คำไว้อาลัย

จากหนังสือพระราชทานเพลิงศพ "ครูประดิษฐ์"
   

โดย ฤดี เสาวคนธ์ อาจารย์ภาควิชาเภสัชอุตสาหกรรม

923  Views  

ร่วมรำลึกและสืบสานปณิธาน “100 ปีชาตกาลอาจารย์ประดิษฐ์ หุตางกูร”

            ในฐานะที่ดิฉันเป็นทั้งลูกศิษย์ เป็นผู้ร่วมงาน และเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาและได้ทำงานร่วมกับท่านอาจารย์ประดิษฐ์ หุตางกูร มามากกว่า 10 ปี ดิฉันมีความประทับใจเกี่ยวกับท่านอาจารย์ในหลาย ๆ เรื่องด้วยกัน เช่น เรื่องความเป็นกันเองกับผู้ร่วมงาน ความซื่อสัตย์ ประหยัด มัธยัสถ์ ในการใช้งบประมาณแผ่นดินในการบริหารการจัดการเรียนการสอน ตลอดดจนการมีวิสัยทัศน์ที่ยาวไกล ทำให้การจัดการเรียนการสอนในขณะที่เริ่มเปิดคณะเภสัชใหม่ ๆ ดำเนินไปได้ด้วยดี

            ท่านอาจารย์ได้นำเอานิสัยประหยัด มัธยัสถ์ มาใช้ในการทำงานด้วย เช่น การสั่งซื้อเครื่องมือ อุปกรณ์ มาใช้สอนนักศึกษาในภาควิชาฯ ท่านอาจารย์จะสั่งซื้อเครื่องมือต้นแบบที่เป็นของต่างประเทศมาเพียง 1 เครื่องและมอบหมายให้อาจารย์ในภาควิชาฯ ช่วยกันคิด ออกแบบ จ้างช่างในประเทศ ทำเครื่องมือขึ้นมาให้มีจำนวนเพียงพอในการสอนนักศึกษา โดยมีราคาถูกกว่าของต่างประเทศมาก แต่คุณภาพดีพอที่จะสามารถใช้สอนนักศึกษาจำนวนมากได้ การที่ท่านอาจารย์ทำเช่นนี้นับว่ามีประโยชน์มาก เพราะนั่นคือ ท่านกำลังสอนอาจารย์ผู้ร่วมงานให้รู้จักพึ่งตนเอง สามารถคิดทำเครื่องมือ อุปกรณ์ มาใช้ได้ในขณะที่เรามีงบประมาณไม่เพียงพอ

            ตัวอย่างอีกประการหนึ่งที่ดิฉันจำได้ไม่ลืมคือ ตอนเปิดคณะใหม่ๆ ทางภาควิชาเภสัชอุตสาหกรรมต้องเตรียมสอนปฏิบัติการเตรียมยาฉีด แต่มีงบประมาณจำกัด อาจารย์ในภาควิชาฯ ต้องช่วยกันคิดว่าทำอย่างไรจึงจะสอนนักศึกษา 10 กลุ่ม เรื่องการปิดผนึกแอมพูลได้ ซึ่งอาจารย์ในภาควิชาฯ ต้องช่วยกันคิดออกแบบ จ้างช่างมาติดตั้งหัวเชื่อม 10 จุดพร้อมต่อท่อแก๊สอ๊อกซิเจน และมีเทน เพื่อให้พร้อมใช้ โดยท่านอาจารย์ประดิษฐ์เป็นผู้เจียดเงินงบประมาณส่วนหนึ่งมาให้ เราสามารถประกอบเครื่องมือให้นักศึกษาเภสัชฯ รุ่น 1 สามารถฝึกทักษะวิธีการปิดผนึกแอมพูลได้สำเร็จ และหลังจากนั้นอีก 3-4 ปี ทางภาควิชาฯได้รับงบประมาณการปรับปรุงห้องยาฉีดจากอาคารเก่า พวกอาจารย์ก็ได้ใช้ประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมา โดยคำแนะนำของท่านอาจารย์ คุยกับช่างถึงสิ่งที่ต้องการใช้ในการเรียนการสอนที่จำเป็นต้องติดตั้งภายในห้อง เมื่อปรับปรุงห้องเสร็จ ทำให้การเรียนการสอนปฏิบัติการยาฉีดทำได้สมความตั้งใจ จนกระทั่งมีการก่อสร้างอาคารหลังใหม่ที่ทันสมัยมาทดแทนอาคารหลังเดิมในสมัยปัจจุบันนี้

            อีกเรื่องที่อยากกล่าวถึงคือ ท่านอาจารย์เป็นผู้มีวิสัยทัศน์ ก้าวไกล ทั้งทางด้านอุตสาหกรรมยาและสมุนไพรเป็นอย่างมาก ในด้านอุตสาหกรรมยา สมัยนั้นประเทศไทยยังขาดข้อมูลเกี่ยวกับอุตสาหกรรมการผลิตยาอย่างมาก ท่านอาจารย์ได้เล็งเห็นความสำคัญ และได้เป็นผู้ริเริ่มการทำวิจัยที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมยา โดยความช่วยเหลือของอาจารย์ที่เกี่ยวข้องหลายท่านโดยได้รับการสนับสนุนเงินทุนจาก องค์กร ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งขององค์การสหประชาชาติ งานวิจัยที่ทำเสร็จสมบูรณ์ นับว่ามีประโยขน์กับวงการธุรกิจของประเทศในเรื่องการกำหนดทิศทางของอุตสาหกรรมยา การจัดหายาให้เพียงพอที่จะใช้ในประเทศ ตลอดจนสามารถพึ่งพาตนเองในเรื่องยาได้

            วิสัยทัศน์ที่เด่นอีกประการหนึ่งของท่านอาจารย์คือ ด้านสมุนไพร ท่านได้สนับสนุน ส่งเสริม ให้อาจารย์ทำวิจัยสมุนไพรให้ครบวงจร ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป ตั้งแต่เริ่มเปิดคณะฯใหม่ ๆ เช่นสมุนไพรบัวบก กระเทียม และ แมงลัก มีการจัดนิทรรศการเกี่ยวกับสมุนไพรเพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนทั่วไป และท่านอาจารย์เป็นผู้ริเริ่มให้มีการจัดทำหนังสือมาตรฐานสมุนไพร เพื่อใช้เป็นตำราสำหรับการค้นคว้าต่อยอด ทำวิจัยสมุนไพรต่อไป

            ทั้งหมดที่กล่าวนี้เป็นเพียงตัวอย่างบางส่วนที่ดิฉันรู้สึกประทับใจท่านอาจารย์ในเรื่องแนวทางการทำงาน การปฏิบัติต่อผู้ร่วมงาน และ ผู้ใต้บังคับบัญชา ท่านอาจารย์ปฏิบัติตัวเป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องการฏิบัติงาน ความซื่อสัตย์ การประหยัด มัธยัสถ์ ตลอดเวลา ซึ่งดิฉันก็ได้ยึดแนวทางของท่านอาจารย์มาใช้ในการดำเนินชีวิตตลอดมาจนทุกวันนี้ และถึงแม้ท่านอาจารย์ได้จากพวกเราไปนานแล้ว สิ่งต่าง ๆ ที่ท่านอาจารย์พร่ำสอน ตลอดเวลาที่ทำงานร่วมกับท่าน และคุณความดีต่าง ๆ ที่ท่านอาจารย์ทำให้ คณะเภสัชศาสตร์มีความเจริญรุ่งเรืองตราบเท่าทุกวันนี้ จะคงอยู่ในใจดิฉันตลอดไป

บทความอื่นๆ จากศิษย์เก่า

From here, we can go everywhere!"  จบเภสัชฯมหิดล ด่านศึกษาอาจารย์ว่า จะเป็นเปรียบเพ็ญแขFrom here we can goeverywhereวรรคนี้แลวาทะ คณบดีจะนางงามทรามวัยวิไลลักษณ์ไทยเทศตาปร...

ภก.กิตติภพ (ไพบูลย์) โรจน์วนาการ รุ่นที่ 5

From here we can go everywhereวรรคทอง ของ อ.ประดิษฐ์ หุตางกูร ท่านกล่าวประโยคนี้เมื่อปี พ.ศ. 2517 ในการต้อนรับเภสัชมหิดลรุ่น 4 ที่ข้ามฟากมาจากตึกกลม คณะวิทยาศาสตร์ ที่อยู่บนถนนพระรามหก มาเรี...

ภญ.บุษบา จินดาวิจักษณ์ รุ่นที่ 4

 ปาจรีย์ประดิษฐ์ไท้  เทียบบิดรแห่งศิษย์เภสัชกร  ท่านสร้างรังสฤษฏ์สถาพร      เภสัช มหิดลนาคุณก่ออนันต์กว้าง  เกริกฟ้าเกรียงไกร &nbs...

ศิษย์เก่า รุ่นที่ 3

ความสำเร็จของวิชาชีพเภสัชกรรม เกิดจากความรู้ที่สามารถทำให้ผู้บริโภคยา มีการเสี่ยงต่ออันตรายจากยาที่ใช้ให้น้อยที่สุด แต่ได้รับผลในการป้องกัน หรือบำบัดโรคมากที่สุด

ความสำเร็จของวิชาชีพเภสัชกรรม เกิดจากความรู้ที่สามารถทำให้ผู้บริโภคยา มีการเสี่่ยงต่ออันตรายจากยาที่ใช้ให้น้อยที่สุด แต่ได้รับผลในการป้องกัน หรือบำบัดโรคมากที่สุด
ประดิษฐ์ หุตางกูร
Copyright © 2021 - 2024
งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
การใช้และการจัดการคุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา