เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


เครื่องวัดความดันโลหิต


รองศาสตราจารย์.ดร.ภญ.พิสมัย กุลกาญจนาธร, รศ.ภญ.ยุวดี วงษ์กระจ่าง และ ภก.วสุ ศุภรัตนสิทธิ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

อ่านแล้ว 262,226 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 16/10/2556
อ่านล่าสุด 1 ช.ม.ที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 

ความดันโลหิตเกิดจากการบีบตัวของหัวใจ และแรงต้านทานของหลอดเลือด ความดันจะเพิ่มขณะที่หัวใจบีบตัว และลดลงขณะที่หัวใจคลายตัว ความดันโลหิตของคนเราไม่เท่ากันตลอดเวลาขึ้นกับท่าทาง ความเครียด การออกกำลังกาย และการพักผ่อนนอนหลับ ค่าความดันปรกติคือ 120/80 มิลลิเมตรปรอท เมื่อความดันสูงกว่าเกิน 140/90 มิลลิเมตร แสดงว่าเป็นโรคความดันโลหิตสูง 
โรคความดันโลหิตสูงเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ โรคไต โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคอัมพาต โรคหัวใจเป็นโรคที่มีอัตราตายสูง ดังนั้นการป้องกันความดันโลหิตสูงสามารถป้องกันอัตราการตายจากโรคหัวใจ และโรคอัมพาต โรคความดันโลหิตสูงเป็นภัยเงียบที่คุกคามชีวิตของทุกท่านและไม่มีอาการเตือน ดังนั้นการจะทราบว่าเป็นความดันโลหิตสูงจำเป็นต้องวัดความดันโลหิต แนวทางการรักษาความดันโลหิตสูง (2013 ESH/ESC Guidelines) ให้ความสำคัญกับ home blood pressure monitoring (HBPM) ในการพยากรณ์โรค, การวินิจฉัยและการรักษาโรคความดันโลหิตสูง 
home blood pressure monitoring (HBPM) เป็นการวัดความดันโลหิตด้วยตนเองที่บ้าน ด้วยตัวของผู้ป่วยเอง หรือ บุคคลในครอบครัวที่ได้รับการแนะนำวิธีและเทคนิคในการวัดความดันโลหิต การวัดความดัน ควรทำในห้องที่เงียบสงบ ผู้ป่วยควรอยู่ในท่านั่ง ที่มีการรองหลังและแขน เป็นเวลาอย่างน้อย 5 นาทีก่อนทำการวัดความดัน ควรวัดความดัน 2 ครั้ง ในระยะห่าง 1 ถึง 2 นาที และทำการบันทึกข้อมูลในสมุดจดทันทีที่ทำการวัดเสร็จในแต่ละรอบ การวัดความดันโลหิต ควรทำทุกวัน ติดกันอย่างน้อย 3 ถึง 4 วัน และควรวัดสม่ำเสมอ ที่ระยะทุกๆ 7 วัน ในเวลากลางวัน และเวลากลางคืน 
มารู้จักเครื่องวัดความดันโลหิตกัน เครื่องวัดความดันโลหิตมีอยู่ 3 ชนิดคือ 
เครื่องวัดความดันชนิดปรอท (Mercury sphygmonometer) 
 
เครื่องวัดความดันชนิดปรอท เป็นเครื่องมือมาตรฐานสำหรับวัดความดันโลหิต วัดง่ายไม่ต้องมีการปรับแต่ง ใช้หลักการแรงโน้มถ่วงของโลก ให้ผลการวัดที่แม่นยำ เครื่องมือประกอบด้วยแท่งแก้วที่มีสารปรอทอยู่ภายใน บางท่านไม่แนะนำให้ใช้ตามบ้านเพราะกลัวอันตรายจากสารปรอท แต่รุ่นที่ออกแบบสำหรับใช้ตามบ้านจะมีความปลอดภัยสูง ข้อเสียของเครื่องมือนี้คือ มีขนาดใหญ่พกพาลำบาก เครื่องจะต้องตั้งตรงบนพื้นเรียบ แท่งปรอทจะต้องอยู่ระดับสายตาจึงจะอ่านค่าได้แม่นยำ ผู้ที่สายตาไม่ดีหรือได้ยินไม่ชัดหรือไม่สามารถบีบลมจะทำให้การวัดไม่แม่น หากมีการรั่วอาจจะเกิดพิษจากสารปรอท เครื่องวัดความดันชนิดขดลวด (Aneroid equipment) 
เครื่องวัดความดันชนิดขดลวด 
 
เป็นเครื่องมือที่ราคาไม่แพง น้ำหนักเบา และพกพาสะดวกมากกว่าชนิดปรอท เครื่องวัดชนิดนี้สามารถวางตำแหน่งไหนก็ได้ บางรุ่น มีหูฟังอยู่ในสายพันแขน ข้อด้อยของเครื่องมือนี้คือ เครื่องมือมีกลไกซับซ้อน ต้องปรับเครื่องมือโดยเทียบกับเครื่องมือชนิดปรอทอย่างน้อยปีละครั้งหรือเมื่อมีการทำตก หากผู้ป่วยใช้ไม่ถูกต้องอาจจะทำให้เครื่องชำรุด และต้องส่งไปซ่อม ผู้ที่สายตาไม่ดีหรือได้ยินไม่ชัดหรือไม่สามารถบีบลมจะทำให้การวัดไม่แม่น 
เครื่องวัดความดันชนิดดิจิตอล (Automatic equipment) 
 
เครื่องวัดความดันชนิดดิจิตอล เป็นเครื่องมือที่ไม่ต้องมีหูฟังหรือลูกยางสำหรับบีบลมทำให้สะดวกในการใช้งาน สามารถพกพาได้ง่าย ข้อผิดพลาดน้อยเหมาะสำหรับผู้ป่วยสูงอายุ สายตาและการได้ยินไม่ดี แสดงผลเป็นตัวเลขที่หน้าจอพร้อมกับอัตราการเต้นของหัวใจ บางชนิดสามารถพิมพ์ผลค่าที่วัด สายพันมีทั้งชนิดพันที่แขนและข้อมือ ข้อด้อยคือ เครื่องมือประกอบด้วยกลไกซับซ้อน แตกหักง่าย ต้องมีการตรวจสอบความแม่นยำของการวัดเมื่อเทียบกับเครื่องชนิดปรอท หากร่างกายเคลื่อนไหวจะทำให้เกิดการผิดพลาดของการวัด ราคาค่อนข้างแพง และต้องใช้ไฟฟ้า 
ปัจจุบันเครื่องวัดความดันโลหิต จัดเป็นเครื่องมือแพทย์ทั่วไป พระราชบัญญัติเครื่องมือแพทย์ พ.ศ. 2551 เนื่องจากปรอทมีพิษและเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งมติจากที่ประชุมมนตรีประศาสน์การของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ ให้จัดทำมาตรการทางกฎหมายระหว่างประเทศด้านการจัดการสารปรอท ซึ่งกำหนดให้ยกเลิกการใช้ผลิตภัณฑ์ปรอทภายในปี 2567 เครื่องวัดความดันโลหิตชนิดปรอทจึงเป็นผลิตภัณฑ์ที่เข้ามาตรการนี้ด้วย 
โครงการศึกษาวิเคราะห์สถานการณ์สาหรับการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย ในการบริหารจัดการความปลอดภัยของสารปรอทในผลิตภัณฑ์ โดยคณะเภสัชศาสตร์ และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ได้ทำการศึกษาสถานการณ์การใช้เครื่องวัดความดันในปัจจุบัน (พ.ศ. 2556) พบว่า มีการใช้เครื่องวัดความดันชนิดปรอทเพียงร้อยละ 18 เท่านั้น เมื่อต้องยกเลิกการใช้ความดันชนิดปรอท จึงไม่น่าจะมีผลกระทบมากนัก แต่ปัญหาน่าจะเกิดจากมาตรฐานของเครื่องวัดความดันอัตโนมัติ ซึ่งจากโครงการ “การพัฒนาขีดความสามารถการทวนสอบเครื่องวัดความดันโลหิตของห้องปฏิบัติการทางการแพทย์” ของสำนักรังสีและเครื่องมือแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และโครงการ “การยกระดับการควบคุมเครื่องวัดความดันโลหิตเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ปี พ.ศ.2555” โดย สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ และกองควบคุมเครื่องมือแพทย์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา พบว่าจากการสุ่มตัวอย่างกว่า 1,200 เครื่องทั่วประเทศ พบว่ามีเครื่องที่ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน ประมาณร้อยละ 10 และร้อยละ 17 ไม่สามารถทดสอบได้ เนื่องจากขาดข้อมูลทางเทคนิคและอุปกรณ์พิเศษเฉพาะรุ่นของเครื่องนั้น 
เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค โครงการฯจึงมีข้อเสนอเชิงนโยบาย (โดยสังเขป) ดังนี้

  • ควรยกระดับการควบคุมเครื่องวัดความดันเป็นเครื่องมือแพทย์ที่มีการกำหนดมาตรฐาน และมีการสอบเทียบหลังการใช้งานทุก 2 ปี อย่างต่อเนื่อง
  • กำหนดให้บริษัทผู้ผลิต หรือผู้จัดจำหน่ายต้องมีคู่มือแนะนำ วิธีมาตรฐานในการใช้ การจัดเก็บ และการบำรุงรักษาเครื่องมือ สำหรับผู้ใช้งาน และผู้ดูแลเครื่องมือ และจัดหาข้อต่อชิ้นส่วนรองรับ (ถ้ามี) เพื่อให้เครื่องวัดความดันโลหิตอัตโนมัติสามารถเข้าระบบการทดสอบมาตรฐานได้
  • ต้องตรวจสอบสภาพการใช้งานของเครื่องวัดความดันโลหิต อย่างสม่ำเสมอ
  • ควรมีกฎหมายหรือมาตรฐานทางสังคมต่อผู้ผลิตหรือจัดจำหน่ายเครื่องมือทางการแพทย์ต่างๆ ให้มีความร่วมมือในการเผยแพร่องค์ความรู้ในการจัดการเครื่องมือที่ถูกต้อง เช่น วิธีการทดสอบมาตรฐานเครื่อง อาจรวมเป็นมาตรฐานการให้บริการบริการหลังการจำหน่าย โดยสรุปควรกำหนดมาตรฐานของเครื่องวัดความดัน และกำหนดให้ตรวจสอบความถูกต้องเป็นระยะทุก 2 ปี ซึ่งอาจกำหนดให้เป็นภาระของผู้จำหน่าย โดยประกาศแจ้งให้ผู้ใช้และผู้ดูแลเครื่องมือทราบและติดตามการตรวจสอบตามกำหนดเวลา เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับประโยชน์สูงสุด

** ข้อมูลจากโครงการศึกษาเพื่อวิเคราะห์สถานการณ์การสำหรับการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายในการบริหารจัดการความปลอดภัยของสารปรอทในผลิตภัณฑ์สุขภาพ นำเสนอคณะทำงานด้านการจัดการสารปรอททางภาคสาธารณสุข สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข 

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. Grabenstein John D. ImmunoFacts : Vaccines and Immunologic Drugs-2010. St. Louis, Mo.: Wolters Kluwer Health; 2009.
  2. HPV and Cancer. National Cancer Institute; [cited 2013 June 9]; Available from: http://www.cancer.gov/cancertopics/factsheet/Risk/HPV#r6.
  3. Human Papillomavirus (HPV) Vaccines. National Cancer Institute; [cited 2013 June 9]; Available from: http://www.cancer.gov/cancertopics/factsheet/Prevention/HPV-vaccine.
  4. วัคซีน : การวิจัยพัฒนา การผลิต การควบคุมคุณภาพ และการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค. จรุง เมืองชนะ, สมฤดี จันทร์ฉวี, บรรณาธิการ. นนทบุรี: สำนักงานกิจการโรงพิมพ์องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก; 2555. -->


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


18 วินาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้