Knowledge Article


ชาเขียว ( Green Tea )... ดื่มอย่างไรให้ได้ประโยชน์


ธิดารัตน์ จันทร์ดอน
สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
339,891 View,
Since 2014-01-19
Last active: 11m ago
https://tinyurl.com/2yhkddoc
Scan to read on mobile device
 
A - | A +
“ชาเขียว” เป็นเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องและมีแนวโน้มการบริโภคที่เพิ่มขึ้น ปัจจุบันมีการผลิตชาเขียวในรูปแบบของเครื่องดื่มสำเร็จรูปกันอย่างแพร่หลายทำให้สะดวกต่อการบริโภค และด้วยรสชาติความอร่อยของชาเขียว แก้กระหายทำให้รู้สึกสดชื่น รวมไปถึงเทคนิคการโฆษณาผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มชาเขียว หรือข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับสรรพคุณของชาเขียวที่มีต่อร่างกาย เช่น ช่วยลดระดับไขมันในเลือด ลดความอ้วน และป้องกันโรคมะเร็ง เป็นต้น เป็นแรงจูงใจทำให้กระแสการบริโภคชาเขียวเพิ่มขึ้น แต่อาจก่อให้เกิดพฤติกรรมการบริโภคที่ไม่เหมาะสม หรือบริโภคชาเขียวในปริมาณสูงเกินไปโดยไม่ทราบถึงผลกระทบต่อร่างกาย ผู้บริโภคจึงควรทราบถึงข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับชาเขียวเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดและไม่ส่งผลเสียต่อร่างกาย

ชาเขียว ก็คือ ชา (Camellia sinensis) ที่ไม่ผ่านการหมัก เตรียมได้โดยการนำใบชาสดมาผ่านความร้อนเพื่อทำให้แห้งอย่างรวดเร็ว ความร้อนจะช่วยยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ทำให้ไม่เกิดการสลายตัว ทำให้ได้ใบชาที่แห้งแต่ยังสดอยู่และยังมีสีที่ค่อนข้างเขียวจึงเรียกว่า ชาเขียว สารสำคัญที่พบได้ในชาเขียวได้แก่ กรดอะมิโน วิตามิน B, C, E สารในกลุ่มแซนทีนอัลคาลอยด์ (xanthine alkaloids) คือ คาเฟอีน (caffeine) และธิโอฟิลลีน (theophylline) ซึ่งมีฤทธิ์กระตุ้นการทำงานของระบบประสาทส่วนกลางส่งผลให้ร่างกายรู้สึกกระปรี้กระเปร่า และสารในกลุ่มฟลาโวนอยด์ (flavonoids) ที่เรียกว่า แคททีชิน (catechins) แคททีชินที่พบมากที่สุดในชาเขียวคือ สารอีพิกัลโลคาเทชินกัลเลต (epigallocatechin gallate) ซึ่งมีความสำคัญในการออกฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ

ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของสารต่างๆ ที่พบในชาเขียวมีผลในการยับยั้งภาวะโรคต่างๆ โดยมีงานวิจัยมากมายสนับสนุนว่าการดื่มชาเขียวมีประโยชน์ต่อร่างกายได้แก่ ชาเขียวมีฤทธิ์ในการลดความอ้วน มีงานวิจัยระบุว่าสารแคททีชินที่พบได้มากในชาเขียวนั้น มีฤทธิ์ช่วยเพิ่มการเผาผลาญพลังงานและไขมันจึงส่งผลต่อการควบคุมน้ำหนักของร่างกาย การดื่มชาเขียวยังช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลและระดับน้ำตาลในเลือด และมีงานวิจัยทางคลินิคพบว่าชาเขียวมีฤทธิ์ต่อต้านการเกิดโรคของหลอดเลือดหัวใจ นอกจากนี้ยังมีการศึกษาเกี่ยวกับการดื่มชาเขียวมีผลช่วยลดอัตราเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งต่าง ๆ แต่ทั้งนี้ยังไม่มีงานวิจัยใดยืนยันการทดลองและสรุปผลว่าชาเขียวสามารถรักษาโรคมะเร็งได้

จากการศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของชาเขียวพบว่าชาเขียวมีประโยชน์ในหลาย ๆ ด้าน แต่การบริโภคชาเขียวอย่างไม่เหมาะสมอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อร่างกาย ซึ่งมีรายงานเกี่ยวกับการบริโภคชาเขียวระบุว่าถ้าบริโภคในปริมาณสูงและติดต่อกันเป็นเวลานานสามารถส่งผลเสียต่อตับได้ โดยมีรายงานการวิจัยในหนูเม้าส์พบว่าสาร epigallocatechin gallate (EGCG) จะส่งผลให้ตับถูกทำลายเล็กน้อยเมื่อบริโภคในขนาดสูง (2,500 มก./กก.) ติดต่อกัน 5 วัน และความเป็นพิษต่อตับจะยิ่งเพิ่มขึ้นเมื่อบริโภคในขณะที่เป็นไข้ จากงานวิจัยช่วยยืนยันว่าการบริโภคชาเขียวในระยะเวลาสั้นๆ มีความปลอดภัย แต่ถ้าบริโภคในปริมาณสูงอาจส่งผลให้ตับถูกทำลาย ดังนั้นหากมีความผิดปกติเกี่ยวกับตับหรือมีอาการไข้ควรหลีกเลี่ยงการบริโภคชาเขียวในขนาดสูงและติดต่อกันเป็นเวลานาน ที่น่าสังเกตคือรูปแบบการบริโภคชาเขียวตั้งแต่สมัยโบราณเป็นการบริโภคในรูปแบบการชงชาดื่มเองและไม่มีส่วนผสมของน้ำตาล ดังนั้นการดื่มชาเขียวที่ชงเองนอกจากจะได้รับรสชาติและกลิ่นหอมแท้จากชาเขียวแล้วยังได้รับประโยชน์จากสารต้านอนุมูลอิสระที่ดีกว่าเครื่องดื่มชาเขียวสำเร็จรูปซึ่งจะมีส่วนผสมของน้ำตาลและมีปริมาณชาเขียวที่เจือจาง ชาเขียวร้อน 1 ถ้วยมี EGCG ประมาณ 100 - 200 มก. จากข้อมูลงานวิจัยความเป็นพิษของชาเขียวที่กล่าวไว้เบื้องต้น ในแต่ละวันจึงไม่ควรดื่มเกิน 10 - 12 ถ้วย ทั้งนี้ชาเขียวยังมีคาเฟอีน การดื่มในปริมาณสูงอาจส่งผลให้นอนไม่หลับได้ ควรดื่มในปริมาณที่เหมาะสมโดยการชงใบชา 1 - 2 ช้อนชาในน้ำร้อน วันละ 3 ถ้วย ในระหว่างมื้ออาหาร เพื่อให้ได้ประโยชน์ต่อสุขภาพและไม่ส่งผลเสียต่อร่างกาย สำหรับเครื่องดื่มชาเขียวสำเร็จรูปจะมีปริมาณใบชาที่น้อยมากจึงมีสารสำคัญน้อย ถ้าจะดื่มเพื่อที่จะได้รับประโยชน์จากสารโพลีฟีนอล EGCG อาจจะต้องดื่มหลายขวดต่อวัน ซึ่งแทนที่จะได้ประโยชน์อาจทำให้เสียสุขภาพเนื่องจากร่างกายได้รับปริมาณน้ำตาลที่เป็นส่วนผสมในชาเขียวสำเร็จรูปนั้นสูงเกินไป จึงไม่ควรดื่มชาเขียวสำเร็จรูปบ่อยจนเกินไป ดื่มเพื่อดับกระหายเพียง 1 - 2 ครั้งต่อวัน และไม่ควรดื่มติดต่อกันทุกวัน

เอกสารอ้างอิง

  1. Ibrahim G. Saleh, Zulfiqar Ali, Naohito Abe, et al. Effect of green tea and its polyphenols on mouse liver. Fitoterapia 2013; 90: 151-159
  2. Yang HY, Yang SC, Chao JC and Chen JR. Beneficial effects of catechin-rich green tea and inulin on the body composition of overweight adults. Br J Nutr. 2012 Mar; 107(5): 749-54
  3. Wang QM, Gong QY, Yan JJ, et al. Association between green tea intake and coronary artery disease in a Chinese population. Circ J. 2010 Feb; 74(2): 294-300
  4. Yuan JM. Cancer prevention by green tea: evidence from epidemiologic studies. Am J Clin Nutr. 2013 Dec; 98(6): 1676S-81S
  5. วรนันท์ ศุภพิพัฒน์. ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับชาเขียว สารออกฤทธิ์ที่สำคัญและปริมาณการบริโภคที่เหมาะสม, สรุปการประชุม/สัมมนาเรื่อง การดื่มชาเขียวในประเทศไทย; สิงหาคม 2548; สภาสมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (สสวทท).
Others articles

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้

Public Knowledge Articles



View all articles
-->

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

Faculty of Pharmacy, Mahidol University.

447 Sri-Ayuthaya Road, Rajathevi, Bangkok 10400, THAILAND
Designed & Developed by Department of Information Technology, Faculty of Pharmacy, Mahidol University.
Copyright © 2013-2020
 

We use Cookies

This site uses cookies to personalise your experience and analyse site traffic. By Clicking ACCEPT or continuing to browse the site you are agreeing to our use of cookies.