เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


ยาเขียว ยาไทยใช้ได้ทั้งผู้ใหญ่และเด็ก…


รองศาสตราจารย์ รุ่งระวี เต็มศิริฤกษ์กุล ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

อ่านแล้ว 871,877 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 11/08/2556
อ่านล่าสุด 1 ช.ม.ที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 

ยาเขียวเป็นตำรับยาไทย ตามองค์ความรู้ของแพทย์แผนไทย หรือหมอพื้นบ้าน ที่มีการใช้กันมานานหลายทศวรรษ และเป็นตำรับที่ยังมีการผลิตขายทั่วไปตราบจนปัจจุบัน ประชาชนทั่วไปในสมัยก่อนจะรู้จักวิธีการใช้ยาเขียวเป็นอย่างดี กล่าวคือ มักใช้ยาเขียวในเด็กที่เป็นไข้ออกผื่น เช่น หัด อีสุกอีใส เพื่อกระทุ้งให้พิษไข้ออกมา เป็นผื่นเพิ่มขึ้น และหายได้เร็ว 
ตำรับยาเขียว มีส่วนประกอบของพืชที่ใช้ส่วนของใบเป็นองค์ประกอบหลัก การที่ใช้ส่วนของใบทำให้ยามีสีค่อนข้างไปทางสีเขียว จึงทำให้เรียกกันว่า ยาเขียว และใบไม้ที่ใช้นี้ส่วนใหญ่ มีสรรพคุณ เป็นยาเย็น หอมเย็น หรือ บางชนิดมีรสขม เมื่อประกอบเป็นตำรับแล้ว จัดเป็นยาเย็น ทำให้ตำรับยาเขียวส่วนใหญ่มีสรรพคุณ ดับความร้อนของเลือดที่เป็นพิษ1 ( พิษในที่นี้ มีความหมายแตกต่างจากความเข้าใจในปัจจุบัน คือ ไม่ใช่สารพิษ แต่น่าจะหมายถึง ของเสียที่เกิดขึ้นในเลือดมากกว่าปกติ และร่างกายกำจัดออกไม่หมด อาจจะตรงกับ toxin หรือ oxidative stress ที่เกิดขึ้นในภาวะโรค หรือจากการติดเชื้อบางชนิด--ผู้เขียน) ซึ่งตามความหมายของการแพทย์แผนไทยนั้น หมายถึงการที่เลือดมีพิษและความร้อนสูงมากจนต้องระบายทางผิวหนัง เป็นผลให้ผิวหนังเป็นผื่น หรือ ตุ่ม เช่นที่พบในไข้ออกผื่น หัด อีสุกอีใส เป็นต้น 
ตำรับยาเขียวที่พบในคัมภีร์แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์มีบันทึกไว้ 3 ตำรับ ได้แก่ ยาเขียวมหาพรหม ยาเขียวน้อย ยาเขียวประทานพิษ และ ตำรับยาเขียวหอม ที่ได้รับการบรรจุในบัญชียาสามัญประจำบ้านแผนโบราณตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2556 พบว่าใบไม้ที่ใช้ในยาเขียว มีมากมายหลายชนิด ได้แก่ ใบพิมเสน ใบผักกระโฉม ใบหมากผู้ ใบหมากเมีย ใบพรมมิ ใบสันพร้าหอม ใบบอระเพ็ด ใบชิงช้าชาลี ใบมะระ ใบสะเดา ใบน้ำเต้า ใบหนาด ใบกะเม็ง ใบแคแดง ใบทองหลางใบมน ใบมะเฟือง ใบนมพิจิตร ใบแทงทวย ใบพริกไทย ใบน้ำเต้าขม ใบปีบ ใบย่านาง ใบเท้ายายม่อม ใบหญ้าน้ำดับไฟ ใบระงับ ใบตำลึงตัวผู้ ใบฟักข้าว ใบถั่วแระ ใบระงับพิษ ใบเสนียด ใบอังกาบ ใบสะค้าน ใบดีปลี ใบมะตูม ใบสมี ใบลำพัน ใบสหัศคุณ ใบกระวาน ใบผักเสี้ยนทั้ง ๒ ใบเถาวัลย์เปรียง ใบผักกาด ใบคนทีสอ ใบมะนาว ใบมะคำไก่ ใบมะยม ใบมะเฟือง ใบสลอด ใบขี้หนอน ใบสมี ใบขี้เหล็ก ใบผักเค็ด ใบพุมเรียงทั้ง ๒ 
ยาเขียวหอม ที่บรรจุอยู่ในบัญชียาสามัญประจำบ้านแผนโบราณ พ.ศ.๒๕๕๖ ประกอบด้วย ใบพิมเสน ใบผักกระโฉม ใบหมากผู้ ใบหมากเมีย ซึ่งมีรสเย็น แก้ไข้ ตัวยาเย็นอื่นๆที่มิใช่ส่วนของใบ ได้แก่ รากแฝกหอม มหาสดำ ดอกพิกุล สารภี เกสรบัวหลวง ว่านกีบแรด เนระพูสี ตัวยาแก้ไข้ที่มีรสขม ได้แก่ จันทน์แดง พิษนาศน์ เนื่องจากยาไทยเป็นยารักษาโดยองค์รวม ดังนั้นจึงพบตัวยาสรรพคุณอื่นๆได้แก่ ตัวยารสสุขุม เพื่อควบคุมร่างกายมิให้เย็นจนเกินไป ได้แก่ ใบสันพร้าหอม บุนนาค พร้อมกับตัวยาช่วยปรับการทำงานของธาตุลมได้แก่ จันทน์เทศ เปราะหอม ว่านร่อนทอง อย่างไรก็ดี ในสูตรตำรับยาเขียวหอมที่บรรจุในประกาศบัญชียาสามัญประจำบ้านฉบับล่าสุด ได้ตัดไคร้เครือออกจากตำรับ เนื่องจากมีข้อมูลงานวิจัยบ่งชี้ว่าไคร้เครือที่ใช้ และจำหน่ายในท้องตลาด เป็นพืชในสกุล Aristolochia ซึ่งพืชในสกุลนี้มีรายงานพบสาร aristolochic acid ก่อให้เกิดความเป็นพิษต่อไต (nephrotoxicity) และ องค์การอนามัยโลกได้ประกาศให้พืชสกุล Aristolochia เป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2002 
การใช้ยาเขียวหอม บรรเทาอาการไข้ ร้อนในกระหายน้ำ ควรใช้น้ำกระสายยา เพื่อช่วยละลายตัวยา ทำให้ยาออกฤทธิ์เร็วขึ้น เช่น น้ำสุกหรือน้ำดอกมะลิเป็นน้ำกระสาย เพื่อให้ยาออกฤทธิ์แรงขึ้น ด้วยเหตุว่าน้ำดอกมะลิ มีรสหอมเย็น ช่วยเสริมฤทธิ์ของยาตำรับ 
ยาเขียวยังใช้เป็นยาแก้ไข้ออกผื่น เช่น หัด อีสุกอีใส ซึ่งมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัส ทั้งวิธีกินและทา โดยละลายยา ด้วยน้ำรากผักชีต้ม ในปี 2548 มีการศึกษาฤทธิ์ของยาเขียวที่มีในท้องตลาด 3 ชนิด ในการยับยั้งเชื้อไวรัส varicella zoster ที่เป็นสาเหตุของโรคอีสุก อีใส และงูสวัด ซึ่งผลปรากฏว่า ยาเขียวทั้ง 3 ชนิดไม่แสดงฤทธิ์ดังกล่าว1 อันที่จริงการใช้ยาเขียวในโรคไข้ออกผื่นในแผนไทย ไม่ได้มีจุดประสงค์ในการยับยั้งเชื้อไวรัส แต่ต้องการกระทุ้งพิษที่เกิดขึ้นให้ออกมามากที่สุด ผู้ป่วยจะหายได้เร็วขึ้น ผื่นไม่หลบใน หมายถึงไม่เกิดผื่นภายใน ดังนั้นจึงมีหลายคนที่กินยาเขียวแล้วจะรู้สึกว่ามีผื่นขึ้นมากขึ้นจากเดิม แพทย์แผนไทยจึงแนะนำให้ใช้ทั้งวิธีกินและชโลม โดยการกินจะช่วยกระทุ้งพิษภายในให้ออกมาที่ผิวหนัง และการชโลมจะช่วยลดความร้อนที่ผิวหนัง ถ้าจะเปรียบเทียบกับหลักการแพทย์แผนปัจจุบัน น่าจะเป็นไปได้ที่ยาเขียวอาจออกฤทธิ์โดยลดการอักเสบ หรือ เพิ่มภูมิคุ้มกัน หรือต้านออกซิเดชัน แต่อย่างไรก็ดี ยังไม่มีงานวิจัยใดๆสนับสนุน อีกทั้งยังไม่มีการเก็บข้อมูลการใช้ยาเขียวในผู้ป่วยไข้ออกผื่น หรืออาการไข้ธรรมดา แต่การที่มีการใช้ตั้งแต่โบราณ น่าจะเป็นคำตอบได้ระดับหนึ่งว่า การใช้ยาเขียวน่าจะบรรเทาอาการไข้ออกผื่นได้ไม่มากก็น้อย แม้จะมีความรู้ที่ว่าไข้ออกผื่นที่เกิดจากไวรัสสามารถหายได้เอง ความทรมาณที่เกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาที่เป็นซึ่งอาจบรรเทาได้ด้วยยาเขียวก็เป็นที่น่าสนใจศึกษาพิสูจน์ฤทธิ์ต่อไป อนึ่ง ยาเขียวหอมเป็นตำรับที่บรรจุอยู่ในบัญชียาสามัญประจำบ้าน และบัญชียาสมุนไพรที่เป็นบัญชียาหลักแห่งชาติ น่าจะเป็นคำตอบได้ว่า ยาเขียวเป็นยาที่มีการใช้กันมาอย่างยาวนาน เป็นที่ยอมรับ แม้ยังมีการวิจัยไม่มาก การใช้สืบต่อกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษของเรา ซึ่งอาจจะยาวนานกว่าสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ก็น่าจะไว้วางใจในความปลอดภัยได้ระดับหนึ่ง และหากเรานำมาใช้อย่างผสมผสานกับการแพทย์แผนปัจจุบันโดยพิจารณาจากคนไข้ จะทำให้เกิดผลดีต่อสุขภาพ มากกว่าการหวังพึ่งการแพทย์เพียงแผนใดแผนหนึ่งเพียงอย่างเดียว 
เนื่องจากตำรับมีองค์ประกอบเป็นดอกไม้ 4 ชนิด ได้แก่ พิกุล บุนนาค สารภี เกสรบัวหลวง ซึ่งมีละอองเรณูผสมอยู่ ดังนั้น จึงหลีกเลี่ยงในผู้ที่มีประวัติการแพ้ละอองเกสรดอกไม้ 
นอกจากนี้ยังไม่เคยมีรายงานความปลอดภัยในกลุ่มคนไข้เลือดออก อีกทั้งสมุนไพรส่วนหนึ่งมักมีรายงานการยับยั้งการจับตัวของเกล็ดเลือด หรือละลายลิ่มเลือด เช่น พรมมิ2 เพื่อความปลอดภัยจึงไม่ควรใช้ในผู้ที่สงสัยว่าเป็นไข้เลือดออก เนื่องจากอาจบดบังอาการ 
สรุปได้ว่า ยาเขียวเป็นยาที่ใช้กันมานาน และเป็นมรดกทางการแพทย์แผนไทยที่ควรสืบทอด พร้อมกับศึกษาทางคลินิก หรือการรวบรวมข้อมูลการใช้อย่างต่อเนื่อง เพื่อการใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ต่อไป

 

ยาเขียวหอม3 
ในผงยา 90 กรัม ประกอบด้วย ใบพิมเสน ใบผักกระโฉม ใบหมากผู้หมากเมีย ใบสันพร้าหอม รากแฝกหอม หัวเปราะหอม แก่นจันทน์เทศหรือแก่นจันทน์ชะมด แก่นจันทน์แดง ว่านกีบแรด ว่านร่อนทอง เนระพูสี พิษนาศน์ มหาสดำ ดอกพิกุล ดอกบุนนาค ดอกสารภี เกสรบัวหลวง หนักสิ่งละ 5 กรัม

ข้อบ่งใช้

  1. บรรเทาอาการไข้ ร้อนในกระหายน้ำ
  2. แก้พิษหัด พิษอีสุกอีใส (บรรเทาอาการไข้จากหัดและอีสุกอีใส)
ขนาดและวิธีใช้ ผู้ใหญ่ รับประทานครั้งละ 1 กรัม ละลายน้ำกระสายยา ทุก 4 – 6 ชั่วโมง เมื่อมีอาการ เด็ก อายุ 6 – 12 ปี ครั้งละ 500 มิลลิกรัม ละลายน้ำกระสายยา ทุก 4 – 6 ชั่วโมง เมื่อมีอาการ

น้ำกระสายยาที่ใช้

  • กรณีบรรเทาอาการไข้ ร้อนในกระหายน้ำ ใช้น้ำสุก หรือน้ำดอกมะลิ เป็นน้ำกระสายยา
  • กรณีแก้พิษหัด พิษอีสุกอีใส ละลายน้ำรากผักชีต้ม เป็นน้ำกระสายยาทั้งรับประทาน และชโลม
หมายเหตุการชโลมใช้ยาผงละลายน้ำ 1 ต่อ 3 แล้วชโลม (ประพรม) ทั่วตามตัวบริเวณที่ตุ่มใสยังไม่แตก
ชนิดเม็ด
ผู้ใหญ่ รับประทานครั้งละ 1 กรัม ทุก 4 – 6 ชั่วโมง เมื่อมีอาการ
เด็ก อายุ 6 - 12 ปี รับประทานครั้งละ 500 มิลลิกรัม ทุก 4 – 6 ชั่วโมง เมื่อมีอาการ

ข้อควรระวัง

  • ควรระวังการใช้ยาในผู้ป่วยที่แพ้ละอองเกสรดอกไม้
  • ไม่แนะนำให้ใช้ในผู้ที่สงสัยว่าเป็นไข้เลือดออก เนื่องจากอาจบดบังอาการของไข้เลือดออก
  • หากใช้ยาเป็นเวลานานเกิน ๓ วัน แล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาแพทย์
ข้อมูลเพิ่มเติม ทางการแพทย์แผนไทย แนะนำให้ผู้ป่วยหัด อีสุกอีใส ห้ามรับประทานอาหารทะเล ไข่ และน้ำเย็น เนื่องจากผิดสำแดง

 

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. ผศ.ดร. ดลฤดี สงวนเสริมศรี, ผศ.ดร. เดือนถนอม พรหมขัติแก้ว มหาวิทยาลัยมหาสารคาม . ฤทธิ์การต้านเชื้อไวรัส varicella zoster ของตำรับยาเขียว (Anti-varicella zoster virus of Ya-keaw remedies). โครงการวิจัยภายใต้ทุนสนับสนุนของ สกว.
  2. Sweta Prasad, Rajpal S Kashyap, Jayant Y Deopujari, Hemant J Purohit, Girdhar M Taori and Hatim F Daginawala. Effect of Fagonia Arabica (Dhamasa) on in vitro thrombolysis. BMC Complementary and Alternative Medicine 2007, 7:36 doi:10.1186/1472-6882-7-36.
  3. บัญชียาจากสมุนไพร ใน ประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ เรื่อง บัญชียาหลักแห่งชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2554


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


33 วินาทีที่แล้ว
ยาคุมกำเนิดชนิดฉีด 37 วินาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2025
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้