เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


ปอบิด พิชิตสรรพโรคได้จริงหรือ?


รองศาสตราจารย์ รุ่งระวี เต็มศิริฤกษ์กุล ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

อ่านแล้ว 483,369 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 19/05/2556
อ่านล่าสุด 2 ช.ม.ที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 

 
ถ้ามีใครเดินไปตามร้านขายผัก หรือสมุนไพรในขณะนี้ คงไม่มีใครไม่เห็นสมุนไพรที่เรียกกันว่า ปอบิด วางขายอยู่ทั่วไปพร้อมทั้งมีใบปลิวแนบสรรพคุณมากมาย ตั้งแต่ รักษาเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ลดน้ำหนัก แก้เหน็บชา ชาปลายมือปลายเท้า ภูมิแพ้ ไทรอยด์ ปวดข้อ เข่า หลัง รวมถึง ไมเกรน บำรุงตับ ไต และใช้ได้ในโรคเรื้อรังทุกชนิด รวมถึงระบบของสตรี ด้วยวิธีการเตรียมที่ง่าย สะดวก โดยการต้ม และมีรสชาติที่ดื่มง่าย ดังนั้นมีผู้คนจำนวนมากเริ่มสนใจ และใช้มัน และมีหลายคนที่ตั้งคำถามที่ว่ามันใช้ได้จริงหรือ และปลอดภัยหรือไม่
ก่อนอื่นต้องทำความรู้จักกับปอบิดก่อน ปอบิดมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Helicteres isora L. เป็นพืชในวงศ์ Sterculiaceae มีชื่อเรียกตามท้องถิ่นมากมาย เช่น ปอกะบิด ปอทับ มะปิด มะบิด (พายัพ) ขี้อ้นใหญ่ ปอลิงไซ (ภาคเหนือ) ลูกบิด (ไทยภาคกลาง) ซ้อ (กะเหรี่ยง เชียงใหม่) เซ้าจี (สระบุรี) เป็นพืชที่ขึ้นเองตามริมป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ที่รกร้าง แม้กระทั่งในบริเวณกรุงเทพมหานคร พบได้ทั่วไปทั้งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จีน และอินเดีย ลักษณะเป็นไม้พุ่ม สูงไม่มากประมาณ 1-2 เมตร มีขนสีน้ำตาล ใบเดี่ยว รูปไข่กว้าง ขอบใบหยัก เมื่อลูบผิวใบรู้สึกสากคาย ออกดอกปีละครั้ง ช่วงเวลาอาจแตกต่างกันไปตามท้องถิ่นและภูมิอากาศ ตามบันทึกขององค์การสวนพฤกษศาสตร์ ออกดอกและติดผลประมาณเดือน กรกฎาคม-สิงหาคม แต่ตัวผู้เขียนเองเคยพบที่สระบุรี ออกดอกช่วงฤดูร้อน ประมาณเดือนเมษายน กลีบดอกสีส้มอิฐ เป็นหลอด เมื่อติดฝัก เป็นฝักยาว 3-4 ซม. บิดเป็นเกลียวคล้ายเชือกขวั้น เมื่อแก่จะแตก มีสีน้ำตาลดำ1
 
จากข้อมูลในตำรายาไทย ใช้เปลือกต้นและราก บำรุงธาตุ ผล ใช้แก้บิด (สันนิษฐานว่าตามรูปร่างของผล) แก้ปวดเบ่ง(อันเนื่องมาจากบิด) ท้องเสีย ขับเสมหะ ตำพอกแก้ปวดเคล็ดบวม2,3
ในประเทศอินเดียใช้ผลแก้ท้องเสียเช่นเดียวกัน และมีการทดลองพบว่าสารสกัดด้วยน้ำมีฤทธิ์ที่ดีในการยับยั้งเชื้ออีโคไล ที่เป็นเชื้อสาเหตุของอาการท้องเสียทั่วไป และให้ผลดีกับเชื้อ Salmonella typhimurium ซึ่งเป็นเชื้อสาเหตุหนึ่งที่ทำให้กระเพาะอาหารหรือลำไส้อักเสบอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีผลปานกลางต่อเชื้อไข้ไทฟอยด์ (Salmonella typhi)ซึ่งมีอาการไข้ร่วมกับท้องเสียอื่น4 และมีผลยับยั้งการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อเรียบ5 ถึงแม้งานวิจัยนี้จะสอดคล้องการใช้ในโรคท้องเสีย ขนาดที่ใช้ในคนก็ยังระบุไม่ได้ชัดเจนนัก
การศึกษาวิจัยประสิทธิภาพของปอบิดในโรคอื่นที่น่าสนใจ ได้แก่ โรคเบาหวาน พบว่าสารสกัดน้ำจากผลปอบิดมีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดในหนูขาวที่ทำให้เป็นเบาหวาน และป้องกันไม่ให้ระดับไขมันสูงขึ้นซึ่งมักพบตามมาหลังจากการเป็นเบาหวาน ฤทธิ์ของสารสกัดคล้ายกับยาไกลเบนคลาไมด์6 การทดลองในเซลล์เพาะเลี้ยงพบว่าเพิ่มการขนส่งน้ำตาลเข้าสู่เซลล์กล้ามเนื้อของหนู7 และเพิ่มการขนส่งน้ำตาลเข้าสู่เซลล์กล้ามเนื้อกระบังลมแต่มีประสิทธิภาพน้อยกว่ายาเมทฟอร์มิน8 อย่างไรก็ดีการทดลองเหล่านี้แม้จะสรุปได้ว่าสารสกัดน้ำจากผลปอบิด น่าจะมีผลลดน้ำตาลในเลือดได้ แต่ยังไม่เพียงพอที่จะระบุขนาดที่ใช้ และยังไม่สามารถนำมาใช้ทดแทนยารักษาเบาหวานได้จริง จำเป็นต้องมีการทดลองเพิ่มเติมต่อไปทั้งในแง่ของประสิทธิภาพและความเป็นพิษ เนื่องจากปอบิดไม่ใช่พืชอาหาร การทดลองเพื่อหาความเป็นพิษเมื่อใช้ระยะยาวเป็นอีกงานวิจัยที่สำคัญ อนึ่งพบว่าสมุนไพรจำนวนไม่น้อยที่มีรายงานความเป็นพิษต่อตับและไต หากรูปแบบหรือขนาดที่ใช้ไม่ถูกต้อง ในกรณีที่ยังมีข้อมูลไม่ครบเช่นนี้ สำหรับผู้ที่ต้องการเลือกใช้ด้วยตนเอง หรือได้ทดลองใช้แล้ว ให้ตรวจภาวะการทำงานของตับไตอย่างสม่ำเสมอทุก 3 เดือน และห้ามใช้ในผู้ที่มีประวัติ หรือแม้แต่ครอบครัวมีประวัติเป็นโรคตับ หรือโรคไต 
สำหรับโรคอื่นๆที่กล่าวอ้างถึงนั้น ยังไม่พบการวิจัยที่พิสูจน์ฤทธิ์ดังกล่าว อีกทั้งโรคเรื้อรังต่างๆที่กล่าวอ้างนั้น ไม่ได้มีข้อมูลการใช้แผนโบราณสนับสนุน ดังนั้นจึงควรพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจเลือกใช้

 

 

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. ฐานข้อมูลพันธุ์ไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม.http://www.qsbg.org/database/botanic_book%20full%20option/search_detail.asp?Botanic_ID=1187
  2. อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล http://www.pharmacy.mahidol.ac.th/siri/ Accessed on May 14h, 2013.
  3. เสงี่ยม พงษ์บุญรอด. ไม้เทศเมืองไทย. กรุงเทพฯ: บรรณกิจ, 2508.
  4. Tambekar DH, Khante BS, Panzade BK, Dahikar S, Banginwar Y. Evaluation of phytochemical and antibacterial potential of Helicteres isora L. fruits against enteric bacterial pathogens. Afr J Tradit Complement Altern Med. 2008;5(3): 290-3.
  5. Pohocha N, Grampurohit ND. Antispasmodic activity of the fruits of Helicteres isora Linn. Phytother Res. 2001 Feb;15(1):49-52.
  6. Boopathy Raja A, Elanchezhiyan C, Sethupathy S. Antihyperlipidemic activity of Helicteres isora fruit extract on streptozotocin induced diabetic male Wistar rats. Eur Rev Med Pharmacol Sci. 2010 Mar;14(3):191-6.
  7. R. N. Gupta, Anil Pareek, Manish Suthar, Garvendra S. Rathore, Pawan K. Basniwal, and Deepti Jain. Study of glucose uptake activity of Helicteres isora Linn. fruits in L-6 cell lines. Int J Diabetes Dev Ctries. 2009 Oct-Dec; 29(4): 170–173.
  8. Suthar M, Rathore GS, Pareek A. Antioxidant and Antidiabetic Activity of Helicteres isora (L.) Fruits. Indian J Pharm Sci. 2009 Nov; 71(6): 695-9.
เปิดอ่านด้วย Google Doc Viewer ดาวน์โหลดบทความ (pdf) ดูบทความอื่นๆ

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


1 นาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้