Eng |
รองศาสตราจารย์ รุ่งระวี เต็มศิริฤกษ์กุล ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
เมื่อพูดถึงยาหอม คงไม่มีคนไทยคนใดไม่รู้จัก แต่ที่น่าเสียดายคือ คนส่วนใหญ่แม้รู้จักก็จริง แต่รู้จักเพียงแต่ชื่อ สำหรับคนที่รู้จักก็เข้าใจเพียงแต่ว่า ยาหอมเป็นยาคนแก่ ใช้แก้ลมวิงเวียนเท่านั้น ผู้ที่ศึกษาองค์ความรู้การแพทย์แผนไทยทราบดีว่ายาหอมในคัมภีร์แพทย์แผนไทยมีจำนวนมากมายกว่า 300 ตำรับ ใช้ในโรคต่างๆ มากมาย และในการรักษาโรคของแพทย์แผนไทยสมัยโบราณนั้นจะมียาหอม พกติดตัวไว้ในล่วมยาสำหรับรักษาโรคยามฉุกเฉิน แล้วค่อยจ่ายยาต้มตามมาภายหลัง ถือได้ว่ายาหอมเป็นยาสำคัญทีเดียวในการแพทย์แผนไทย ความสำคัญของยาหอมนี้ค่อยเลือนหายไปจากสังคมไทย เนื่องจากการใช้ส่วนใหญ่คงอยู่เฉพาะในกลุ่มแพทย์แผนไทย ซึ่งมีคนไข้มารับการรักษาน้อย และคนไข้ที่เป็นโรคง่ายๆที่รักษาตนเองได้ก็เลือกใช้แต่ยาแผนปัจจุบันที่หาซื้อง่าย ประชาชนส่วนใหญ่ไม่มีความรู้ในการเลือกใช้ยาไทยด้วยตนเองเหมือนคนสมัยก่อน คนที่มีความรู้บ้างก็หาซื้อยาได้ยาก เนื่องจากมีบริษัทที่ผลิตยาไทยเหลืออยู่ไม่กี่บริษัท การวางขายก็ไม่ค่อยทั่วถึง ด้วยยอดขายที่น้อย ทำให้บริษัทผู้ผลิตยาไทยทะยอยปิดตัวลง ไม่เว้นแม้แต่บริษัทที่ผลิตยาหอมซึ่งนับว่าคงอยู่ได้นานกว่ายาประเภทอื่น
เมื่อมีการฟื้นฟูการแพทย์แผนไทย รวมถึงการรณรงค์ให้ใช้ยาสมุนไพรมากขึ้น กระทรวงสาธารณสุขได้มีประกาศบัญชียาแผนโบราณสามัญประจำบ้าน เมื่อปี พ.ศ. 2542 ด้วยจุดมุ่งหมายที่ให้ประชาชนได้มียาสมุนไพรที่ดี ปลอดภัยไว้ใช้ในบ้าน โดยยาประเภทนี้สามารถวางขายในที่ใดก็ได้ ไม่ต้องเป็นสถานที่ที่ได้รับอนุญาตขายยา หรือสถานการแพทย์ ด้วยต้องการให้มีการกระจายยาอย่างทั่วถึง ประชาชนเข้าถึงยาสมุนไพรได้ ในประกาศนั้นมียาตำรับแผนโบราณ 27 ตำรับ ซึ่งเป็นที่ยอมรับว่ามีประสิทธิภาพดี และใช้กันมายาวนาน ในจำนวนนั้นยาหอมอยู่ถึง 4 ชนิด คือ ยาหอมเทพจิตร ยาหอมทิพโอสถ ยาหอมอินทจักร และ ยาหอมนวโกฐ ทั้ง 4 ชนิดนี้ มีข้อบ่งใช้ดังนี้คือ
ยาหอมเทพจิตร ใช้แก้ลม บำรุงหัวใจ โดยผสมน้ำดอกไม้เทศ
ยาหอมทิพโอสถ แก้ลมวิงเวียน แก้ลมบาดทะจิต ใช้น้ำดอกมะลิเป็นน้ำกระสายยา
ยาหอมอินทจักร แก้คลื่นเหียนอาเจียน โดยใช้น้ำลูกผักชี หรือเทียนดำต้ม หรือน้ำสุก แก้ลมจุกเสียด ใช้น้ำขิงต้ม
ยาหอมนวโกฐ แก้ลมคลื่นเหียน อาเจียน ใช้น้ำลูกผักชี เทียนดำต้ม แก้ลมปลายไข้ ใช้ก้านสะเดา ลูกกระดอม และบอระเพ็ด ต้มเอาน้ำ ถ้าหาน้ำกระสายไม่ได้ใช้น้ำสุกแทน
อย่างไรก็ดี พบว่าคนทั่วไปยังมีความสับสนในการเลือกใช้ยาหอมทั้ง 4 ชนิดนี้ ก่อนอื่นควรทำความเข้าใจเรื่อง ยาหอมตามหลักทฤษฎีการแพทย์แผนไทยก่อนว่า ยาหอม เป็นยาที่ใช้บำรุงหัวใจ ซึ่งในทางการแพทย์แผนไทยไม่ได้หมายถึงยากระตุ้นการทำงานหรือการปรับการเต้นของหัวใจ แต่หมายถึงยาปรับการทำงานของลมที่เคลื่อนไหวทั่วร่างกายมนุษย์ ซึ่งส่งผลต่อจิตใจ อารมณ์ความรู้สึก การหมุนเวียนของเลือด เรียกรวมกันว่า ลมกองละเอียด ยาหอมบางชนิดนอกจากใช้บำรุงหัวใจแล้ว ยังใช้สำหรับแก้ไขปัญหาที่เกิดจากลมกองหยาบ ซึ่งหมายถึง ลมที่อยู่ภายในทางเดินอาหาร ทำให้เกิดอาการจุกเสียดอีกด้วย การตั้งตำรับยาหอมจึงต้องประกอบด้วยสมุนไพรจำนวนมาก เพื่อปรับการทำงานของธาตุลม ไฟ และน้ำ ให้เข้าสู่สมดุลย์ และการใช้ยาแต่เนิ่น ก็เป็นการป้องกันไม่ให้เสียสมดุลย์มากจนกระทบธาตุดิน และยากแก่การรักษา ในองค์ความรู้ของแพทย์แผนไทยนั้นยาหอมตั้งขึ้นเพื่อรักษาโรคที่เกี่ยวกับลม ที่มีความแตกต่างกันในรายละเอียด ประกอบด้วยสมุนไพรที่จำแนกได้เป็นกลุ่มดังนี้
1. ยาพื้นฐาน เป็นสมุนไพรที่มีกลิ่นหอม ส่วนใหญ่มีรสสุขุม ยากลุ่มเป็นยาพื้นฐานด้วยความประสงค์ที่จะทำให้ร่างกายเราอยู่ในสมดุลย์ คือไม่ร้อน หรือเย็นเกินไป สมุนไพรในกลุ่มนี้ได้แก่ โกฐทั้ง 5 เทียนทั้ง 5 กฤษณา ขอนดอก กระลำพัก อบเชย
2. สมุนไพรเพิ่มการทำงานของธาตุลม เป็นตัวยารสร้อนหรือรสเผ็ดร้อน เช่น สมุลแว้ง สนเทศ ว่านน้ำ กระชาย เปราะหอม สุรามฤต ข่าต้น ลูกจันทน์ ผิวส้ม ตัวยากลุ่มนี้เป็นตัวยาหลัก เพราะยาหอมเป็นยาที่ใช้ปรับการทำงานของธาตุลมให้เข้าสู่สมดุลย์ แต่อย่างไรก็ดี ถ้ามีตัวยากลุ่มนี้มาก การเติมตัวยาเหล่านี้มาก จะทำให้ยาตำรับค่อนข้างไปทางร้อน ซึ่งจะเหมาะสำหรับการรักษาอาการวิงเวียน เป็นลม
3. ยาปรับธาตุ ซึ่งมักนำมาจากพิกัด เบญจกูล (สะค้าน ช้าพลู ขิง ดีปลี เจตมูลเพลิงแดง) หรือ พิกัดตรีผลา (สมอพิเภก สมอไทย มะขามป้อม) พิกัดตรีที่เลือกใช้เพื่อปรับธาตุ มักเป็นพิกัดตรีผลา ในยาหอมที่ใช้สำหรับแก้ปัญหาเลือดลม เพราะพิกัดนี้ใช้ปรับกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับธาตุไฟ
4. ส่วนประกอบ ที่ใส่เฉพาะตำรับ เพื่อใช้เฉพาะอาการ ได้แก่
พิกัดเกสร หรือ ดอกไม้ชนิดต่างๆเช่น มหาหงส์ กาหลง เป็นต้น ทำให้ยาหอมประเภทนี้จะเป็นยาหอมสุขุม เย็น รสความร้อน ทำให้จิตใจที่ร้อนรุ่ม เย็นลง สงบมากขึ้น
สมุนไพรรสขม หรือ เย็น เพื่อลดไข้ ลดความร้อน เช่น ลูกกระดอม บอระเพ็ด ราชดัด หญ้าตีนนก จันทน์ขาว จันทน์แดง ฝาง ดอกคำไทย สรรพคุณบำรุงเลือด พบในยาหอมสำหรับปัญหาเกี่ยวกับประจำเดือน กระจับ แห้วหมู สรรพคุณ บำรุงกำลัง
จากการที่ยาหอมมีองค์ประกอบหลัก ข้อ 1 และ 2 คล้ายกัน แต่องค์ประกอบในข้อ 3 และ 4 แตกต่าง ทำให้ยาหอมทุกชนิดมีสรรพคุณแก้ลมวิงเวียน แต่บางชนิดอาจต้องใช้ร่วมกับน้ำกระสายยา เนื่องจากมีตัวยาแก้ลมวิงเวียนน้อยไป นอกจากนี้ ยาหอมบางชนิดยังมีความจำเพาะในการเลือกใช้ ดังนี้
ยาหอมเทพจิตร
ประกอบด้วยตัวยา 48 ชนิด ตัวยาหลักคือ ดอกมะลิ ครึ่งหนึ่งของน้ำหนักทั้งตำรับ และเปลือกส้ม 8 ชนิดรวม 56 ส่วนใน 368 ส่วนของทั้งตำรับ เหมาะสำหรับ อาการลม วิงเวียน ซึ่งเกิดจากฤทธิ์ของตัวยารสร้อนหลายชนิด รวมถึงผิวส้ม 8 ประการ ตามหลักการแพทย์แผนไทย ผิวส้มมีสรรพคุณแก้ลมวิงเวียน หน้ามืดตาลาย สวิงสวาย และ บำรุงหัวใจ ซึ่งหมายถึง บำรุงให้จิตใจรู้สึกแช่มชื่น เหมาะกับคนที่รู้สึกซึมเศร้า มีอารมณ์เศร้าหมอง ที่มักเกิดขึ้นในบางเวลา หรือคนสูงอายุที่รู้สึกเหงา เศร้า โดยตัวยาหลักคือ ดอกมะลิ มีสรรพคุณบำรุงจิตใจให้ชุ่มชื่น สอดคล้องกับรายงานวิจัยน้ำมันหอมระเหยจากดอกมะลิที่มีฤทธิ์กระตุ้นให้จิตใจสดชื่น หลังการนวดอะโรมา นอกจากนี้มีรายงานวิจัยในหนูที่กินน้ำมันผิวส้ม และ การใช้น้ำมันผิวส้มนวดอะโรมา ทำให้คลายกังวล และสงบระงับ อย่างไรก็ดีการใช้ยาหอมในกลุ่มอาการเหล่านี้ ใช้ได้เฉพาะอาการที่แรกเริ่ม ไม่ใช่ยารักษาอาการสำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคทางจิตเวชที่ต้องปรึกษาแพทย์แผนปัจจุบัน
ยาหอมทิพโอสถ
ประกอบด้วยตัวยา 48 ชนิด นอกจากยารสสุขุม เช่น โกฐทั้ง 9 เทียนทั้ง 9 และตัวยารสร้อน แล้ว การผสมเกสรทั้ง 5 คือ ดอกพิกุล ดอกบุนนาค ดอกสารภี ดอกมะลิ เกสรบัวหลวง รวมถึง ดอกกระดังงา ดอกบัวจงกลนี ซึ่งมีรสเย็น หัวแห้วไทย และ กระจับ มีสรรพคุณบำรุงกำลัง ดอกคำไทย ฝาง มีสรรพคุณบำรุงเลือด ทำให้นอกจากใช้แก้ลมวิงเวียน โดยละลายน้ำสุกหรือน้ำดอกไม้แล้ว ยังสามารถใช้ในสตรีที่มักมีความรู้สึกหงุดหงิดโกรธง่ายในช่วงก่อนมีประจำเดือน เนื่องจากเป็นผลกระทบของความร้อนที่เพิ่มสูงขึ้นในรอบเดือนและกระทบต่อจิตใจ การใช้ยาที่มีดอกไม้เป็นส่วนผสมจะลดผลกระทบของความร้อนดังกล่าวลง ทำให้จิตใจเย็นลง โดยไม่ทำให้โลหิตเย็น ซึ่งกระทบต่อการมีประจำเดือน แต่ยานี้เป็นเพียงยาบรรเทาอาการเบื้องต้น ไม่ใช่การรักษาต้นเหตุ ต้องปรึกษาแพทย์แผนไทยในการแก้ไขอาการเหล่านี้ให้เข้าสู่สมดุลย์
ยาหอมอินทจักร
ประกอบด้วยตัวยา 50 ชนิด ยารสสุขุม เช่น โกฐ 7 ชนิดในโกฐทั้ง 9 ยกเว้นโกฐหัวบัว โกฐชฎามังษี เทียนทั้ง 9 กฤษณา กระลำพัก ขอนดอก ตัวยารสร้อนเช่น ลูกจันทน์ ดอกจันทร์ ลูกกระวาน กานพลู เกสรทั้ง 7 ยารสขมได้แก่ บอระเพ็ด ลูกกระดอม รากหญ้านาง ดีวัว จันทน์แดง จันทร์เทศ เพื่อลดความร้อนแก้ไข้ ดับพิษภายใน บำรุงไฟธาตุ เจริญอาหาร เถามวกขาว มวกแดง ดอกคำไทย ฝางเสน บำรุงโลหิต ซึ่งมีความหมายทำให้เลือดดี มีสีแดงสดใส ไม่ดำคล้ำ มีเลือดฝาดดี ไม่ได้เพิ่มการสร้างเม็ดเลือด ต่างจากความหมายของแผนปัจจุบัน โกฐน้ำเต้าเป็นยาระบาย เพื่อช่วยลดความร้อน ลูกผักชีลา โกฐกักกรา แก้คลื่นเหียน มีพิกัดเบญจกูลปรับธาตุ
ยาหอมอินทจักร ใช้ได้ดีในการแก้คลื่นไส้อาเจียนโดยละลายยากับน้ำลูกผักชี หรือเทียนดำต้ม หรือน้ำสุก เนื่องจากในตำรับมีตัวยาแก้คลื่นไส้ 2 ชนิด คือ ลูกผักชีลา โกฐกักกรา แก้ลมจุกเสียด โดยละลายด้วยน้ำขิงต้ม ด้วยเหตุที่ว่ามีส่วนประกอบของ ดีวัว ที่บำรุงน้ำดี บอระเพ็ด บำรุงไฟธาตุ ทำให้การเผาผลาญสมบูรณ์ดีขึ้น และมีพิกัดเบญจกูลช่วยปรับธาตุ นอกจากนี้ยาหอมอินทจักร สามารถใช้ในอาการหงุดหงิดกระวนวาย จิตใจไม่สงบ โบราณเรียกว่าลมบาดทะจิต (ละเมอเพ้อพกพูดคนเดียวเหมือนผีเข้า เกิดจากจิตระส่ำระสาย) โดยละลายยาด้วยน้ำดอกมะลิ การออกฤทธิ์น่าจะเป็นด้วยน้ำดอกมะลิที่ใช้เป็นน้ำกระสายยา ดอกพิกุล รสหอมเย็น แก้ไข้เพ้อคลั่ง และ ดีวัว ที่มีสรรพคุณ ดับพิษภายใน แก้พิษ เพ้อคลั่ง สติลอย ตาลาย พาให้รสยาแล่นไปทั่วตัว ทั้งนี้ไม่แนะนำให้ใช้ในกรณีที่เป็นไข้สูงและเพ้อ เนื่องจากอาจไม่สามารถลดไข้ได้ทันเวลา เพราะตัวยาลดไข้มีปริมาณไม่มาก
ในรายงานการวิจัยพบว่ายาหอมอินทรจักร เพิ่มความแรงการบีบตัวของหัวใจ และ มีฤทธิ์เพิ่มความดันโลหิตเล็กน้อย ซึ่งน่าจะได้ผลดีต่ออาการเป็นลม และยังพบว่า ทำให้หลอดเลือดเล็กที่ไปเลี้ยงสมองขยายตัว และปริมาณเลือดที่ไปเลี้ยงสมองเพิ่มขึ้น ต้านการอาเจียน ซึ่งสอดคล้องกับสรรพคุณแผนไทย ทำให้ยืดเวลาการนอนหลับของสัตว์ทดลองเมื่อให้ร่วมกับยานอนหลับ
ยาหอมนวโกฐ
ประกอบด้วยตัวยา 58 ชนิด มียารสสุขุม เช่น โกฐทั้ง 9 เทียนทั้ง 9 กฤษณา กระลำพัก ขอนดอก ตัวยารสร้อนเช่น ลูกจันทน์ ดอกจันทร์ ลูกกระวาน กานพลู แก่นสน เกสรทั้ง 5 ยารสขม ได้แก่ ลูกราชดัด จันทน์แดง จันทร์เทศ บอระเพ็ด ลูกกระดอม เพื่อลดความร้อนแก้ไข้ ดับพิษภายใน บำรุงไฟธาตุ เจริญอาหาร ลูกผักชีลา แก้คลื่นเหียน มีพิกัดเบญจกูลปรับธาตุ เช่นเดียวกับยาหอมอินทจักร
ใช้แก้คลื่นไส้ โดยละลายยาด้วยน้ำลูกผักชี หรือเทียนดำต้ม เนื่องจากในตำรับมีตัวยาแก้คลื่นไส้ คือ ลูกผักชีลา และมีตัวยาปรับสมดุลย์อื่นๆ รวมทั้งมีพิกัดเบญจกูลช่วยปรับธาตุ แต่อย่างไรก็ดี จะโดดเด่นในการใช้แก้ลมปลายไข้ โดยผสมกับน้ำสุก ลมปลายไข้ หมายถึงอาการท้องอืด เฟ้อ เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย เกิดหลังจากหายไข้ ในระยะพักฟื้น เนื่องจากมียารสขมเช่น ลูกกระดอม บอระเพ็ด บำรุงน้ำดี เจริญอาหาร บำรุงไฟธาตุ การเผาผลาญสมบูรณ์ดีขึ้น พิกัดเบญจกูลช่วยปรับธาตุ ทำให้ร่างกายกลับเข้าสู่ภาวะปกติเร็วขึ้น
ในรายงานการวิจัยพบว่ายาหอมนวโกฐเพิ่มความแรงการบีบตัวของหัวใจ และ เพิ่มความดันโลหิตเล็กน้อย ทำให้หลอดเลือดเล็กที่ไปเลี้ยงสมองขยายตัว และปริมาณเลือดที่ไปเลี้ยงสมองเพิ่มขึ้น ยาหอมนวโกฐมีฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนกลางทำให้หลับสบาย และทำให้การหลั่งกรดลดลง และยับยั้งการหดตัวของลำไส้เล็ก แก้ปวดท้องได้ดี
น้ำกระสายยา
นอกจากข้อบ่งใช้ที่แตกต่างกัน ของยาหอมทั้ง 4 ชนิด ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว การใช้ยาหอมละลายกับน้ำกระสายยา จะทำให้รักษาอาการต่างๆได้หลากหลายขึ้น ดังต่อไปนี้
แก้ลมวิงเวียน ใช้ น้ำดอกไม้ หรือ น้ำสุก
แก้ลมบาดทะจิต ใช้น้ำดอกมะลิ
แก้คลื่นเหียนอาเจียน น้ำลูกผักชี หรือ เทียนดำต้ม หรือ น้ำสุก
แก้ลมจุกเสียด น้ำขิงต้ม
แก้ลมปลายไข้ น้ำสุก
แก้ท้องเสีย น้ำต้มใบทับทิม หรือ น้ำต้มเหง้ากระทือเผาไฟ
ข้อแนะนำสำหรับการใช้ยาหอม
การใช้ยาหอมให้ได้ผล แม้จะเป็นชนิดเม็ด ควรนำมาละลายน้ำกระสายยา หรือน้ำอุ่น รับประทานขณะกำลังอุ่น เหมือนกับวิธีการเดิม เพราะการออกฤทธิ์ของน้ำมันหอมระเหยที่มีในยาหอมจะช่วยทำให้ยาออกฤทธิ์ได้เร็วขึ้น และออกฤทธิ์ผ่านประสาทรับกลิ่น และการดูดซึมผ่านกระเพาะอาหาร
ข้อควรระวังสำหรับการใช้ยาหอม
ยาหอมไม่ใช่ยารักษาอาการโดยตรง แต่เป็นยาปรับสมดุลย์ธาตุโดยเริ่มจากธาตุลม เพื่อไปกระตุ้นการทำงานของน้ำ และไฟ ทำให้มีการไหลเวียนสะดวก เผาผลาญตามปกติ ซึ่งเป็นหลักวิธีคิดแบบองค์รวม ดังนั้น การใช้ยาหอมจะไม่ได้ให้ผลดีแบบปุบปับเหมือนยาเคมีสังเคราะห์ แต่จะทำให้สมดุลย์ที่เบี่ยงหรือเอนไป ค่อยๆปรับกลับสู่สภาพเดิม ขนาดที่ใช้ควรใช้ตามคำแนะนำ การกินเกินขนาดที่แนะนำไม่ทำให้เกิดอาการพิษทันที แต่จะผลักดันให้การทำงานของธาตุเปลี่ยนไปเร็ว และทำให้สมดุลย์อาจขาดหรือเกินไปอีกทางได้ จึงควรเดินทางสายกลาง เริ่มใช้ยาตั้งแต่มีอาการน้อยๆค่อยเป็นค่อยไปจึงจะดี
อย่างไรก็ดี การเลือกใช้ยาหอมให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด ควรเลือกชนิดของยาหอมและน้ำกระสายยาให้ถูกกับอาการ ขนาดที่ใช้ใกล้เคียงกับน้ำหนักตัว และหากไม่สามารถซื้อหรือเก็บยาหอมหลายชนิดไว้ในตู้ยาประจำบ้าน ก็สามารถเลือกยาหอมประเภทกลางๆเช่น ยาหอมอินทจักร และใช้ร่วมกับน้ำกระสายยาตามที่ระบุ การใช้ยาหอมไม่ใช่แก่คร่ำครึ แต่ยาหอมเพียงตำรับเดียว ก็เสริมสุขภาพให้ดีทั้งครอบครัวได้ โดยไม่ต้องใช้ยาเคมีสังเคราะห์ และยังเป็นการสืบเจตนารมณ์ของรุ่นปู่ย่าตายาย ที่อุตส่าห์สั่งสมความรู้ไว้เป็นมรดกตกทอดแก่ลูกหลานไทย
ผู้เขียน ขอขอบคุณ หมอมานาวุธ ผุดผาด แพทย์แผนไทยที่ได้ให้ความรู้ ความเห็น ทำให้วิเคราะห์ข้อมูลตามแนวคิดของการแพทย์แผนไทยมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ หากมีข้อผิดพลาดหรือความเห็นที่แตกต่าง ผู้เขียนยินดี รับฟัง เพื่อปรับให้ใช้ยาตำรับโดยเฉพาะยาสามัญประจำบ้านแผนโบราณ สามารถอธิบายด้วยหลักการการแพทย์แผนไทยที่ชัดเจนและเข้าใจได้ง่ายยิ่งขึ้น