เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


น้ำวีทกราส … น้ำคั้นจากต้นอ่อนข้าวสาลี


กนกพร อะทะวงษา สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

อ่านแล้ว 232,779 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 22/12/2555
อ่านล่าสุด 5 นาทีที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 

 
ในช่วงหลายปีมานี้หลายท่านคงคุ้นหูกับน้ำวีทกราส (Wheat grass juice) เครื่องดื่มสีเขียวเข้ม มีขายทั้งแบบคั้นสด ผงสำเร็จรูปชงน้ำดื่ม และแบบสารสกัดบรรจุแคปซูล หรืออัดเม็ดให้เลือกรับประทาน ซึ่งเจ้าน้ำวีทกราสที่กล่าวถึงกันนี้ก็คือ น้ำคั้นจากต้นอ่อนข้าวสาลีนั่นเอง จากการวิเคราะห์ปริมาณสารอาหารในต้นอ่อนข้าวสาลีพบว่า ประกอบด้วยคลอโรฟิลล์ถึงร้อยละ 70 นอกจากนั้นยังพบวิตามินเอ ซีและอี แร่ธาตุต่างๆ เช่น เหล็ก แคลเซียม แมกนีเซียม และกรดอะมิโนกว่า 17 ชนิด1 
เนื่องจากน้ำคั้นจากต้นอ่อนข้าวสาลี อุดมไปด้วยคลอโรฟิลล์ ซึ่งเป็นสารมีสูตรโครงสร้างใกล้เคียงกับฮีม (heme) สารที่ร่างกายนำไปใช้ในการสร้างฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดง จนได้ชื่อว่าเป็น “เลือดสีเขียว (Green Blood)”1 มีการศึกษาวิจัยฤทธิ์การเพิ่มจำนวนเม็ดเลือดแดงของต้นอ่อนข้าวสาลีในผู้ป่วยที่มีภาวะโลหิตจาง พบว่าการรับประทานน้ำคั้นจากต้นอ่อนข้าวสาลี วันละ 30 - 100 มล. หรือรับประทานสารสกัดจากต้นอ่อนข้าวสาลี วันละ 1,000 มก. ติดต่อกันอย่างน้อย 6 เดือนถึง 1 ปี ช่วยเพิ่มปริมาณฮีโมโกลบินในเลือด ลดปริมาณการให้เม็ดเลือดแดงเข้มข้น (Pack red cells) และลดจำนวนครั้งในการถ่ายเลือด (blood transfusion) ได้อย่างมีนัยสำคัญ ทั้งในเด็กที่มีภาวะโรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย2 ในผู้ป่วยโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียชนิดเบต้า (beta-thalassemia)3 และในผู้ป่วย myelodysplastic syndrome (ผู้ป่วยมีความผิดปกติของไขกระดูก ทำให้จำนวนเม็ดเลือดแดงน้อยกว่าปกติ และอาจก่อให้เกิดมะเร็งเม็ดเลือดขาว)4 
นอกจากนี้น้ำคั้นจากต้นอ่อนข้าวสาลียังป้องกันการเกิดภาวะโลหิตจาง ซึ่งเป็นผลข้างเคียงจากการได้รับเคมีบำบัดได้ดี โดยพบว่าในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่รับประทานน้ำคั้นจากต้นอ่อนข้าวสาลี วันละ 60 มล. ตลอดระยะเวลาการได้รับเคมีบำบัด ทั้ง 3 รอบ ช่วยป้องการเกิดภาวะโลหิตจาง (anemia) ได้ดี มีผลเพิ่มปริมาณฮีโมโกลบินในเลือดอย่างมีนัยสำคัญ โดยไม่มีผลต่อการตอบสนองการได้รับการรักษาจากเคมีบำบัดของผู้ป่วย5 และการศึกษาในผู้ป่วยในผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งที่อวัยวะต่างๆ ที่ดื่มน้ำคั้นจากต้นอ่อนข้าวสาลีวันละ 30 มล. ติดต่อกัน 6 เดือน พบว่าช่วยเพิ่มปริมาณฮีโมโกลบิน เกล็ดเลือด และเพิ่มภูมิต้านทานได้ดี ทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น6 
การศึกษาฤทธิ์อื่นที่น่าสนใจ เช่น ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระในอาสาสมัครที่ได้รับสารก่ออนุมูลอิสระ BPA (biphenol-A) ผ่านทางสิ่งแวดล้อม เมื่อให้ดื่มน้ำคั้นจากต้นอ่อนข้าวสาลี วันละ 100 มล. ติดต่อกัน 2 สัปดาห์ พบว่าปริมาณสาร BPA ในปัสสาวะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยแนวโน้มการลดลงของ BPA สัมพันธ์กับระยะเวลาที่ดื่มคั้นจากต้นอ่อนข้าวสาลี7 และเมื่อเปรียบเทียบประสิทธิภาพระหว่างต้นอ่อนข้าวสาลีกับสาหร่ายสไปรูริน่า ซึ่งเป็นสาหร่ายที่อุดมไปด้วยคลอโรฟิลล์จากธรรมชาติเช่นเดียวกัน พบว่าการรับประทานแคปซูลต้นอ่อนข้าวสาลี ขนาด 500 มก. วันละ 2 ครั้ง นาน 30 วัน เพิ่มความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระ ปริมาณวิตามินซี การทำงานของเอนไซม์ superoxide dismutase และลดปริมาณ malondialdehyde ในเลือดของอาสาสมัครได้ดีกว่าการรับประทานสาหร่ายสไปรูริน่า เมื่อรับประทานในขนาดที่เท่ากัน8 
นอกจากนี้ยังพบว่าน้ำคั้นจากต้นอ่อนข้าวสาลีช่วยบรรเทาอาการของโรคลำไส้อักเสบได้ดี เมื่อให้ผู้ป่วยรับประทานวันละ 100 มล. ติดต่อกัน 1 เดือน ช่วยบรรเทาอาการโดยรวมของโรคให้ดีขึ้น ลดการเคลื่อนไหวของลำไส้และความถี่ของการถ่ายเป็นเลือดอย่างมีนัยสำคัญ9 
จะเห็นได้ว่าน้ำคั้นจากต้นอ่อนข้าวสาลีมีประโยชน์หลากหลาย ทั้งในแง่ของการเพิ่มปริมาณเม็ดเลือดแดงในผุ้ป่วยที่มีภาวะโลหิตจาง ป้องกันการเกิดอันตรายจากอนุมูลอิสระ และรักษาอาการลำไส้อักเสบ โดยไม่พบความเป็นพิษหรืออาการข้างเคียงใดๆ ในขนาดรับประทานวันละ 30-100 มล. หรือแคปซูลขนาด 1,000 มก. ในช่วงระยะเวลา 2 สัปดาห์ - 1 ปี แต่อย่างไรก็ตามควรระมัดระวังการใช้ในเด็กอ่อน หรือสตรีมีครรภ์ เนื่องจากยังไม่มีรายงานด้านความปลอดภัย อีกทั้งน้ำคั้นต้นอ่อนข้าวสาลีจะมีกลิ่นเหม็นเขียวคล้ายหญ้า จึงอาจกระตุ้นให้เกิดการคลื่นไส้อาเจียนในผู้ที่ไม่ชอบกลิ่นดังกล่าวได้

 

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. Padalia S, Drabu S, Raheja I, Gupta A, Dhamija M. Multitude potential of wheatgrass juice (Green Blood): An overview. Chron Young Sci 2010;1(2):23-8.
  2. Singh K, Pannu MS, Singh P, Singh J. Effect of wheat grass tablets on the frequency of blood transfusions in Thalassemia Major. Indian J Pediatr. 2010;77(1):90-1
  3. Marwaha RK, Bansal D, Kaur S, Trehan A. Wheat grass juice reduces transfusion requirement in patients with thalassemia major: A pilot study. Indian Pediatrics 2004; 41:716-20.
  4. Mukhopadhyay S, Basak J, Kar M, Mandal S, Mukhopadhyay A. The Role of Iron Chelation Activity of Wheat Grass Juice in Patients with Myelodysplastic Syndrome. J Clin Oncol 2009;27:15s, (suppl; abstr 7012)
  5. Bar-Sela G, Tsailic M, Fried G, Goldberg H. Wheat Grass Juice may improve Hematological Toxicity Related to Chemotherapy in Breast Cancer Patients: A Pilot Study. Nutr Cancer 2007;58(1):43-8.
  6. Dey S, Sarkar R, Ghosh P, et al. Effect of Wheat grass Juice in supportive care of terminally ill cancer patients- A tertiary cancer centre Experience from India. J of Clin Oncol 2006;18(1):8634
  7. Yi B, Kasai H, Lee HS, Kang Y, Park JY, Yang M. Inhibition by wheat sprout (Triticum aestivum) juice of bisphenol A-induced oxidative stress in young women. Mutat Res. 2011;18(724):64-8.
  8. Shyam R, Singh SN, Vats P, Singh VK, Bajaj R, Singh SB, Banerjee PK. Wheat grass supplementation decreases oxidative stress in healthy subjects: a comparative study with spirulina. J Altern Complement Med. 2007;13(8):789-91.
  9. Ben-Arye E, Goldin E, Wengrower D, Stamper A, Kohn R, Berry E, Wheat Grass Juice in the Treatment of Active Distal Ulcerative Colitis: A Randomized Double-blind Placebo-controlled Trial. Scand J Gastroenterol 2002;37(4):444-9.


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


สมุนไพรป้องกันยุง 6 วินาทีที่แล้ว
ยาคุมกำเนิดชนิดฉีด 10 วินาทีที่แล้ว
มะระขี้นก 13 วินาทีที่แล้ว
การตรวจปัสสาวะ 25 วินาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2025
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้