หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

มือเท้าปาก ป้องกันได้ ลูกน้อยแข็งแรง

โดย นศภ.กัญญาอร สีสำลี ภายใต้คำแนะนำของ รศ.ดร.ภญ. ปิยทิพย์ ขันตยาภรณ์ เผยแพร่ตั้งแต่ 8 มีนาคม พ.ศ.2567 -- 4,634 views
 

รู้จักโรคมือเท้าปาก

โรคมือเท้าปาก (hand, foot and mouth disease–HFMD) เป็นโรคติดเชื้อไวรัสที่พบมากในประเทศแถบเอเชียแปซิฟิกรวมถึงประเทศไทย โดยเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคมือเท้าปากมีอยู่หลายชนิด แต่ชนิดที่พบได้บ่อยที่สุด ได้แก่ ไวรัสเอนเทอโร 71 (Enterovirus 71, EV71) และ ไวรัสค็อกแซกกี A 16 (Coxsackie virus A type 16, CV-A16)[1] ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ณ วันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2566 พบผู้ป่วยโรคมือเท้าปากในปี พ.ศ. 2561-2565 ในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปีถึง 59% อายุ 3-5 ปี 33% และน้อยลงในเด็กอายุ 6-9 ปี และ 10-14 ปี ซึ่งพบ 6% โดยอัตราการป่วยของประเทศไทยในปี พ.ศ. 2566 มีแนวโน้มลดลงจากปี พ.ศ. 2561-2565 และยังไม่พบผู้เสียชีวิตจากโรคมือเท้าปาก[2] อย่างไรก็ตามสามารถพบการติดเชื้อในผู้ใหญ่ได้เช่นกัน

โดยทั่วไปแล้วอาการแสดงของโรคมือเท้าปาก ได้แก่ มีไข้ มีแผล รอยแดงจ้ำ หรือตุ่มน้ำใสที่มือ เท้า และปาก ซึ่ง (รูปที่ 1) อย่างไรก็ตามอาจพบความผิดปกติที่บริเวณลำตัว รอบก้น และอวัยวะเพศได้อีกด้วย ทั้งนี้แผลในปากอาจทำให้เด็กเจ็บปากจนไม่ยอมทานอาหาร มีน้ำลายไหล ซึ่งโดยทั่วไปแล้วในรายที่อาการไม่ รุนแรง มักจะอาการดีขึ้นภายใน 2-3 วัน และเด็กสามารถหายจากโรคเองได้ภายใน 7-10 วัน

รูปที่ 1 ลักษณะแผลของโรคมือเท้าปาก

(ที่มา: BruceBlaus, https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Hand_Foot_%26_Mouth_Disease.png
เข้าถึงเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2567)

หนึ่งคำถามที่พบบ่อยในกลุ่มพ่อแม่ผู้ปกครอง คือ โรคมือเท้าปากสามารถติดต่อกันได้หรือไม่ ทั้งนี้เนื่องจากโรคมือเท้าปากเกิดจากการติดเชื้อไวรัส ดังนั้นจึงสามารถติดต่อผ่านทางสารคัดหลั่งที่มีเชื้อไวรัสนั้นอยู่ เช่น น้ำลาย น้ำมูก ปัสสาวะ อุจจาระ และผ่านทางระบบทางเดินหายใจ[1] โรคมือเท้าปากจึงสามารถระบาดได้ง่ายในโรงเรียนอนุบาล เนอสเซอรี่ และในบ้านที่มีเด็กหลายคน เนื่องจากการสัมผัสสิ่งคัดหลั่งโดยไม่ตั้งใจจากการสัมผัสตัวหรือการใช้ของเล่นของใช้ร่วมกัน รวมทั้งการอยู่ในระบบอากาศที่ไม่ถ่ายเท

เนื่องจากโรคมือเท้าปากสามารถติดต่อกันได้ การดูแลป้องกันไม่ให้เด็ก ๆ ติดโรคมือเท้าปากจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ โดยวิธีป้องกันการติดโรคมือเท้าปากอาจได้เป็น 1) การป้องกันจากสภาพแวดล้อม และ 2) การป้องกันด้วยวัคซีน

การป้องกันโรคมือเท้าปากจากสภาพแวดล้อม

โดยมีหลักการดังนี้[3]

- หลีกเลี่ยงการสัมผัสสิ่งคัดหลั่งทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ เช่น แยกของใช้ของเด็กที่ติดโรคมือเท้าปากออกจากของคนอื่น ทำความสะอาดของเล่นของใช้เป็นประจำด้วยน้ำยาทำความสะอาดที่ผสมสารฟอกขาวหรือน้ำยาทำความสะอาดเอนกประสงค์ทุกครั้งหลังใช้งาน เนื่องจากแอลกอฮอล์ไม่สามารถฆ่าเชื้อก่อโรคมือเท้าปากได้

- หลีกเลี่ยงสถานที่แออัดที่มีเด็กอยูู่่มาก เนื่องจากมีการกระจายตัวของอากาศได้น้อย ทำให้อาจมีสารคัดหลั่งที่อาจมีการติดเชื้ออยู่ เสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย ถ้าหากไม่สามารถหลีกเลี่ยงการเข้าไปในสถานที่แออัด ผู้ปกครองควรใส่หน้ากากอนามัยให้เด็กตลอดเวลา

- สอนให้เด็กรู้จักการล้างมือด้วยวิธีที่ถูกต้องเป็นประจำ โดยเน้นย้ำการล้างมือด้วยสบู่ก่อนรับประทานอาหารหรือขนมให้ติดเป็นนิสัย เพื่อลดการนำสารคัดหลั่งและเชื้อโรค เข้าสู่ร่างกาย

- กักตัวเมื่อทราบว่ามีเด็กที่ติดโรคมือเท้าปาก เนื่องจากโรคนี้มีระยะเวลาการฟักตัวประมาณ 4-5 วัน[4] และจะแสดงอาการประมาณวันที่ 5 หลังจากได้รับเชื้อ ถึงแม้เด็กที่มีความเสี่ยงติดเชื้อจะยังไม่แสดงอาการ แต่อาจจะเป็นช่วงการฟักตัวของเชื้อที่สามารถแพร่กระจายสู่เด็กคนอื่นได้ ดังนั้นการกักตัวเด็กที่มีความเสี่ยง จะช่วยลดโอกาสการแพร่กระจายสู่ผู้อื่นได้อีก ทั้งนี้ยังคงต้องระวังการสัมผัสสิ่งคัดหลั่งต่าง ๆ โดยเฉพาะอุจจาระของเด็กที่ หายจากอาการของโรคแล้ว เนื่องจากเชื้อสามารถอยู่ในอุจจาระได้นาน ดังนั้นควรล้างมือและทำความสะอาดบริเวณโดยรอบทุกครั้งหลังการเปลี่ยนผ้าอ้อม เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อสู่เด็กคนอื่น โดยเฉพาะในสถานที่ที่มีเด็กเล็กรวมกันอยู่เยอะ

การป้องกันโรคมือเท้าปากด้วยวัคซีน

ในปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันการติดเชื้อ Enterovirus virus type 71 (EV71) หรือ EntroVac ซึ่งเป็นสายพันธุ์ก่อโรคที่พบอาการแทรกซ้อนรุนแรงกว่าการติดเชื้อจากไวรัสสายพันธุ์อื่น ๆ[5] โดย EntroVac เป็นวัคซีนชนิดเชื้อตาย ใช้ฉีดเพื่อป้องกันการเกิดโรคมือเท้าปากจากการติดเชื้อไวรัส EV71 โดยไม่ครอบคลุมถึงโรคที่เกิดจากการติดเชื้ออื่น ๆ[6]

วัคซีน EntroVac สามารถฉีดในเด็กตั้งแต่อายุ 6 เดือนถึง 5 ปี โดยฉีดเข้ากล้ามเนื้อทั้งหมด 2 เข็ม ห่างกันอย่างน้อย 1 เดือน[7] และในปัจจุบันจึงยังไม่มีคำแนะนำว่าจำเป็นต้องรับวัคซีนกระตุ้นเป็นเข็มที่ 3 แต่อย่างใด โดยข้อมูลของวัคซีนนี้ ได้แก่

- มีการศึกษาประสิทธิภาพของวัคซีน EV71 เปรียบเทียบกับยาหลอกในเด็กอายุ 6-35 เดือน เป็นเวลา 1 ปี พบว่ากลุ่มที่ได้รับวัคซีนมีเพียง 0.3% ที่เป็นโรคมือเท้าปาก[8] ในอีกการศึกษาเกี่ยวกับวัคซีน EV71 และยาหลอกในเด็กอายุ 6-71 เดือน พบว่าการฉีดวัคซีนสามารถป้องกันการติดเชื้อ EV71 ได้ถึง 89.7% โดยพบการติดเชื้อในกลุ่มที่ได้รับวัคซีนเพียง 1 รายในช่วงอายุ 6-35 เดือน ทั้งยังพบว่าการฉีดวัคซีนสามารถลดอัตราการเข้ารักษาในโรงพยาบาลจากโรคมือเท้าปากได้ถึง 88%[9]

- รายงานเกี่ยวกับอาการข้างเคียงหลังฉีดวัคซีน พบว่า 0.37% เกิดอาการข้างเคียงทั่วไป เช่น มีไข้ เจ็บบริเวณจุดฉีด และอาการข้างเคียงมีแนวโน้มลดลงอย่างมีนัยสำคัญในเด็กที่มีอายุ 48 เดือนขึ้นไป[9]

- ในส่วนของภูมิคุ้มกันภายหลังการฉีดวัคซีน มีการศึกษาระบุว่าเด็กที่ได้รับวัคซีนมีภูมิคุ้มกันสูงถึง 94.34% หลังผ่านไป 5 ปีนับตั้งแต่ได้วัคซีนเข็มแรก[10]

การดูแลรักษาโรคมือเท้าปาก

โรคมือเท้าปากที่มีอาการไม่รุนแรงสามารถดูแลรักษาเองที่บ้านได้ โดยหลักการทั่วไปของการดูแลผู้ป่วยเป็นการรักษาตามอาการ ได้แก่

· ให้ยาลดไข้จำพวก paracetamol หรือ ibuprofen

· ดื่มน้ำบ่อย ๆ เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะขาดน้ำ (dehydration)

· บรรเทาอาการเจ็บในช่องปาก โดย

- อมและบ้วนน้ำเกลือเพื่อลดการอักเสบ

- จิบน้ำเย็นหรือรับประทานของเย็น ๆ เพิ่มความชาในช่องปากก่อนรับประทานอาหาร

- งดรับประทานอาหาร ผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว และเครื่องดื่มจำพวกโซดาเพื่อลดการระคายเคือง

- ทายาป้ายแผลในปากประมาณ 15-20 นาทีก่อนรับประทานอาหาร และสามารถป้ายยาบ่อย ๆ เพื่อบรรเทาความเจ็บได้

อย่างไรก็ตามโรคมือเท้าปากอาจมีอาการแทรกซ้อนที่อาจก่อให้เกิดอันตรายได้ พ่อแม่ผู้ปกครองควรสังเกตอาการของเด็กอย่างสม่ำเสมอ โดยอาการสำคัญที่บ่งบอกถึงภาวะแทรกซ้อนที่ควรรีบพาเด็กมาโรงพยาบาล ได้แก่

- ไข้สูงมากกว่า 39 องศาเซลเซียส

- อาเจียนมากและหลายครั้ง จนอาจทำให้ซึม อ่อนแรง มือสั่น ทรงตัวได้ลำบาก จากภาวะขาดน้ำ

- หายใจหอบ เหนื่อย

- ชัก

ถึงแม้ในประเทศไทยจะยังไม่มีรายงานการเสียชีวิตจากโรคมือเท้าปาก แต่อาการแทรกซ้อนจากโรคนั้นอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต หรือเสี่ยงต่อการเกิดโรครุนแรงอื่น ๆ เช่น โรคสมองอักเสบได้[11] ดังนั้นควรติดตามดูแลอาการของเด็กอย่างใกล้ชิด และรีบนำส่งโรงพยาบาลเมื่อมีอาการแสดงถึงภาวะแทรกซ้อนรุนแรงของโรคอย่างทันท่วงที

บทสรุป

โรคมือเท้าปาก แม้จะไม่ได้มีอาการรุนแรงและสามารถรักษาตามอาการและหายได้ภายใน 7-10 วัน แต่ก็อาจพบภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้ การรักษาความสะอาดร่วมกับการได้รับวัคซีนป้องกัน จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งเพื่อป้องกันลูกน้อยให้ห่างไกลจากโรคมือเท้าปาก

เอกสารอ้างอิง

  1. Guerra AM, Orille E, Waseem M. Hand, Foot, and Mouth Disease. [Updated 2023 Mar 4]. In: StatPearls [Internet]. Treasure Island (FL): StatPearls Publishing; 2024 Jan-. Available from: https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK431082/.
  2. ศูนย์เด็กเล็กปลอดภัย เด็กไทยปลอดโรค. สถานการณ์โรคมือเท้าปากในเด็กต่ำกว่า 5 ปี ณ วันที่ 29 มีนาคม 2566. กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข [อินเทอร์เน็ต]. 29 มีนาคม 2566 [เข้าถึงเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2567]. เข้าถึงได้จาก: https://pcdc.ddc.moph.go.th/contents/view/informations.
  3. สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข. แนวทางการดำเนินงานป้องกันควบคุมการระบาดของโรคมือเท้า ปากสําหรับแพทย์. ม.ป.ท. :2555.
  4. Yang Z, Zhang Q, Cowling BJ, Lau EHY. Estimating the incubation period of hand, foot and mouth disease for children in different age groups. Sci Rep. 2017; 7(1):16464. doi:10.1038/s41598-017-16705-7.
  5. Sabanathan S, Tan le V, Thwaites L, Wills B, Qui PT, Rogier van Doorn H. Enterovirus 71 related severe hand, foot and mouth disease outbreaks in South-East Asia: current situation and ongoing challenges. J Epidemiol Community Health. 2014;68(6):500-502. doi:10.1136/jech-2014-203836.
  6. ตรวจสอบผลิตภัณฑ์ ENTROVAC [Internet]. Moph.go.th. [cited 2024 Feb 12]. Available from: https://pertento.fda.moph.go.th/FDA_SEARCH_DRUG/SEARCH_DRUG/pop-up_drug_ex.aspx? Newcode=U1DR1C1072640001611C.
  7. Mims Thailand. EntroVac [Internet]. [cited 22 February 2024]. Available from: https://www.mims.com/thailand/drug/info/entrovac?type=full.
  8. Zhu F, Xu W, Xia J, et al. Efficacy, safety, and immunogenicity of an enterovirus 71 vaccine in China. N Engl J Med. 2014;370(9):818-828. doi:10.1056/NEJMoa1304923.
  9. Guan X, Che Y, Wei S, et al. Effectiveness and Safety of an Inactivated Enterovirus 71 Vaccine in Children Aged 6-71 Months in a Phase IV Study. Clin Infect Dis. 2020;71(9):2421-2427. doi:10.1093/cid/ciz1114.
  10. Hu Y, Zeng G, Chu K, et al. Five-year immunity persistence following immunization with inactivated enterovirus 71 type (EV71) vaccine in healthy children: A further observation. Hum Vaccin Immunother. 2018;14(6):1517-1523. doi:10.1080/21645515.2018.1442997.
  11. พรเทพ สวนดอก. โรคมือเท้าปาก. สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย [อินเทอร์เน็ต]. [เข้าถึงเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2567]. เข้าถึงได้จาก: https://www.pidst.or.th/A297.html.

คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
โรคมือเท้าปาก วัคซีนป้องกันมือเท้าปาก
 
ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้