เหตุการณ์สำคัญในเภสัชมหิดล
ภาควิชาเภสัชเคมี จัดการประชุมวิชาการเภสัชเคมี ครั้งที่ 13 เรื่องการอบรมเพื่อยกระดับทักษะอุตสาหกรรมยาไทย: เส้นทางคุณภาพ – จากวัตถุดิบทางยาสู่ผลิตภัณฑ์
อ่านแล้ว 632 ครั้ง
ตั้งแต่วันที่ 04 สิงหาคม 2565
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 4 สิงหาคม 2565 เวลา 09.00-16.30 น. คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยภาควิชาเภสัชเคมี จัดการประชุมวิชาการเภสัชเคมี ครั้งที่ 13 ในหัวข้อ “การอบรมเพื่อยกระดับทักษะอุตสาหกรรมยาไทย: เส้นทางคุณภาพ-จากวัตถุดิบทางยาสู่ผลิตภัณฑ์” ภายใต้โครงการ Reinventing University: Drug Discovery & Development ซึ่งจัดขึ้นผ่านระบบออนไลน์ Cisco Webex Webinars ในโอกาสนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.ภญ.จุฑามณี สุทธิสีสังข์ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ให้เกียรติเป็นประธานกล่าวเปิดการประชุม และกล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมการประชุมซึ่งมีผู้ให้ความสนใจเข้าร่วม จำนวน 135 คน
การประชุมวิชาการเภสัชเคมี ครั้งที่ 13 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 4-5 สิงหาคม 2565 ซึ่งในครั้งนี้ คณะฯ ได้รับเกียรติจากคณาจารย์ภายใน และผู้ทรงคุณวุฒิภายนอก ได้แก่ 1) ดร.ภญ.อรศิริ ศรีคุณ จากองค์การเภสัชกรรม 2) ภก.ปิยะ ฉิ่นมณีวงศ์ จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และ 3) ดร.ภญ.ภวนันท์ สว่างจันทร์ จากบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ร่วมเป็นวิทยากรบรรยายให้แก่ผู้เข้าร่วมการประชุมซึ่งเป็นเภสัชกร คณาจารย์ของมหาวิทยาลัยมหิดล รวมไปถึงนักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์ ที่ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการค้นพบและพัฒนายา รวมถึงการประกันคุณภาพและควบคุมคุณภาพยา สำหรับเนื้อหาการประชุมครอบคลุมประเด็นสำคัญ อาทิ การสังเคราะห์วัตถุดิบที่เป็นตัวยาสำคัญจนถึงขั้นการเตรียมตำรับยา ความรู้เกี่ยวกับสารปนเปื้อนที่มากับตัวยาสำคัญ การพัฒนาวิธีวิเคราะห์เพื่อการประกันคุณภาพของยา และการพัฒนาคิดค้นยาที่เป็นชีววัตถุและการควบคุมคุณภาพในด้านความคงตัวของตัวยา เป็นต้น
ทั้งนี้ การประชุมวิชาการเภสัชเคมี ครั้งที่ 13 มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เข้าร่วมการประชุมมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับองค์ความรู้ใหม่ด้านเภสัชเคมีในประเด็นสำคัญที่มีการเปลี่ยนแปลงในตำรายา กระบวนการพิสูจน์เอกลักษณ์ของตัวยาสำคัญเพื่อนำไปสู่การพัฒนาต่อยอดการควบคุมคุณภาพ และสามารถประยุกต์ใช้เพื่อการพัฒนาและประเมินวิธีวิเคราะห์เพื่อทดสอบการละลายและการตรวจสอบสารเจือปน ตลอดจนสามารถพัฒนาและควบคุมคุณภาพวัตถุดิบทางยาที่เป็นสารเคมีและชีววัตถุที่มีบทบาทในการป้องกันและรักษาโรคในปัจจุบัน
การประชุมวิชาการดังกล่าวยังสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ภายใต้โครงการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย (Reinventing University) ซึ่งหนึ่งในโครงการย่อยที่ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับมอบหมายให้ดําเนินการ คือ การยกระดับทักษะอุตสาหกรรมยาไทย เพื่อเสริมสร้างและเพิ่มพูน ทักษะในด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ยา สมุนไพร โภชนเภสัช และเครื่องสําอาง ให้กับบุคลากรของมหาวิทยาลัย ผู้ประกอบการภาครัฐและเอกชน บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขในสาขาเภสัชศาสตร์และวิทยาศาสตร์สุขภาพที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการประชุมวิชาการดังกล่าวยังนับเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมที่ภาควิชาเภสัชเคมีจัดขึ้นเพื่อ ’ร่วมรำลึกและสืบสานปณิธาน 100 ปีชาตกาล อาจารย์ประดิษฐ์ หุตางกูร (ผู้ก่อตั้งคณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล)’ และเป็นผู้ที่มีคุณูปการในการวางรากฐานวงการอุตสาหกรรมยาไทยอีกด้วย
นอกจากนี้ การประชุมวิชาการดังกล่าวยังสนับสนุนพันธกิจของคณะฯ ด้านการเป็นศูนย์กลางให้บริการวิชาการด้านยา สมุนไพร เครื่องสำอาง และอาหาร เพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน และตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Goals) ในเป้าหมายที่ 3 คือ สร้างหลักประกันว่าคนมีชีวิตที่มีสุขภาพดีและส่งเสริมสวัสดิภาพสาหรับทุกคนในทุกวัย และเป้าหมายที่ 4 คือ สร้างหลักประกันว่าทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม และสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต
ในโอกาสนี้ คณะฯ ขอขอบคุณผู้สนับสนุนการจัดการประชุม ดังรายนามต่อไปนี้
1) บริษัท สิทธิพรแอสโซซิเอส จำกัด
2) บริษัท พาราไซแอนติฟิค จำกัด
Photo Gallery