Loading…

คามู คามู (Camu Camu) กับปัญหาความขมุกขมัว

คามู คามู (Camu Camu) กับปัญหาความขมุกขมัว

กฤติยา ไชยนอก สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

54,127 ครั้ง เมื่อ 1 ช.ม.ที่แล้ว
2013-03-03

เสียงโฆษณา: “…โลชั่นที่อุดมไปด้วยสารสกัดจากสุดยอดผลไม้ คามู คามู ซึ่งให้วิตามินซีเข้มข้นถึง......” 
บุรุษที่ 1: หา!? อะไรนะ? เมื่อกี้เขาว่าใช้สารจากอะไรนะ คาๆ มัวๆ หรือเปล่า? 
บุรุษที่ 2: ผลขมุกขมัว (เสียงของคนที่นั่งข้างๆ ตอบมา...ท่าทางจะหูไม่ดีพอกัน) 
บุรุษที่ 1: ผลบ้าอะไรชื่อขมุกขมัว? 
บุรุษที่ 2: ก็คาๆ มัวๆ รวมกันเป็นขมุกขมัวไงล่ะ 
บุรุษที่ 3: มันชื่อผล คามู คามู (เสียงสวรรค์ตอบมา...อารมณ์รับไม่ได้กับการโต้เถียงอันไร้สาระสิ้นดี) 
อ๋อ...ผลคามู คามู นั่นเอง ช่างเป็นผลไม้ที่ชื่อฟังดูแปลกหูจริงๆ เห็นในโฆษณาบอกว่ามีวิตามินซีสูง แถมช่วยให้ผิวกระจ่างใสอีกต่างหาก อื้ม...น่าสนใจทีเดียว ไหนลองตามไปดูกันหน่อยดีกว่า ว่าเจ้าผลขมุกขมัว เอ้ย! ผลคามู คามู เนี้ย...มันมีดีอย่างไร!! 
คามู คามู (Camu-camu) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Myrciaria dubia เป็นพืชในวงศ์ Myrtaceae มีลักษณะเป็นไม้พุ่มหรือไม้ยืนต้นขนาดเล็ก มีการกระจายตัวอยู่บริเวณพื้นที่น้ำท่วมถึงในประเทศบลาซิล ไปจนถึงประเทศเปรู มีความสูงประมาณ 2 - 3 ม. ดอกมีขนาดเล็กสีขาว ผลมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 นิ้ว และจะเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีแดงอมม่วงเมื่อสุก มีรสเปรี้ยว ปัจจุบันนิยมนำผลคามู คามู มาทำเป็นน้ำผลไม้ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และไอศกรีม ชาวเปรูดื่มน้ำคั่นจากผล หรือน้ำคั่นที่ผสมกับน้ำเปล่าเพื่อรักษาไข้หวัด และใช้บรรเทาอาการของโรคในระบบทางเดินอาหาร นำส่วนเปลือกต้นมาทำยาพอก ใช้รักษาแผล นำเปลือกต้นมาต้มกับส่วนของผลและเหล้ารัม ใช้รักษาโรคไขข้ออักเสบ (rheumatism) 
การวิเคราะห์ทางเคมีพบว่าผลสดของ คามู คามู มีวิตามินซีสูงมาก โดยมีกรดแอสคอร์บิก (ascorbic acid) หรือวิตามินซี 2.4 - 3.0 ก./เนื้อผลสด 100 ก. ซึ่งมากกว่าปริมาณของวิตามินซีในส้มถึง 30 เท่า มีธาตุเหล็กเป็น 10 เท่า ไนอาซีน 3 เท่า ไรโบฟลาวิน (วิตามินบี 2) 2 เท่า และมีฟอสฟอรัสมากกว่าส้มถึง 50% อีกด้วย นอกจากนี้ในผลคามู คามู ยังมีสารในกลุ่ม phenolic ถึง 30 ชนิด เช่น flavonoids, flavanols, flavan-3-ols, catechins, ellagic acid, gallic acids, anthocyanins, delphinidin 3-glucoside, cyanidin 3-glucoside, flavonols, rutin, flavanones, naringenin, tannins (gallo- และ ellagitannins) ด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงเป็นที่คาดการณ์กันว่า เจ้าผลคามู คามู น่าจะสามารถนำมาพัฒนาเป็นยา เครื่องสำอาง หรือผลิตภัณฑ์สำหรับรักษาหรือบรรเทาโรคต่างๆ ได้ 
การศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาจำนวนมากพบว่าผลคามู คามู มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ฤทธิ์ต้านการอักเสบ และมีคุณค่าทางอาหารสูง การศึกษาในอาสาสมัครชายที่สูบบุหรี่เป็นประจำจำนวน 20 คน โดยสุ่มให้ดื่มน้ำคั้นของผลคามู คามู 100% ขนาด 70 มล. (มีปริมาณวิตามินซี 1050 มก.) หรือ ได้รับวิตามินซี 1050 มก. อัดเม็ด เป็นเวลา 7 วัน พบว่ากลุ่มที่ดื่มน้ำคั้นของผลคามู คามู มีระดับตัวชี้วัดของภาวะการเกิดออกซิเดชันและภาวะการอักเสบลดลง ในขณะที่ค่าดังกล่าวของกลุ่มซึ่งได้รับวิตามินซีอัดเม็ดไม่เปลี่ยนแปลง สำหรับงานวิจัยที่เกี่ยวกับการรักษาภาวะของเบาหวานพบว่า สารสำคัญอย่างสารในกลุ่ม phenolic และ ellagic acid ในผลคามู คามู ไม่สามารถยับยั้งเอนไซม์ alpha-amylase หรือ alpha-glucosidase ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับการเกิดภาวะเบาหวานได้

 

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. Herbalgram The Journal of the American Botanical Council No. 94;May-July 2012

บทความที่ถูกอ่านล่าสุด

เคล็ดลับการซื้อยาให้ปลอดภัย 4 วินาทีที่แล้ว
ยาแก้ข้ออักเสบ (กลุ่มเอ็นเสด)..ระวังอันตรายต่อไต 5 วินาทีที่แล้ว
ยาโกรทฮอร์โมนสำหรับผู้ใหญ่ 6 วินาทีที่แล้ว
ยาทาภายนอก...ออกฤทธิ์ที่ไหน? 8 วินาทีที่แล้ว
ไอโอดีน, เบตาดีน ป้องกันสารกัมมันตรังสีได้จริงหรือ 13 วินาทีที่แล้ว
“ตดหมูตดหมา” เพิ่มสมรรถภาพทางเพศได้จริงหรือ? 16 วินาทีที่แล้ว
ซูโดเอฟีดรีน (pseudoephedrine) พระเอกหรือผู้ร้าย? 17 วินาทีที่แล้ว
เคล็ดไม่ลับสำหรับสายเนื้อย่าง เพื่อห่างโรคมะเร็ง 18 วินาทีที่แล้ว
ยาทาภายนอกรักษาโรคเชื้อรา : ยารักษากลากและเกลื้อน 22 วินาทีที่แล้ว
ไขมันในเลือดสูง แม้ผอมหุ่นเพรียว .. ทำไม ?? 22 วินาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด

เกี่ยวกับคณะเภสัชศาสตร์
คลังความรู้สู่ประชาชน บทความความรู้สู่ประชาชน บทความความรู้สู่ประชาชน

ความสำเร็จของวิชาชีพเภสัชกรรม เกิดจากความรู้ที่สามารถทำให้ผู้บริโภคยา มีการเสี่ยงต่ออันตรายจากยาที่ใช้ให้น้อยที่สุด แต่ได้รับผลในการป้องกัน หรือบำบัดโรคมากที่สุด

ความสำเร็จของวิชาชีพเภสัชกรรม เกิดจากความรู้ที่สามารถทำให้ผู้บริโภคยา มีการเสี่่ยงต่ออันตรายจากยาที่ใช้ให้น้อยที่สุด แต่ได้รับผลในการป้องกัน หรือบำบัดโรคมากที่สุด
ประดิษฐ์ หุตางกูร
คณบดีท่านแรกของคณะเภสัชศาสตร์

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
Copyright © 2021 - 2025
งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
การใช้และการจัดการคุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา