26,395 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 06/11/2556
อ่านล่าสุด 3 นาทีที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 

เมื่อย่างเข้าปลายเดือนตุลาคม เทศกาลที่ต้องได้รับการกล่าวขวัญถึงคงหนีไม่พ้น “เทศกาลฮาโลวีนนนน...” ใช่แล้ว...วันที่ 31 ตุลาคมของทุกปีคือวันฮาโลวีนไงล่ะ... 
ฮาโลวีนเป็นเทศกาลของชาวตะวันตกที่เด็กๆ จะได้สนุกสนานกับการแต่งตัวเป็นคุณผีทั้งหลาย แล้วก็ออกไปตามบ้านต่างๆ เพื่อขอขนม ลูกอม หรือบางครั้งก็เป็นเงิน โดยการกล่าวคำว่า Trick-Or-Treat!!...ความหมายก็คือ หากเจ้าของบ้านไม่ทำการ 'Treat' หรือก็คือการมอบสิ่งของตามที่เด็กๆ ร้องขอละก็ เป็นต้องโดนก่อกวน หรือ 'Trick' แน่ๆ ซึ่งประวัติความเป็นมา หรือรูปแบบการละเล่นของแต่ละพื้นที่ก็สามารถหาอ่านได้จากหนังสือหรือ website ทั่วไป แต่ประเด็นที่เราจะมาพูดถึงในตอนนี้ ไม่ใช่ว่าเราจะมาเชิญชวนให้ท่านทั้งหลายออกไป “Trick-Or-Treat” ชาวบ้านชาวช่องเขาหรอกนะ (ยิ่งน้ำท่วมๆ แบบนี้ด้วย คนที่จะโดน 'Trick' ท่าทางจะเป็นคนที่ไปขอ 'Treat' ซะมากกว่า) แต่เรากำลังจะพูดถึงเจ้า 'ฟักทอง' ที่มักจะถูกนำมาแกะสลักเป็นโคมไฟ หรือที่เรียกว่า แจ๊ก-โอ'-แลนเทิร์น (jack-o'-lantern) เพื่อนำไปประดับตามบ้านหรือตามทางเดินในวันฮาโลวีนต่างหากล่ะ... 
ฟักทอง (Pumpkin) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cucurbita pepo L. อยู่ในวงศ์ CUCURBITACEAE ไม่ว่าชาติไหนก็นิยมนำมาทำอาหารทั้งคาวหวาน เนื่องจากมีรสชาติที่หอมหวานอร่อย เนื้อของฟักทองอุดมไปด้วยโปรตีน คาร์โบไฮเดรต วิตามินซี วิตามินอี ไนอาซิน (วิตามินบี 3) แมกนีเซียม โปแตสเซียม เซเลเนียม สังกะสี และเหล็ก นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งสำคัญของสารในกลุ่มแคโรทีนอยด์ (carotenoids) ชนิดต่างๆ ที่เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะถูกเปลี่ยนไปเป็นวิตามินเอ ช่วยบำรุงสายตาและผิวพรรณ ฟักทองจึงจัดเป็นอาหารที่เหมาะสำหรับผู้ที่ขาดวิตามินเอ และในเนื้อของฟักทองมีกากใยอาหารมาก จึงช่วยให้ระบบย่อยอาหารของร่างกายทำงานดีขึ้น เมล็ดฟักทองสามารถนำมาทำเป็นของขบเคี้ยวสำหรับทานเล่น ที่เมื่อเริ่มกินแล้วหยุดกันไม่ค่อยอยู่จริงๆ แถมยังมีคุณค่าทางโภชนาการสูงอีกต่างหาก เพราะในเมล็ดฟักทองมีทั้งน้ำมัน แป้ง โปรตีน วิตามิน และยังเป็นแหล่งของธาตุฟอสฟอรัส ที่ช่วยเสริมสร้างกระดูกและฟันให้แข็งแรง รวมทั้งช่วยรักษาสมดุลของกรดและด่างภายในร่างกายอีกด้วย 
การศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาพบว่า สารเบต้าแคโรทีนในเนื้อสีเหลืองของฟักทองมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ และมีฤทธิ์ต้านเซลล์มะเร็งหลายชนิด การศึกษาเปรียบเทียบความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งโดยพิจารณาถึงการใช้ชีวิตและอาหารการกินระหว่างคนที่เป็นมะเร็งและคนปกติพบว่า ผู้ที่มักจะรับประทานผักผลไม้ที่อุดมไปด้วยสารแคโรทีน (carotene-containing vegetable) เช่น แครอท ฟักทอง มะเขือเทศ กะหล่ำ ผักกาด และผักใบเขียวอื่นๆ เป็นประจำ จะมีความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งในกระเพาะอาหาร ลำไส้ ปอด และเต้านมลดลง การศึกษาในสัตว์ทดลองพบว่า ฟักทองสามารถเพิ่มระดับอินซูลินในเลือด ทำให้น้ำตาลในเลือดลดลง นอกจากนี้ยังมีฤทธิ์ลดความดันโลหิต แก้ปวด บรรเทาการอักเสบ กระตุ้นการทำงานของเซลล์ภูมิคุ้มกันของร่างกาย แก้ท้องเดิน ช่วยให้ผิวพรรณชุ่มชื้น และช่วยชะลอความแก่ 
การศึกษาในเมล็ดฟักทองก็พบฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่สำคัญไม่แพ้กัน โดยพบว่าสารคิวเคอร์บิตาซิน (cucurbitacins) ในเมล็ดฟักทอง มีประสิทธิภาพในการต้านมะเร็งและเสริมฤทธิ์กับยาแผนปัจจุบันที่ใช้รักษามะเร็ง เช่น ดอกโซรูบิซิน (doxorubicin) เจ็มซิทาบีน (gemcitabine) เมื่อทำการศึกษาในเซลล์มะเร็ง นอกจากนี้เมล็ดฟักทองยังมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและฤทธิ์บรรเทาอาการอักเสบ กรดไขมันชนิดไม่อิ่มตัวในเมล็ดฟักทองมีฤทธิ์ลดคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอร์ไรด์ในเลือด อีกทั้งยังช่วยปกป้องเซลล์ตับด้วย การศึกษาทางคลินิกพบว่าสารสกัดจากเมล็ดฟักทองมีฤทธิ์ในการรักษาโรคต่อมลูกหมากโตโดยไม่ทำให้เกิดอาการที่ไม่พึงประสงค์ในคนไข้เกือบทั้งหมด และงานวิจัยในประเทศไทยพบว่า การรับประทานขนมที่ทำจากเมล็ดฟักทองสามารถป้องกันและรักษาโรคนิ่วในกระเพาะปัสสาวะได้ ฤทธิ์สำคัญอีกประการหนึ่งของเมล็ดฟักทองคือฤทธิ์ขับพยาธิ โดยพบว่าเมล็ดฟักทองสดและเมล็ดฟักทองคั่วสามารถใช้ขับพยาธิในลำไส้ได้ การวิจัยทางคลินิกพบว่าเมล็ดฟักทองขนาด 23 ก. ในน้ำกลั่น 100 มล. มีสรรพคุณขับพยาธิได้ดี ซึ่งรายละเอียดเกี่ยวกับฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของฟักทอง สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ในจุลสารข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ฉบับปีที่ 8(3) และ 27(4) 
เอาละ...ในเมื่อรู้ถึงคุณประโยชน์อันมากมายของคุณพี่ฟักทองกันแล้ว วันฮาโลวีนที่จะถึงนี้ หากใครยังไม่มีกิจกรรมที่ไหน เราขอเสนอกิจกรรมการทำเมนูฟักทอง ไม่ว่าจะเป็น...แกงบวดฟักทอง น้ำฟักทอง ฟักทองนึ่ง สังขยาฟักทอง ฟักทองผัดไข่ หรือเมนูอื่นๆ แล้วแต่ความสร้างสรรค์ของแต่ละท่าน มาทำทานกันเองในครอบครัวให้มันอบอุ่นๆ และเข้ากับเทศกาลกันดีกว่าเนอะ…ขอให้ทุกท่านสนุกสนานกับเทศกาลฮาโลวีนค่ะ 
Happy Halloween!!

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. Grabenstein John D. ImmunoFacts : Vaccines and Immunologic Drugs-2010. St. Louis, Mo.: Wolters Kluwer Health; 2009.
  2. HPV and Cancer. National Cancer Institute; [cited 2013 June 9]; Available from: http://www.cancer.gov/cancertopics/factsheet/Risk/HPV#r6.
  3. Human Papillomavirus (HPV) Vaccines. National Cancer Institute; [cited 2013 June 9]; Available from: http://www.cancer.gov/cancertopics/factsheet/Prevention/HPV-vaccine.
  4. วัคซีน : การวิจัยพัฒนา การผลิต การควบคุมคุณภาพ และการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค. จรุง เมืองชนะ, สมฤดี จันทร์ฉวี, บรรณาธิการ. นนทบุรี: สำนักงานกิจการโรงพิมพ์องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก; 2555.

-->



บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


1 นาทีที่แล้ว
วิตามินและแร่ธาตุ 1 นาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้