Knowledge Article


ปัสสาวะเล็ด กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ เกิดได้อย่างไร


อาจารย์ ดร.ภญ.กัลยาณี โตนุ่ม
ภาควิชาสรีรวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพประกอบจาก : https://bgh.sgp1.digitaloceanspaces.com/old-site/inline-images/002_38.jpg
21,337 View,
Since 2022-07-06
Last active: 5m ago
https://tinyurl.com/2aefps35
Scan to read on mobile device
 
A - | A +


ปัญหาปัสสาวะเล็ด กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ เกิดได้อย่างไร

ปัญหาปัสสาวะเล็ด กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ คือการที่มีปัสสาวะออกมาโดยไม่สามารถควบคุมได้ ซึ่งเป็นภาวะที่รบกวนการใช้ชีวิตของผู้ป่วยและส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต การกลั้นปัสสาวะไม่อยู่สามารถเกิดได้ทุกเพศทุกวัย แต่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ โดยพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย ในเพศหญิงสาเหตุสำคัญคือการที่ระดับเอสโตรเจนลดลงอย่างรวดเร็วในวัยหมดประจำเดือน เป็นเหตุให้ผนังท่อปัสสาวะบางลง ลดความสามารถในการปิดของหูรูดท่อปัสสาวะ ส่งผลให้หูรูดปิดสนิทได้ยากขึ้น ทำให้เกิดภาวะปัสสาวะเล็ดได้ ส่วนในเพศชายมักเกิดจากการที่มีภาวะต่อมลูกหมากโตจึงไปขัดขวางทางเดินปัสสาวะ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดปัญหาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ เช่น กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานอ่อนแอ ซึ่งอาจเกิดจากการตั้งครรภ์และการคลอดบุตร หรืออายุที่มากขึ้น การติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ ผู้ที่มีความสามารถในการเคลื่อนไหวร่างกายบกพร่อง ผู้ที่มีน้ำหนักเกิน ผู้ที่ท้องผูกเรื้อรัง หรือการได้รับยาบางชนิด เป็นต้น



ภาพจาก : http://ptworks.ca/wp-content/uploads/2018/08/urinary_incontinence_explained.jpg

ระบบทางเดินปัสสาวะประกอบด้วย ไต (kidney) ซึ่งทำหน้าที่ในการผลิตน้ำปัสสาวะ (urine) โดยมีท่อไต (ureter) เป็นส่วนที่ทำหน้าที่ลำเลียงน้ำปัสสาวะที่ไตผลิตได้ไปยังกระเพาะปัสสาวะ (urinary bladder) ก่อนปล่อยออกภายนอกร่างกายผ่านทางท่อปัสสาวะ (urethra) ในการลำเลียงน้ำปัสสาวะท่อปัสสาวะจะบีบตัวเป็นคลื่น ๆ ที่เรียกว่า peristaltic contraction ซึ่งจะลำเลียงน้ำปัสสาวะ ได้ 1-2 มิลลิลิตร/นาที โดยในคนปกติจะสามารถเก็บน้ำปัสสาวะได้ 200-400 มิลลิลิตร แบบไม่รู้สึกอึดอัดและไม่มีการเล็ดของปัสสาวะออกมา แต่ถ้าน้ำปัสสาวะมีมากกว่า 400 มิลลิลิตร จะเริ่มรู้สึกอยากขับถ่ายปัสสาวะ การขับถ่ายปัสสาวะอาศัยการทำงานของระบบประสาทในการควบคุมการทำงานของหูรูดของท่อปัสสาวะและกล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะให้เกิดการทำงานที่ประสานกัน ดังนั้นหากมีความผิดปกติของระบบประสาทที่มาควบคุมการทำงานของระบบขับถ่ายปัสสาวะหรือมีความผิดปกติของกล้ามเนื้อทางเดินปัสสาวะเองก็จะทำให้เกิดอาการปัสสาวะเล็ดหรือกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ได้

ชนิดของการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ได้เป็น 4 ประเภท ดังนี้
  1. Stress incontinence เป็นอาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ที่พบได้มากสุด โดยเป็นผลมาจากการที่ตัวหูรูดท่อปัสสาวะหดรัดตัวได้ไม่ดีหรือการหย่อนตัวของกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน เมื่อมีการเพิ่มความดันในช่องท้องอย่างกะทันหัน เช่น การไอ จาม หัวเราะ ออกกำลังกาย หรือยกของหนัก จะทำให้ไม่สามารถควบคุมการไหลของปัสสาวะได้
  2. Urge incontinence คือภาวะที่กล้ามเนื้อเรียบของกระเพาะปัสสาวะ มีการบีบตัวที่รุนแรงกว่าปกติ หรือมีการบีบตัวทั้ง ๆ ที่ปริมาณปัสสาวะในกระเพาะปัสสาวะไม่มากพอที่จะทำให้คนทั่วไปรู้สึกปวดปัสสาวะ โดยอาจมีสาเหตุมาจากโรคระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้สัญญาณประสาทที่ส่งลงมาควบคุมการขับถ่ายปัสสาวะบกพร่อง หรือเกิดพยาธิสภาพในอุ้งเชิงกราน เช่น การติดเชื้อ เนื้องอกในทางเดินปัสสาวะ
  3. Overflow incontinence การกลั้นปัสสาวะไม่ได้เนื่องจากปัสสาวะล้น สาเหตุอาจเกิดจากกล้ามเนื้อเรียบของกระเพาะปัสสาวะสูญเสียความสามารถในการบีบตัวจากความบกพร่องในการส่งสัญญาณของกระแสประสาท เช่น ในผู้ป่วยเบาหวานที่มีพยาธิสภาพของเส้นประสาทที่มาเลี้ยงกระเพาะปัสสาวะ หรือเกิดจากมีการอุดกั้นทางเดินปัสสาวะส่วนล่าง เช่น ต่อมลูกหมากโต เป็นผลให้ยังคงมีน้ำปัสสาวะเหลือค้างอยู่ในกระเพาะปัสสาวะเป็นจำนวนมากภายหลังจากการขับถ่ายปัสสาวะแล้ว ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกปวดปัสสาวะบ่อย หรือน้ำปัสสาวะในส่วนที่เกินความจุของกระเพาะปัสสาวะอาจเล็ดออกมาเองในปริมาณน้อย ๆ แต่ออกมาเรื่อย ๆ โดยที่ผู้ป่วยไม่มีอาการปวดปัสสาวะได้
  4. Functional incontinence การกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ชนิดนี้ ไม่ได้เกิดจากความผิดปกติของระบบขับถ่ายปัสสาวะ แต่เป็นปัญหาอื่นที่ทำให้ไม่สามารถไปเข้าห้องน้ำได้ เช่น ปัญหาทางด้านสมอง หรือปัญหาทางสุขภาพกายที่มีข้อจำกัดในการเคลื่อนไหว
การรักษา
  • การฝึกควบคุมการขับถ่ายของกระเพาะปัสสาวะ (bladder training) หรือฝึกการปัสสาวะตามเวลาที่กำหนด เป็นการฝึกเพื่อยืดระยะเวลาของการเข้าห้องน้ำแต่ละครั้งให้นานขึ้น และให้กระเพาะปัสสาวะมีความเคยชินกับปริมาณปัสสาวะที่มากขึ้น โดยวิธีคือ เริ่มจากฝึกกลั้นปัสสาวะให้นานขึ้นครั้งละประมาณ 30 นาที จนกระทั่งรู้สึกว่าสามารถทนได้ดี (อาจใช้เวลา 3-5วัน) จากนั้นให้ปรับเพิ่มระยะเวลาระหว่างครั้งให้นานขึ้น จนความถี่ในการเข้าห้องน้ำลดลงเป็นทุกๆ 2-4 ชั่วโมง
  • การควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติเพื่อช่วยลดแรงดันภายในช่องท้อง
  • การฝึกบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน (pelvic floor muscle exercise) ซึ่งทำได้โดยขมิบรูทวารและกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน (สังเกตการขมิบกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานได้จากการพยายามจะกลั้นปัสสาวะ) ระหว่างขมิบให้นับ 1-5 ช้า ๆ แล้วคลายกล้ามเนื้อลง ให้ทำซ้ำประมาณ 10-15 ครั้ง จำนวน 3 เซ็ต เป็นประจำทุกวัน และไม่ควรกลั้นหายใจขณะบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน
  • การหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้น เช่น เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • การใช้ยาเพื่อลดการบีบตัวของกระเพาะปัสสาวะ เช่น ยากลุ่ม Anti-muscarinic และ Beta-3 agonist
  • การรักษาด้วยการฉีดสาร Botulinum toxin
  • การรักษาด้วยการใช้เลเซอร์
  • การรักษาด้วยการผ่าตัด
เอกสารอ้างอิง
  1. วันทิน ศรีเบญลักษณ์, ปณิตา ลิมปะวัฒนะ. ภาวะกลั้นปัสสาวะไม่ได้ในผู้สูงอายุ. North-Eastern Thai Journal of Neuroscience. 2013;8(2):82-92.
  2. National Institute of Diabetes and Digestive and Kidney Disease. Symptoms & Causes of Urinary Retention [cited 2022 May 4]. Available from: https://www.niddk.nih.gov/health-information/urologic-diseases/urinary-retention/symptoms-causes
  3. Shenot PJ. Urinary incontinence in adults. 2021 [cited 2022 May 12]. Available from: https://www.msdmanuals.com/home/kidney-and-urinary-tract-disorders/disorders-of-urination/urinary-incontinence-in-adults
  4. de Groat WC, Griffiths D, Yoshimura NJCP. Neural control of the lower urinary tract. 2015;5(1):327.
  5. Yoshimura N, Kaiho Y, Miyazato M, Yunoki T, Tai C, Chancellor MB, et al. Therapeutic receptor targets for lower urinary tract dysfunction. 2008;377(4):437-48.
  6. Robinson D, Cardozo LDJU. The role of estrogens in female lower urinary tract dysfunction. 2003;62(4):45-51.
  7. Rovner ES, Wyman JF, Lam S. Urinary Incontinence. In: DiPiro JT, Yee GC, Posey L, Haines ST, Nolin TD, Ellingrod V. eds. Pharmacotherapy: A Pathophysiologic Approach, 11e. McGraw Hill;2020. Accessed May 08, 2022. https://accesspharmacy.mhmedical.com/ content.aspx?bookid=2577§ionid=231922139
Others articles

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้

Public Knowledge Articles



View all articles
-->

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

Faculty of Pharmacy, Mahidol University.

447 Sri-Ayuthaya Road, Rajathevi, Bangkok 10400, THAILAND
Designed & Developed by Department of Information Technology, Faculty of Pharmacy, Mahidol University.
Copyright © 2013-2020
 

We use Cookies

This site uses cookies to personalise your experience and analyse site traffic. By Clicking ACCEPT or continuing to browse the site you are agreeing to our use of cookies.