อ่านแล้ว 5,905 ครั้ง
ตั้งแต่วันที่ 03 พฤษภาคม 2564
เมื่อวันจันทร์ที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2564 เวลา 13.00-14.00 น. คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดการเสวนาวิชาการออนไลน์ เรื่อง ’ฟ้าทะลายโจรในการรักษาและป้องกันโรคโควิด-19: หลักฐานวิชาการ’ ผ่านระบบ YouTube Live ทางช่อง MUPharmacy MahidolUniversity โดยได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ ภก.สุรกิจ นาฑีสุวรรณ คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ เป็นประธานกล่าวเปิดการเสวนาดังกล่าว ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ที่ถูกต้องตามหลักฐานทางวิชาการและทันสมัยเกี่ยวกับสมุนไพร ’ฟ้าทะลายโจร’ เพื่อใช้ในการป้องกันและรักษาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรค COVID-19 โดยในการเสวนาออนไลน์ครั้งนี้ คณะฯ ได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิ 3 ท่าน ประกอบด้วย 1) รองศาสตราจารย์ ดร.ภญ.นพมาศ สุนทรเจริญนนท์ ที่ปรึกษา สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และประธานวิทยาลัยเภสัชกรรมสมุนไพรแห่งประเทศไทย สภาเภสัชกรรม 2) ดร.ภญ.อัญชลี จูฑะพุทธิ อดีตผู้อำนวยการกองวิชาการและแผนงาน กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข และ 3) ดร.ภญ.ผกากรอง ขวัญข้าว หัวหน้าศูนย์หลักฐานเชิงประจักษ์ด้านการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ซึ่งได้ให้เกียรติเป็นวิทยากรและร่วมเสวนาถ่ายทอดองค์ความรู้ที่ถูกต้องทางวิชาการเกี่ยวกับการใช้ฟ้าทะลายโจรให้แก่เภสัชกร บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข และประชาชนทั่วไป ซึ่งให้ความสนใจเข้าร่วมรับฟังมากกว่า 700 คน โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภก.ณัฐวุฒิ เจริญไทย ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิชาชีพ เป็นผู้ดำเนินรายการ
ทั้งนี้ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ระลอกใหม่ในเดือนเมษายนที่ผ่านมานี้ ทำให้มีผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 จากคลัสเตอร์ต่างๆ เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ก่อให้เกิดความเจ็บป่วยทางร่างกายและการเสียชีวิต ทำให้ประชาชนโดยทั่วไปได้ให้ความสนใจในการดูแลสุขภาพของตนเองมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการใช้สมุนไพรเพื่อป้องกันโรคดังกล่าว ประกอบกับ ปริมาณข้อมูลข่าวสารจำนวนมากที่อยู่ในโลกออนไลน์ ซึ่งมีทั้งข้อมูลจริงและข้อมูลเท็จเกี่ยวกับสมุนไพร รวมไปถึงการโฆษณาเชิงพาณิชย์ และการใช้สมุนไพรอย่างไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ’ฟ้าทะลายโจร’ ด้วยเหตุนี้ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการเผยแพร่องค์ความรู้และหลักฐานทางวิชาการในการใช้สมุนไพรเพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันและป้องกันโรคโควิด-19 และเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของวิชาชีพเภสัชกรรมในการดูแลสุขภาพของประชาชน โดยการให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับฟ้าทะลายโจร คณะฯ จึงได้จัดการเสวนาทางวิชาการนี้ขึ้น เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ที่ทันสมัยให้เภสัชกร บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข รวมถึงประชาชนทั่วไป ในเรื่อง “ฟ้าทะลายโจรในการรักษาและป้องกันโรคโควิด-19: หลักฐานทางวิชาการ”
นอกจากนี้ เป้าหมายสำคัญของการเสวนาวิชาการดังกล่าว คือ การตอบสนองต่อหนึ่งในพันธกิจของคณะฯ ในการเป็นศูนย์กลางให้บริการวิชาการด้านยา สมุนไพร เครื่องสำอาง และอาหาร เพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน โดยการถ่ายทอดองค์ความรู้ที่ถูกต้องและทันสมัยให้แก่เภสัชกรวิชาชีพและบุคลากรสาธารณสุขในการดูแลผู้ป่วยได้อย่างเหมาะสม เพื่อให้เกิดประสิทธิผลและความปลอดภัยต่อผู้ป่วย รวมทั้งเสริมสร้างความตระหนักในการใช้สมุนไพรอย่างถูกต้องและปลอดภัยให้แก่ประชาชนทั่วไป ซึ่งจะนำไปสู่การมีสุขภาวะที่ดีของประชาชนในสังคม สามารถตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ในประเด็นเกี่ยวกับสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี โดยคณะฯ ได้ยกเว้นค่าลงทะเบียนในการเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว ซึ่งช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน สนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต รวมไปถึงการเข้าถึงองค์ความรู้และการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึงผ่านระบบออนไลน์ในยุควิถีปกติใหม่
จากการเสวนาดังกล่าว สรุปว่า สมุนไพรฟ้าทะลายโจรเป็นสมุนไพรพื้นบ้านที่มีประสบการณ์การใช้ในประเทศไทยและต่างประเทศมาอย่างยาวนานในการรักษาโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ ใช้เป็นยาลดไข้ แก้เจ็บคอ รักษาอาการท้องร่วง เป็นต้น โดยปัจจุบันฟ้าทะลายโจรได้รับการบรรจุอยู่ในบัญชียาจากสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ สำหรับข้อสรุปที่สำคัญของการใช้ฟ้าทะลายโจรในสถานการณ์โควิด-19 มีดังต่อไปนี้
1. ผลการวิจัยในหลอดทดลองพบว่า ฟ้าทะลายโจรไม่สามารถป้องกันเซลล์จากการติดเชื้อโควิด-19 ได้ ดังนั้นจึงไม่ควรนำฟ้าทะลายโจรมาใช้โดยหวังผลเพื่อการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 และประชาชนทุกคนควรใช้มาตรการการป้องกันการติดเชื้อตามที่กระทรวงสาธารณสุขแนะนำอย่างเคร่งครัด
2. การวิจัยในหลอดทดลองพบว่า สารสกัดจากฟ้าทะลายโจรมีฤทธิ์ยับยั้งการเพิ่มจำนวนเชื้อไวรัสได้เมื่อใช้ในขนาดสูง และข้อมูลจากงานวิจัยขนาดเล็ก โดยกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์เลือก กระทรวงสาธารณสุข พบว่า ผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ที่ได้รับสารสกัดฟ้าทะลายโจรที่มีสารแอนโดรกราโฟไลด์ (Andrographolide) 180 มิลลิกรัมต่อวัน เป็นเวลา 5 วัน มีอาการทางระบบทางเดินหายใจเช่น อาการไอ เจ็บคอ ปวดศีรษะ ดีขึ้น ข้อจำกัดที่สำคัญของข้อมูลเหล่านี้คือ การศึกษาไม่มีกลุ่มควบคุมและจำนวนผู้ป่วยที่ศึกษายังไม่มาก และจากประสบการณ์การใช้สารสกัดฟ้าทะลายโจรในผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 และมีอาการไม่รุนแรงในประเทศไทยจาก 9 โรงพยาบาลในหลายจังหวัด พบว่า ฟ้าทะลายโจรอาจสามารถช่วยลดอัตราการป่วยหนักได้ อย่างไรก็ตามข้อมูลนี้เป็นข้อมูลเบื้องต้นและยังต้องผ่านการวิเคราะห์ข้อมูลเพิ่มเติมต่อไป เพื่อทำให้ได้ข้อมูลที่มีคุณภาพมากขึ้น นอกจากนี้กำลังมีงานวิจัยแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุม (randomized, double-blinded, placebo-controlled trial) ที่กำลังดำเนินการอยู่ ซึ่งข้อมูลที่ได้จะเป็นประโยชน์ในการทำให้เราเข้าใจประสิทธิภาพและความปลอดภัยของฟ้าทะลายโจรเพิ่มเติมต่อไป ในส่วนของประสบการณ์การใช้ฟ้าทะลายโจรร่วมกับการรักษามาตรฐานของโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จะใช้ในรูปแบบแคบซูลที่เป็นผงบดขนาด 400 มิลลิกรัม ครั้งละ 4 แคปซูล วันละ 3 ครั้ง (คิดเป็นปริมาณของสารแอนโดรกราโฟไลด์ ประมาณ 120 มิลลิกรัมต่อวัน) เป็นเวลา 5 วัน
3. ผลิตภัณฑ์ฟ้าทะลายโจรที่มีจำหน่ายอยู่ในท้องตลาดมีหลายรูปแบบ ผู้บริโภคควรพิจารณารายละเอียดของผลิตภัณฑ์ว่าเป็นสารสกัดหรือเป็นผงของส่วนเหนือดินของฟ้าทะลายโจร (เช่น ใบ กิ่ง) และรับประทานให้ได้รับปริมาณสารแอนโดรกราโฟไลด์ที่เพียงพอตามที่ศึกษาในงานวิจัย ดังนั้นผู้บริโภคควรศึกษารายละเอียดของแต่ละผลิตภัณฑ์ก่อนใช้ว่า ในหนึ่งเม็ดหรือหนึ่งแคบซูลของผลิตภัณฑ์ดังกล่าว จะให้ปริมาณสารแอนโดรกราโฟไลด์เท่าใด
4. ฟ้าทะลายโจรมีข้อห้ามใช้ที่สำคัญคือ ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์ หญิงที่ให้นมบุตร ผู้ป่วยที่มีโรคไต ผู้ป่วยที่มีโรคตับ และรวมไปถึงผู้ป่วยที่มีประวัติแพ้ฟ้าทะลายโจร และไม่ควรใช้ฟ้าทะลายโจรในผู้ป่วยที่ใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด หรือยาต้านการเกาะกลุ่มกันของเกล็ดเลือด และฟ้าทะลายโจรอาจเสริมฤทธิ์ยาลดความดันโลหิตได้ ดังนั้นผู้ป่วยที่ใช้ยาลดความดันโลหิตควรใช้ด้วยความระมัดระวัง
5. การรับประทานฟ้าทะลายโจรในขนาดสูงดังที่ใช้ในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 นั้น ไม่ควรรับประทานติดต่อกันเป็นระยะเวลานานเกินกว่า 5 วัน
6. อาการข้างเคียงที่ไม่รุนแรงที่อาจพบได้จากฟ้าทะลายโจรได้แก่ ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ เบื่ออาหาร วิงเวียนศีรษะ แต่หากรับประทานฟ้าทะลายโจรแล้ว เกิดมีผื่นขึ้น มือเท้าเย็น กล้ามเนื้ออ่อนแรง ต้องหยุดยาและควรปรึกษาแพทย์ทันที
ขอขอบคุณ ข้อสรุปที่สำคัญของการใช้ฟ้าทะลายโจร จากงานสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยมหิดล
Photo Gallery