คำไว้อาลัย

จากหนังสือพระราชทานเพลิงศพ "ครูประดิษฐ์"
   

โดย อรพรรณ มาตังคสมบัติ อาจารย์ภาควิชาเภสัชวิทยา

1254  Views  

ระลึกถึงอาจารย์ประดิษฐ์ หุตางกูร

ข้าพเจ้าขอรำลึกถึงอาจารย์ประดิษฐ์ ใน 3 สถานภาพ คือ เมื่อท่านเป็นอาจารย์ ผู้ร่วมงาน และผู้บังคับบัญชา

ตอนที่ข้าพเจ้าเป็นนักศึกษาเภสัชศาสตร์ ม.แพทยศาสตร์ ยังจำได้ว่าพวกเราตื่นเต้นกันมากที่จะได้เรียนการทำยาเม็ด ยาฉีด อาจารย์ประดิษฐ์สอนและคุม Lab วิชานี้ และคอยอธิบายให้พวกเราเข้าใจ และตระหนักถึงความละเอียด รอบคอบ ตลอดจนถึงขั้นตอนต่าง ๆ ในการทำ “ยาเม็ด” อาจารย์ให้เวลานักศึกษาทั้งในและนอกเวลาเรียน อีกทั้ง ยังแนะนำวิธีเรียน และถกปัญหาต่าง ๆ แม้จะไม่ได้เกี่ยวข้องกับวิชาที่ท่านสอนอย่างสนุกสนาน พวกเราจึงรักและเคารพในความเป็น “ครู” ของท่านไม่เสื่อมคลาย

เมื่อเรียนจบ ข้าพเจ้าได้มีโอกาสเข้ามาเป็นอาจารย์ในภาควิชาสรีรวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ ซึ่งขณะนั้นมีเพียงคณะเดียวในประเทศไทย จึงมีโอกาสได้ร่วมงานกับอาจารย์ประดิษฐ์ ซึ่งถึงแม้จะอยู่คนละภาควิชากัน แต่ก็มีกิจกรรมร่วมกันของคณะฯ และด้วยความที่เคยเป็นลูกศิษย์ของอาจารย์ จึงได้มีโอกาสเป็นลูกมือของอาจารย์ในกิจกรรมต่าง ๆ ทำให้เห็นว่า อาจารย์ประดิษฐ์ สละเวลาทำงานให้ส่วนรวม ซึ่งต้องการความร่วมมือจากอาจารย์และบุคลากรในคณะทุกท่าน ตลอดจนการสร้างสัมพันธไมตรีกับคณะต่าง ๆ โดยทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกันเป็นระยะ แสดงถึงวิสัยทัศน์อันกว้างไกลว่า เมื่อประกอบวิชาชีพ เราจะต้องมีปฏิสัมพันธ์กันหลายสาขาวิชา ที่ชัดเจนยิ่งคือ วิศวกรรม บัญชี และแพทยศาสตร์

ต่อมาอาจารย์ประดิษฐ์ ได้แยกมาตั้งคณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล พร้อมกับคณาจารย์จำนวนหนึ่ง รวมทั้งข้าพเจ้าด้วย ข้าพเจ้าจึงได้เป็นผู้ใต้บังตับบัญชาของ อาจารย์ประดิษฐ์ ซึ่งเป็นคณบดีท่านแรกของคณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล

การตั้งคณะฯ ใหม่ ไม่ใช่ของง่าย ต้องได้รับความศรัทธา ร่วมมือร่วมใจของทุกฝ่าย อีกทั้งสิ่งของต่าง ๆ ที่จำเป็นต้องใช้ในการเรียนการสอนก็ยังไม่พร้อม ในระยะแรก ๆ จึงโกลาหลพอสมควร แต่อาจารย์และบุคลากรทุกคน มีศรัทธาในตัวอาจารย์ประดิษฐ์ ท่านตั้งใจและทุ่มเทเวลาให้กับคณะฯ ประกอบกับการมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี มีวิสัยทัศน์ที่ดี รับฟังความคิดเห็นต่าง ๆ ทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างผ่านพ้นไปด้วยดี และคณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดลจึงเจริญรุ่งเรืองตลอดมา

ข้าพเจ้ามีความประทับใจ ในวิสัยทัศน์และความมุ่งมั่นของอาจารย์ประดิษฐ์ ที่จะทำสิ่งใหม่ ๆ ในวิชาชีพให้เกิดทันกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ ในระยะที่คณะเริ่มเปิดคือ พ.ศ. 2512 ทางสหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกาเริ่มเน้นการสอนทางคลินิกมากขึ้น อาจารย์ประดิษฐ์จึงให้เพิ่มเวลาการเรียนการสอนทางคลินิกมากขึ้น คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล จึงเป็นคณะแรกที่มีการเรียนการสอนวิชาทางคลินิก (Clinical Pharmacology และ Clinical Pharmacy) อีกทั้งยังมีภาคปฏิบัติให้นักศึกษาเภสัชศาสตร์ ได้ร่วมเรียนข้างเตียงคนไข้กับนักศึกษาแพทย์อีกด้วย

นอกจากนี้ อาจารย์ประดิษฐ์ ยังดำริให้ตั้ง “ร้านยา” โดยให้ชื่อเป็น “ห้องปฏิบัติการเภสัชกรรมชุมชน” เพื่อรองรับวิชาชีพ “เภสัชชุมชน” (Community Pharmacy) และใช้เป็นสถานที่ฝึกงานของนักศึกษาเภสัชศาสตร์ด้วย เราทุกคนภาคภูมิใจมากในการตั้ง “ร้านยาต้นแบบ” ซึ่งปัจจุบันได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า มีคุณมหาศาลในการศึกษาวิชา เภสัชชุมชน/คลินิก จนถือเป็นเกณฑ์สำคัญอย่างหนึ่งในการจัดตั้งคณะเภสัชศาสตร์ต่อ ๆ มา

ด้วยความปรารถนาดีของ อาจารย์ประดิษฐ์ ที่เกรงว่า นักศึกษา/เภสัชกร อาจหลงประเด็นไปสนใจทางด้าน คลินิก/ทำยา โดยเฉพาะ ท่านจึงชูวิชา “Biopharmaceutics” มาแสดงให้เห็นถึงความจำเป็นในการเชื่อมโยงของ “คุณภาพยา” กับ “ผลทางคลินิก” และ อาจารย์ยังเป็นผู้สนับสนุนท่านแรกที่ให้ทำวิจัยทางด้าน “Bioequivalence” ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2517 อีกด้วย

อาจารย์ประดิษฐ์เป็นผู้ที่ส่งเสริมและผลักดันให้วงการสาธารณสุขเห็นความสำคัญของ “เภสัชกร” จึงหาทุนให้มีการตั้ง ศูนย์ข้อมูลยา ศูนย์ข้อมูลสมุนไพร จนเป็นที่ประจักษ์ ดังจะเห็นได้ว่า โรงพยาบาลต่าง ๆ จะมี “ศูนย์ข้อมูลยา” เพื่อให้บริการแก่บุคลากรทางการแพทย์ และ “ศูนย์ข้องมูลสมุนไพร” มีผู้ที่สนใจมาใช้บริการเป็นจำนวนไม่น้อย

ตั้งใจว่าจะเขียนสั้น ๆ แต่ อาจารย์ประดิษฐ์มีคุณูปการกับ “วงการเภสัชฯ” และ “คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล” เหลือคณานับ จึงเขียนมาเท่าที่นึกได้เท่านี้ ยังมีอีกมากที่ข้าพเจ้ายังไม่ได้กล่าวถึง

         สิ่งสุดท้ายที่ประทับใจข้าพเจ้าอย่างยิ่ง คือ อาจารย์ประดิษฐ์ดูแลคณาจารย์เหมือนคนในครอบครัว ทุกคนจึงทำงานอย่างมีความสุข อาจารย์แต่ละท่านคงได้รับความช่วยเหลือจากท่านต่าง ๆ กันไป สำหรับข้าพเจ้าได้รับคำสอนอันล้ำค่าเสมอ เมื่อมีปัญหาและนำไปปรึกษาท่าน เย็นวันหนึ่งอาจารย์มาพบข้าพเจ้าประสบปัญหาการถอยหลังรถ เข้าเกียร์ไม่ได้ สมัยก่อนขับรถซีตรองเกียร์กระปุก รุ่นเก่า เข้าเกียร์ถอยหลังยากมาก ๆ อาจารย์ประดิษฐ์เลยมาถอยรถให้ และท่านได้ช่วยทำให้หลายครั้ง เห็นไหมคะ ใครจะไม่รักและเคารพ มีคณบดีคนไหนจะมาช่วยอาจารย์ผู้น้อยขนาดนี้

         ขอกราบอาจารย์ด้วยความเคารพรักยิ่ง

บทความอื่นๆ จากศิษย์เก่า

อาจารย์ประดิษฐ์มีลักษณะเป็นผู้นำสูง สมกับการเป็นคณบดี ท่าทางสง่าน่าเกรงขาม จนอาจจะทาให้คิดไปว่าอาจารย์เป็นคนดุ ซึ่งทราบจากผู้ที่ได้ทำงานกับอาจารย์ ได้ทราบว่าอาจารย์เป็นคนใจดี มีเมตตาสูง ตรงไปตรงมา&nbs...

วิทยา กุลสมบูรณ์ รุ่นที่ 7

ท่องหนังสือ หลังห้อง อาจารย์ดิษฐ์   ให้หงุดหงิด ใกล้วันสอบ เพียงสองสามไม่ทันแน่ ได้แค่เช้า ชามเย็นชาม    สุดจะปราม ตะโกนร้อง ก้องกำแพงคอยดูนะ ถ้ากูสอบ ผ่านพ้นไป    กูจะไม...

สรชัย จำเนียรดำรงการ รุ่นที่ 3

ดร.ภก.สุวิทย์ เมษินทรีย์ เพราะวรรคทองของท่านอาจารย์ประดิษฐ์ ที่ว่า from here you can go anywhere และในวิชา Pharm Orientation ท่านอาจารย์ได้มีวิสัยทัศน์กว้างไกล โดยกล่าวเน้นว่า R&D แ...

ศิษย์มีครู รุ่นที่ 11

ความสำเร็จของวิชาชีพเภสัชกรรม เกิดจากความรู้ที่สามารถทำให้ผู้บริโภคยา มีการเสี่ยงต่ออันตรายจากยาที่ใช้ให้น้อยที่สุด แต่ได้รับผลในการป้องกัน หรือบำบัดโรคมากที่สุด

ความสำเร็จของวิชาชีพเภสัชกรรม เกิดจากความรู้ที่สามารถทำให้ผู้บริโภคยา มีการเสี่่ยงต่ออันตรายจากยาที่ใช้ให้น้อยที่สุด แต่ได้รับผลในการป้องกัน หรือบำบัดโรคมากที่สุด
ประดิษฐ์ หุตางกูร
Copyright © 2021 - 2024
งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
การใช้และการจัดการคุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา