Knowledge Article


กินอะไร...ชะลอจอประสาทตาเสื่อม


รองศาสตราจารย์ วิมล ศรีศุข
ภาควิชาอาหารเคมี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
212,501 View,
Since 2014-03-23
Last active: 1 days ago

Scan to read on mobile device
 
A - | A +
โรคจอประสาทตาเสื่อม คืออะไร
จอประสาทตา (retina) เป็นส่วนที่อยู่บริเวณหลังสุดของตา เมื่อใช้สายตามองดูสิ่งของ แสงที่กระทบสิ่งของจะสะท้อนผ่านเข้ามายังจอประสาทตา ซึ่งจอประสาทตาจะเปลี่ยนแสงให้อยู่ในรูปของสัญญาณไฟฟ้าแล้วส่งผ่านเส้นประสาทตา (optic nerve) ไปยังสมอง ที่จอประสาทตานี้ จะมีบริเวณที่ไวที่สุดของจอประสาทตา เรียกชื่อว่า แมคูลา ลูเตีย (macula lutea) แมคูลานี้จะประกอบไปด้วยเซลล์รับแสงนับล้านๆเซลล์ที่ช่วยการมองภาพที่คมชัดตรงส่วนกลางของภาพ หากมีการทำลายของแมคูลา การมองภาพก็จะขาดความคมชัด
โรคจอประสาทตาเสื่อม (Age-related macular degeneration (AMD)) เป็นโรคซึ่งเกิดที่บริเวณ แมคูลา ลูเตีย (macula lutea) โดยเฉพาะ ในโรคนี้จะมีการทำลายแมคูลาไปทีละน้อย โรคอาจจะลุกลามไปช้ามากในคนบางคน ก็จะใช้เวลานานมากกว่าที่จะสูญเสียการมองเห็น แต่สำหรับในบางคนการลุกลามของโรคเป็นไปอย่างรวดเร็วและอาจมีผลทำให้ตาบอดข้างเดียวหรือทั้งสองข้างได้ โรคนี้เป็นสาเหตุหลักของตาบอดที่เกิดขึ้นในคนที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปในประเทศทางแถบตะวันตก

โรคจอประสาทตาเสื่อมมีกี่ชนิด
โรคจอประสาทตาเสื่อมแบ่งตามความรุนแรงออกได้เป็น 2 ประเภท

  1. โรคจอประสาทตาเสื่อมแบบแห้ง (early (or dry) AMD) เป็นรูปแบบที่พบได้มากที่สุด ในขั้นเริ่มต้นหรือขั้นปานกลาง พบได้ประมาณร้อยละ 90 ของผู้ป่วยโรคนี้ เกิดจากการสลายตัวของเซลล์ไวแสงที่บริเวณแมคูลา
  2. โรคจอประสาทตาเสื่อมแบบเปียก (late (or wet) AMD) พบได้ประมาณร้อยละ 10 ของผู้ป่วยโรคนี้ เกิดจากการที่มีหลอดเลือดผิดปกติที่บริเวณหลังจอประสาทตา มีการเจริญของหลอดเลือดใต้แมคูลา หลอดเลือดใหม่ๆเหล่านี้อาจจะมีความเปราะบางและเกิดการรั่วของเลือดและของเหลวได้ทำให้แมคูลาบวมและเกิดการทำลายอย่างรวดเร็ว การทำลายนี้อาจจะทำให้เกิดแผลเป็นที่จอประสาทตาได้ ในช่วงเริ่มต้นของโรคจอประสาทตาแบบเปียกนี้ อาจทำให้มองเห็นเส้นตรงปรากฏลักษณะคล้ายคลื่น ผู้ป่วยอาจจะมี “จุดบอด” ซึ่งเป็นผลมาจากการที่มีการสูญเสียการมองเห็นภาพในบริเวณตรงกลางของภาพ

ปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคจอประสาทตาเสื่อม มีอะไรบ้าง
มีปัจจัยหลายอย่างที่มีส่วนทำให้เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคจอประสาทตาเสื่อม เช่น อายุ การสูบบุหรี่ ม่านตาสีอ่อน (light iris coloration) แสงแดด การกินอาหารไม่ถูกหลักโภชนาการ และกรรมพันธุ์ เป็นต้น นอกจากนี้ยังพบว่าโรคจอประสาทตาเสื่อมจะเกิดกับผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย

ร่างกายมีกลไกที่จะสามารถป้องกันจอประสาทตาได้หรือไม่
ก่อนอื่นลองมาดูว่าแสงที่ผ่านตาเข้ามาแล้วจะไปที่ใดบ้าง เมื่อแสงผ่านเข้าสู่ตา แสงจะผ่านกระจกตา (cornea) และ แก้วตา (lens) ทั้งนี้ กระจกตาจะสามารถกรองแสงอัลตร้าไวโอเล็ต (UV) บางส่วนไว้ได้ แสงส่วนใหญ่จะถูกส่งผ่านไปยัง จอประสาทตา (retina) พบว่าในบรรดาคลื่นแสงที่เรามองเห็นได้นี้ คลื่นแสงสีฟ้าซึ่งมีพลังงานสูงจะมีผลเหนี่ยวนำให้เกิดการสร้างอนุมูลอิสระ (free radical) ในเซลล์ของจอประสาทตาได้สูงเป็น 100 เท่าของคลื่นแสงสีแดงซึ่งมีพลังงานต่ำ สำหรับที่จอประสาทตานี้ จะมีจุดโฟกัสที่เรียกว่า แมคูลา ลูเตีย (macula lutea) มีสารสี (macular pigment) ที่เป็นสีเหลืองซึ่งประกอบไปด้วย ลูทีน (lutein) และซีแซนทีน (zeaxanthin) เชื่อว่าสารประกอบทั้งสองนี้ทำหน้าที่เป็นสารต้านออกซิเดชันเพื่อป้องกันเซลล์รับแสง (photoreceptor cells) จากอันตรายจากอนุมูลอิสระที่เซลล์สร้างขึ้นเนื่องมาจากมีปริมาณออกซิเจนสูง (oxygen tension) และจากการถูกแสง นอกจากนี้ยังเชื่อว่าสารประกอบทั้งสองนี้มีหน้าที่ในการกรองแสงสีฟ้าที่เป็นคลื่นแสงที่มีพลังงานสูง โดยประมาณว่าจะสามารถกรองแสงสีฟ้าลงได้ถึง 40 % ก่อนที่แสงจะตกถึงแมคูลา ดังนั้นจะสามารถลดสภาวะความเครียดออกซิเดชันต่อจอประสาทตาได้อย่างมีนัยสำคัญ

กินอะไร ชะลอโรคจอประสาทตาเสื่อม
ลูทีน และ ซีแซนทีน เป็นสารประกอบที่จัดอยู่ในกลุ่มของแคโรทีนอยด์ที่ไม่สามารถเปลี่ยนเป็นวิตะมิน เอ ได้ (non-provitamin A carotenoids) โดยทั่วไป หรือเรียกอีกอย่างว่าเป็นกลุ่มแซนโทฟิลล์ (Xanthophyll) ร่างกายมนุษย์ไม่สามารถสร้างสารประกอบทั้งสองนี้ได้ จำเป็นต้องได้รับจากอาหาร ลูเทอินและซีอาแซนทินเป็นแคโรทีนอยด์ 2 ตัวเท่านั้นที่พบอยู่ที่แมคูลา (macula) และที่เลนส์ของตา
จากรายงานการศึกษาทางระบาดวิทยา ซึ่งเป็นการศึกษาในประชากรกลุ่มใหญ่ 12 ฉบับ แม้ว่าผลการศึกษาจะไม่สม่ำเสมอ แต่ส่วนใหญ่พบว่ากลุ่มคนที่รับประทานอาหารที่มีผักและผลไม้ที่มีลูทีนและซีแซนทีนสูงสุด หรือกลุ่มคนที่มีระดับลูทีนและซีแซนทีนในเลือดสูงสุด (เปรียบเทียบกับกลุ่มที่ต่ำสุด) จะมีความเสี่ยงในการเกิดโรคจอประสาทตาเสื่อมน้อยกว่ามาก นอกจากนี้การศึกษาทางคลินิก (การศึกษาในคน) 7 ฉบับ พบว่าการได้รับลูทีนและซีแซนทีน ไม่ว่าจะอยู่ในรูปของอาหารหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร มีผลทำให้ระดับของลูทีนในเลือดและในแมคูลาสูงขึ้น และทำให้การวัดการมองเห็นต่างๆดีขึ้น มีแนวโน้มในการป้องกันการเกิดโรคจอประสาทตาเสื่อม
เนื่องจาก ลูทีนและซีแซนทีนเป็นสารประกอบในกลุ่มแคโรทีนอยด์ จึงสามารถพบได้ใน ผลไม้และผักต่างๆ แหล่งอาหารที่ให้ลูทีนที่ดีที่สุด คือ ผักใบเขียว ตัวอย่างเช่น ผักคะน้าจะมีลูทีนในปริมาณ 4.8 – 13.4 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักผักสด 100 กรัม และผักปวยเล้ง (Spinach; Spinacia Oleracea L.) จะมีลูทีน 6.5 – 13.0 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักผักสด 100 กรัม นอกจากนั้นก็พบได้ในปริมาณไม่สูงในไข่แดง แม้พบอยู่ในไข่แดงในปริมาณน้อย แต่ลูทีนในไข่แดงก็เป็นชนิดที่สามารถถูกนำไปใช้ได้ดี (highly available) ผู้ที่เคยระมัดระวังหลีกเลี่ยงการรับประทานไข่แดงก็อาจจะต้องคิดดูใหม่ สำหรับปริมาณของลูทีนที่ควรได้รับต่อวัน (Dietary Recommended Intake (DRI)) ยังไม่มีการกำหนด แต่ขนาดที่มีการศึกษา คือ ลูทีน 2.5 – 30 มิลลิกรัม ต่อวัน และ ซีแซนทีน 0.4 – 2 มิลลิกรัม ต่อวัน สำหรับปริมาณของลูทีนที่ใช้ในการศึกษาเกี่ยวกับการมองเห็นต่างๆในผู้ป่วยโรคจอประสาทตาเสื่อม ตัวอย่างเช่น ผักปวยเล้ง 150 กรัม (มีลูทีนประมาณ 14 มิลลิกรัม) หรือในรูปผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร 4-7 ครั้งต่อสัปดาห์ นาน 1 ปี, ลูทีนในรูปผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในขนาด 10 มิลลิกรัมต่อวันร่วมกับสารต้านออกซิเดชัน, ลูทีนในรูปผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในขนาด 10 มิลลิกรัมต่อวัน ร่วมกับ ซีแซนทีนในขนาด 1 มิลลิกรัม เป็นต้น
โดยสรุป แม้จะยังไม่มีความเข้าใจอย่างชัดเจนถึงกลไกหรือวิถีทางทุกทางของลูทีนและซีแซนทีน ในส่วนของการป้องกันหรือลดความเสี่ยงของการเกิดโรคจอประสาทตาเสื่อม นอกเหนือจากการกรองแสงสีฟ้าและการต้านออกซิเดชัน และการศึกษายังเป็นในกลุ่มคนจำนวนไม่มาก และผลการศึกษาไม่สม่ำเสมอทั้งหมด แต่การรับประทานลูทีนและซีแซนทีนในรูปของผักและอาหารอื่นๆ ก็ไม่ได้เป็นเรื่องที่อันตรายแต่อย่างใด ตารางข้างล่างนี้แสดงถึงปริมาณลูทีนที่พบได้ในผักใบเขียวและอาหารอื่นๆ จากตาราง จะเห็นได้ว่าผักส่วนใหญ่เป็นชนิดที่คุ้นเคยกันในบ้านเรา ผัก 2 ชนิดที่น่าจะมีประโยชน์มากคือ ผักคะน้า และ ผักปวยเล้ง เนื่องจากมีปริมาณลูทีนสูงที่สุด อาจนำมาผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนจัดเป็นเมนูอาหารต่างๆ เช่น เมี่ยงคะน้า ผัดผักคะน้า ผัดผักปวยเล้ง น้ำปั่นผักคะน้า/ผักปวยเล้ง เป็นต้น น่าจะเป็นผลดีกับสุขภาพของตา

เอกสารอ้างอิง

  1. Bahrami H, Melia M, Dagnelie G. Lutein supplementation in retinitis pigmentosa: PC-based vision assessment in a randomized double-masked, placebo-controlled clinical trial (NCT00029289). BMC Ophthalmol 2006;6:23.
  2. Beatty S, Boulton M, Henson D, Koh H, Murray I. Macular pigment and age-related macular degeneration. Br J Ophthalmol 1999;83:867-77.
  3. Beatty S, Nolan J, Kavanagh H, O’Donovan. Macular pigment optical density and its relationship with serum and dietary levels of lutein and zeaxanthin. Arch Biochem Biophys 2004;430:70-6.
  4. Berenschot T, Goldbohm R, Klopping W, et al. Influence of lutein supplementation on macular pigment, assessed with two objective techniques. Invest Ophthalmol Vis Sci 2000;41:3322-6.
  5. Evans JA, Johnson EJ. Something new under the sun: lutein’s role in skin health. Am J Lifestyle Med 2009;3:349.
  6. Goldberg J, Flowerdew G, Smith E, Brody J, Tso M. Factors associated with age-related macular degeneration. An analysis of data from the first National Health and Nutritional Examination Survey. Am J Epidemiol 1988;128:700-10.
  7. Hammond Jr B, Johnson E, Russell R, et al. Dietary modification of human pigment density. Invest Ophthalmol Vis Sci 2000;41:3322-6.
  8. Handelman GJ, Ninghtingale ZD, Lichtenstein AH, Schaefer EJ, Blumberg JB. Lutein and zeaxanthin concentrations in plasma after dietary supplementation with egg yolk. Am J Clin Nutr 1999;70:247-51.
  9. Johnson E, Hammond Jr B, Yeum K, et al. Relation among serum and tissue concentrations of lutein and zeaxanthin and macular pigment density. Am J Clin Nutr 2000; 71:1555-62.
  10. Klaver C, Wolfs R, Vingerling J, Hofman J, de Jong P. Age-specific prevalence and causes of blindness and visual impairment in an older population: the Rotterdam Study. Arch Ophthalmol 1998;116:653-8.
  11. Koh H, Murray I, Nolan D, Carden D, Feather J, Beatty S. Plasma and macular responses to lutein supplement in subjects with and without age-related maculopathy: a pilot study. Exp Eye Res 2004;79:21-7.
  12. Kopsell DA, Kopsell DE, Curran-Celentano J, Wenzel AJ. Genetic variability for lutein concentrations in leafy vegetable crops can influence serum carotenoid levels and macular pigment optical density in human subjects. ISHS Acta Horticulture 841: II International Symposium on Human Health Effects of Fruits and Vegetables: FAVHEALTH 2007.
  13. Kvansakul J, Rodriguez-Carmona M, Edgar D, et al. Supplementation with the carotenoid lutein or zeaxanthin improves human visual performance. Ophthalmic Physiol Opt 2006;26:362-71.
  14. Landrum J. Serum and macular pigment response to 2.4 mg dosage of lutein. ARVO 2000;2000:41.
  15. Landrum J, Bone R, Joa H, Kilburn M, Moore L, Sprague K. A one year study of the macular pigment: the effect of 140 days of a lutein
  16. Mangels AR, Holden JM, Beecher GR, Forman MR, Lanza E. Carotenoid content of fruits and vegetables: an evaluation of analytic data. J Am Diet Assoc 1993;93:284-96.
  17. Massacessi A, Faletra R, Gerosa G, Staurenghi G, Orzalesi N. The effect of oral supplementation of macular carotenoids (lutain and zeaxanthin) on the prevention of age-related macular degeneration: an 18-month follow-up study. ARVO 2001;42:S234.
  18. Moeller S, Parekh N, Tinker L, et al. Associations between intermediate age-related macular degeneration and lutein and zeaxanthin in the Carotenoids in Age-related Eye Disease Study (CAREDS): ancillary study of the Women’s Health Initiative. Arch Ophthalmol 2006;124:1151-62.
  19. Nolan J, Stack J, Lellerio J, et al. Monthly consistency of macular pigment optical density and serum concentrations of lutein and zeaxanthin. Curr Eye Res 2006;31:199-213.
  20. Richer S. ARMD-pilot (case series) environmental intervention data. J AM OPTOM ASSOC 1999;70:24-36.
  21. Richer S, Stiles W, Statkute L, et al. Double-masked, placebo-controlled, randomized trial of lutein and antioxidant supplementation in the intervention of atopic age-related macular degeneration: the Veterans LAST study (Lutein Antioxidant Supplementation Trial). Optometry 2004;75:216-30.
  22. Roberts RL, Green J, Lewis B. Lutein and zeaxanthin in eye and skin health. Clin Dermatol 2009;27:195-201.
  23. Seddon J, Anani A, Sperduto R, et al. Dietary carotenoids, vitamin A, C, E and advanced age-related macular degeneration. Eye Disease Case Controlled Study Group. JAMA 1994;272:1413-20.
  24. Sommerburg O, Keunen J, Bird A, van Kuijk F. Fruits and vegetables that are sources of lutain and zeaxanthin: the macular pigment in human eyes. Br J Ophthalmol 1998;82:907-10.
  25. Surai PF, MacpPherson A, Speake BK, Sparks NH. Designer egg evaluation in a controlled trial. Eur J Clin Nutr 2005;54:298-305.
Others articles

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้

Public Knowledge Articles



View all articles
-->

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

Faculty of Pharmacy, Mahidol University.

447 Sri-Ayuthaya Road, Rajathevi, Bangkok 10400, THAILAND
Designed & Developed by Department of Information Technology, Faculty of Pharmacy, Mahidol University.
Copyright © 2013-2020
 

We use Cookies

This site uses cookies to personalise your experience and analyse site traffic. By Clicking ACCEPT or continuing to browse the site you are agreeing to our use of cookies.