Knowledge Article


กลูต้าไธโอน (glutathione) ทำให้ขาวจริงหรือ??


บทความโดย คณาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
811,804 View,
Since 2010-02-12
Last active: 1h ago

Scan to read on mobile device
 
A - | A +

               กลูตาไธโอน (glutathione) เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่เซลล์ในร่างกายมนุษย์สามารถสังเคราะห์ได้เอง มีคุณสมบัติเป็นโปรตีนชนิดหนึ่ง ทำหน้าที่ในการปกป้องเนื้อเยื่อไม่ให้ถูกทำลายโดยสารอนุมูลอิสระที่สะสมอยู่ตามส่วนต่างๆของร่างกาย กระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกาย และที่สำคัญยังช่วยตับในการทำลายและขจัดสารพิษออกจากร่างกายด้วย

               ในทางการแพทย์พบว่ามีการนำกลูตาไธโอนมาทดลองใช้ในการรักษาโรคต่างๆ ซึ่งยังไม่ได้รับการอนุมัติข้อบ่งใช้จากองค์การอาหารและยา เช่น ภาวะเป็นหมันในเพศชาย ปลายเส้นประสาทอักเสบ มะเร็งกระเพาะอาหาร หรือมะเร็งต่อมลูกหมาก วิธีการรักษามักทำโดยการฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำหรือเข้าที่กล้ามเนื้อ ผลข้างเคียงอย่างหนึ่งที่น่าแปลกใจ คือ ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยการฉีดกลูตาไธโอนนั้นมีสีผิวที่ขาวขึ้น เนื่องมาจากกลูตาไธโอนสามารถยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนส (tyrosinase) ได้ และส่งผลให้เม็ดสีของผิวหนังเปลี่ยนจากเม็ดสีน้ำตาลดำเป็นเม็ดสีชมพูขาว ด้วยเหตุนี้เองจึงมีผู้พยายามนำผลข้างเคียงของยามาใช้ในการทำให้ผิวขาวขึ้น ซึ่งนับได้ว่าเป็นการนำยามาใช้ในทางที่ผิดอีกรูปแบบหนึ่ง โดยในปัจจุบันยังไม่มีการศึกษาที่น่าเชื่อถือยืนยันหรือรับรองประสิทธิภาพและประโยชน์ของกลูตาไธโอนในการทำให้ผิวขาวได้อย่างแท้จริง จึงไม่น่าแปลกใจที่กลูตาไธโอนไม่ผ่านการรับรองข้อบ่งใช้โดยองค์การอาหารและยาประเทศสหรัฐอเมริกาสำหรับทำให้ผิวขาว

               ผลิตภัณฑ์กลูตาไธโอนที่พบในท้องตลาดส่วนใหญ่นั้นเอยู่ในรูปยาเม็ดหรือผงละลายน้ำสำหรับรับประทาน ซึ่ง กลูตาไธโอนนี้สามารถถูกทำลายได้ในทางเดินอาหารของมนุษย์ ดังนั้นประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นจากการรับประทานกลูตาไธโอนในรูปแบบของยารับประทานนั้นแทบจะไม่มีเลย ที่ผ่านมาจึงพบว่ามีผู้พยายามนำกลูตาไธโอนในรูปแบบยาฉีดมาใช้แทนการรับประทานกันมากขึ้น เนื่องจากเชื่อว่ากลูตาไธโอนชนิดฉีดนั้นมีประสิทธิภาพในการทำให้ผิวขาวได้ดีกว่าและเห็นผลเร็วกว่ากลูตาไธโอนชนิดรับประทาน

               ประเด็นสำคัญของการใช้ยาฉีดกลูตาไธโอนโดยเฉพาะการฉีดเข้าหลอดเลือดดำนั้น คือ ความปลอดภัยจากการฉีดยา เนื่องจากผิวที่ขาวขึ้นจากกลูตาไธโอนนั้นเป็นผลข้างเคียงของยาที่เกิดขึ้นชั่วคราวเท่านั้น หากต้องการให้ผลคงอยู่ไปตลอดจำเป็นต้องได้รับการฉีดซ้ำเป็นระยะ ทำให้มีการสะสมยาในร่างกายมากขึ้น และอาจก่อให้เกิดอันตรายในระยะยาวได้ นอกจากนี้การฉีดยาจำเป็นต้องกระทำโดยผู้ประกอบวิชาชีพที่เชี่ยวชาญเท่านั้น เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้ระหว่างการให้ยา เช่น การฉีดยาในอัตราที่เร็วเกินไป การติดเชื้อในกระแสเลือดจากเครื่องมือที่ไม่สะอาดเ การเกิดฟองอากาศอุดตันหลอดเลือดเนื่องจากผู้ฉีดยาไล่ฟองอากาศในเข็มฉีดยาไม่หมด เป็นต้น ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้ส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อผู้ที่ได้รับยาจนถึงขั้นเสียชีวิตได้เลยทีเดียว

               ถึงแม้ว่ากลูตาไธโอนเป็นสารที่ร่างกายสร้างได้เองตามธรรมชาติ แต่ประสิทธิภาพและความปลอดภัยของ กลูตาไธโอนชนิดฉีดหรือชนิดรับประทานเพื่อให้ผิวขาวใสนั้นยังไม่มีการพิสูจน์ผลที่ชัดเจน ความปลอดภัยในการใช้ยาจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึง และพึงระลึกไว้เสมอว่า “ ไม่มียาชนิดใดในโลกที่ปลอดภัยร้อยเปอร์เซนต์ ” ดังนั้นก่อนการใช้ยาใดๆ ก็ตามควรศึกษาข้อมูลให้ละเอียดเสียก่อนเพื่อความปลอดภัยของตนเอง

Reference:
1. Villarama CD, Maibach HI. Glutathione as a depigmenting agent: an overview. Int J Cosmet Sci 2005;27:147–53.

2. พิมลพรรณ พิทยานุกุล. สารกลูตาไธโอน ช่วยให้ขาวได้จริงหรือ [Online]. 2008 Apr 22 [cited 2010 Feb 5]. Available from: URL: http://www.consumerthai.org/old/cms/index.php?option=com_ content&task=view&id=1055&Itemid=38

Others articles

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้

Public Knowledge Articles



View all articles
-->

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

Faculty of Pharmacy, Mahidol University.

447 Sri-Ayuthaya Road, Rajathevi, Bangkok 10400, THAILAND
Designed & Developed by Department of Information Technology, Faculty of Pharmacy, Mahidol University.
Copyright © 2013-2020
 

We use Cookies

This site uses cookies to personalise your experience and analyse site traffic. By Clicking ACCEPT or continuing to browse the site you are agreeing to our use of cookies.